รัฐนิยม 12 ฉบับ


           นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 นั้น เริ่มปรากฏให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด ทั้งในทางการเมืองการปกครอง การบริหารราชการ รวมไปถึงในด้านสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน เมื่อในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

          แนวนโยบายของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือ “นโยบายสร้างชาติ” มีความหมายตามที่ปรากฏในคำกล่าวปราศรัยของจอมพล ป. ว่า “ความหมายของการสร้างชาตินั้นมีว่า ชาติไทยมีอยู่แล้ว แต่สถานะบางอย่างของชาติยังไม่ขึ้นถึงขั้นระดับสมความต้องการของประชาชาติไทย เราจำเป็นต้องพร้อมใจกัน สร้างเพิ่มเติมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ช่วยกันปรับปรุงไปจนกว่าเราทุกคนจะพอใจ หรืออย่างน้อยก็ได้ระดับเสมออารยะประเทศ” นำไปสู่การเปลี่ยนโฉมประเทศสยามไปจากเดิม และความริเริ่มประการหนึ่งที่ถือว่าเป็นสิ่งอันเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นอย่างแท้จริงก็คือ การประกาศสิ่งที่เรียกว่า “รัฐนิยม” อันเป็นประกาศเกี่ยวกับรูปแบบการปฏิบัติทางวัฒนธรรมสำหรับประชาชนที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติที่มีอารยธรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขวัฒนธรรมบางอย่างของชาติ สำหรับให้ใช้เป็นหลักให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติ
           โดยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้อธิบายคำว่า “รัฐนิยม” ไว้ในสุนทรพจน์นายกรัฐมนตรีซึ่งกล่าวทางวิทยุกระจายเสียงในอภิลักขิตสมัยแห่งงานเฉลิมฉลองวันชาติและสนธิสัญญา ในวันที่ 24 มิถุนายน 2482 จับใจความได้ว่า
รัฐนิยม คือ การปฏิบัติให้เป็นประเพณีนิยมที่ดีประจำชาติ เพื่อให้บุตรหลานอนุชนคนไทยเรายึดถือเป็นหลักปฏิบัติ รัฐนิยมนี้มีลักษณะและละม้ายคล้ายคลึงกับจรรยามรรยาทของอารยชนจะพึงประพฤตินั่นเอง ในรัฐนิยมยังมีพฤตติกรรมเพิ่มพิเศษขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ อำนาจมหาชน” ซึ่งคำว่าอำนาจมหาชน จอมพล ป. ก็อธิบายเพิ่มเติมในสุนทรพจน์ฉบับเดียวกันว่า
อำนาจมหาชน นั้นแปลรูปมาจากมติมหาชน ซึ่งเราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว หมายความว่า การทำสิ่งใดให้ดำเนินตามความเห็นของส่วนมากของชาติ ความเห็นดีเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่นั้น ก่อให้เกิดอำนาจมหาชนขึ้น อำนาจมหาชนนั้น สามารถทำการปรับปรุงหรือปราบปรามกลุ่มชนส่วนน้อยที่ยังว่านอนสอนยาก


            ประกาศรัฐนิยมออกมาในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2482-2485 รวมทั้งสิ้นจำนวน 12 ฉบับ และได้มีการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐนิยมด้วย โดยใจความของรัฐนิยม12ฉบับ มีดังต่อไปนี้

รัฐนิยมฉบับที่ 1: เรื่อง การใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ
        โดยที่ชื่อของประเทศนี้ มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ “ไทย” และ “สยาม” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “ไทย” รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความ นิยมของประชาชนชาวไทย ดั่งต่อไปนี้
ก. ในภาษาไทย  ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า “ไทย”
ข. ในภาษาอังกฤษ
             ๑. ชื่อประเทศ ให้ใช้ว่า THAILAND
             ๒.ชื่อประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า THAI
     แต่ทั้งนี้ ไม่กะทบถึงกรณีที่มีบทกฎหมายบัญญัติคำว่า “สยาม” ไว้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นต้นไป
     ประกาศมา ณ วันที่ 24มิถุนายน พุทธศักราช 2482


รัฐนิยมฉบับที่ 2: เรื่อง การป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ
       ด้วยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า ชาติไทยต้องเป็นที่เทิดทูลของชาวไทยอย่างสูงสุดเหนือสิ่งใดๆการป้องกันรักษาชาติย่อมเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ร่วมชาติกันจักต้อง ป้องกันอันตรายหรือความเสื่อมโทรมของชาติที่อาจมีมาด้วยประการต่างๆ จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้
     ๑. ชนชาติไทยต้องไม่ประกอบกิจการใดๆโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์และความปลอดภัยของชาติ
     ๒. ชนชาติไทยต้องไม่เปิดเผยสิ่งซึ่งอาจเป็นผลเสียหายแก่ชาติให้ชนต่างชาติล่วงรู้เลยเป็นอันขาด การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ
     ๓. ชนชาติไทยต้องไม่ทำตนเป็นตัวแทนหรือเป็นปากเสียงของต่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติไทย ต้องไม่ออกเสียงหรือแสดงตนเข้าข้างต่างชาติในกรณีที่เป็นปัญหาระหว่างชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ
     ๔. ชนชาติไทยต้องไม่แอบอ้าง ซื้อขายที่ดินแทนชนต่างชาติ ในทางที่เป็นภัยแก่ชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ
     ๕. เมื่อปรากฏว่า มีผู้หนึ่งผู้ใดทรยศต่อชาติ เป็นหน้าที่ของชาวไทยต้องเอาใจใส่รีบระงับเหตุนั้น
     ประกาศมา ณ วันที่ 3 กรกฎาคม พุทธศักราช 2482


รัฐนิยมฉบับที่ 3: เรื่อง การเรียกชื่อชาวไทย
       ด้วยรัฐบาลเห็นว่า การเรียกชาวไทยบางส่วนไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียกก็ดี การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายพวกหลายเหล่า เช่นไทยเหนือ ไทยอิสาณ ไทยใต้ ไทยอิสลามก็ดี ก็ไม่สมควรแก่สภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้
     จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้
     1. ให้เลิกการเรียกชาวไทย โดยใช้ชื่อที่ไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียก
     2. ให้ใช้คำว่า “ไทย” แก่ชาวไทยทั้งมวลไม่แบ่งแยก
     ประกาศมา ณ วันที่ 2 สิงหาคม พุทธศักราช 2482


รัฐนิยมฉบับที่ 4: เรื่อง การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี
        ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นสิ่งสำคัญประจำชาติ พึงได้รับความเชิดชูเคารพของชาวไทยทั้งมวล จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้
     1. เมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้น หรือลง จากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติหรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยวหรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลดธงลง ให้แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม
     2. เมื่อได้เห็นธงชัยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ ซึ่งทางราชการเชิญผ่านมา หรืออยู่กับที่ประจำแถวทหารหรือหน่วยยุวชนหรือลูกเสือ ให้แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม
     3. เมื่อได้ยินเพลงชาติ ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงาน หรือที่อยู่ในวงงานนั้น แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม
     4. เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในโรงมหรสพ หรือในงานสโมสรใดๆ ก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานหรือที่อยู่ในวงงานหรือในโรงมหรสพนั้น แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม
     5. เมื่อได้เห็นผู้ใดไม่แสดงความเคารพดังกล่าวในข้อ 1 – 2 – 3 และ 4 นั้น พึงช่วยกันตักเตือนชี้แจงให้เห็นความสำคัญแห่งการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี
ประกาศมา ณ วันที่ 8 กันยายน พุทธศักราช 2482


รัฐนิยมฉบับที่ 5:เรื่อง ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย
        เนื่องด้วยสถานการณ์ของโลกอยู่ในสภาพสงคราม ทุกประเทศทั้งที่เป็นคู่สงครามและเป็นกลาง จำต้องสนับสนุนการเกษตร พาณิชย์และอุตสาหกรรมของชาติเป็นพิเศษ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่าถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องชักชวนชาวไทยให้กระทำเช่นนั้นจึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้
     1. ชาวไทยพึงพยายามบริโภคแต่อาหารอันปรุงจากสิ่งซึ่งมีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย
     2. ชาวไทยพึงพยายามใช้เครื่องแต่งกายด้วยวัตถุที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย
     3. ชาวไทยพึงช่วยกันสนับสนุนงานอาชีพ การเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรมและวิชาชีพของชาวไทยด้วยกัน
     4. กิจการสาธารณูปโภคอันใดที่รัฐบาลหรือชาวไทยจัดให้มีขึ้นแล้ว ชาวไทยพึงพยายามใช้และสนับสนุน
     5. ชาวไทยผู้ประกอบการเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม งานอาชีพ หรือวิชาชีพ อันได้รับการสนับสนุนโดยรัฐนิยมฉบับนี้ ต้องพยายามรักษามาตรฐานปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น และดำเนินกิจการนั้นๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทุกประการ
     ประกาศมา ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2482


       รัฐนิยมฉบับที่ 6    :เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ
ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ ซึ่งได้ประกาศไว้ ณ วันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2477 นั้น ทำนองเพลงเป็นที่นิยมแพร่หลายตามสมควรแล้ว แต่เนื้อร้องจะต้องมีใหม่ เพราะชื่อประกาศได้เรียกว่าประเทศไทยแล้ว จึ่งได้ประกาศให้ประชาชนเข้าประกวดแต่งมาใหม่ บัดนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกเนื้อร้องบางบทเสนอให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัย คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาพิจารณาแล้ว ลงมติพร้อมกันตกลงตามบทเพลงของกองทัพบกโดยแก้ไขเล็กน้อย
     จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้
     1.ทำนองเพลงชาติ ให้ใช้ทำนองเพลงของพระเจนดุริยางค์ตามแบบที่มีอยู่ ณ กรมศิลปากร
     2. เนื้อร้องเพลงชาติ ให้ใช้บทเพลงของกองทัพบก ดั่งต่อไปนี้
ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย
     ประกาศมา ณ วันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2482


รัฐนิยมฉบับที่ 7:เรื่อง ชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ
      โดยที่รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการที่ชาติของเราจะเจริญก้าวหน้าสมความปรารถนาอันดีได้ย่อมอยู่ที่ข้าราชการจะต้องช่วยกันทำงานตามหน้าที่อย่างเข้มแข็งและใฝ่ใจทุกวิถีทางที่จะช่วยสนับสนุนพี่น้องชาวไทยให้มีทางประกอบอาชีพ โดยหวังให้ฐานะของคนทุกคนดีขึ้นเป็นลำดับ
     อนึ่ง งานสร้างชาติเป็นงานที่ใหญ่ยิ่งต้องช่วยกันอย่างพร้อมเพรียง ถ้าพี่น้องชาวไทยทุกคนพยายามแสวงหาอาชีพอันสุจริตสำหรับตนเองและครอบครัวโดยไม่เลือกงาน ประกอบการงานของตนให้มีรายได้พอที่จะทำนุบำรุงครอบครัวของตนให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ก็ย่อมจะทำให้ชาติของเราเจริญรวดเร็วโดยมิต้องสงสัย การที่พี่น้องชาวไทยช่วยกันทำงานเช่นนี้ ย่อมได้ชื่อว่าร่วมกันสร้างชาติ คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้
     “ชาวไทยทุกคนต้องร่วมกันสร้างชาติโดยทุกคนซึ่งมีกำลังกายดีต้องทำงานประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง ผู้ไม่ประกอบอาชีพเป็นหลักฐานนับว่าเป็นผู้ไม่ช่วยชาติและไม่ควรได้รับความนับถือของชาวไทยทั่วไป”
      ประกาศมา ณ วันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2482


รัฐนิยมฉบับที่ 8:เรื่อง เพลงสรรเสริญพระบารมี
          โดยเหตุที่ได้บัญญัติให้เรียกชื่อประเทศว่าประเทศไทย รัฐบาลจึงเห็นสมควรแก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมี มิให้มีคำว่า สยาม และตัดทอนข้อความและทำนองให้กระทัดรัดเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยม แก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบพิศดาร ให้มีข้อความดั่งต่อไปนี้
ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย
ขอบันดาล ธประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชย ชโย
     ส่วนทำนองเพลงแบบสังเขปนั้นให้คงไว้ตามเดิม
     ประกาศมา ณ วันที่ 26 เมษายน พุทธศักราช 2483
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่