'เบอร์ลี่' ทุ่ม 2.8 หมื่นล้านฮุบ 'เมโทรฯ' เวียดนาม

กระทู้สนทนา
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ทุ่ม 2.8 หมื่นล้าน ซื้อกิจการค้าปลีกประเภทชำระเงินสด "เมโทร แคช แอนด์ แครี่ " ในเวียดนาม

ดันยอดขายปีนี้ เพิ่มเป็น 6.3 หมื่นล้าน เตรียมเสนอบอร์ดอนุมัติแหล่งเงินทุน 19 ส.ค.นี้ เปลี่ยนชื่อใช้แบรนด์ใหม่ หวังต่อยอดธุรกิจครบวงจร จากธุรกิจจัดจำหน่าย ร้านสะดวกซื้อ สู่ค้าปลีก ใช้เวียดนามเป็นฐานบุกซีแอลเอ็มวี ต่อยอดอาณาจักรทีซีซีสู่เออีซี หลังซื้อกิจการเอฟแอนด์เอ็น

นับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันผ่านไป 7 ปีของการสยายปีกลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะ "อาเซียน" ของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ธุรกิจผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค บรรจุภัณฑ์ และจัดจำหน่ายรายใหญ่ ในเครือทีซีซี ของนักธุรกิจแสนล้าน ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยพุ่งเป้าการลงทุนไปที่ "เวียดนาม" เพิ่มโอกาสธุรกิจการค้าให้ครบวงจร ทั้งธุรกิจกระจายสินค้า ค้าส่ง ค้าปลีก ภายใต้แผนธุรกิจ 3-5 ปี (2556-2560) จะขยายธุรกิจจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าและค้าปลีก มุ่งสู่การเป็นเบอร์ 1 ในเวียดนาม ขณะที่เป้าหมายต่อไปคือ จะเป็นการขยายการลงทุนในลาว กัมพูชา และพม่า "ดักโอกาส" การลงทุนรับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558

ติดสปีดธุรกิจ"ซื้อ-ควบรวมกิจการ"

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงเห็นบีเจซี "ติดสปีด" ธุรกิจด้วยการเดินเกม "ซื้อและควบรวมกิจการ" (เอ็มแอนด์เอ) เพื่อต่อยอดการเติบโต ซึ่งจะได้ทั้งสินค้าและช่องทางการตลาดไว้ในมือ แทนการตั้งต้นธุรกิจจากศูนย์ด้วยการสร้างก่อสร้างโรงงาน สานวิสัยทัศน์ "ผู้นำในการนำสินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพตอบสนองความต้องการผู้บริโภคทุกคนทุกวัยในอาเซียน"

เริ่มจากการเข้าซื้อกิจการอาหารในมาเลเซีย การร่วมทุนโรงงานมาลายา เวียดนาม กล๊าส ลิมิเต็ด เปิดโรงงานผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมสำหรับเครื่องดื่ม ภายใต้บริษัท ทีบีซี-บอล เบเวอร์เรจ แคน เวียดนาม ลิมิเต็ด กับบริษัทระดับโลก อย่าง โอเว่น อิลลินอยส์ อิงค์ ขึ้นแท่นผู้ผลิตขวดแก้วอันดับ 1 ในอาเซียนไปแล้ว

ตามด้วยการซื้อกิจการไทยคอร์ป กรุ๊ป ผู้จัดจำหน่ายและกระจายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศเวียดนาม มีเครือข่ายร้านค้า 5 หมื่นร้านค้า ครอบคลุม 64 จังหวัดในเวียดนามเหนือ การซื้อโรงงานเต้าหู้อันดับ 1 ในเวียดนาม

จากนั้นได้เข้าซื้อกิจการบริษัท ไทอัน เวียดนาม จอยส์สต็อก คัมปะนี เสริมแกร่งการกระจายสินค้าให้บีเจซี ในเวียดนามใต้ ,การซื้อกิจการบริษัท ภูไท กรุ๊ป จอยส์ สต็อก คัมปะนี เพื่อฮุบค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อ ซึ่งขณะนั้นคือ "แฟมิลี่มาร์ท" ก่อนเปลี่ยนเป็น "B's mart" ซึ่งปัจจุบันมี 98 สาขา

รวมถึงการซื้อกิจการในไทย เช่น บริษัท ดานอน แดรี่ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของตราสินค้า "แอคทิเวีย" ดึงเชนร้านยา "โอเกนกิ" จากญี่ปุ่นมาขยายในไทย เป็นต้น

โดยก่อนหน้านี้ นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีเจซี เคยบอกไว้ว่า ธุรกิจที่เครือทีซีซี เข้าไปลงทุน จะต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ "1 ใน 3" ของตลาดเท่านั้น

ฮุบค้าปลีก 2.8 หมื่นล.ในเวียดนาม

ล่าสุด รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2557 คณะกรรมการบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ อนุมัติให้เข้าลงทุนในบริษัทเมโทร แคช แอนด์ แครี่ เวียดนาม ลิมิเต็ด จำนวน 100% จากเมโทร แคช แอนด์ แครี่ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง บี.วี. ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งตามกฎหมายเนเธอร์แลนด์ โดยมีมูลค่ากิจการ รวม 655 ล้านยูโรหรือ 2.83 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทได้รับแจ้งจากผู้ถือหุ้นใหญ่ว่าจะสนับสนุนการจัดโครงสร้างแหล่งเงินทุนสำหรับเข้าทำรายการเข้าซื้อเงินลงทุนอย่างเต็มที่ ซึ่งจะมีการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ในวันที่ 19 ส.ค.2557

อย่างไรก็ตามการได้มาสินทรัพย์ดังกล่าวจะต้องขออนุมัติการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ โดยต้องได้รับอนุมัติจากประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดที่มาประชุมและมีสิทธิลงคะแนน โดยไม่นับส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการทำรายการคือ บริษัทจะมีช่องทางในการเข้าสู่ตลาดร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ในเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ และเป็นที่คาดหมายว่าจะมีแนวโน้มเติบโตที่แข็งแกร่ง บริษัทจะมีช่องทางในการเข้าถึงการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการเข้าซื้อกิจการของเมโทร เวียดนาม เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับกลยุทธ์บริษัท ซึ่งมุ่งมั่นที่เป็นผู้นำทางธุรกิจที่ครอบคลุมธุรกิจทุกด้านในภูมิภาค

นอกจากนี้การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อมีจุดยืนที่ดีในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะเดียวกันเพื่อประหยัดเงินทุนและสร้างโอกาสในการทำกำไรในอนาคตของบริษัท รวมทั้งการเริ่มต้นสร้างธุรกิจด้านอื่นๆของบริษัท

เสนอบอร์ดอนุมัติแหล่งทุน 19 ส.ค.นี้

รายงานระบุว่า แหล่งเงินทุนของบริษัทสำหรับการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะมาจากการกู้ยืมเงินระยะสั้น ส่วนแหล่งเงินทุนระยะยาวและรายละเอียดทั้งหมดจะนำเสนอต่อที่ประชุมในวันที่ 19 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติ

นายอัศวิน กล่าวถึงรายละเอียดของดีลนี้ว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้เป็นไปตามกลยุทธ์ที่บีเจซีวางไว้ ในการขยายการเติบโตอย่าง "ก้าวกระโดด" ในเวียดนามและคาดว่าจะมียอดขายกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมร้านค้าสมัยใหม่และร้านสะดวกซื้อ พร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปลายปี 2558

โดยพบว่าภาพรวมผลประกอบการครึ่งปีแรกของบีเจซี มีสัญญาณเติบโตเข้มแข็งในเวียดนาม โดยคาดว่าทั้งปีจะมีอัตราการเติบโตของรายได้มากกว่า 30%

"เหตุผลในการลงทุนครั้งนี้ ต้องการทำให้ธุรกิจเติบโตก้าวกระโดด ในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภคในอาเซียน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบีเจซี โดยรวมเมโทรฯเวียดนามจะช่ยให้บีเจซี มีเครือข่ายการค้าครอบคลุมเวียดนาม ย้ำการเป็นผู้เล่นอันดับสองในธุรกิจค้าปลีกอุปโภค-บริโภคสมัยใหม่ พร้อมมีธุรกิจครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ โรงงาน กระจายสินค้า จัดจำหน่าย สู่เออีซี"

เตรียมเปลี่ยนใช้ "แบรนด์ใหม่"

นายอัศวิน ยังกล่าวว่า เป้าหมายของนายเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี คือการผลิตจำหน่ายและกระจายสินค้าครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยต้องการใช้เวียดนามเป็นฐานในการบุกตลาดซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม) เป็นการต่อยอดและเอื้อกันทางธุรกิจของทีซีซีและเอฟแอนด์เอ็น

การซื้อกิจการในครั้งนี้ยังจะทำให้ยอดขายบีเจซีในปีนี้ เพิ่มเป็น 6.3 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นการเพิ่มขึ้นของยอดขายธุรกิจค้าปลีกจาก 300 ล้านบาท เป็น 2.14 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศของบีเจซีใกล้เคียง 50% ถือว่าเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ใน 5 ปี (2556-2560)

ทั้งนี้หลังเข้าซื้อกิจการห้างเมโทรฯ จะยกเลิกการใช้แบรนด์ดังกล่าว โดยจะใช้แบรนด์อื่นแทน โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะใช้แบรนด์ B's mart หรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลาอีก 12-18 เดือนจากนี้เพื่อสรุปรายละเอียดทั้งหมด

เล็งซื้อกิจการ "คอนซูเมอร์-ยา" ตปท.เพิ่ม

นอกจากนี้ยังยอมรับว่าอยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการในธุรกิจคอนซูเมอร์ โปรดักส์ และเวชภัณฑ์(ยา) ในต่างประเทศ

แหล่งข่าวจากบีเจซี ระบุว่า ดีลดังกล่าวเป็นการจัดตั้งทีมพิเศษขึ้นมาดำเนินการใช้เวลาเจรจานานราว 1 ปี และในสิ้นเดือนนี้จะส่งทีมผู้บริหารบางส่วนไปดูงานห้างเมโทรในเวียดนาม

ทั้งนี้หากจะประมวล "อาณาจักร"ธุรกิจต่างประเทศของนายเจริญ นอกจากธุรกิจบีเจซี แล้วยังพบดีลสำคัญ เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2556 กับการเข้าซื้อกิจการบริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ในสิงคโปร์ ซึ่งมีเครือข่ายหลายประเทศในเอเชีย แปซิฟิก มูลค่าการซื้อกิจการเกือบ 3 แสนล้านบาท ที่ผ่านมายังส่งแบรนด์โออิชิ ในธุรกิจชาพร้อมดื่มบุกตลาดมาเลเซีย และแบรนด์ร้านอาหารชาบูชิ บุกตลาดพม่า เป็นต้น

ส่วนการเคลื่อนไหวราคาหุ้นเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ผันผวนแรง โดยช่วงเช้าเปิดซื้อขายที่ 57.25 บาทจากนั้นปรับตัวลดลงแรง ก่อนที่จะมาปิดตลาด 55.50 บาท ลดลง 1.25 บาท คิดเป็น 2.20%

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่