รู้แล้วจะหนาว “ศาลทหาร” ในเวลาไม่ปกติ

http://www.peopleunitynews.com/web02/2014/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%B0-%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A7/

สำนักข่าวออนไลน์ พีเพิล ยูนิตี้ - คำสั่ง หรือประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้โอนคดี 3 ประเภท คือ คดีความมั่นคง คดีฝ่าฝืนประกาศ-คำสั่ง คสช. และคดีหมิ่นสถาบัน ไปอยู่ในเขตอำนาจ “ศาลทหาร” ถือว่าเป็นการตัดสินใจใช้ “ยาแรง” ของ คสช. เพื่อคุมสถานการณ์ให้นิ่งที่สุดก่อนเดินหน้าประเทศ

ท่ามกลางคำถามของคนส่วนมากที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงทหารว่า ระบบการพิจารณาพิพากษาคดีของทหารเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างจากศาลพลเรือนมากน้อยแค่ไหน!?

อดีตตุลาการในศาลทหารท่านหนึ่งให้ความรู้ว่า ศาลทหารแบ่งตามสถานการณ์ได้ 2 ประเภท คือ ศาลทหารในเวลาปกติ และศาลทหารในเวลาไม่ปกติ

ศาลทหารในเวลาปกติจะมีกระบวนการพิจารณาคดีเหมือนกับศาลพลเรือนทั่วไปแทบทุกประการ โดยจะมีทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีระบบต่างๆเหมือนกับศาลพลเรือน

ศาลทหารชั้นต้น ประกอบด้วย ศาลทหารกรุงเทพ ศาลจังหวัดทหาร ศาลมณฑลทหาร ส่วนศาลอุทธรณ์ คือ ศาลทหารกลาง และศาลฎีกา เรียกว่า ศาลทหารสูงสุด

อดีตตุลาการศาลทหารระบุว่า ในภาวะ “ไม่ปกติ” เช่น มีสงคราม หรือประกาศใช้กฎอัยการศึกจะมีการโอนคดีบางประเภทมาขึ้นกับศาลทหาร เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาคดี

ผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารในเวลาไม่ปกติหมายรวมถึง “พลเรือน” ที่ฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศในกฎอัยการศึก ขณะที่ในเวลาปกติศาลทหารจะตัดสินคดีเฉพาะผู้ที่เป็นทหารเท่านั้น

กระบวนการดำเนินคดีในศาลทหารจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารจับกุม แล้วให้ตำรวจเขียนสำนวนส่ง “อัยการทหาร” เพื่อส่งสำนวนฟ้องไปยัง “ศาลทหาร”

ในการพิจารณาคดีจำเลยสามารถแต่งตั้งทนายที่เป็นพลเรือน รวมทั้งร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัวได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่

รูปแบบการพิจารณาคดี (ในเวลาไม่ปกติ) อาจกระทำโดย “เปิดเผย” หรือ “ปิดลับ” ก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลในแต่ละคดี

ข้อแตกต่างประการสำคัญของศาลทหารในเวลาปกติ กับศาลทหารในเวลาไม่ปกติ คือ ศาลทหารในเวลาปกติเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และฎีกา ต่อได้

แต่ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ จะมีการพิจาณาคดีจบภายใน “ศาลเดียว” ไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ หรือฎีกา ได้

ขั้นตอนดังกล่าวระบุชัดเจนในมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 61 วรรคสอง ที่ระบุว่า

“คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ และศาลอาญาศึกหรือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีแทนศาลอาญาศึกตามมาตรา 40 และมาตรา 43 ห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา”

ส่วนผู้ที่เข้าข่ายต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร (ในเวลาไม่ปกติ) ก็ได้แก่ ผู้ที่มีฐานความผิด 3 ข้อตามประกาศของ คสช. คือ การฝ่าฝืนประกาศ-คำสั่ง คสช. คดีความมั่นคง และหมิ่นสถาบัน

ถามว่า ถ้าศาลพิพากษาแล้วมีความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา นักโทษในศาลทหารจะถูกนำไปจองจำที่ใดระหว่าง “คุกทหาร” หรือ “คุกพลเรือน” ตามปกติ

อดีตตุลาการศาลทหารบอกว่า เรื่องนี้มีแนวปฏิบัติชัดเจน คือ ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ก็จะถูกจองจำไว้ใน “เรือนจำทหาร” ณ พื้นที่ที่ได้กระทำความผิด

แต่ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกเกิน 3 ปี ก็จะถูกจองจำไว้ใน “เรือนจำพลเรือน” แทน

นั่นคือ กระบวนการพิจารณาคดีโดยสังเขปในศาลทหาร ซึ่งจะเห็นได้ว่า แทบจะไม่มีความแตกต่างจากศาลพลเรือน โดยเฉพาะศาลทหารในเวลาปกติ

แต่ในเวลา “ไม่ปกติ” ที่มีกลุ่มคนคอยต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ทางกองทัพจึงจำเป็นต้องใช้ยาแรงเพื่อควบคุมสถานการณ์ เพื่อให้ประเทศเข้ารูปเข้ารอยโดยเร็วที่สุด

คราวนี้กองทัพไม่ใช่แค่ “ขู่” แน่นอน แต่ทุกอย่างจะต้องเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะคดีที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ เป็นภัยต่อชีวิตประชาชน และก้าวล่วงต่อองค์ราชัน

เพราะรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ปล่อยปละละเลยจนบ้านเมืองเละเทะ และปล่อยให้คนพวกนี้ “เหิมเกริม” และทำร้ายประเทศชาติมานานเกินพอแล้ว

ข่าวเจาะ // รู้แล้วจะหนาว “ศาลทหาร” ในเวลาไม่ปกติ

โดย – เสมา พิทักษ์ราชัน

30 พฤษภาคม 2557

10.10 น.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่