ระหว่างเขาควาย

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1402484750

ฐากูร บุนปาน : ระหว่างเขาควาย

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12


เห็น คสช. ตั้งท่าจะยกเครื่องหรือปฏิรูปอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างด้วยกันแล้ว อดไม่ได้ที่จะขอร่วมแสดงความคิดเห็นบ้าง

ไหนๆ ได้รับคำแนะนำจากพี่ๆ เพื่อนๆ ที่เป็นทหารใหญ่น้อยว่า ถ้ามีอะไรที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองให้พูดกันตรงๆ

ก็ขออนุญาตใช้สิทธิตามนั้น

เมื่อ คสช. ประกาศว่าจะคืนความสุขให้กับคนไทย และแก้ไขปัญหาความแตกแยกที่มีอยู่ในสังคมให้หมดหรือลดลงไปนั้น

แปลความเอาเองก็คือ คสช.ตั้งใจจะแก้ไขหรือลบล้าง "ความเหลื่อมล้ำŽ" ที่เป็นต้นตอของสารพัดปัญหาในสังคมไทย

ทั้งความเหลื่อมล้ำที่เป็นนามธรรม-ความรู้สึก และเหลื่อมล้ำที่เป็นรูปธรรม-เป็นวัตถุจับต้องได้

เหลื่อมล้ำอย่างแรกก็คือตัวบทกฎหมายหรือการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะ "สองมาตรฐาน"Ž
ที่แบ่งคนในสังคมให้แยกออกเป็นสองพวก (หรือมากกว่านั้น) โดยอัตโนมัติ

หลายท่านใน คสช.หรือในคณะที่ปรึกษาของ คสช. ก็เคยเอ่ยปากหรือยอมรับว่า
การทำงานขององค์กรอิสระบางแห่ง (หรือหลายแห่ง) นั้นมีปัญหา และถ้าไม่แก้ไขไม่ปรับปรุง
ก็ยากจะเดินหน้าสร้างความปรองดองสมานฉันท์ได้

คำถามคือจะเอาอย่างไรกับองค์กรอิสระ (จากประชาชน) อย่างศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ป.ป.ช. หรืออื่นๆ

จะยุบไปเลย หรือจะคงไว้อย่างเดิมแต่กำหนดกรอบกติกาวิธีการทำงานและวิธีการคัดเลือกตัวบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งกันใหม่
ให้โปร่งใสและยึดโยงกับสังคมหรือคนส่วนใหญ่บ้าง

ไม่ใช่สนุกกันเองแต่ในพวกในกลุ่มของตน แล้วถีบคนอื่นออกไปกองอยู่อีกมุมอย่างที่ผ่านมา

เหลื่อมล้ำอย่างที่สองก็คือความแตกต่างของฐานะทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเพราะโครงสร้างไม่เป็นธรรม

เช่น จะเอาอย่างไรกับระบบภาษี กล้าไหมใจถึงไหมที่จะผลักดันภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก
ที่เป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นธรรมออกมาใช้

ในขณะที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งในอดีต
ไม่เคยหรือไม่ผลักดันเรื่องเหล่านี้อย่างเต็มที่จริงจัง

หรือจะเอาอย่างไรกับชาวนา ที่ยังเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศนี้ ถ้าไม่ชอบไม่เชื่อระบบจำนำข้าว
จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องมือในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของชาวนา

จะลดต้นทุนการผลิตอย่างไร จะสนับสนุนให้เพิ่มมูลค่า-เช่น ทำแปลงข้าวให้เป็นเหล้า
ซึ่งแน่นอนจะต้องไปขัดอกขัดใจกับกลุ่มทุนใหญ่ หรือไม่

จะเอาอย่างไรกับเรื่องพลังงาน ที่ขนาดหัวหน้า คสช. ต้องโดดลงไปเป็นประธานกรรมการดูแลเอง

จะอุดหนุนกันต่อไปแบบเนียนๆ หรือจะให้กลไกตลาดเข้ามาเป็นตัวกำหนดเหมือนประเทศที่ยึดระบบการค้าเสรี
(และไม่ได้มีแหล่งพลังงานล้นเหลือเฟือฟาย) อื่นๆ

แค่สองสามเรื่องนี้ ถ้าทำได้ก็บุญหนักหนาแล้ว

...........


(ที่มา:มติชนรายวัน 11 มิ.ย.2557)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่