ความจริง... 5 X 5 อีโบลา ตระหนัก แต่ไม่ตกใจ โดย :: รศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน :: ภาควิชาจุลชีววิทยา



1. อีโบลาคืออะไร
       1. เป็นไวรัสก่อโรคไข้เลือดออกรุนแรงในคนและลิง มีแหล่งอาศัยหลักที่ป่าดิบชื้นในทวีปแอฟริกา
       2. ระบาดมาแล้วหลายครั้ง ขณะนี้มีการระบาดใหญ่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา
       3. เชื่อว่าค้างคาวเป็นแหล่งเชื้อ (โดยไม่เป็นโรค) อาจมีสัตว์ชนิดอื่นอีก ยังไม่รู้ว่ามีพาหะนำโรคหรือไม่
       4. เชื้อมีความสามารถก่อโรคสูง คนได้รับเชื้อเพียง 1 ตัว ก็เป็นโรคได้
       5. เชื้อทำลายระบบภูมิคุ้มกันและระบบเลือดเป็นหลัก ต่อมาการทำงานอวัยวะต่างๆ จะล้มเหลว
       

2. ติดเชื้อจากที่ไหน
       1. ติดจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด น้ำเหลือง สารน้ำของคนและสัตว์ที่เป็นโรค
       2. ติดต่อได้ง่ายจากคนสู่คน หากสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิต
       3. เชื้อเข้าทางผิวหนังหรือเยื่อเมือกที่มีแผลหรือรอยถลอก รวมถึงโดนวัตถุมีคมที่มีเชื้อตำ
       4. ไม่ติดต่อทางการหายใจ แต่ถ้าได้รับสารน้ำ/ละอองอากาศที่มีเชื้อเข้าทางเดินหายใจ ก็เป็นโรคได้
       5. หากได้รับเชื้อ อัตราการเป็นโรคสูงมาก และมีอัตราตายมากกว่า 50%
       

3. จะรู้ว่าติดเชื้อเมื่อไร
       1. อาการในระยะแรก จะแยกได้ยากจากโรคที่มีไข้สูงอื่นๆ เช่น มาลาเรีย ไทฟอยด์
       2. หลังได้รับเชื้อเฉลี่ย 1 - 2 สัปดาห์จะมีไข้สูง ปวดหัว ปวดตามตัว อ่อนแรง คล้ายไข้หวัด
       3. ต่อมาจะมีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ และผิวหนัง ระบบต่างๆ ล้มเหลว เสียชีวิตได้ใน 1 - 2 สัปดาห์
       4. การยืนยันการวินิจฉัยโรคต้องอาศัยการตรวจในห้องแล็บ โดยตรวจหาเชื้อ หรือภูมิต้านทานต่อเชื้อ
       5. การตรวจต้องทำในห้องแล็บที่มีมาตรการความปลอดภัยสูงสุด (ระดับ 4) ซึ่งยังไม่มีในประเทศไทย
       

4. รู้จักเชื้อนี้ไปทำไม
       1. ควรติดตามสถานการณ์อย่างมีสติ ไม่ต้องหวาดกลัว
       2. ยังไม่เคยพบในประเทศไทย โอกาสที่จะพบโรคมีได้ แต่น้อย
       3. ยังไม่มียารักษาจำเพาะ ไม่มีวัคซีนป้องกัน ต้องรักษาประคับประคองตามอาการ
       4. ผู้ที่มีความเสี่ยงคือคนที่ใกล้ชิดสัมผัสผู้ป่วย เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ญาติ และคนทำศพ
       5. ถ้ามีไข้สูงและสงสัยติดเชื้อ ต้องแจ้งแพทย์ว่ามีประวัติสัมผัสผู้ป่วยหรือเดินทางไปถิ่นระบาดหรือไม่
       

5. เราจะป้องกันอย่างไร
       1. ยังไม่มีข้อห้ามในการเดินทางไปในถิ่นระบาด แต่ควรหลีกเลี่ยง
       2. เมื่อยังไม่มีผู้ป่วย ใช้หลักการรักษาสุขอนามัย - รักษาความสะอาดทั่วไป
       3. ถ้ามีผู้ป่วย/ผู้ที่อาจติดเชื้อ แพทย์จะแยกตัวผู้ป่วยทันทีและควบคุมการสัมผัสขั้นสูงสุด
       4. ผู้ป่วยที่หายจากโรค จะมีเชื้อในเลือด น้ำเหลือง สารน้ำ ที่ยังแพร่ให้คนอื่นได้อีก 1 - 2 เดือน
       5. เครื่องใช้ วัสดุ ที่สัมผัสกับผู้ป่วย ต้องทำลายหรือล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันทีอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ด้วยความร้อน 60 ° C นาน 30 นาที, ต้มเดือด 5 นาที, อบด้วยรังสีแกมมา/ยูวี หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป (เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์)

       รวบรวมจากแหล่งข้อมูลอ้างอิงของ WHO
       --------
       

       พบกิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช    ชวนฟัง “อีโบลา”

       ภาควิชาจุลชีววิทยา ร่วมกับ งานโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
       ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมเสวนาวิชาการในหัวข้อ “อีโบลา!” รู้จริง รู้ทัน เมื่อภัยมา
โดย ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ ผศ.พญ.ณสิกาญจน์ อังคเศกวินัย อ.นพ.สุสัณห์ อาศนเสน และ รศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน ผู้ดำเนินรายการ
ในวันพฤหัสบดีที่ 7 ส.ค. นี้ เวลา 13.30 - 15.00 น.     ที่ห้องตรีเพ็ชร์ อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ชั้น 15 รพ.ศิริราช
โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2419 7053


http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9570000088931
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่