เทปหายาก..หลวงตา มหาบัว ในรายการทไวไลท์โชว์ ช่อง3 พ.ศ.2541 ถอดคำบรรยายโดย( เภตรา ลานธรรม.org )

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
หลวงตาพระมหาบัว

ในรายการทไวไลท์โชว์

(5 - 07 – 2541)

(พิธีกร...กระผมต้องกราบขอบพระคุณหลวงตาเป็นอย่างยิ่งที่ได้กรุณากับรายการของเรา วันนี้จึงต้องขอกราบเรียนถามหลวงตาในปัญหาหลายๆ ปัญหา ที่เป็นปัญหาซึ่งจะเป็นประโยชน์กับชนหมู่ใหญ่)

ถาม - หลวงตาขอรับ เศรษฐกิจชาติบ้านเมืองเป็นอย่างตอนนี้ หลายๆ คนก็มีทุกข์ ทุกข์ก็หนักขึ้นไป แล้วก็ทุกข์ทั้งกาย ทุกข์ทั้งใจ อยากจะเรียนถามหลวงตาว่า ทำอย่างไรมันถึงจะดับทุกข์ตรงนี้ไปได้ขอรับ


ตอบ – ก็ต้องต่างคนต่างตะเกียกตะกายช่วยเหลือตัวเอง ด้วยความขยันหมั่นเพียร และมีการประหยัด การเป็นอยู่หลับนอน ใช้สอยต่างๆ ที่เคยฟุ่มเฟือยมาเป็นประจำในชาติไทยของเรานี้ ให้ลดน้อยถอยลงไปตามลำดับลำดา ต่างคนต่างปฏิบัติต่อตัวเองด้วยความประหยัดและความขยันหมั่นเพียร นี้ก็เป็นพื้นฐานอันดีที่จะทำให้บ้านเมืองของเราดีขึ้น ทุกข์ของเราก็มีน้อยลง

เช่น การประพฤติปฏิบัติตัว ก็อย่าเตร็ดเตร่เร่ร่อน ไม่มีสถานีที่จอดแวะ ให้มีสถานีที่จอดแวะ ด้วยศีล ด้วยธรรม การอยู่การกิน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ว่าให้รู้จักประมาณในการกินการใช้การสอย ดังแสดงไว้ในหลักธรรมว่า อารักขสัมปทา แล้วก็บอกว่า ให้มีความขยันหมั่นเพียรต่อหน้าที่การงานที่ชอบธรรมของตน มีความขยันหมั่นเพียรแล้ว ก็ให้มีการเก็บการรักษา อย่าสุรุ่ยสุร่าย ท่านว่า สมชีวิตา การเป็นอยู่ให้พอเหมาะพอสมกับตนและครอบครัวของตน อย่าให้สุรุ่ยสุร่ายฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปต่างๆ ซึ่งเป็นความเสียหาย


แล้วการคบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูงก็ให้พึงระมัดระวังว่าคนใดเป็นคนดี คนใดเป็นคนชั่ว ควรคบได้มากน้อยเพียงไรก็ให้ใช้ความพินิจพิจารณา แล้วย้อนมาดูตัวของเราเองว่า เรานี้เป็นคนพาลหรือเป็นบัณฑิตนักปราชญ์ เวลานี้จิตใจของเราเป็นยังไง ความประพฤติของเราเป็นยังไง เป็นความประพฤติที่เป็นพาล เป็นความคิดที่เป็นพาล หรือเป็นความคิดที่ดีที่งาม ที่ท่านเรียกว่าเป็นความคิดของบัณฑิตนักปราชญ์

ก็ให้เลือกเฟ้นภายในของตัวเองว่า เวลานี้เราเป็นพาลชนหรือเป็นบัณฑิตชน ถ้าเราเป็นพาลชนก็ให้รีบแก้ไขดัดแปลงสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายซึ่งมีอยู่ภายในตัวของเรานี้ออกไปโดยลำดับ แล้วนำสิ่งที่ดีงามเข้ามาแทนที่ ได้แก่ความประพฤติดีงามทุกอย่าง อันนี้ก็ทำให้ชาติบ้านเมืองของเราจะมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปเป็นลำดับ


พอต่างคนต่างปฏิบัติอย่างนี้ ที่เรียกว่าดำเนินตามศีลธรรม สมกับว่าเราเป็นชาวพุทธ คำว่าเป็นชาวพุทธต้องมีแบบมีฉบับ มีธรรมเป็นเครื่องดำเนิน เป็นเครื่องพาอยู่ พาเป็น พาไป เรียกว่าเป็นชาวพุทธ หากกิเลสมาเป็นชาวพุทธแทนเสีย สิ่งที่ทำทั้งหลายนี้ก็จะเป็นภัยต่อตนทั้งนั้น ไม่มีประมาณ เพราะกิเลสไม่เคยมีประมาณ และเคยเป็นข้าศึกต่อโลกมานานแสนนานแล้ว

แต่ใครๆ ไม่ค่อยจะทราบว่ากิเลสเป็นภัย เพราะกิเลสมีความละเอียดแหลมคมมาก ถ้าไม่ได้ขึ้นปฏิบัติต่อกรกับกิเลสเสียก่อน ก็ไม่ทราบว่าอะไรเป็นภัย พระพุทธเจ้าที่เป็นศาสดาองค์เอกของพวกเราทั้งหลายนั้น ได้ทรงทราบทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งด้านธรรมะ ทั้งด้านกิเลส จึงนำมาสอนโลก ทั้งทางโทษและทางคุณโดยสมบูรณ์ทุกแบบ

พวกเราทั้งหลายที่เป็นชาวพุทธก็ให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติตามนี้



ถาม – ขอรับ พระคุณเจ้าได้พูดถึงว่าเป็นชาวพุทธต้องอยู่ในศีลในธรรม ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็มักจะได้ยินคำนี้อยู่เสมอ คือศีล สมาธิ ปัญญา อยากจะเรียนถามพระคุณเจ้าว่า การรักษาศีลนี้มันเป็นประโยชน์อย่างไรครับ

ตอบ – เริ่มเป็นประโยชน์ เช่นอย่างเวลานี้เรานั่งอยู่ด้วยกัน ต่างคนต่างสงบ นี้คือมีศีลเป็นเครื่องรักษา ถ้าการทำลายศีลก็อยู่นี้ด้วยกันต่างคนต่างฆ่าฟันรันแทงกันนี้ โลกนี้แตกกระเจิงทันทีเลย นี่เรียกว่าโทษแห่งการทำลายศีล

อันนี้มีคุณค่าอย่างนี้แหละ คือความสงบร่มเย็นนี้แหละเป็นคุณค่าของศีล ให้โลกได้อยู่ด้วยกันร่มเย็นเป็นสุข เพราะต่างคนไม่เบียดเบียน ต่างคนไม่ทำลายกัน ต่างคนเห็นอกเห็นใจกัน ต่างคนต่างมีความเมตตาสงสารซึ่งกันและกันแล้ว คือให้อภัยซึ่งกันและกันแล้ว โลกเรานี้เป็นผาสุกทั้งนั้น


ถาม – ขอรับ เมื่อรักษาศีลแล้วนี่ ธรรมนั้นจะเกิดขึ้นในใจเองรึเปล่าพระคุณเจ้า

ตอบ – ธรรมไม่มีทางเกิด ถ้าลงไม่รักษาศีลแล้วธรรมไม่มีทางเกิด ธรรมนี่วิ่งเผ่นลงทะเลเลย ไม่มีเหลือแล้วธรรม จะมีแต่เปรตแต่ผีเต็มบ้านเต็มเมืองแหละ เวลานี้กิเลสมันมาก เปรตผีมันถึงมาก ทำลายคนได้ทุกบททุกแบบเรื่องกิเลส

คำว่ากิเลสคือความเศร้าหมองมืดตื้อ มันทำจิตใจของเราให้มืดดำไปหมด มืดแปดทิศแปดด้าน คือกิเลสปกคลุมใจ เหมือนกับคนตาบอด คนตาบอดนี้มีกี่ตาก็ตาม ถ้าบอดเหมือนกันหมด มันก็ไปไหนก็ชนกันไปเลย ถ้าเป็นคนตาดีแล้วมันก็มีช่องทางที่ไปได้ไม่เป็นภัย


ถาม – ขอรับ ดังนั้นเราจึงควรมีศีลในจิตใจ ธรรมจะเกิดขึ้น

ตอบ – เออ เมื่อมีศีลแล้ว ธรรมก็เกิดขึ้นในขณะที่มีศีลนั่นแหละ


ถาม – ขอรับ เพราะฉะนั้นขณะใดที่ไม่มีศีล ธรรมก็ไม่มี

ตอบ – ไม่มีศีล ธรรมก็ไม่มีหรอก คือศีลกับธรรมเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน เช่นเดียวกับตัวของเรากับเงาของเรา เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน


ถาม – สาธุ พระคุณเจ้า พระคุณเจ้าขอรับ แล้วสมาธิ หลายๆ คนพูดถึงสิ่งนี้กันเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงาน อย่างเช่นพวกกระผม หรือว่าคนที่ทำงานอย่างในโลกปัจจุบันนี้ ธรรมนี่มันต้องมีสมาธิ ทำอย่างไรจึงจะมีสมาธิได้ครับพระคุณเจ้า

ตอบ – อ๋อ ต้องทำสมาธิสิ อย่าขี้เกียจภาวนา คนขี้เกียจภาวนาไม่มีสมาธิเกิดขึ้นได้หรอก ต้องภาวนา

คำว่าภาวนานั้นเป็นอย่างไรบ้าง ในธรรมท่านสอนไว้หลายบทหลายบาท เช่น กรรมฐาน ๔๐ ห้อง จะเป็นธรรมบทใดตั้งแต่ อานาปนสติขึ้นไป พุทโธ ธัมโม สังโฆ เรียกว่าบทธรรมกำกับใจทั้งนั้น เรานำธรรมมากำกับใจโดยมีสติ


สติคือความระลึกรู้ เพียงแต่มีความรู้เฉยๆ ไม่มีสติเป็นเครื่องควบคุม เป็นผู้รับผิดชอบแล้ว ความรู้เหล่านั้นก็ไม่เกิดผลเกิดประโยชน์อะไร

เช่นเดียวกับคนบ้า ไม่มีสติแล้วก็ไปอยู่ที่ไหน ทางสามแพร่งสี่แพร่ง ไฟเขียวไฟแดง คนไม่มีสติคือคนบ้านั้นจะอยู่ได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่รู้ว่าผิดว่าถูกประการใด นี่คือคนไม่มีสติ ถ้าคนมีสติแล้ว นี้คือทางที่ควรไป ทางที่ไม่ควรไป สถานที่ควรอยู่ ไม่ควรอยู่ คนมีสติย่อมทราบ นี่เรียกว่าสติ


ทีนี้เวลาเราภาวนา ก็เช่นอย่างเรากำหนดภาวนาพุทโธๆๆ ก็ให้มีสติกำกับอยู่กับคำว่าพุทโธ ไม่ให้ส่งจิตไปในที่อื่น มีสติเครื่องรับผิดชอบกำกับอยู่ภายในใจ จิตก็สงบได้ง่าย จิตก็สงบเข้าไป สงบเข้าไปแล้วหลายครั้งหลายหน จิตก็เกิดความแน่นหนามั่นคงขึ้นภายในใจ นั่นแหละท่านเรียกว่าสมาธิเกิดแล้ว นี่เรียกว่าสมาธิเกิดขึ้นจากการภาวนา ... เอาล่ะมีอะไรอีก


ถาม – ขอรับ ที่พระคุณเจ้าพูด ถ้ากระผมจะพูดก็หมายถึงว่า จริงๆ แล้วการที่มีศีล มีสมาธิ ถ้าไม่มีสติกำกับ ก็คงเป็นไปไม่ได้

ตอบ – เป็นไปไม่ได้ เออ


ถาม – ทีนี้คนเรามันมักจะขาดสติ พระคุณเจ้า สติมันเดี๋ยวมาเดี๋ยวไป เดี๋ยวหายเดี๋ยวอยู่ ทำอย่างไรให้สติมันอยู่นิ่งได้ พระคุณเจ้า

ตอบ – คือ สตินี่ ไม่จำเป็นจะต้องเข้าที่นั่งภาวนา คือเรานั่งอยู่เฉยๆ นี่ มีความตั้งสติอยู่นี้ เราก็เป็นคนมีสติอยู่ธรรมดา เราจะทำหน้าที่การงานอะไรก็ตาม สติให้อยู่กับหน้าที่การงาน และรู้สึกตัวอยู่ภายใน

ไม่ให้จิตออกนอกไปสู่ที่โน่นที่นี่ ข้างนอกออกไปมากๆ เกี่ยวกับเรื่องความเสียใจดีใจนี้ มันก็ทำให้คนลืมตัวไปได้ เสียไปได้ ...ถ้าสติอยู่กับตัว หน้าที่การงานก็สมบูรณ์ เขียนหนังสือก็ไม่ค่อยผิดค่อยพลาด อ่านหนังสือก็จดจ่อ ทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าสติกำกับแล้วดีหมด

เพราะนั้นท่านถึงแสดงไว้ว่า สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา...สติจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง คือไม่เว้นที่สติจะไม่มี คือต้องมีสติ

แต่สติวงกว้างก็มี สติในวงแคบก็มี เราทำหน้าที่การงานส่วนหยาบ สติก็เป็นวงกว้างเกี่ยวข้องกับการงาน ถ้าเราทำสมาธินี่ สติก็เป็นวงแคบ จดจ่อเฉพาะจุดของตนที่ทำ สติมีหลายขั้นที่เราจะต้องใช้ นี่เรียกว่าสติทั้งนั้น ...เอ้า แล้วมีอะไรอีกล่ะ


ถาม – แสดงว่าต้องแน่วแน่ ต้องมีความมั่นคงในการกระทำ

ตอบ – เออ นั่นแหละ มีความจดจ่อ มีสติควบคุม งานก็สมบูรณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างดีหมด ถ้าขาดสติเสีย แม้แต่เขียนหนังสือก็ไม่ถูก ผิดๆ พลาดๆ คือขาดสติ

เช่น เราเขียนหนังสือนี่ สติเราไม่มีไปจดจ่อในที่อื่น ไปทำงานในที่อื่นไปเสีย คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเสีย เขียนหนังสือก็ผิดๆ พลาดๆ ไป พอสติย้อนมารู้สึกตัวนี้ มีสติก็เขียนหนังสือถูกต้อง นี่ สติจึงเป็นของสำคัญมากทีเดียว


ถาม – ขอรับ หมายถึงทำอะไรก็ตาม ให้มุ่งมั่นอยู่กับสิ่งนั้น อย่าได้วอกแวกนัก ให้มุ่ง ให้มั่น ให้แน่วแน่

ตอบ – เออๆ มีสตินี่แหละ

( มีต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่