Primark โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

กระทู้สนทนา


เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้อ่านข่าวเกี่ยวกับธุรกิจต่างประเทศ และพบข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง

ซึ่งพาดหัวว่า “แฟนแห่กันเข้าร้านไพร์มาร์คทั้งๆ ที่มีการประท้วง” เนื้อข่าวโดยย่อบอกว่านักช้อปของถูกต่างก็แห่กันเข้าร้าน Primark ที่เปิดใหม่ในย่านใจกลางของกรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมนีทั้งๆ ที่มีการประท้วงของนักเคลื่อนไหว ที่เรียกร้องให้บริษัทสัญชาติไอริชรายนี้ปรับปรุงเงื่อนไขและสภาพโรงงานที่ผลิตสินค้าของบริษัท

เนื้อข่าวยังบอกต่อไปอีกว่าไพร์มาร์คนั้น เปิดร้านแรกมาตั้งแต่ปี 1969 หรือ 45 ปีมาแล้วภายใต้ชื่อ Penneys ที่เมืองดับลินของไอร์แลนด์ และได้ขยายไปในหลายประเทศ และได้เริ่มเปิดร้านแรกในเยอรมนีในปี 2009 และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในยุโรป ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากตำแหน่งทางการตลาดของร้าน ที่เน้นสินค้าราคาถูกสุดๆ และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของแฟชั่น จำนวนสาขาของไพร์มาร์คในยุโรปมีถึง 274 สาขาแล้ว ในขณะเดียวกันบริษัทกำลังวางแผนเปิดร้านแรกที่เมืองบอสตันประเทศสหรัฐในปี 2558

สิ่งที่น่าสนใจต่อไปก็คือ ไพร์มาร์คมีแผนที่จะเปิดร้านในเยอรมนีมากกว่า 100 แห่ง จากปัจจุบัน 13 แห่ง เปรียบเทียบกับร้าน H&M ที่มีถึง 400 สาขา ประเด็นที่น่าสนใจคือเนื้อข่าวบอกว่าความสำเร็จของไพร์มาร์คนั้น ทำให้กำไรต่อยอดขายของ H&M ซึ่งเป็นแบรนด์ของสวีเดน และมีปัญหาเรื่องจรรยาบรรณทำธุรกิจแบบเดียวกันลดลง หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือ ไพร์มาร์คน่าจะเป็นร้านขายเสื้อผ้าที่สามารถแข่งขันกับ H&M ซึ่งเน้นสินค้าราคาถูกเช่นกันได้เป็นอย่างดี

ว่าที่จริงผมเคยไปลอนดอนหลายครั้ง และครั้งสุดท้ายเมื่อเร็วๆ นี้ก็พบว่าร้านไพร์มาร์คได้เปิดใหม่อีกหนึ่งแห่ง ใกล้เคียงกับร้านเดิมในย่านถนนอ๊อกซฟอร์ดซึ่งเป็นย่านการค้าสำคัญ ทุกครั้งที่ไปลอนดอน ผมและภรรยาจะต้องไปที่ร้านไพร์มาร์คและจะได้ของกลับมาหลายอย่าง และทุกครั้งเช่นเดียวกันพบว่าร้านไพร์มาร์คซึ่งมีขนาดใหญ่โตมากนั้นมีลูกค้าแน่นร้าน เกือบทุกคนจะถือตะกร้าเลือกซื้อสินค้าเสื้อผ้าและสินค้าที่ทำด้วยผ้าที่หลากหลายมาก ไล่ตั้งแต่ผ้าปูเตียงที่ใช้ในห้องนอนจนถึงผ้ากันเปื้อนในห้องครัวและอื่นๆ เรียกได้ว่ามีทุกอย่างที่ต้องใช้โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผ้า

จุดเด่นของไพร์มาร์คที่ทำให้คนสนใจเข้าไปจับจ่ายมากมาย คือราคาถูกมากรูปแบบสวยงามตามแฟชั่นล่าสุด นอกจากนั้นคุณภาพของวัตถุดิบซึ่งส่วนใหญ่คือผ้านั้น มีคุณภาพค่อนข้างดี ว่าที่จริงเสื้อผ้าและเนคไทที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ในการทำรายการทีวีหลายรายการก็เป็นสินค้าจากไพร์มาร์ค โดยที่ราคาเสื้อแขนยาวสีสันสวยงามนั้น ราคาถูกระดับที่อาจเรียกว่าตัวละ “199”บาท เนคไทแต่ละเส้นก็หลัก “100” บาท ถุงเท้าหรือผ้าเช็ดหน้าราคาเป็นแพ็คก็ถูกเท่าๆ กับสินค้าราคาถูกๆ ที่ขายในเมืองไทย

มองจากราคานั้นต้องบอกว่าไพร์มาร์คเน้นสินค้าราคาถูก อย่างไรก็ตาม คนอาจมีภาพที่ดีกับสินค้าได้เนื่องจากจุดขาย ซึ่งเป็นอาคารหรูหรากลางย่านการค้าหรูหราที่สุดแห่งหนึ่งของลอนดอน นอกจากนั้น สิ่งที่ทำให้ทึ่งอีกอย่างหนึ่งคือไพร์มาร์คไปเช่าที่มุมหนึ่งของห้าง Selfridges ซึ่งเป็นห้างหรูพอ ๆ กับห้าง Harrods เพื่อวางสินค้ายี่ห้อไพร์มาร์คบางอย่าง นี่อาจจะเป็นกลยุทธ์ของไพร์มาร์คที่จะทำให้คนไม่ดูว่านี่เป็นสินค้าที่มีคุณภาพต่ำ

สินค้าของไพร์มาร์คนั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีใช้ได้ รูปแบบของสินค้าเองก็ไม่น่าจะน้อยหน้าคู่แข่งเท่าไรนัก แต่ด้วยราคาสินค้าที่ต่ำมาก ทำให้นักช้อปทั้งหลายที่ไม่ได้เน้นเรื่องของแบรนด์มากต่างก็เลือกซื้อได้ง่ายดาย ไพร์มาร์คเป็นร้านที่เป็นขวัญใจของคนชั้นกลางทั่วไปนิยมของถูก แต่คุณภาพใช้ได้

ผมได้รู้จักและสัมผัสกับร้านไพร์มาร์คจริงจังที่ลอนดอนมาเมื่อประมาณ 3-4 ปีมาแล้ว จากการไปส่งลูกเข้าเรียนปริญญาโท และมีเวลาชอปปิงที่ลอนดอนหลายวัน ในเวลานั้นค่อนข้างจะ “ทึ่ง” กับความนิยมของคนอังกฤษต่อร้านไพร์มาร์ค แต่ไม่ได้คิดไปไกลเกี่ยวกับเรื่องหุ้น ไม่รู้ว่ามันเป็นบริษัทจดทะเบียนหรือไม่ และไม่สนใจเนื่องจากยังไม่ได้สนใจจะลงทุนหุ้นต่างประเทศ เพียงแต่คิดตาม“สัญชาตญาณนักลงทุน”ว่า นี่น่าจะเป็นธุรกิจที่ดีเยี่ยม และถ้ามีโอกาสเป็นเจ้าของคงจะสร้างผลตอบแทนที่งดงามได้

มาถึงวันนี้ที่พบข่าวเกี่ยวกับร้านไพร์มาร์คในเยอรมนีถึงได้รู้ว่าไม่ได้มีร้านเฉพาะแต่ในกรุงลอนดอน แต่มีในหลายประเทศและดูเหมือนว่าเป็นร้านที่แน่น เหมือนกับที่เห็นในลอนดอนซึ่งหมายความว่า Business Model หรือรูปแบบธุรกิจแบบนี้ดีเยี่ยมและแข่งขันได้ ดังนั้นจึงลองค้นคว้าดูและพบว่าที่จริงกิจการไพร์มาร์คนั้น เป็นบริษัทลูกของบริษัทจดทะเบียนชื่อ Associated British Foods (ABF) ในตลาดหุ้นลอนดอน โดยที่สร้างรายได้ประมาณหนึ่งในสามของบริษัทแม่ จึงเข้าไปดูว่าราคาหุ้นตัวนี้เป็นอย่างไรช่วงที่ผ่านมา?

มองจากกราฟราคาหุ้นแล้วรู้สึกทึ่งที่พบว่าหุ้นตัวนี้เติบโตขึ้นมาโดยตลอด โดยที่ราคาปรับตัวขึ้นมากในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ABF มีราคาประมาณ 1,080 ปอนด์ ราคาล่าสุดอยู่ที่ 3,098 ปอนด์หรือเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบ 200% ในขณะที่ดัชนี FTSE 100 ของอังกฤษนั้นปรับตัวขึ้นมาจากประมาณ 5,900 จุดเป็น 6,866 จุดหรือเพิ่มขึ้นเพียง 16% เท่านั้น ผมไม่รู้ว่าการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น ABF ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากผลประกอบการของไพร์มาร์คเป็นหลักหรือไม่ แต่คิดว่าน่าจะมีส่วนสำคัญทีเดียว และนั่นก็ทำให้จินตนาการต่อไปว่าถ้าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว อยู่ในสถานะที่คุ้นเคยกับตลาดหุ้นอังกฤษ และรู้จักหุ้น ABF ผมคงซื้อหุ้นตัวนี้ไปแล้ว เมื่อเห็นลูกค้าแน่นร้านไพร์มาร์คแบบนั้น และคงจะกำไรจากการลงทุนไปไม่น้อย

ประสบการณ์ที่หุ้น ABF ปรับตัวขึ้นอย่าง “มโหฬาร” ตามความนิยมในตัวสินค้า ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป นั่นคือภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนสนใจสินค้าราคาถูกแต่คุณภาพดีนี้ ทำให้นึกไปถึงแนวทางการลงทุนของ ปีเตอร์ ลินช์ ที่เน้นเรื่องพลังของ “สามัญสำนึก” ว่าสามารถทำให้เราเลือกหุ้นลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง

ตัวอย่างที่ ปีเตอร์ ลินช์ ยกขึ้นมาพูดก็คือการที่เขามักจะคอยฟังภรรยาหรือใครก็ตามที่เป็น “นักช้อป” ว่าสินค้าตัวไหนกำลัง “มาแรง” กล่าวคือได้รับการต้อนรับเป็นอย่างสูงจากลูกค้า เป็น “Talk of the town” นั่นคือผู้คนต่างก็กล่าวขวัญถึงและต่างก็อยากซื้อ เพราะเขาเชื่อว่าเมื่อสินค้าขายดีระเบิดแล้ว ในไม่ช้ากำไรก็จะตามมาและราคาหุ้นก็จะปรับตามกันไป การลงทุนในหุ้นโดยดูแต่ตัวเลขผลประกอบการทางการเงินนั้นอาจจะช้าเกินไป

ที่เขียนมาทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้ต้องการที่จะเชียร์ให้ซื้อหุ้น ABF เพราะราคาตอนนี้อาจจะสูงเกินไปแล้วมองจากค่า PE ที่สูงลิ่ว และโดยส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้สนใจที่จะซื้อหรือติดตามหุ้นตัวนี้ เพียงแต่ยกขึ้นมาเพื่อที่จะชี้ประเด็นให้เห็นว่า ถ้าเจอกิจการของบริษัทจดทะเบียนที่ขายดี “ระเบิด” และไม่ได้เป็นเรื่องแฟชั่นที่จะเลือนหายไปง่ายๆ และสินค้าตัวนั้นมีส่วนที่จะสร้างรายได้และกำไรแก่บริษัทอย่างมีนัยสำคัญ โอกาสที่หุ้นตัวนั้นจะ “วิ่งระเบิด” ในไม่ช้าก็จะตามมา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่