ท่านจะเป็นคนโล้นถือกระเบื้องเที่ยวไปทำไม? ท่านจงสึกมาบริโภคโภคะและกระทำบุญเถิด

[๒๙๖] สาวัตถีนิทาน.
พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  
แม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน
ครั้งนั้น หมู่มหาชนพากันถือเอาจอบและตะกร้ามาด้วยประสงค์ว่า
พวกเราจักทำการทดแม่น้ำคงคานี้ให้ไหลกลับ ให้หลั่งกลับ ให้บ่ากลับ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
หมู่มหาชนนั้นจะพึงทำการทดแม่น้ำคงคาให้ไหลกลับ ให้หลั่งกลับ ให้บ่ากลับ ได้ละหรือ?

             ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่ได้ พระเจ้าข้า.


พ. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร.


ภิ. เพราะแม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน
การที่จะทำการทดแม่น้ำคงคาให้ไหลกลับ ให้หลั่งกลับ ให้บ่ากลับ มิใช่กระทำได้ง่าย
แต่เป็นการแน่นอนว่า หมู่มหาชนพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบากยากแค้น แม้ฉันใด.


พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา มิตร สหาย หรือญาติสาโลหิต
จะพึงเชื้อเชิญภิกษุผู้เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘  ผู้กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘
ด้วยโภคะทั้งหลาย เพื่อนำไปตามใจว่า  ดูกรบุรุษผู้เจริญ ...เชิญท่านมาเถิด ท่านจะนุ่งห่มผ้ากาสายะเหล่านี้ทำไม?
ท่านจะเป็นคนโล้นถือกระเบื้องเที่ยวไปทำไม?  ท่านจงสึกมาบริโภคโภคะและกระทำบุญเถิด

ภิกษุผู้เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ผู้กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นั้น
จักลาสิกขาสึกออกเป็นคฤหัสถ์ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้

ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

เพราะว่า จิตที่น้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวโอนไปในวิเวกตลอดกาลนานนั้น จักสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์
ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้.


[๒๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘
ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า?


ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ  อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ
ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.


นทีสูตร
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙  บรรทัดที่ ๑๘๐๑ - ๑๘๓๕.  หน้าที่  ๗๗ - ๗๘.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=1801&Z=1835&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=296
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่