หุ้น 10 เด้ง ในทศวรรษหน้า

กระทู้สนทนา
โดย : นิเวศน์ เหมวชิรวรากร



การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในระยะสั้นนั้น อาจจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรนักต่อหุ้น หรือการลงทุนในสายตาของ VI

หรือคนที่ลงทุนระยะยาว แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในระยะยาวนั้น ผมคิดว่าเราต้องติดตามให้ดี เพราะสภาวะเศรษฐกิจและสังคมหรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปนั้น ย่อมทำให้ความต้องการสินค้าและบริการของคนเปลี่ยนไป

บริษัทหรือกิจการที่เคยรุ่งเรืองอาจจะถดถอยลง บริษัทใหม่หรือบริษัทเดิมที่ยังไม่สำคัญอาจจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นกิจการที่ยิ่งใหญ่ และนั่นก็ทำให้หุ้นของบริษัทเหล่านั้นกลายเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” คือเป็นหุ้นที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่องยาวนานประมาณว่าเป็น 10 เท่า ในเวลา 10 ปี

บทเรียนเรื่องหุ้นกลุ่มที่ทำได้ดี เป็นช่วงเวลาประมาณ 10 ปี นั้น ถ้าดูจากตลาดหุ้นอเมริกาก็จะพบว่ามันเกิดขึ้นมาตลอด เช่น ในช่วงทศวรรษที่ 70 หรือตั้งแต่ปี 1970 ถึง 1980 นั้น หุ้นกลุ่มที่เติบโตโดดเด่นมากและทุกคนต่างก็เข้ามาลงทุนและได้ผลตอบแทนที่ดีมากก็คือหุ้นที่เรียกว่า “Nifty Fifty” หรือหุ้นขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตสูงอย่างเช่นหุ้น IBM หุ้น GM อะไรทำนองนี้

หุ้นเหล่านี้มักมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามีการปรับตัวลงสักพักก็จะขึ้นใหม่ ทุกคนเชื่อว่ามันเป็นหุ้น“ทางเดียว” คือมีแต่จะปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ และมีความมั่นคงสูง “ซื้อแล้วไม่ต้องขาย” แต่แล้วพอถึงปลายทศวรรษ คนที่เข้าไปลงทุนก็ “เจ๊ง” เพราะการเติบโตของมันคงเริ่มสะดุด และราคาของมันขึ้นไปสูงมากเกินไป ทศวรรษที่ 80 ตามมาด้วยหุ้นน้ำมัน ที่ราคาของน้ำมันดิบได้ปรับตัวขึ้นมโหฬาร ทำให้หุ้นน้ำมันกลายเป็น“พระเอก”ไป“10 ปี”

แต่หลังจากที่ราคาน้ำมันถดถอยลง หุ้นก็“ลงเหว” และสิ่งที่ตามมาคือในทศวรรษที่ 90 ที่หุ้นเกี่ยวกับยาและสินค้าไฮเทค เริ่มเป็นกระแสใหม่ของโลกที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้“ลงมาสู่ประชาชนทั่วไป” ดังนั้นทศวรรษที่ 90 จึงเป็นของหุ้นไฮเทค แต่พอขึ้นสหัสวรรษใหม่ปี 2000 “ฟองสบู่” หุ้นไฮเทคก็ “แตก”คนที่ร่ำรวยจากหุ้นเหล่านั้นหลายคนก็“เจ๊ง”

ทศวรรษใหม่ที่ตามมาเราได้เห็นโลก “เปลี่ยนแปลง” อย่างสำคัญอีกครั้ง นั่นคือการก้าวขึ้นมาของประเทศกำลังพัฒนาที่มีคนมาก เช่นจีนและกลุ่ม BRIC ที่ต้องการวัตถุดิบมหาศาล และนี่นำมาซึ่งการ“บูม”ของสินค้าโภคภัณฑ์ และล่าสุดทศวรรษ 10 นี้ก็อาจจะเป็นหุ้นของสังคมข้อมูลออนไลน์ก็ได้

ตลาดหุ้นไทยเองนั้น ในอดีตเราก็ผ่านช่วงเวลา “10 ปี” ของความรุ่งเรืองของหุ้นแต่ละกลุ่มมาแล้ว โดยที่ 10 ปีสุดท้ายถึงวันนี้ผมคิดว่าเป็นช่วงเวลาทองของกลุ่ม “ผู้บริโภค” ซึ่งส่งผลให้หุ้นในกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาโดดเด่นมากกลายเป็นหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ราคาหรือมูลค่าตลาดของหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 เท่าในช่วงเวลา 10 ปี

แต่อนาคตอีก 10 ปีหรือในทศวรรษหน้า หุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกแล้วในวันนี้จะยังคงเติบโตต่อไปอีก 10 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือไม่? และถ้าไม่ใช่หุ้นในกลุ่มไหนหรือตัวไหนจะมีโอกาสที่จะเป็นอย่างนั้น? นี่คือคำถามที่นักลงทุนคงอยากรู้

ก่อนที่จะเข้าประเด็นเรื่องการวิเคราะห์ทางด้านคุณภาพเรามาดูตัวเลขว่า “หุ้น 10 เด้ง ใน 10 ปี” นั้นจะต้องเป็นอย่างไร? ประการแรกเลยก็คือ หุ้นตัวนั้นจะต้องให้ผลตอบแทนหรือมีราคารวมปันผลปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ยแบบทบต้น ปีละอย่างน้อยประมาณ 26 % ขึ้นไปเป็นเวลาติดต่อกัน 10 ปี ฟังดูอาจจะไม่สูงสำหรับหุ้นหลายตัวที่อาจจะปรับตัวขึ้นเป็น 100% ในเวลาอันสั้นไม่กี่วันหรือเดือน แต่ประเด็นก็คือ หุ้นเหล่านั้นมักจะดีแต่ในช่วงสั้น ๆ หุ้นที่ปรับตัวยาวติดต่อกันปีแล้วปีเล่านั้นมักจะหาได้ยาก

ข้อที่สองของตัวเลขก็คือ ถ้าราคาจะปรับตัวขึ้นปีละ 26% กำไรของบริษัทก็ควรจะต้องปรับตัวขึ้นอย่างน้อยปีละ 26% แบบทบต้นเป็นเวลา 10 ปีด้วย แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก สำหรับกิจการขนาดใหญ่ที่จะเติบโตได้ในอัตราขนาดนั้น ดังนั้น สำหรับหุ้น 10 เด้งใน 10 ปี ที่เกิดขึ้นแล้วในตลาดหุ้นไทย ส่วนใหญ่แล้วบริษัทจะมีกำไรแบบทบต้นไม่ถึง 26% ต่อปี แต่โตขึ้นเช่นเพียง 17%-18% ขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งทำให้ราคาหุ้นควรจะขึ้นไปเป็นเพียง 5 เท่าในเวลา 10 ปี

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความนิยมของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ค่า PE ของหุ้นถูกปรับขึ้นเป็นเท่าตัวหรือมากกว่านั้น ซึ่งทำให้ราคาหุ้นที่ควรขึ้นไป 5 เท่า กลายเป็นเพิ่มขึ้นไป 10 เท่า และกลายเป็นหุ้น 10 เด้ง

ตัวอย่างก็เช่น หุ้นในกลุ่มค้าปลีกนั้น ถ้าดูเมื่อ 10 ปีที่แล้วจะพบว่าไม่ค่อยมีใครสนใจ ค่า PE ของหุ้นจึงเป็นแค่ 10 เท่าต้น ๆ แต่ถึงปัจจุบันค่า PE กลายเป็นกว่า 20 เท่า เช่นเดียวกับหุ้นโรงพยาบาลที่เป็นซุปเปอร์สต็อกในปัจจุบันนั้น เมื่อ 10 ปีที่แล้วไม่มีนักลงทุนคนไหนสนใจ ค่า PE จึงค่อนข้างต่ำอย่างมากก็ 10 กว่าเท่า แต่ในปัจจุบันก็มีค่า PE หลายสิบเท่า

การวิเคราะห์เชิงคุณภาพของหุ้น 10 เด้งในอีก 10 ปี ข้างหน้านั้น ผมคิดว่าน่าจะคล้าย ๆ กับหุ้น 10 เด้งในอดีต นั่นก็คือ ข้อแรกควรเป็นหุ้นที่อยู่ใน “เทรนด์” ของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่จะเติบโตเร็วต่อไปในอนาคตอย่างน้อย 5-6 ปี ขึ้นไป ข้อสองควรจะเป็นหุ้นของผู้ชนะเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอันดับหนึ่ง และถ้าจะให้ดีต้องเหนือกว่าอันดับสองมาก

ข้อสามการชนะของบริษัทจะก่อให้เกิดความได้เปรียบในด้านของการแข่งขันอย่างถาวร เช่น ทำให้บริษัทได้เปรียบด้านต้นทุนเนื่องจากขนาดบริษัทใหญ่กว่าคู่แข่งมาก หรือการชนะทำให้ชื่อเสียงหรือแบรนด์เนมของสินค้าเป็นที่ยอมรับว่าเหนือกว่ารายอื่นอย่างชัดเจน เป็นต้น ข้อสี่หุ้นที่จะเป็นซุปเปอร์สต็อกนั้น ควรจะเป็นกิจการที่ไม่ต้องลงทุนขยายงานสูง และเป็นธุรกิจที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานดีถึงดีมาก และสุดท้ายขนาดของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจนั้นต้องใหญ่พอที่จะรองรับการขยายตัวของบริษัทที่จะโตขึ้นอีก 10 เท่าได้

จากเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นก็จะพบว่าผมไม่ได้บอกว่าหุ้นตัวไหนหรือกลุ่มไหนจะเป็นหุ้น 10 เด้งในทศวรรษหน้า สิ่งที่บอกได้ก็คือ หุ้นแบบไหนหรือกิจการแบบไหนจะไม่สามารถเป็นหุ้น 10 เด้งได้มากกว่า

ก่อนที่จะจบบทความนี้ คงต้องบอกว่าสิ่งที่พูดนั้น เป็นเรื่อง “พื้นฐาน” ของกิจการที่ จะส่งผลให้หุ้นมีโอกาสกลายเป็นหุ้น 10 เด้งใน 10 ปี สำหรับหุ้นขนาดพอสมควรที่เน้นการเติบโตของธุรกิจตามปกติ

แน่นอน หุ้นขนาดเล็กหรือขนาดจิ๋วที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่และกลายเป็นหุ้น 10 เด้งนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา และไม่สามารถกำหนดเป็นเกณฑ์ได้ เช่นเดียวกับหุ้น Turnaround หรือหุ้นฟื้นตัว หรือหุ้น Cyclical หรือหุ้นวัฏจักร เหล่านี้ก็มีโอกาสเป็นหุ้น 10 เด้งได้ แต่ความเสี่ยงในการลงทุนก็สูงและผมเองก็ไม่สามารถจะกำหนดตัวได้

ตอนที่เริ่มลงทุนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไม่รู้ว่าจะเป็นหุ้น 10 เด้ง เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว โดยโชคดีที่ไม่ได้ขายถึงได้รู้ว่าเป็นหุ้น 10 เด้งที่ได้เปลี่ยนชีวิตผมไปอย่างสิ้นเชิง ถึงนาทีนี้คิดว่าคงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะได้หุ้น 10 เด้งในจำนวนเหมือนเดิม เหตุผลง่ายสุดคือ หุ้นที่ผมถือในปัจจุบันต่างเป็นหุ้นตัวใหญ่ที่คงไม่สามารถโตได้ขนาดนั้นใน 10 ปี

จากเว็ป
http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20140729/595668/%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99-10-%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%87-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2.html
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่