คูปองแลกกล่องทีวีดาวเทียม (3) : สงครามแห่งอำนาจ-ทุนสื่อ-ชุมชน'

คิดใหม่วันอาทิตย์ โดย อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ

สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลง"เชิงอำนาจ" ในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีหนังสือด่วนไปถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ให้ชะลอการอนุมัติ 4 โครงการใหญ่ที่นัดประชุมกันในวันที่ 18 มิ.ย. ให้เลื่อนประชุมออกไปเป็นวันที่ 23 มิ.ย.

หนึ่งในสี่โครงการใหญ่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง กับความเป็นความตายของทีวีดิจิทัล ที่ชะลอออกไปอีกคือโครงการคูปองส่วนลดแลกซื้ออุปกรณ์เพื่อรับชมทีวีดิจิทัล หลังจากกองทุนวิจัยและพัฒนาสื่อได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ 25,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านั้นในวันที่ 16 มิ.ย.ได้มีกลุ่มทีวีดิจิทัล 12 ช่องได้ไปยื่นหนังสือถึงกสทช.ที่มีพล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจและเลขากสทช. ฐากร ตัณฑสิทธิ์มารับหนังสือ เพื่อเร่งให้แจกคูปองส่วนลดสำหรับซื้อโทรทัศน์ที่มีจูนเนอร์ในตัว(iDTV)และกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน( DVB-T2 ) แต่ไม่เห็นด้วยกับการแลกซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม( DVB-S2 ) และกล่องเคเบิ้ลทีวี( DVB-C )

ต่อมาเช้าวันที่ 18 มิ.ย."จำนรรค์ ศิริตัน"นายกสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ฯพร้อมตัวแทนทีวีดิจิทัลอีก 4-5 ช่องได้ไปยื่นหนังสือถึงกสทช.เช่นเดียวกัน โดยมีพ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า กสท.อีกคนหนึ่งมารับหนังสือ พร้อมทั้งแสดงจุดยืนว่า ต้องการให้กสทช.เร่งแจกคูปองส่วนลดเพื่อแลกซื้อกล่องทุกประเภทที่รับทีวีดิจิทัลได้

กสท. 2 ท่านออกมารับหนังสือจาก 2 กลุ่มทีวีดิจิทัล เสมือนการแสดงจุดยืนค่อนข้างชัดว่ายืนอยู่ข้างไหน ถึงยกนี้น่าจะเหลือกรรมการแค่ 2 คนที่ยังแข็งขันเห็นด้วยกับคูปองส่วนลดแลกกล่องทีวีดาวเทียมคือพ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์กับพ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า

ส่วนกสท. 2 คนที่มีความชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยคือพล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจและสุภิญญา กลางณรงค์ ในขณะที่ดร.ธวัชชัย จิตรภาษนันท์ เริ่มมีความโน้มเอียงกลับมาไม่เห็นด้วยกับคูปองแลกกล่องทีวีดาวทียมแล้ว

ในขณะที่กลุ่มทีวีดิจิทัล 24 ช่อง พอจะแบ่งสถานะจุดยืน ณ ปัจจุบันที่ยืนยันมาจากการสอบถามผู้บริหารโดยตรงและการหารือร่วมกันมาโดยตลอดที่ทำให้จุดยืนของชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่มีความเป็นเอกภาพ

11 ช่องทีวีดิจิทัลที่มีจุดยืนชัดไม่เห็นด้วยกับคูปองส่วนลดแลกซื้อกล่องทีวีดาวเทียมและเคเบิลรวม 9 บริษัท คือ กลุ่มเนชั่น 2 ช่อง( Nation TV, NOW ) กลุ่มทีวีพูล 2 ช่อง ( ไทยทีวี, LOCA ) บริษัท อสมท. จำกัด(มหาชน) 2 ช่อง, MONO, Spring News, VOICE TV, PPTV และ BRIGHT TV

ในกลุ่มนี้มีเพียงบริษัทอสมท รายเดียวที่มีธุรกิจขายกล่องรับสัญญาณภาคพื้นดินและทีวีดาวเทียมอีกหลายช่อง ตัวแทนของอสมท.ได้รับมอบหมายจากรองกรรมการผู้อำนวยการ"ธนะชัย วงศ์ทองศรี"ได้มาแสดงตัวยื่นหนังสือคัดค้านด้วยแม้ยังมีธุรกิจทีวีดาวเทียมอีกเกือบ 10 ช่อง

นอกนั้นเป็นช่องทีวีดิจิทัลที่เคยอยู่ในธุรกิจทีวีดาวเทียม กลุ่มนี้เคยเจ็บปวดได้รับบาดเจ็บในสงครามตัดราคา (Pricing War ) บนจานดาวเทียมที่มีมากกว่า 250 ช่องมายาวนานกว่า 4-5 ปี ย่อมยอมไม่ได้หากนำเงินประมูลของพวกเขาไปช่วยสนับสนุนโดยตรงทำให้คู่แข่งอย่างช่องทีวีดาวเทียมได้ประโยชน์จากกล่องทีวีดาวเทียมที่จะเฟื่องฟูขึ้นอีก หลังจากอยู่ในสภาพซบเซาในปี 2556 ที่มีข่าวกสท.กำลังจะประมูลทีวีดิจิทัล ทำให้ผู้บริโภคหยุดการตัดสินใจติดตั้งจานดาวเทียม

ส่วน 9 ช่องทีวีดิจิทัลที่มีจุดยืนชัดเจนว่าต้องการให้คูปองส่วนลดแลกซื้อกล่องทีวีดาวเทียมและเคเบิลได้ รวม 5 บริษัท

กลุ่มแกรมมี่ 2 ช่อง ( ONE,BIG ) อยู่ในช่วงปลุกปั้นธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิกผ่านกล่อง GMM-Z และช่องทีวีดาวเทียมอีกเกือบ 10 ช่อง ย่อมมีเหตุผลทางธุรกิจชัดว่ากลุ่มแกรมมี่ต้องการสร้าง"บ้าน"ให้เหล่าศิลปินและคนทำงานที่มีอยู่หลากหลายในกลุ่มแกรมมี่ได้มีบ้านอยู่ถาวร แม้ประมูลทีวีดิจิทัลมาได้ 2 ช่องทั้ง HD และ SD แต่ธุรกิจขายเพลงก็ทรุดตัวลงเร็วมาก

ทำให้ความหวังในธุรกิจมีเดียสายลิขสิทธิ์กีฬาฟุตบอลเป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่มแกรมมี่ที่ยังมุ่งมั่นมาก หากคูปองสามารถแลกกล่องโทรทัศน์บอกรับสมาชิกได้ย่อมทำให้โอกาศของธุรกิจนี้ไปถึงฝั่งได้เร็วขึ้น หลังจากกลุ่มแกรมมี่แบกภาระขาดทุนมหาศาลจากการเข้ามาในธุรกิจกล่อง GMM-Z ผิดจังหวะช่วงแรกๆและโดนรับน้องจากเจ้าตลาดอย่าง PSI และทรูวิชั่นส์

กลุ่มทรูวิชั่นส์ 2 ช่อง( TNN24, TRUE4U )มีธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิกกล่องทรูวิชั่นส์ที่มีฐานสมาชิกกว่า 2 ล้านครัวเรือน ยุทธศาสตร์ของทรูวิชั่นส์ยังไม่ทิ้งโทรทัศน์บอกรับสมาชิกอย่างแน่นอน แม้กำลังจะหมดระยะเวลาสัมปทานกับบริษัทอสมท.ในสัญญาแรกเดือนก.ย.นี้และอีกสัญญาอีกสัก 2-3 ปี

พลังฐานสมาชิกของทรูวิชั่นส์มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในแง่รายได้ค่าสมาชิกที่แม้มีคู่แข่งอย่าง CTH ก็ไม่ระคายเคืองมากนักกับช่องรายการอีกนับร้อยที่กฎหมายปัจจุบันเปิดโอกาสให้มีรายได้จากโฆษณา 6 นาทีต่อชั่วโมง มองเป็นอื่นไม่ได้เลยว่าว่าคูปองส่วนลดแลกกล่องโทรทัศน์บอกรับสมาชิกคือทางรอดของทรูวิชั่นส์ที่มีความเสี่ยงสูงยิ่ง จากการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลเต็มแผน 48 ช่อง

กลุ่มช่อง 3 มี 3 ช่องดิจิทัลที่ดูเหมือนยังไม่ลงตัวมากนักว่าจะเดินหน้าลงทุนและวางตำแหน่งแต่ละช่องแบบไหน กลุ่มช่อง3ไปไกลถึงขั้นฟ้องกสท.ที่มีมติ 4 ก.พ.กีดกันไม่ให้ช่อง 3 อนาล็อกอยู่บนโครงข่ายทีวีดาวเทียมและทรูวิชั่นส์ที่มีโฆษณาปกติ 12.5 นาที

ในขณะเดียวกันบริษัทลูกข่ายของช่อง 3 คือบริษัท เซิร์ซ เอนเตอร์เทนเมนท์ที่มี"วิบูลย์ ลีรัตนขจร"เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้ประกาศตัวชัดเจนว่าจะลงทุนทำธุรกิจแพลตฟอร์มจานดาวเทียมเพื่อรองรับช่อง 3 ทั้งหมดและทีวีดาวเทียมของตัวเองกับพันธมิตรรวมกว่า 50 ช่อง

การเข้ามาในธุรกิจแพลตฟอร์มของช่อง 3 น่าจะมาจากบทเรียนแบบเดียวกับกลุ่มแกรมมี่ที่ไม่มีบ้านของตัวเองอยู่ หมายเลขช่องบนจานดาวเทียมพีเอสไอที่เป็นรายใหญ่กว่า 50 %ของตลาดถูกเตะไปเตะมา กรณีช่อง 3 ในต้นเดือนเม.ย.หลังกฎ MUST Carry บังคับใช้ บนจานดาวเทียมพีเอสไอโยกช่อง 3 จากหมายเลข 1 ไปไกลถึงหมายเลข 300 และกลุ่มช่อง 3 มองธุรกิจลิขสิทธิ์กีฬาเช่นเดียวกับแกรมมี่และอาร์เอส

กลุ่มอาร์เอส 1 ช่องกับธุรกิจกล่อง SUN BOX ที่แม้ช่วงแรกขาดทุนจากฟุตบอลลาลีกา แต่ฟุตบอลโลกปีนี้น่าจะทำกำไรได้เกินกว่าเป้าหมายจากปฏิบัติการคืนความสุขของคสช.ให้กสทช.ทำเงิน 427 ล้านบาทไปซื้อลิขสิทธิ์จากอาร์เอสไปให้ช่อง 5 ถ่ายทอดสด ในขณะที่กลุ่ม WORKPOINT ที่ร่วมธุรกิจกับกลุ่มจานดาวเทียมPSI ย่อมยินดีหากคูปองแลกกล่องดาวเทียมขยายตัวมากขึ้น

4 ช่องทีวีดิจิทัลที่มีจุดยืนกำหนดเงื่อนไขคูปองแบบไหนก็รับได้ ขอเพียงให้เร่งกระบวนการแจกคูปองออกมาโดยเร็ว คือ ไทยรัฐทีวี , NEW TV, AMARIN TV และช่อง 7 ซึ่งในระดับเจ้าของกิจการค่อนไปทางประนีประนอมขอให้เร่งแจกคูปองแบบไหนก็ได้ แต่ในระดับปฏิบัติค่อนข้างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับคูปองแลกกล่องดาวเทียม ทำให้พอเข้าใจได้ว่าผู้บริหารระดับปฏิบัติคงไม่สามารถแสดงออกได้จะไปขัดกับจุดยืนเจ้าของกิจการ

กลุ่มนสพ.ไทยรัฐมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการการเข้าไปถือหุ้น 25 %ในบริษัท CTH โทรทัศน์บอกรับสมาชิกรายใหญ่ล่าสุดที่ถือคอนเทนท์ระดับเกรดเอฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอีก 2 ฤดูกับการลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาทในช่องไทยรัฐทีวี HD ที่มีเดิมพันสูงมากในการทดแทนรายได้จากสิ่งพิมพ์ที่ในอีก 7 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าจะมากกว่ารายได้นสพ.

กลุ่มนสพ.ไทยรัฐ-ไทยรัฐทีวี-CTH อยู่ในสถานะไพ่ออกหน้าไหนก็น่าจะได้ประโยชน์แต่ต้องไปบริหารจัดการต่อให้ได้ประโยชน์สองทาง หากคูปองสามารถแลกกล่องเคเบิลจะเป็นการชุบชีวิตโครงการ ONE Network ที่เคยประกาศร่วมกับกลุ่มเคเบิลทีวีท้องถิ่น แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จมากนักมีผู้ประกอบการเคเบิ้ลท้องถิ่นเข้าร่วมแค่ประมาณ 15-20 % เท่านั้น

แต่อุปสรรคใหญ่ในปัจจุบันคืออำนาจในสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านไปสู่นายกสมาคมคนใหม่"ณัฏฐชัย อักษรดิษฐ"ที่เคยเป็นแกนสำคัญในกลุ่มสมัชชาเคเบิลยั่งยืนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางธุรกิจของ CTH ในช่วงเริ่มต้นที่ต้องการเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในผู้ประกอบการเคเบิ้ลท้องถิ่นแลกกับลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและการลงทุนเปลี่ยนจากเคเบิลอะนาล็อกไปสู่เคเบิลดิจิทัลที่กล่อง CTH ยังค้างสต็อคนับล้านกล่อง

หากมองมุมกว้างขึ้นไปยังช่องทีวีดิจิทัลสาธารณะที่ออกอากาศแล้วคือกองทัพบกช่อง 5 ที่มีการลงทุนโครงข่ายทีวีดิจิทัล 2 โครงข่ายและไทยพีบีเอสที่มีการลงทุนโครงข่าย 1 โครงข่าย ย่อมมองเห็นผลเสียระยะยาวหากคูปองส่วนลดสามารถแลกกล่องทีวีดาวเทียมได้จะส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสี่ยงทางการเงินในกลุ่มลูกค้าทีวีดิจิทัลของโครงข่าย

นอกจากนี้ในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับทีวีดิจิทัลที่ไม่ใช่เจ้าของช่องทีวีดิจิทัลย่อมไม่เห็นด้วยกับคูปองแลกล่องทีวีดาวเทียม คือ บริษัทธุรกิจกล่องรับสัญญาณภาคพื้นดิน( DVB-T2) เช่น กลุ่มสามารถ, กลุ่มคราวน์เทค( AJ ), กลุ่มพลาเน็ตคอม ฯลฯ และ กลุ่มบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายโทรทัศน์ที่มีจูนเนอร์( iDTV ) เช่น SAMSUNG, LG, SONY, PANASONIC, SHARP รวมทั้งบริษัทไทย PROVISION ฯลฯ

กลุ่มที่มีผลประโยชน์ในสงครามครั้งนี้ที่ละเลยไม่ได้เลยคือกลุ่มมูลนิธิผู้บริโภคที่แข็งขันอย่างยิ่งในการคัดค้านไม่ให้กำหนดราคาคูปองส่วนลดสูงถึง 1,000 บาทเพราะกลัว"เงินทอน"จากส่วนเกิน 512 บาทหรือ 690 บาท และยังมีประเด็นที่ยอมไม่ได้คือกล่องทีวีดาวเทียมไม่สามารถรับช่องทีวีชุมนชน 12 ช่องได้ ยิ่งกล่องทีวีดาวเทียมเพิ่มขึ้นมากกว่ากล่องภาคพื้นดิน ย่อมทำให้โอกาสของทีวีชุมชนที่จะมีคนดูในอนาคตลดน้อยลงไปอีก

ทุกฝ่าย"พักยก"รอคอยการตัดสินใจของกสทช.ในวันที่ 23 มิ.ย.ที่มีใบสั่งจากคสช.มาแล้วให้ลงมติจัดทำประชาพิจารณ์ 4 ภาคให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วันและกำหนดแจกคูปองให้ได้ในวันที่ 15 ก.ย. ไปถึงประมาณ 11 ล้านครัวเรือน

สงครามคูปองส่วนลดที่มาจากเงินประมูลทีวีดิจิทัลมาแจกให้กับครัวเรือนไทย 22 ล้านครัวเรือนๆละ 1,000 บาท ประมาณ 22,000 ล้านบาท จึงกำลังกลายเป็นสงครามประลองกำลังระหว่างอำนาจและทุนใหญ่ที่น่าจะจับตามองอย่างยิ่งว่าหลังจากนี้จะสิ้นสุดแบบไหนที่หมายถึงอนาคตอีก 15 ปีตามอายุใบอนุญาติทีวีดิจิทัล

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / http://www.oknation.net/blog/adisak/2014/06/22/entry-1#.U6YhDM5pLBw.twitter
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่