ศปจร.ตร. กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา "รถสวมซาก" ร่วม 5 หน่วยงาน บังคับใช้กฎหมายเต้นท์รถ "ติดสลาก"

ศปจร.ตร. กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา "รถสวมซาก" ร่วม 5 หน่วยงาน บังคับใช้กฎหมายเต้นท์รถ "ติดสลาก"



ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์รถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับมือ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กำหนดมาตรการร่วมกันแก้ไขปัญหารถสวมทะเบียน (สวมซาก) อย่างบูรณาการและยั่งยืน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 กรกฎาคม 2557 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ห้องประชุม 4 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศปจร.ตร.) เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหารถสวมทะเบียน (สวมซาก) มีหน่วยงานเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมประกันวินาศภัยไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย และสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เพื่อหามาตรการในการแก้ไขร่วมกัน เรื่องรถสวมทะเบียน (สวมซาก) อย่างบูรณาการ และยั่งยืน

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง กล่าวว่า จากการตรวจสอบของ ศปจร.ตร. และความร่วมมือของกรมการขนส่ง ทางบก ทำให้สามารถตรวจพบการกระทำผิดเรื่องการสวมทะเบียนรถ (สวมซาก) ในฐานะ ผอ.ศปจร.ตร. ต้องขอขอบคุณ นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่ง ที่ให้ความร่วมมือทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศปจร.ตร. ตรวจพบบุคคลที่กระทำผิดเรื่องนี้ได้ และเบื้องต้น ท่านอธิบดีกรมการขนส่ง ได้มีการลงโทษโดยการย้ายเจ้าหน้าที่ขนส่งที่มีส่วนในการกระทำผิดดังกล่าวออกนอกพื้นที่ไปแล้ว และในฐานะ ผอ.ศปจร.ตร. ต้องขอขอบคุณผู้แทนหน่วยงานทุกท่านที่ให้เกียรติมาประชุมในวันนี้ กรมการขนส่งทางบก, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), สมาคมประกันวินาศภัยไทย, และสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ซึ่งผลประชุมในวันนี้ จะเป็นบทสรุปร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหารถสวมทะเบียน (สวมซาก) และจะนำไปเป็นมาตรการการป้องกันการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและยั่งยืน และเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนต่อไป

สำหรับผลประชุมในวันนี้ สรุปแนวทางเบื้องต้นได้ดังนี้ กรมการขนส่งทางบก ต้องออกระเบียบ กฎกระทรวง หรือข้อบังคับในการจดทะเบียนและตรวจสภาพรถที่เกิดอุบัติเหตุเสียหายโดยสิ้นเชิง (แจ้งไม่ใช้ตลอดไป) หรือรถที่ประมูลมาจากส่วนราชการหรือเอกชนเพื่อป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่บางนาย และเห็นควรจัดตั้งศูนย์รับข้อมูลเพื่อดำเนินการกับประสบอุบัติเหตุ ที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปได้ตรวจสอบ

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบและแนวทางการช่วยเหลือหรือเยียวยาให้แก่ประชาชนที่ซื้อรถสวมซากมาโดยสุจริต สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย ดำเนินการเกี่ยวกับระเบียบหรือข้อกำหนด ในการจำหน่ายรถเกิดอุบัติเหตุเสียหายโดยสิ้นเชิง (total lost) เพื่อให้บริษัทประกันภัย ต่างๆ ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน สมาคมประกันวินาศภัยไทย ต้องออกหลักเกณฑ์การพิจารณารถที่เกิดอุบัติเหตุเสียหายโดยสิ้นเชิง (total lost) ของสมาคมประกันวินาศภัย (นิยามคำว่า ซาก) ให้ชัดเจน รวมทั้งหลักเกณฑ์การพิจารณาขายซากรถยนต์ ที่เสียหายโดยสิ้นเชิง ขายเฉพาะซากรถไม่ขายทะเบียน หรือขายทั้งซากทั้งทะเบียน

สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ต้องดำเนินการทางทะเบียน โดยการแจ้งไม่ใช้รถต่อกรมการขนส่งทางบก กับรถยนต์ที่ผู้เช่าซื้อนำรถไปเกิดอุบัติเหตุเสียหายโดยสิ้นเชิง (total lost) ทั้งกรณีไม่มีประกันภัย ซึ่งผู้ซื้อซากจะเป็น ผู้จ่ายเงินส่วนที่เหลือแทนบริษัท ประกันภัย หากรถของท่านถูกอายัดทะเบียน หรือมีหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งให้ทราบว่ารถของท่านเป็น "รถสวมซาก" ก็สามารถโทรเข้ามาขอคำแนะนำ ตลอด 24 ชั่วโมง ได้ที่ "สายด่วนรถหาย 1192" ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของ ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปจร.ตร. แนะนำขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ให้ว่าต้องทำอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเอกสาร แจ้งสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อเพื่อรักษาเครดิต ขั้นตอนการเจรจากับผู้ขาย แจ้งความดำเนินคดีกับคนขาย เป็นต้น

พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า สำหรับวิธีสังเกตเบื้องต้นเพื่อป้องกันเหตุรถถูกสวมซากแล้วนำมาขายต่อเป็นรถมือสอง คือ ให้ตรวจสอบสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ (เล่มทะเบียนสีน้ำเงิน) ว่าเป็นเล่มใหม่ ลำดับครอบครองไล่เรียงกัน หรือไม่ หากแจ้งหายทำเล่มใหม่ ต้องระวัง เป็นรถที่ประมูลมาจากบริษัทประกันภัยหรือไม่ แจ้งย้ายหลายจังหวัด หรือไม่ ซึ่งหากติดต่อผู้ครอบครองคนก่อนได้ก็จะดีมาก และในการซื้อรถมือสอง ควรซื้อจากคนรู้จัก ถ้าเป็นเต้นท์รถมือสอง ก็ต้องเป็นเต้นท์ที่มั่นคง ผู้บริหารเชื่อถือได้ มีหลักทรัพย์เป็นที่ไว้วางใจได้ และเพื่อให้ผู้ซื้อได้มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น มีข้อแนะนำให้ดำเนินการ ดังนี้

(1.) นำรถไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองพิสูจน์หลักฐานกลาง หรือศูนย์พิสูจน์หลักฐานในส่วนภูมิภาค บริษัท ผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อนั้นๆ

(2.) หากการตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นรถยนต์ที่มีการแก้ไขหมายเลขตัวรถหรือหมายเลขเครื่องยนต์ ควรมอบรถให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดไว้ โดยให้เจ้าหน้าที่ทำบันทึกการตรวจยึดไว้เป็นหลักฐานลงลายละเอียดให้ชัดเจน

(3.) นำบันทึกการตรวจยึดใน ข้อ (2.) ไปแจ้งต่อสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อ เพื่อระงับการผ่อนชำระค่างวด เมื่อสถาบันการเงินตรวจสอบหลักฐานเป็นข้อยุติแล้วจะต้องคืนเงินในส่วนที่เราผ่อนชำระไปทั้งหมด หรือตามที่เจรจากัน

(4.) กรณีซื้อเงินสด (หรือผ่อนหมดแล้ว) ให้ท่านนำหลักฐานการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดรถไปเรียกร้องขอเงินคืนจากผู้ขาย เมื่อชดใช้เงินกันเรียบร้อยแล้ว โดยมอบภาระให้ผู้ขายในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

(5.) กรณีการเจรจาตาม ข้อ (3) – (4) ไม่เป็นที่ตกลงหรือพอใจของท่าน ท่านสามารถไปร้องเรียนต่อสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในเขตที่ท่านซื้อขายรถ ให้เป็นผู้เรียกคู่กรณีมาเจรจา หากยังไม่เป็นที่ตกลงพอใจ สคบ. มีอำนาจหน้าที่ ที่จะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือใช้มาตรการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งได้

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีกฎหมายชัดเจนว่า ผู้ที่ประกอบการที่เกี่ยวกับสินค้า ต้องมีการติดสลากแสดงรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าต่าง ๆ เช่น รถยนต์ที่จำหน่ายตามเต็นท์รถยนต์มือสอง ซึ่งรถเหล่านั้นจะต้องมีการติดสลากที่รถ พร้อมกับมีรายละเอียดข้อมูลว่า รถคันนั้นมีที่มาหรือที่ไปอย่างไร ซึ่งกฎหมายของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคได้มีบทลงโทษสำหรับบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท กฎหมายดังกล่าวอยู่ใน มาตรา 52 ของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค "ต่อไปนี้ ศปจร.ตร. จะมีการบังคับใช้กฎหมายข้อนี้กับ เต็นท์รถ ที่ไม่ให้ความร่วมมือกับการปฏิบัติตามกฎหมาย และในส่วนของเจ้าหน้าที่ หากพบว่า มีการกระทำผิดเอง ก็จะมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ เชื่อมั่น จะช่วยป้องกันประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากการซื้อรถมือสองได้" พล.ต.อ.สมยศ กล่าว





#รถหาย #รถยนต์นั่งส่วนบุคคลหาย #รถยนต์กระบะหาย #รถสวมซาก #Stolencarsreport

www.facebook.com/stolen.cars.report
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่