คูปองแลกกล่องทีวีดาวเทียม(6): ประชาพิจารณ์บน"ความเข้าใจผิด"

คิดใหม่ วันอาทิตย์
โดย อดิศักดิ์ ลิมปรุงพัฒนกิจ : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



กระบวนการประชาพิจารณ์คูปองทีวีดิจิทัล 4 ภาคจบลงไปแล้ว แต่ยังมีหลายๆ ประเด็นค้างคา
จนอาจจะทำให้เกิด "ความเข้าใจผิด" ในข้อเท็จจริงว่า การแลกกล่องทีวีดาวเทียม ทำให้การเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อก สู่ทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นได้รวดเร็วกว่า และสามารถเพิ่มคนดูหรือ Eyeball ทีวีดิจิทัลได้มากกว่ากล่องทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน

ประเด็นของผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ พูดสนับสนุนการแจกคูปองเพื่อแลกซื้อกล่องทีวีดาวเทียม มักจะบอกว่าสัญญาณดาวเทียมไทยคมครอบคลุมไปทั่วประเทศ ครัวเรือนไทยติดตั้งจานดาวเทียมมากกว่า 70% แล้ว ทำให้ทุกพื้นที่สามารถรับชมทีวีดิจิทัล 36 ช่องได้ทันที จึงควรจะให้คูปองส่วนลดไปแลกซื้อกล่องทีวีดาวเทียมได้ เพื่อให้จำนวนคนดูทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง : ครัวเรือนไทยที่ติดตั้งจานดาวเทียมเพื่อรับช่องทีวีดาวเทียมแบบฟรีทูแอร์ น่าจะอยู่ที่ 50% ไม่ใช่ 70% ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เข้ารหัสหรือ Biss Key ทั้งหมด แต่ยังมีข้อสงสัยเรื่องจำนวน "จานดาวเทียม" แบบ C-Band ที่แต่ละบริษัทมักอ้างจากการขายของตัวเอง เมื่อรวมทั้งหมดทุกรายที่เป็นเจ้าใหญ่ๆ คือ PSI, INFOSAT, THAISAT, IDEASAT, LEOTECH, DYNASAT ฯลฯ น่าจะเกินกว่า 20 ล้านจาน เพราะทุกรายมักพูดอ้างอิงตัวเลขรวมตั้งแต่ขายจานใบแรก โดยไม่ได้หักจานที่มีการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานออก

ตัวเลขอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้มากที่สุด คือ บริษัทเอซีเนลสันที่มีการสำรวจทุกปีครั้งละ 6 เดือน กลุ่มตัวอย่างประมาณ 6,000 ครัวเรือน แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑล เขตเทศบาล และนอกเขตเทศบาล ตัวเลขล่าสุด 2556 ครัวเรือนไทยรับชมโทรทัศน์ผ่านจานดาวเทียมมีประมาณ 49% คิดเป็นประมาณ 11 ล้านครัวเรือน, เสาอากาศแบบก้างปลา 32% ประมาณ 7.7 ล้านครัวเรือน, เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น 10% ประมาณ 2.5 ล้านสมาชิก และ ทรูวิชั่นส์ 8% ประมาณ 1.9 ล้านสมาชิก เมื่อแบ่งตัวเลขออกเป็นรับแบบจานใหญ่ C-Band ประมาณ 9.38 ล้านจาน แบบจานเล็กหรือจานทึบ KU-Band ประมาณ 2 ล้านจาน

ประเด็นที่เข้าใจผิด : หากแจกคูปองเพื่อแลกกล่องทีวีดาวเทียม จะทำให้ผู้บริโภคสามารถรับชมทีวีดิจิทัลได้เร็วขึ้น กว่าการแจกเฉพาะคูปองกล่องภาคพื้นดิน เพราะสัญญาณดาวเทียมครอบคลุมไป 100% แล้ว แต่โครงข่ายทีวีดิจิทัลเพิ่งขยายไปได้แค่ประมาณ 50%ของครัวเรือน


ข้อเท็จจริง : การแจกคูปองส่วนลด จะกระทำได้เฉพาะพื้นที่การขยายโครงข่ายของทีวีดิจิทัลเท่านั้น โดยแจกไปตามชื่อในทะเบียนบ้านของกระทรวงมหาดไทย ที่อยู่ในรัศมีการออกอากาศของโครงข่ายดิจิทัลภาคพื้นดิน ไม่ได้แจกไปทั่วประเทศ ตั้งแต่เริ่มแรกตามที่มีการเข้าใจผิดๆ

นอกจากนี้แล้ว งบประมาณในการแปลงเป็นคูปองส่วนลดมาจากการจ่ายเงินค่าประมูลของ 24 ช่อง ที่มีกำหนดไว้ 6 ปี อิงกับการขยายโครงข่ายภาคพื้นที่ที่ให้เวลาผู้รับใบอนุญาตให้ขยายสัญญาณให้ครอบคลุม 98% ภายใน 4 ปี กสทช. เพิ่งได้เงินไปงวดแรกจากการประมูลประมาณ 11,000 ล้านบาท เพื่อนำไปแปลงเป็นคูปองสำหรับ 11 ล้านครัวเรือน ที่สัญญาณทีวีดิจิทัลครอบคลุมแล้ว ยังไม่ได้เงินทั้งหมด 50,000 ล้านบาท ทำให้จะต้องทะยอยแจกคูปองเฉพาะพื้นที่โครงข่ายก่อน

การนำคูปองไปแจกนอกเขตสัญญาณโครงข่ายทีวีดิจิทัล จะถือว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไขการประมูล ทำให้ไม่ได้ช่วยให้การเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล มากกว่าการแจกคูปองทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม หากแจกคูปองภาคพื้นดินอย่างเดียว จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากกว่า และไม่เป็นภาระในการติดตั้งเพื่อรับชมทีวีดิจิทัลเพิ่มเติมในกรณีที่มีจานดาวเทียมสามารถรับชมทีวีดิจิทัลได้อยู่แล้ว เพราะหากผู้บริโภคที่ยังไม่มีจานดาวเทียม แล้วนำคูปองส่วนลดไปแลกซื้อกล่องทีวีดาวเทียมจะมีภาระในการจ้างช่างอีกประมาณ 1,000 บาท มาติดตั้งจานดาวเทียม ซึ่งตามนโยบายของ กสทช. ไม่ต้องการให้ผู้บริโภคต้องมีภาระเพิ่มเติมในการเปลี่ยนผ่าน

กรณีผู้บริโภคมีจานดาวเทียมอยู่แล้ว เมื่อแลกซื้อกล่องทีวีดาวเทียมมาอีกจะไม่ทำให้จำนวนคนดูทีวีดิจิทัลหรือ Eyeball เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด มิหนำซ้ำอาจจะถูกแรงโฆษณาของผู้ประกอบการโทรทัศน์ บอกรับสมาชิกที่มีช่องรายการที่น่าสนใจให้นำคูปองไปแลกซื้อมาเพื่อทดแทนกล่องทีวีดาวเทียมแบบฟรีทูแอร์ (เช่น PSI, BIG4) แล้วสมัครเป็นสมาชิกแทนการดูแบบไม่เสียค่าสมาชิก

นอกจากนี้แล้ว ไม่ได้มีหลักประกันตลอดไปว่ากล่องทีวีดาวเทียม หรือกล่องโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกจะมีช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่องธุรกิจ ไปตลอด เพราะ กสทช. ได้ออกกฎ Must Carry เพื่อบังคับให้ผู้ให้บริการโครงข่าย เช่น กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายจานดาวเทียม, เคเบิ้ลท้องถิ่น,โทรทัศน์บอกรับสมาชิก ฯลฯ จะต้องนำช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่องธุรกิจ กับ 12 ช่อง ทีวีสาธารณะไปเผยแพร่ในหมายเลข 13-46 เพื่อให้ผู้ชมได้รับชมทีวีดิจิทัลผ่านดาวเทียม และเคเบิลด้วยในระหว่างที่โครงข่ายภาคพื้นดินยังไม่ได้ขยายสัญญาณครอบคลุมทั้งประเทศ โดยทันทีจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี

ในขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ยินยอมรับภาระค่าใช้จ่ายการส่งสัญญาณขึ้นดาวเทียมไทยคม เพื่อให้โครงข่ายต่างๆ รับไปเผยแพร่ต่อได้ ซึ่ง กสทช. ได้รับปากว่าจะแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ในระยะเวลา 2-3 ปี ด้วยการให้มีการขอเงินชดเชยจำนวนหนึ่ง จากยอดเงินที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องนำส่งในอัตรา 2 + 2% จากรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย

เมื่อสัญญาณโครงข่ายภาคพื้นดินครอบคลุม 98-99% แล้วก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้ประกาศ Must Carry อีกต่อไป เช่นเดียวกับกรณีฟรีทีวีแบบอนาล็อกที่สัญญาณครอบคลุมมากกว่า 95% แทบไม่จำเป็นต้องมีภาระค่าช่องดาวเทียมเลย อนาคตกล่องทีวีดาวเทียมอาจจะไม่มีช่องทีวีดิจิทัลก็ได้ แล้วใครจะรับผิดชอบ?

การแจกกล่องทีวีดาวเทียม สามารถกระทำได้ในกรณีอื่นๆ เฉพาะกรณีๆ เช่น ภายหลังได้มีการตรวจสอบสัญญาณโครงข่ายทีวีดิจิทัลแล้วครอบคลุมไม่ถึง ฯลฯ แต่จะเป็นการแจกหลังจากแจกกล่องภาคพื้นดินกับการทดสอบสัญญาณแล้วเท่านั้น

ผู้บริโภคเข้าใจผิด : ผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์มักบอกว่า ปัจจุบันดูช่องทีวีดิจิทัลผ่านจานดาวเทียมแล้ว ไม่ได้ภาพแบบ HD อยากจะได้กล่องทีวีดาวเทียมรุ่น DVB-S2 ที่รับสัญญาณแบบ HD ได้

ข้อเท็จจริง : ปัจจุบันดาวเทียมไทยคมนำสัญญาณ 24 ช่อง ทีวีดิจิทัลไปอัพลิงก์ส่งในระดับความคมชัดแบบ SD ทั้งหมด แม้ได้กล่องทีวีดาวเทียมรุ่น DVB-S2 ไปก็ไม่สามารถรับช่องทีวีดิจิทัลแบบ HD ได้ ยกเว้นว่า ในอนาคตไทยคมจะอัพเกรดการส่งสัญญาณช่องทีวีดิจิทัลแบบ HD 7 ช่องด้วย แล้วกล่องรุ่นเก่า DVB-S1 จะไม่สามารถรับในระดับความคมชัด HD 1ได้ จำเป็นจะต้องเปลี่ยนเป็นกล่อง DVB-S2 ก่อนที่ในปัจจุบันผู้ผลิตและจำหน่ายจานดาวเทียมก็มีแคมเปญกล่องเก่าแลกกล่องใหม่ในราคาไม่ถึงพันบาทอยู่แล้ว

ผู้บริโภคขาดข้อมูล : ผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ไม่ค่อยมีใครพูดถึงจำนวนช่องทีวีดิจิทัลบนจานดาวเทียมมีเพียง 36 ช่อง แต่กล่องภาคพื้นดินมี 48 ช่องที่ในอนาคตเมื่อมีช่องทีวีชุมชนจะรับชมได้ด้วย

ข้อเท็จจริง : กสทช. ยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความเข้าใจเพียงพอว่า กล่องทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินมีคุณสมบัติที่ดีกว่าการรับชมโทรทัศน์ผ่านจานดาวเทียมอย่างไร เช่น ระดับความคมชัดมากกว่าเป็น HD , กล่องทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินสามารถบันทึกรายการย้อนหลัง , ไม่มีปัญหาภาวะอากาศหรือฝนตกหนักแล้วรับชมไม่ได้ ฯลฯ

รวมทั้งจำนวนช่องบนกล่องทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน มีมากกว่าจำนวนช่องดิจิทัลบนจานดาวเทียม หากผู้บริโภคไม่ทราบข้อมูลพื้นฐานนี้จะทำให้สำคัญผิดไปได้ เมื่อ กสทช. อนุญาตให้มีทีวีชุมชนจะไม่สามารถรับชมได้อีก 12 ช่อง ที่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

กรณีกล่องเคเบิ้ลท้องถิ่น : ผู้ประกอบการเคเบิ้ลท้องถิ่นยังไม่สามารถอธิบายให้สาธารณะได้เข้าใจว่าได้รับภาระ Must Carry เพื่อให้ทีวีดิจิทัล 36 ช่องลงในโครงข่าย แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ทุกราย เพราะจำนวนช่องรายการของเคเบิ้ลทีวีในระบบเก่าอนาล็อกมีจำนวนช่องเพียง 60-80 ช่องเท่านั้น หากนำช่องทีวีดิจิทัล 36 ช่อง ไปลงในโครงข่ายจะทำให้ลูกค้าที่เป็นสมาชิกไม่พอใจอย่างแน่นอน เพราะจะเหลือช่องที่ต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกไม่มากนัก

กสทช. ควรจะหาทางเยียวยาผู้ประกอบการเคเบิ้ลท้องถิ่น ให้เปลี่ยนโครงข่ายจากสายทองแดงแบบอนาล็อก ไปเป็นไฟเบอร์ออฟฟิคที่ส่งแบบช่องรายการดิจิทัลได้ เพื่อทำให้จำนวนช่องของเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นเพิ่มเป็นประมาณ 150-200 ช่อง ซึ่งจะเป็นหนทางรอดของเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นที่มีความเสี่ยงมากเมื่อทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นทั้งหมด 48 ช่อง

ขอร้อง กสทช. อย่าได้เบี่ยงเบนการใช้ "คูปองส่วนลด" จากเงินประมูลทีวีดิจิทัล ไปอุดหนุนให้แลกซื้อกล่องทีวีดาวเทียมหรือกล่องโทรทัศน์บอกรับสมาชิกได้เลย ควรจะยึดถือตามแผนแม่บทเดิมมุ่งให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์อนาล็อก เป็นโทรทัศน์ดิจิทัลให้เป็นระบบโทรทัศน์ให้บริการทั่วไปเป็นสื่อหลักของประเทศ แล้วช่วยทำให้โทรทัศน์บอกรับสมาชิก โทรทัศน์ดาวเทียม โทรทัศน์อินเทอร์เน็ต ฯลฯ เป็นโทรทัศน์ทางเลือก ที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนแบบ Segmentation มิเช่นนั้น กสทช. มีความเสี่ยงอย่างยิ่งจะถูกฟ้องจากกลุ่มผู้บริโภค กับผู้ประกอบการไปพร้อมๆ กัน


ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/re-think/20140713/592808/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1(6):-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94.html


อ่านความเห็นในงานประชาพิจารณ์คูปองวันสุดท้าย...http://ppantip.com/topic/32308185
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่