พระที่เข้านิโรธกรรม..?

ถาม : พระที่เข้านิโรธกรรม..?

ตอบ : ส่วนใหญ่ถ้าตามแนวของ หลวงปู่ครูบาศรีวิชัย อย่างน้อยๆ ก็เข้า ๗ วัน ถ้าเป็น นิโรธสมาบัติ จริงๆ ต่ำสุด ๗ วัน สูงสุดไม่เกิน ๔๙ วัน แต่ส่วนใหญ่ พระพุทธเจ้า ทรงกำหนดเอาไว้ปานกลาง ก็คืออย่าให้เกิน ๑๕ วัน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวร่างกายขาดอาหารมาก จะฟื้นตัวช้า

โยคี ที่อินเดียมีเยอะแยะที่อยู่ด้วยธรรมปีติ อยู่กันทั้งปีทั้งชาติ บางรายก็อยู่มาหลาย ๑๐ ปี บางรายปีหนึ่งออกมาจากถ้ำมาหาลูกศิษย์ครั้งหนึ่ง เขาเอาข้าวของมาถวายสักการะเต็มหน้าถ้ำไปหมด ท่านก็ไปเดินมอง หยิบขนมปังกรอบสักชิ้นมาใส่ปากแล้วก็ไป อีกปีค่อยออกมาใหม่ กรณีนี้ไม่ใช่นิโรธสมาบัติ แต่อยู่ด้วยกำลังของฌานสมาบัติ อยู่ด้วยธรรมปีติ ร่างกายเขาดึงเอาดินน้ำลมไฟรอบข้างเข้าไปเสริมเอง ไม่ต้องเสียเวลากิน

ถาม : แล้วมีองค์ใดบ้างที่เข้านิโรธสมาบัติ ?

ตอบ : องค์ที่เข้านิโรธสมาบัติท้ายสุดที่พวกเราไปเห่อคือ หลวงปู่ชุ่ม วัดวังมุย พระที่เข้านิโรธสมาบัติมีระเบียบอยู่ว่า จะต้องบอกเพื่อนพระให้ทราบเอาไว้ ให้คณะสงฆ์รู้ว่าท่านทำอะไร จะได้ไม่เรียกใช้งาน ฉะนั้น..จะไปเข้าเงียบๆ คนเดียวไม่ได้ อย่างน้อยๆ ต้องบอกใครสักคน

ถาม : สมัย หลวงปู่ปาน มีใครบ้างไหมคะ ?

ตอบ : สมัยหลวงปู่ปานมี หลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา สมัยของเราก็มี หลวงพ่อเกษม วัดสุสานไตรลักษณ์ ส่วนอาตมาถนัด พิโรธสมาบัติ เป็นที่เลื่องลือมาก เผลอเมื่อไรโดน..!


สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
ณ บ้านวิริยบารมี เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๖

อ้างอิง >> http://board.palungjit.org/f61/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%98%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1-448798.html

คำว่า “นิโรธกรรม” แปลตามรูปศัพท์ หมายถึง การกระทำให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ วิธีการโดยทั่วไปคือ ผู้เข้านิโรธกรรมจะต้องนั่งภาวนาในท่าเดียวตลอด 7 วัน 7 คืน หรือ 9 วัน 9 คืน ตามแต่จะอธิษฐานในแต่ละครั้ง โดยไม่ฉันอาหารใด ๆ นอกจากน้ำเปล่าเท่านั้น ไม่ถ่ายหนัก ไม่ถ่ายเบา และปิดวาจาไม่พูดคุยกับผู้ใดทั้งสิ้นตลอดเวลาที่เข้านิโรธกรรม

กล่าวโดยสรุปแล้ว การเข้านิโรธกรรม คือ การดับสัญญาความจำได้หมายรู้ในอารมณ์อันเกิดจากประสาทสัมผัสทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เป็นการดับการเสวยอารมณ์เหล่านั้นลงชั่วขณะในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งนั่นเอง
ทั้งนี้ คำว่า “นิโรธสมาบัติ” และ “นิโรธกรรม” ทั้งสองคำนี้มีความหมายต่างกัน กล่าวคือ ผู้ที่เข้า “นิโรธกรรม” จะนั่งภาวนาโดยฉันแต่น้ำเปล่า ไม่ถ่ายหนัก-เบา ไม่พูดจาใดๆ ตลอดการเข้านิโรธกรรม
ในขณะที่ นิโรธสมาบัติ หมายถึง ภาวะการดับสัญญา และดับเวทนา เป็นการเข้าถึงฌานสมาบัติขั้นสูง โดยการปฏิบัติในขั้นนี้ กายสังขารและจิตตสังขารจะระงับไป คือแทบไม่มีลมหายใจ ไม่มีความรู้สึกทางกายและทางใจ แต่ก็ไม่ใช่พระนิพพาน สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่สามารถเข้า “นิโรธสมาบัติ” ได้นั้น พระบาลีระบุว่า “ต้องเป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์เท่านั้น ต่ำกว่านั้นไม่สามารถเข้าได้” นั่นหมายถึง ผู้ที่สามารถเข้าถึงนิโรธสมาบัติได้จะต้องเป็นพระอริยบุคคลในระดับ “พระอนาคามี” หรือ “พระอรหันต์” ผู้ได้ฌานสมาบัติ 8 เท่านั้น
การเข้านิโรธสมาบัติ จึงเป็นการเข้านิโรธเต็มกำลังสำหรับพระอริยบุคคลระดับพระอนาคามีและพระอรหันต์ และเป็นการฝึกตนอย่างหนักและเคร่งครัดกว่าการเข้านิโรธกรรม เนื่องจากเป็นการฝึกด้วยวิธีการซึ่งเหนือวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาทั่วๆ ไปจะกระทำได้นั่นเอง
การทำนิโรธกรรมตามแบบฉบับของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น ท่านให้ขุดหลุมลึก 1 ศอก กว้าง 2 ศอก พอดีเข่า แล้วสร้างซุ้มฟางครอบให้มีความสูง แค่เลยศีรษะ 1 ศอก โดยจะยืนไม่ได้ ไม่ถ่ายหนัก ไม่ถ่ายเบา ฉันแต่น้ำ 1 บาตร ที่นำเข้าไปด้วย มีผ้าขาวปู 4 ผืน รองนั่ง แทนความหมาย คือ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีเสาซุ้ม 8 ต้น แทนความหมาย มรรค 8 ยอดซุ้มปักธงฉัพพรรณรังสี อันมีความหมายถึงปัญญา ราชวัตรล้อมซุ้ม มี 9 ชั้น แทนความหมายของ โลกุตรธรรม 9 คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 รวมเป็น 9

เครดิต อมยิ้มpantip >> Chetส่องธรรม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่