บทความ : ฤดูกาลของโลก

** แก้ไขข้อมูลบางส่วนที่ยังไม่ถูกต้อง และเพิ่มข้อมูลใหม่ๆบางส่วนครับ(18 ก.ค.65) **

สวัสดีเพื่อนๆชาวพันทิปทุกคนครับ

เมื่อกล่าวถึงฤดูกาล ท่านอาจจะนึกถึงสภาพอากาศที่ร้อนจนไอระอุออกจากพื้นดิน หรือความเปียกแฉะของหน้าฝน หรือไม่ก็อาจเป็นลมหนาวที่ทำให้ท่านอยากหาคนมากอดให้อุ่นๆ

ตอนสมัยเด็ก ผมมีคำถามกับครูผู้สอนวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ด้วยความสงสัยว่า ฤดูกาลของโลกนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมประเทศไทยจึงร้อนเมื่อตอนเมษายน และหนาวตอนเดือนธันวาคม ทำไมช่วงสิงหาคม กันยายน ฝนจึงตก

เมื่อผมได้คำตอบว่า "เพราะระยะห่าง ระหว่างโลก และดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน เมื่อมันโคจรรอบดวงอาทิตย์" ผมจึงจำคำตอบนั้นเรื่อยมา

จนผมถึงวัยทำงาน ผมต้องนั่งรถเมลล์ไปทำงาน โดยรถเมลล์สาย 7 จะวิ่งผ่านเพชรเกษม ไปหัวลำโพง รถหันหน้าไปเกือบทิศตะวันออกพอดี

ผมพบว่า เมื่อฤดูร้อน ห้ามนั่งข้างหน้า เพราะตอนเช้าแดดจะส่องเต็มๆ
ถ้าเลยช่วงเมษาไป ดวงอาทิตย์มันจะเยื้องไปทางทิศเหนือนิดนึง ทำให้แดดส่องเข้าทางซ้าย ช่วงนี้ห้ามนั่งทางซ้าย
ถ้าเลยสิงหาไป แดดจะส่องเข้ามาทางขวา เพราะฉะนั้นต้องไปนั่งฝั่งซ้าย

ผมเอะใจ ทำไมดวงอาทิตย์มันเลื่อนไปเลื่อนมาได้ เลยกลับมาค้นคว้าด้วยตัวเอง จึงพบว่า

"โลกไม่ได้เกิดฤดูกาลเพราะระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน"


โลกนั้นโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ไม่ใช่วงกลมครับ แต่ความรีนั้นน้อยมากๆ(รูปดูเว่อร์ไปเยอะครับ) โดยช่วงที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดนั้นคือระยะทาง 152,098,232 กิโลเมตร ส่วนเมื่อโลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดคือ 147,098,290 กิโลเมตร
แต่นั้นไม่ได้ทำให้ประเทศไทยร้อนขึ้นหรือเย็นลงแต่อย่างใดครับ แล้วฤดูกาลเกิดขึ้นได้อย่างไร

ข้อมูลแรกที่เราต้องรู้คือ โลกหมุนรอบตัวเอง แต่แนวในการหมุนรอบตัวเองนั้น ทำมุมกับวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ครับ(axial tilt) โลก หมุนรอบตัวเอง โดยทำมุมกับวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 23 กับอีก 1/2 องศา



ตลอดเวลาที่เรานั่ง ยืน หรือนอนอยู่บนโลกนี้ โลกเรากำลังวิ่งวนเป็นวงเกือบกลม รอบดวงอาทิตย์ ด้วยความเร็วเกือบๆ 30 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งในเวลา 365 กับอีก 1/4 วัน โลกก็จะวิ่งวนรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบพอดีครับเมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ มันจะรักษามุมระหว่างแกนโลก กับวงโคจรของดวงอาทิตย์เท่าเดิมตลอดเวลา ดูจากรูปด้านล่างครับ(แนววงกลมของรูปนั้น โลกโคจรระนาบเดียวกับดวงอาทิตย์นะครับ ไม่ได้โคจรขึ้น - ลง รอบดวงอาทิตย์นะ) และสังเกตว่าแกนมันจะหันไปทางเดียวกันตลอด ไม่ว่ามันจะวนไปอยู่ในช่วงใดของดวงอาทิตย์



จากการเคลื่อนที่ในลักษณะนี้ ของโลก และดวงอาทิตย์ จะทำให้ ณ เวลาหนึ่งๆ โลกจะเอียงและพาให้พื้นที่ ที่หนึ่งตั้งฉากกับดวงอาทิตย์พอดี และพื้นที่นั้นๆ จะได้รับแสงในวันหนึ่งๆเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด เมื่อเทียบกับวันอื่นๆของปี




ตามรูปด้านบนนั้น เมื่อโลกหมุนรอบตัวเองไปเรื่อยๆ มันจะพาพื้นที่ที่อยู่บนเส้น Tropic of cancer วนมารับแสงอาทิตย์ โดยเส้นนั้นจะทำมุม 90 องศากับดวงอาทิตย์พอดีครับ ทำให้ช่วงนั้นของปี ประเทศที่อยู่บนเส้นนี้ จะมีเวลากลางวัน นานกว่าเวลากลางคืนและหากสังเกตตรงขั้วโลก ไม่ว่าโลกจะหมุนรอบตัวเองอย่างไร ขั้วโลกเหนือจะได้รับแสงแดด 24 ชั่วโมง โดยดวงอาทิตย์จะไม่ตกลับขอบฟ้าเลยในช่วงนี้ครับ เช่นเดียวกับขั้วโลกใต้ ที่มันจะไม่ได้รับแสงอาทิตย์เลยทั้งวันเป็นช่วงเวลาหนึ่งครับ

และเมื่อร่วมกับการที่โลก หมุนรอบดวงอาทิตย์ไปด้วย จุดที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลกนั้น มันจะขยับขึ้น - ลงไปเรื่อยๆ ซึ่งจะอยู่ในช่วงเส้น Tropic of cancer และ Tropic of capricon ตามแต่รอบปีครับ เช่นจากรูปด้านบน ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากกับพื้นโลก บริเวณแนวเส้น Tropic of cancer ในช่วงวันที่ 20/21 มิถุนายน ของทุกปีเมื่อเวลาผ่านไป ผ่านไป และผ่านไป จุดที่ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากกับโลก ก็จะเริ่มขยับลงมาเรื่อยๆ และจะขยับลงไปสุดตรงเส้น Tropic of capricon ประมาณวันที่ 22 ธันวาคมครับ ลองดูรูปด้านล่างประกอบ



เมื่อใดที่ดวงอาทิตย์อยู่เหนือหัวเราพอดี ณ บริเวณนั้นในช่วงนั้น จะได้รับพลังงานของดวงอาทิตย์ต่อวันมากกว่าช่วงเวลาอื่นๆของปีซึ่งมักจะเป็นฤดูร้อน(แต่ก็ไม่เสมอไป) และในทางกลับกัน หากดวงอาทิตย์ไปตั้งฉากกับพื้นโลกในจุดที่ไกลออกไปที่สุด พื้นที่จะได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ต่อวันน้อยลงมากซึ่งจะกลายเป็นฤดูหนาว

จากเหตุการณ์ข้างต้น ถ้าจุดสังเกตอยู่ที่ประเทศไทยนั้น เราจะหนาวสุด ในช่วงประมาณ 22 ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงเหมายัน (เหมายัน อ่านว่า เห-มา-ยัน มิใช่เหมายันแต่อย่างใด) ในช่วงนั้นดวงอาทิตย์จะขึ้นช้า(ประมาณ 7 โมงเพิ่งจะสว่าง) และตกไวขึ้น(5 โมงครึ่งก็มืดแล้ว)เมื่อถึงเวลาเที่ยงวัน ดวงอาทิตย์จะไม่อยู่กลางท้องฟ้า แต่จะเยื้องๆไปทางทิศใต้ รูปด้านล่างเป็นเวลาขึ้น และตกของดวงอาทิตย์ ในเดือน ธ.ค. ปี 2022 โดยมีตำแหน่งอ้างอิงเป็นกรุงเทพมหานครครับ


และเมื่อเวลาผ่านไป ดวงอาทิตย์จะค่อยๆ วิ่งกลับมา ช่วงนี้จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาว ไปเป็นฤดูร้อน ดวงอาทิตย์จะผ่านเส้นศูนย์สูตรมา เราเรียกว่าช่วง equinox ครับ ในช่วง equinox คือฤดูร้อนของประเทศที่อยู่บริเวณแนวเส้นศูนย์สูตร ซึ่งจะอยู่ประมาณวันที่ 20 มีนาคม



เมื่อดวงอาทิตย์จะขยับมาเรื่อยๆจนกระทั่งมาอยู่เหนือกรุงเทพอีกครั้งในช่วงประมาณวันที่ 27 เมษายน ช่วงนั้นจะร้อนกันสุดๆ ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็ว(ตีห้าครึ่งก็เริ่มสว่าง) และตกช้าลง(ทุ่มนึงเพิ่งจะเริ่มมืด) ช่วงนี้เมื่อถึงเวลาเที่ยงวัน ดวงอาทิตย์จะอยู่ตรงกลางหัวเราเป๊ะๆ เราสามารถยืนทับเงาตัวเองได้ ตารางด้านล่างเป็นเวลาขึ้น และตกของดวงอาทิตย์ เดือน เม.ย. 2022 ตำแหน่งอ้างอิงเป็นกรุงเทพมหานครครับ


หลังจากนั้น ดวงอาทิตย์จะขึ้นไวขึ้นอีกนิด และตกช้าลงอีกหน่อย เนื่องจากดวงอาทิตย์กำลังขยับขึ้นไปที่เส้น Tropic of cancer โดยแถบซีกโลกเหนือจะเป็นช่วงฤดูร้อน แถบที่ตั้งฉากกับดวงอาทิตย์จะได้รับพลังงานเยอะ แต่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านจากหน้าร้อน (หรือ Dry season) ไปเป็นหน้าฝน(หรือ Wet-season) เราจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมที่พัดเอาความชื้นจากทะเลเข้ามา ฝนจะตกชุกมากๆในช่วงนี้ แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้มีอากาศร้อนมากแบบหน้าร้อนนะครับ เพราะถึงเราจะได้รับแสงอาทิตย์ถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน แต่แสงไม่ได้ตกกระทบกับประเทศไทยในลักษณะเป็นมุมฉาก เราเลยได้รับพลังงานไม่มาก เท่ากับประเทศที่อยู่ในแถบเส้น Tropic of cancer ครับ อันนั้นทั้งรับพลังงานเต็มๆ และรับเวลายาวนานด้วย

เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นไปจนสุดเส้น tropic of cancer และมันก็จะเริ่มกลับมาหาประเทศไทยอีกครั้ง ประมาณวันที่ 16 สิงหาคม มันจะมาอยู่กลางหัวเราอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้เราจะไม่ร้อนทารุณเหมือนช่วงเมษายน เพราะเรามีไอน้ำ/ความชื้นที่ถูกพัดมาจากทะเล(คือเมฆนั่นแหละ) มาปกคลุมพื้นที่ไว้ เราจึงรับแสงจากดวงอาทิตย์ได้ไม่เต็มที่เท่ากับในช่วงเดือนเมษายนครับ แต่ถ้าปีไหนที่ความชื้นไม่ค่อยพัดมาจากทะเล เราจะพบกับแดดจ้าและร้อนตับแตก ไม่ต่างจากช่วงเดือนเมษายนครับ

ดวงอาทิตย์จะกลับมาอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะกลับไปสู่เส้น Tropical of capricorn และทำให้เราเข้าสู่ฤดูหนาว(หรือ Dry season) อีกครั้ง เป็นอันครบ 1 ปีพอดี และจะวนแบบนี้อีกเรื่อยไปครับ

เกร็ดความรู้ทิ้งท้าย
- ซีกโลกเหนือจะเห็นดวงอาทิตย์ยาวนานที่สุดในช่วงวันที่ 21 มิ.ย. ของทุกปี เพราะดวงอาทิตย์ขึ้นไปตรงเส้น tropic of cancer โดยเฉพาะขั้วโลกเหนือ ดวงอาทิตย์ขึ้น 24 ชั่วโมงกันเต็มๆไปเลยครับ
- ฤดูกาลในซีกโลกใต้ก็จะกลับกันกับซีกโลกเหนือ กล่าวคือ เมื่อซีกโลกเหนือเป็นฤดูร้อน ซีกโลกใต้จะเป็นฤดูหนาวครับ ถ้าเราจะหนีหนาวเดือนธันวาคมไปหาอากาศร้อนๆ ต้องไปประเทศแถบซีกโลกใต้ เช่นออสเตรเลียนะครับ จากรูปจะเห็นได้ว่า เดืนกรกฎาคมของเขา เป็นหน้าหนาวของเค้า อุณหภูมิจะต่ำกว่าทุกๆเดือน และเดือนมกราเค้านี่คือร้อนที่สุดของเขาแล้วครับ

- ประเทศที่อยู่ในบริเวณขั้วโลก ไม่ว่าเหนือหรือใต้ อุณหภูมิในช่วงปีมักจะเหวี่ยงสุดๆ เนื่องจากเค้าจะมีช่วงที่รับแดดเยอะสุดๆ ในหน้าร้อน และรับแดดน้อยสุดๆ ในช่วงหน้าหนาว อุณหภูมิเมื่อเทียบระหว่างหน้าร้อน และหน้าหนาวเลยจะห่างกันมากครับ ลองดูที่แองคอเรจ อลาสก้าตามรูปด้านล่างครับ

ฤดูร้อนเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 24 องศา ในขณะที่หน้าหนาวเค้าเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ -23 องศา ต่างกันอยู่ถึง 47 เชียวครับ มาลองเทียบกันกับกรุงเทพของเราดู

ฤดูร้อนของเราเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 35.4 แต่พอหน้าหนาวเราอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 22 องศา แตกต่างกันแค่ 13.4 องศาเท่านั้นเอง
 
ขอแนบท้ายด้วยวีดีโอ ครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

แถม ดาวอังคารก็มีฤดูกาลเหมือนกัน แต่ฤดูกาลของดาวอังคารจะไม่ซับซ้อนเหมือนบนโลก


กระทู้นี้เป็นกระทู้บทความกระทู้แรกที่ผมเขียน ขออภัยด้วยหากมีข้อผิดพลาด ท่านสามารถเสริมเพิ่มเติมได้ถ้าเห็นว่าข้อมูลใดไม่ถูกต้อง ขอบคุณครับ



reference
Sydney - Wikipedia
Anchorage, Alaska - Wikipedia
Bangkok - Wikipedia
http://www.ldd.go.th/web_UNCCD/dryland/page1.htm
http://en.wikipedia.org/wiki/Tropic_of_Cancer
http://en.wikipedia.org/wiki/Tropic_of_Capricon
เวลาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ขึ้น-ตก พ.ศ. 2565 - กรุงเทพมหานคร (nectec.or.th)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่