กาย เพียร์ซ และอิทธิพลความคิดจาก ฟรีดริช นิทเช่

ด้วยความบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบ การดูหนังที่แสดงโดย กาย เพียรซ์ 3 เรื่อง แล้วทำให้เราคิดถึงปรัชญาของ นิทเช่ ทั้ง 3 เรื่องเลย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือบังเอิญก็ตาม ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รู้จักหรือเข้าใจ นิทเช่ แบบลึกซึ้ง รู้เพียงพื้นผิว แต่ก็พอมองเห็นภาพทฤษฎีอภิมนุษย์ (Superman) และ วาทกรรมเรื่อง พระเจ้าตายแล้ว ของ นิทเช่ ได้บ้างพอควร

หนังที่ 3 เรื่อง คือ

1. Prometheus


กาย เพียรซ์ รับบทเป็นปีเตอร์ เวย์แลนด์ เจ้าของบริษัทผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สร้างตนจนร่ำรวยและมีเงินทองมากมาย อาจกล่าวได้ว่าเขามีทุกสิ่งทุกอย่างเพียบพร้อมเท่าที่มีมนุษย์วาดฝันจะมี ทั้งอำนาจ ชื่อเสียง เงินทอง ฯลฯ ซึ่งเขาสามารถสถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าของปวงมนุษย์ได้เลยทีเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่เขายังขาดไป และพยายามเติมเต็มความปราถนาส่วนนี้ คือ การเป็นอมตะ เขาจึงเก็บหอมรอมริบเพื่อนำยานอวกาศของเขาขึ้นไปสำรวจเพื่อหวังจะได้ค้นพบสิ่งสูงสุดของจักรวาลและค้นพบการเป็นอมตะให้จงได้

ทำไมถึงคิดถึงนิทเช่ ?

ปีเตอร์ เวย์แลนด์ ต่อสู้ดิ้นรนขึ้นมาจนมีพลังอำนาจยิ่งใหญ่ในฐานะมนุษย์หนึ่งคนเท่าที่จะทำได้ แถมยังพยายามหาวิธีค้นพบการเป็นมีความเป็นอมตะเทียบเท่าพระเจ้า ซึ่งนี้ก็เป็นแนวความคิดนิทเช่เหมือนกันที่ต้องการสร้างมนุษย์ปุถุชนให้มีความสูงส่งโดยให้ล้มเลิกที่จะคิดถึงพระเจ้า เพราะการอยู่ใต้ชายคาพระเจ้าก็ยิ่งทำให้มนุษย์อ่อนแอ และพัฒนาตนไปได้ไม่ไกล ถึงแม้ ปีเตอร์ เวย์แลนด์ จะยังเชื่อว่าในจักรวาลยังมีสิ่งสูงสุด ซึ่งเป็นสิ่งที่นิทเช่น ต่อต้านแต่การที่ ปีเตอร์ พัฒนาตน ให้เป็นอภิมนุษย์คล้ายพระเจ้าก็ทำให้หลุดจากอิทธิพลความคิดของ นิทเช่ ไปไม่ได้เลย

2. Irom Man 3


กาย เพียรซ์ รับบทเป็น อัลดริช คิลเลียน (เอาเท่าที่จำได้) อัลดริช ในตอนต้นนั้นเป็นเหมือนเป็นมนุษย์ผู้ต่ำต้อยธรรมดา ที่ต้องการได้รับโอกาสจากโทนี่ สตาร์ก ทำให้อัลดริชเหมือนเป็นมนุษย์ระดับทาสตามแนวคิดนิทเช่ ที่ต้องการเดินตามความคิดหรือเป็นแบบมนุษย์ปกติที่ยอมรับใน สังคม ในที่นี้คือ โทนี่ สตาร์ก เองแต่ สตาร์ก กลับลืมนัดของเขากับ อัลดริช ทำให้ อัลดริช โมโหโกรธเคือง (คงคล้ายกับที่ นิทเช่ ครั้งหนึ่งเคยนับถือพระเจ้ามาก แต่สุดท้ายก็ผิดหวังจนตั้งคำถามถึงการที่พระเจ้าได้ตายแล้ว) กอปรกับที่ อัลดริช ได้มีอำนาจขึ้นมาจากพลังทางวิทยาศาสตร์ และสามารถยกระดับความเป็นมนุษย์ของตนเองขึ้นไปอีกระดับตามแนวคิด อภิมนุษย์(Super Man) เพื่อเอาชนะ ไอออนแมน ซึ่งเปรียบเป็นพระเจ้าในโลกมนุษย์ และตั้งตนเป็นใหญ่หรือผู้สูงส่งแทน

3. The Rover (เข้าฉาย 24 ก.ค. 57)


กาย เพียรซ์ รับบทเป็น อีริค ชายหนุ่มที่อาศัยท่ามกลางโลกล่มสลายในออสเตรเลีย

ทำไมถึงคิดถึงนิทเช่ ?

อีริค เปรียบเป็นมนุษย์ในระดับนายที่ต้องการพัฒนาตัวเองให้ถึงขั้นสูงสุดในระดับอภิมนุษย์ ด้วยสภาพแวดล้อมของโลกล่มสลายทำให้แนวความคิดแบบพึ่งพาตัวเอง และยกระดับจิตใจให้เข้มแข็ง ไม่แบมือรอคอยโอกาสจึงจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการที่หนังใช้ตัวละคร เรย์ (โรเบิร์ต แพ็ทติสัน) เป็นภาพคู่ตรงข้ามของ อีริค หรือเป็นมนุษย์ในระดับทาสที่ยังไม่พัฒนาขึ้นมาเทียบทัดกับอีริค บทสนทนาฉากหนึ่งที่ทำให้นึกถึงนิทเช่ คือ อีริค ไม่เชื่อในพระเจ้า และไม่เชื่อว่าพระเจ้าจะรอคอยเข้าอยู่ ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างเขาต้องดำเนินและกำหนดด้วยตัวของเขาเอง ต่างจาก เรย์ ที่ในตอนต้นยังมีความคิดแบบมนุษย์ในระดับทาสทั่วไปที่รอคอยความหวัง และเชื่อว่าพระเจ้าเป็นคนกำหนดทางเดินอันรื่นรมย์ให้กับเขาเพื่อให้มองโลกในแง่ดี แต่เมื่อถูกตั้งคำถามว่า ทำไมพี่ชายของเรย์ ถึงได้ทิ้งเรย์ไป เป็นคำถามเชิงศีลธรรมที่ทำให้ เรย์ เริ่มที่ตั้งคำถามแนวความคิดเดิมที่ถูกปลูกฝังมา และเริ่มพัฒนาตัวเองให้เป็นที่ยอมรับของ อีริค

นอกจากนี้โลกดิสโปเปียในหนังยังสะท้อนให้เห็นถึงโลกที่ไม่มีพระเจ้าแล้ว อีริค ยังพูดถึงโลกแบบเก่า หรือศีลธรรมแบบเก่าแบบคนทั่วไปนั้น มันมีปัญหาซึ่งทำให้ตัวเขาต้องต่อสู้ดิ้นรนและสร้างจริยธรรมและศีลธรรมชุดใหม่ขึ้นมา ดั่งที่ปรากฎในหนัง The Rover เพื่อการอยู่รอดให้ได้ในโลกที่ล่มสลายที่เป็นจริงอยู่ ไม่ใช่โลกนามธรรมที่มีคนจ้องทำลายกันแต่ปากกลับพร่ำบ่นถึงความหวังแบบพระเจ้าซึ่งเป็นสิ่งเลื่อนลอย

ทั้งหมดทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นความบังเอิญหรือไม่ที่บทบาทของ กาย เพียรซ์ ในหนัง 3 เรื่องล่าสุด(ที่ได้ดู) ของเขาจะทำให้เราคิดถึงอิทธิพลแนวความคิดของ นิทเช่ รวมถึงปรัชญาแนวคิดเอ็กซิสเทนเชียลิสม์ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม ก็ทำให้เห็นว่า การสร้างบุคลิกตัวละคร การวางรากฐานของศีลธรรมของตัวละคร โดยอิงอยู่กับหลักปรัชญาสายต่างๆ ก็ทำให้ตัวละครดูมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ แม้ว่าส่วนมากปรัชญาของนิทเช่ จะถูกเขียนขึ้น (ผู้สร้างอาจไม่ได้ตั้งใจให้เป็นนิทเช่ก็ได้) ให้วางอยู่ในตัวละครที่ค่อนข้างเลวร้ายที่แตกต่างจากศีลธรรมอันดีงามของสังคม หรือถูกวางอยู่ในหนังที่ต้องการสะท้อนโลกอันเสื่อมทราม แต่ก็ทำให้เห็นว่าภาพยนตร์นอกจากจะดูเพื่อความบันเทิง โลกของภาพยนตร์ยังเป็นที่ทดสอบทางศีลธรรมของตัวละคร ที่จะทำให้ตัวละครสามารถคิดหรือตัดสินใจได้อย่างแตกต่างจากความเป็นจริง

โดยเฉพาะในแบบหนัง The Rover ที่ทำให้เราไม่สามารถคาดเดาถึงการตัดสินใจของตัวละคร อีริค ได้เลย ซึ่งนี่คือความงดงามของภาพยนตร์ในอีกแง่หนึ่งที่ทำให้ประสบการณ์การรับชมไม่สามารถถูกกำหนดได้ โดยเฉพาะ The Rover ที่ใช้อิทธิพลแนวคิดแบบนี้เพื่อทำให้เห็นว่านี้คือจริยธรรมและศีลธรรมแบบหนึ่งที่ตัวละครได้ใช้โดยการประยุกต์จากบรรยากาศของเรื่องราว แถมการดำเนินเรื่องก็ยังใช้แนวคิดเอ็กซิสเทนเชียลิสม์ แบบเต็มที่ คือทำให้ตัวละครดำเนินไปข้างหน้าและไม่มีทางกลับหลังได้ และไม่ได้สนใจการเล่าปูมหลัวตัวละครในแบบจิตวิเคราะห์ซึ่งเป็น แนวความคิดที่ได้รับความนิยมที่สุดในการสร้างเรื่องราวและภูมิหลังของตัวละคร แตกต่างจากการวางเรื่องแบบ เอ็กซิสเทนเชียลิสม์ ที่ตัวละครอาจมีภูมิหลังแต่ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาเกิดปมปัญหา ปัญหาสำคัญของเรื่องอาจมาจากการตัดสินใจจะทำอะไรและไม่ทำอะไรมากกว่า

และทั้งหมดนี่คือ 3 บทบาทของ กาย เพียรซ์ ที่บังเอิญทำให้เราคิดถึงแนวความคิดของ ฟรีดริช นิทเช่ ขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจ



ฝากติดตามบล็อกและเฟซบุ๊กด้วยครับ
บล็อก : http://a-bellamy.com
เพจเฟซบุ๊กที่ : https://www.facebook.com/A.Surrealism
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่