เมื่ออีตู ตวัดดาบ..ประเทศไทยอาจจะได้ผลรับทางการค้าอย่างไรบ้าง

กระทู้สนทนา
.
สืบเนื่องจากกระทู้ ของคุณสิงห์สนามหลวง เมื่อสักพักที่ผ่านมา

" แถลงการณ์อียูเกี่ยวกับประเทศไทย ฉบับไทย/อังกฤษ "
http://ppantip.com/topic/32231392

ผมได้อ่านแล้วเห็นว่าควรจะเสริม ความรู้ให้สมาชิกทราบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการส่งออกไทยไปในตลาด อียู

ซึ่งทางการไทยควรหาทางรับมือแต่เนิ่นๆ มิเช่นนั้น ภาคการส่งออกจะได้รบผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จากต้นน้ำ ถึงปลายน้ำอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ก่อนอื่นขอเริ่มต้นที่ มูลค่าการค้า ระหว่างไทย กับ อียู


" การค้าระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยมีมูลค่ามหาศาลถึงประมาณ 2.7 หมื่นล้านยูโร (11.5 แสนล้านบาท) "

ในปี 2553 ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกอันดับสองของประเทศไทยรองจากอาเซียน

การส่งออกของประเทศไทยไปยังสหภาพยุโรปมีมูลค่ารวม 1.7 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 7.25 แสนล้านบาท)

ความเข้มแข็งของภาคการส่งออกของไทยทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้ามหาศาลกับสหภาพยุโรป โดยในช่วงปีพ.ศ. 2550-2553 ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหภาพยุโรปเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5.5 พันล้านยูโรต่อปี (ประมาณ 2.2 แสนล้านบาท)

มากกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation - MFN) และ การยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือเสียภาษีเพียงบางส่วนภายใต้ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ จีเอสพี (Generalized Scheme of Preferences - GSP) ทั้งนี้ ในบรรดาประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรป ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากจีเอสพีเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย



" สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร   Generalised System of Preferences (GSP)" คืออะไร "

Generalised System of Preferences (GSP) คือ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปที่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้กับสินค้าที่ผลิตในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยลดหรือยกเว้นภาษีขาเข้าแก่สินค้าที่อยู่ในกลุ่มได้รับสิทธิ โดยสหภาพยุโรปมีหลักเกณฑ์สำหรับประเทศที่ได้รับสิทธิดังนี้:

1) ไม่เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูง (High-income countries) หรือกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper-middle income countries) จากการจัดลำดับโดยธนาคารโลกเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันก่อนการพิจารณาจัดทำบัญชีประเทศที่จะได้รับสิทธิ ซึ่งตามเกณฑ์ของธนาคารโลกประเทศที่จะได้รับสิทธิจะต้องมีรายได้ประชาชาติต่อจำนวนประชากรไม่เกิน 3,975 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ

2) ไม่เป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากความตกลงพิเศษทางด้านการค้า เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area; FTA)

นอกจากนี้หากสินค้าที่ได้รับสิทธิสินค้าใดมีส่วนแบ่งการตลาดของประเทศผู้ได้รับสิทธิเกิน 17.5% (หรือ 14.5% สำหรับกลุ่มสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม) ของมูลค่าการนำเข้ารวมจากประเทศผู้ได้รับสิทธิ GSP ทั่วโลก จะถูกตัดสิทธิ GSP ในสินค้านั้นตามเงื่อนไขการตัดสิทธิเป็นรายสินค้า (Product Graduation)

โดยไทยจะถูกตัดสิทธิเป็นรายสินค้าในวันที่ 1 มกราคม 2014 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2015 เป็นต้นไปจะถูกตัดสิทธิตามหลักเกณฑ์รายได้เนื่องจากปัจจุบันไทยได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง

การปฏิรูประบบ GSP ของสหภาพยุโรปที่ผ่านมากระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง

การถูกตัดสิทธิจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคา โดยการถูกตัดสิทธิเป็นรายสินค้า (Product graduation) สามารถจำแนกสินค้าส่งออกตามความรุนแรงของผลกระทบได้เป็น 4 กลุ่มสินค้าดังนี้

1) กลุ่มสินค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ผงมัสตาร์ด เครื่องแกงสำเร็จรูป เป็นต้น

2) กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เช่น ท้อ เส้นหมี่หรือเส้นก๋วยเตี๋ยว และวุ้นเส้น เป็นต้น

3) กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เช่น เลนส์แว่นตา อาหารสุนัขหรือแมว ยางรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

4) กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น สับปะรดกระป๋อง กุ้งแปรรูป รถบรรทุก เป็นต้น

 
โดยความรุนแรงของผลกระทบพิจารณาจากความแตกต่างระหว่างอัตราภาษีปกติตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (Most-favoured-nation; MFN) กับอัตราภาษี GSP สัดส่วนการใช้สิทธิ และมูลค่าการส่งออกไปยุโรป (รูปที่ 1) ซึ่งสินค้าไทยที่จะถูกตัดสิทธิมีทั้งสิ้น 50 รายการ มีมูลค่าความเสียหายเท่ากับ 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ปัจจุบันประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวในปี 2011 เท่ากับ 4,420 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ไทยอยู่ในข่ายที่จะถูกตัดสิทธิ หากถูกตัดสิทธิดังกล่าวไทยจะไม่ได้รับสิทธิ GSP ในทุกรายการสินค้า โดยจะกระทบสินค้าอีก 723 รายการที่เหลือจากการถูกตัดสิทธิก่อนหน้า ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสสูญเสียรายได้จากส่วนต่างภาษีที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 64.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลุ่มสินค้าที่มีโอกาสกระทบมากที่สุดจาก 723 รายการที่เหลือคือ  กุ้ง จักรยาน รองเท้า รถจักรยานยนต์ ปลาหมึก เม็ดพลาสติก เครื่องนุ่มห่ม มอเตอร์ไฟฟ้า บอลแบริ่ง น้ำมันปาล์มดิบ ล้อรถยนต์ ทูน่ากระป๋อง เป็นต้น

ในระยะยาวการถูกตัดสิทธิ GSP จะทำให้ไทยมีโอกาสถูกแย่งตลาดจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ ที่มีโครงสร้างการส่งออกที่คล้ายไทยแต่ยังคงได้รับสิทธิทางภาษี โดยจำแนกเป็นสองกลุ่มคือ

1) กลุ่มที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP เนื่องจากยังเป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวในระดับต่ำ (Low-income countries) และ รายได้เฉลี่ยต่อหัวระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ (Lower-middle income countries) เช่น อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ยูเครน และฟิลิปปินส์

2) กลุ่มประเทศที่มีระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวขนาดปานกลางค่อนข้างสูง (Upper-middle income countries) แต่มีการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เพื่อได้รับสิทธิทางภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า เช่น มาเลเซีย เม็กซิโก บราซิล แอฟริกาใต้ และ อาร์เจนตินา

โดยไทยมีโอกาสที่จะสูญเสียรายได้จากการถูกแย่งตลาด เป็นมูลค่าสูงถึง 2,561.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทั้งสองกลุ่มประเทศ นอกจากนี้ยังมีโอกาสถูกแย่งตลาดจากประเทศจีน ซึ่งมีโครงสร้างการส่งออกคล้ายกับไทย ถึงแม้ว่าจีนจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีเช่นเดียวกับไทยเพราะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper-middle income countries) เช่นกัน แต่จีนมีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงกว่าไทยและยังครองส่วนแบ่งในตลาดสินค้าส่งออกไปยังยุโรปสูงที่สุด คือ 17% ในปี 2011 ขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดยุโรปเพียง 1% เมื่อสินค้าไทยมีราคาแพงขึ้นจากส่วนต่างภาษีที่เพิ่มขึ้นก็จะเป็นโอกาสที่ผู้นำเข้าสินค้าจะเลือกนำเข้าจากจีนทดแทนได้เช่นกัน

ผู้ประกอบการและภาครัฐควรทำอย่างไร

ผู้ประกอบการควรมีการไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่ม CLMV อันประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้เป็นประเทศที่ยังได้รับสิทธิ GSP โดยเวียดนามได้รับสิทธิ GSP เป็นการทั่วไป ในขณะที่ลาวและกัมพูชาได้รับสิทธิสำหรับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least developed countries) ซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีศุลกากรในทุกรายการสินค้า ยกเว้นอาวุธ (Everything But  Arms: EBA) สำหรับพม่าในปัจจุบันยังไม่ได้รับสิทธิ GSP จากยุโรปแต่คาดการณ์ว่าการเปิดประเทศที่มากขึ้นน่าจะทำให้พม่าได้รับสิทธิ GSP ในไม่ช้า ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าแล้วจะพบว่าประเทศในกลุ่มนี้มีการส่งออกสินค้าในรายการที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ไปยุโรปเป็นมูลค่าน้อยทำให้น่าจะสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการท้องถิ่นได้  นอกจากสิทธิ GSP แล้วโครงสร้างพื้นฐานของประเทศกลุ่มนี้ก็คล้ายกับประเทศไทยและยังมีค่าแรงที่ถูกกว่าไทยทำให้ต้นทุนการผลิตไม่สูง จึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน

ในส่วนของภาครัฐควรช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิ GSP มากขึ้น เพราะเมื่อพิจารณาแล้วยังมีสินค้าหลายรายการที่ผู้ประกอบการไม่ได้ใช้สิทธิ GSP ทั้งที่ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างของภาษีอัตราปกติกับภาษี GSP ซึ่งการใช้สิทธิ GSP จะเป็นการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและสร้างฐานลูกค้าให้แก่สินค้าไทยในอนาคต อีกทั้งควรเร่งสานต่อการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย - สหภาพยุโรป ให้เสร็จก่อนปี 2015 เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์ทางด้านภาษีศุลกากรภายใต้กรอบ FTA  แทนสิทธิพิเศษ GSP ที่ถูกตัดไป

( ส่วนเรื่องการเมืองในประเทศ ไม่ขอแสดงความคิดเห็น : คหสต เพราะเคยเขียนไปแล้วโดนลบ พร้อมใบเหลือง )

 


ที่มา: การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การค้าโลก, กรมศุลกากร, International Trade Center และ European Commission

+++++++++++++++++++++++++++++++++

จากบทความที่กล่าวมาข้างต้น..เนื่องจากว่าไทยจะถูกตัดสิทธิเป็นรายสินค้าในวันที่ 1 มกราคม 2014

และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2015 เป็นต้นไปจะถูกตัดสิทธิตามหลักเกณฑ์รายได้เนื่องจากปัจจุบันไทยได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง

ซึ่งก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลไทยก็ได้มีการสั่งเร่งเจรจา FTA ไทย-ยุโรปภายในปีนี้ หวังแก้เกมอียูตัดสิทธิพิเศษ GSP ในปี 2558 ชิมลางสินค้า 4 กลุ่ม รถยนต์-กุ้งต้มสุก-อาหารปรุงแต่ง-อัญมณี/เครื่องประดับ แต่บังเอิญก็มาเกิดรัฐประหารไปเสียก่อน

ล่าสุด อียูก็ออกมาประกาศทบทวนเรื่อง การค้า การลงทุน ร่วมกับไทยเสียอีก..ตามแถลการณ์ที่ว่า

ผมว่างานนี้ ไม่ธรรมดาแล้วน่ะครับ ตอนนี้หลายๆท่านอาจบอกว่าไม่เห็นมีอะไร ก็ยังอยู่สุขสบาย..แต่หารู้ไม่ว่าผลของมันจะค่อยๆออกฤทธิ์โดยจะเห็นเด่นชัดตั้งปลายปีนี้ ถึงต้นปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนฝีจะแตกเมื่อไหร่ไม่มีใครทราบ

แค่ เมกา อย่างเดียวก็แย่แล้ว ยังมาเจอ อียู เข้าไปอีก

เตรียมรับมือกันหรือยังครับพี่น้อง..


ฟังเเพลงดีก่า...Scorpions - Wind Of Change (Original Version)

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่