Tempy Movies Review วิจารณ์หนัง: Taxi Driver {Martin Scorsese}, 1976


ด้วยความที่หนังเรื่องนี้นำเสนอความจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม หรือพูดอีกอย่างหนังมีความเป็นนีโอเรียลลิสต์สูงมาก หลายๆภาพที่เราเห็นคือวิถีชีวิตของผู้คนจริงๆที่อาศัยและนั่นคือกิจวัตรของพวกเขา ความโสมมที่ก้นบึ้งลึกสุดของสังคมประเทศที่เรียกว่าตนเองคือประชาธิปไตย สิ่งที่ปรากฎต่อหน้าเราไม่เพียงแต่คือผู้คนที่ล้มเหลวในการดำเนินชีวิต และคนเหล่านั้นยังฝันลมๆแล้งๆ ฝากฝังอนาคตของพวกเขาทั้งหมดไว้กับนักการเมืองที่ปราศรัยเหมือนๆกัน นั่นคือสร้างสวรรค์วิมานในอากาศ แต่เมื่อเข้าไปนั่งในสภา สิ่งที่เคยพูดไว้ คงเป็นเพียงแค่ “สัญญาหน้าฝน”

แทรวิส ตัวเอกเป็นทหารผ่านศึกเคยประจำหน่วยมารีน เขาสูญเสียโอกาสหลายสิ่งในชีวิต มีความหวังว่าจะสร้างชีวิตให้กับตัวเองเลยมุ่งหน้าเข้ากรุงมารับจ้างเป็นคนขับรถแท็กซี่ คงจะมีไม่กี่อย่างที่เขาได้รับจากการไปเป็นทหาร “รับใช้ชาติ” มา ได้แก่ อาการเลื่อนลอย นอนไม่หลับ และลึกๆด้วยความที่เขาเห็นความตายมามาก จึงไม่แปลกถ้าอยู่ๆ เขาจะซื้อปืนมายิงคน ยิ่งเขาอยู่ในเมืองนี้มากเท่าไหร่เขาก็ยิ่งเห็นความเลวร้ายที่มาบดบังความสวยงามของเมืองมากเท่านั้น เขาเริ่มตระหนักว่า เมืองใหญ่ไม่เพียงแต่จะไม่อำนวยแต่มันยังทำลายความฝันของเขาเสียด้วยซ้ำ เพราะสิ่งที่รายล้อมตัวเขา มีแต่โรงหนังโป๊ โสเภณี ยาเสพติด เด็กใจแตก อันธพาล และสีสันยามค่ำคืนที่หลอกหลอนและกัดกินความเป็นมนุษย์ในตัวคน

ในสังคมเมืองใหญ่ตัวเอกซึ่งเราคิดว่าเขาน่าจะเป็นคนต่างจากจังหวัด อยู่อย่างเดียวดาย เขาคงต้องการใครสักคนอย่างน้อยก็เพื่อถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เป็นห่วงเป็นใยกัน อย่างไม่รอช้าเขาพบผู้หญิงคนหนึ่งเธอทำงานหาเสียงให้กับนักการเมืองและจีบเธอทันที ทั้งสองคบกันอยู่สักพัก ไม่นานนักด้วยความที่มีช่องว่างระหว่างกัน เธอเป็นสาวเมืองกรุง รสนิยมสูง มีเวลาเสพงานศิลป์ ดนตรี แต่เขา คนบ้านนอกมาตามหาความฝัน หาเช้ากินคำ่ ไม่ต้องพูดถึงงานศิลปะ สำหรับเขาคงมีเวลาอย่างมากก็ดูละครน้ำเน่าตามโทรทัศน์ ทั้งสองก็เลิกรากัน ถึงแม้ฝ่ายชายจะตามตื้อถึงที่ทำงาน

เราชอบประเด็นตรงนี้ที่สกอเซซี่หยิบมาเล่ามาก ช่องว่างระหว่างชนชั้นทางสังคม ที่นับวันมันยิ่งถูกทำให้กว้างขึ้น คนที่รวยก็ยิ่งรวยขึ้น คนที่จนก็ยิ่งจนลง นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องประเด็นการเหยียดสีผิวที่ยังคงมีอยู่ ในหนังก็มีอยู่หลายฉากที่ทำให้เรารู้สึกสงสารพวกเขา ชีวิตของพวกเขามันเสียยิ่งกว่าสิ้นจนหนทาง อนาคตถูกเหยียบไว้ใต้เท้าของคนขาว บางฉากเช่น มีคนแอฟริกัน-อเมริกันบุกจึ้ร้านขายของชำ แล้วสุดท้ายก็ถูกพระเอกยิงตาย นี่แหละน่ะคงเป็นชะตากรรมสุดท้ายของพวกเขา “คนผลัดถิ่น”

เท่านี้ยังไม่พอสกอเซซี่ยังเสริมเรื่องราวของไอริส หญิงสาววัยเรียนคนหนึ่งที่หนีออกจากบ้าน แล้วก็มาขายบริการในนิวยอร์ค ตัวเอกมีโอกาสพบเจอกับเธอโดยบังเอิญ เขาคงไม่อยากเห็นอนาคตของเธอพังทลายลงกับอาชีพนี้ เขาจึงตัดสินใจบุกรังโสเภณี และทำลายพ่อเล้าทั้งหลาย เขาตัดสินใจจะปลิดชีวิตตัวเอง แต่ไม่ว่าในใจเขาจะคิดอะไร อาจจะเพราะเขาทนกับโลกอันวิปริตแบบนี้ไม่ไหวแล้ว หรือเพื่อต้องการชำระล้างความผิดของตน แต่เดชะบุญลูกปืนหมดเขาจึงรอดชีวิตมาอย่างหวุดหวิด วีรกรรมของเขาได้ไปแทรกพื้นที่ข่าวขึ้นบนหนังสือพิมพ์ อย่างน้อย พ่อแม่ของไอริสก็ถึงกับส่งจดหมายมาขอบคุณและยินดีถ้าเขาจะไปเยี่ยมเยียนที่บ้านของพวกเขา และ คน(ที่เขาเคย)รักก็กลับมาหา แต่ฉากสุดท้ายเราก็รับรู้ว่า เขาได้ตัดใจจากเธอไปแล้ว

ฉากสุดท้ายเพียงแค่สิบกว่านาทีซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดที่มีการตีความกันอย่างหลากหลาย สำหรับเราจุดจบค่อนข้างดูสวยหรูและห่างไกลจากความเป็นจริง ไอริสกลับไปเรียนหนังสือ แทรวิสกลับไปทำงานทั้งที่เขาฆ่าคนในขณะที่ไว้ทรงผมโมฮอค และคนรักกลับมาคืนดี ซึ่งถ้ามองไปแล้วก็เมหือนเป็นการสะท้อนถึงสังคมในอุดมคติที่ ไม่มีโสเภณี อันธพาลถูกกำจัด เยาวชนไปโรงเรียนและเชื่อฟังพ่อแม่ ความรักของคนที่ต่างฐานะทางสังคมเป็นไปได้ ทั้งหลายแหล่มันเป็นจุดจบที่บริบูรณ์ราวกับว่า มันเป็นเพียงแค่ความฝันของชายคนหนึ่งที่อยากให้สังคมสงบสุข หนังจบลงด้วยภาพที่แทรวิสขับรถไปบนนถนนที่มีแต่ภาพหลอนของแสงสียามค่ำคืน

ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์ทางเฟสได้เลยน่ะครับ https://www.facebook.com/survival.king
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่