ถ้าพูดถึง “โบตั๋น” หลาย ๆ ท่านอาจจะคิดถึงดอกไม้หอมดอกใหญ่สัญชาติจีน มีหลากหลายสีสันงดงามชวนให้เข้าไปสัมผัสชมให้หลงใหลในยามเมื่อพบเห็น แต่สำหรับท่านที่เป็นนักอ่านคงทราบกันดีกว่า “โบตั๋น” นี้เป็นนามปากกาของนักเขียนอาวุโสท่านหนึ่ง ซึ่งมีผลงานนิยายในแนวสะท้อนสังคมออกมาให้ได้อ่านกันโดยต่อเนื่องตลอด ส่วนตัวผมแล้วผมก็ไม่เคยได้รู้จัก อ.โบตั๋น ผ่านสื่อใด ๆ มาก่อน ผมไม่เคยได้อ่านบทสัมภาษณ์หรือได้ดูข่าวเกี่ยวกับนักเขียนท่านนี้เลย จนกระทั่งเมื่อวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาผมจึงได้มีโอกาสได้รู้จักตัวตนของนักเขียนผู้ที่เป็นศิลปินแห่งชาติท่านนี้ ผ่านงานเสวนาที่มีชื่อว่า “อลังการผสานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ” ที่ห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค ได้จัดขึ้น
ก่อนหน้านี้ผมรู้จักนักเขียนที่มีนามปากกาว่า “โบตั๋น” ผ่านนิยายเรื่องเยี่ยมซึ่งก็คือเรื่อง “จดหมายจากเมืองไทย” ผมได้อ่านนิยายเรื่องนี้จบแล้วผมเกิดความชื่นชอบและประทับเป็นอย่างมาก เรื่องราวนอกจากจะสนุกสนานชวนให้น่าติดตามโดยตลอดแล้ว ผู้เขียนยังสอดแทรกเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมของเมืองไทยในช่วงเวลานั้นแฝงลงไปในเนื้อเรื่องได้อย่างแยบยล ซึ่งแน่นอนว่านิยายเรื่องนี้ได้ถูกคัดเลือกให้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในช่วงเวลานั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลานานมากกว่า 40 ปีแล้วก็ตาม แต่เมื่อผมได้หยิบ “จดหมายจากเมืองไทย” กลับขึ้นมาอ่านอีกครั้ง เนื้อหาในเรื่องถึงแม้ว่าจะเก่าไปบ้างตามกาลเวลา แต่ก็เป็นเรื่องราวที่บันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งตัวละครเอกนามว่า “ตันส่วงอู๋” ที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยนั้น ดูเหมือนว่าตัวละครผู้นี้เพิ่งเดินผ่านตัวผมไปเมื่อผมพลิกหน้าสุดท้ายของหนังสือจบลง
“ดิฉันเป็นลูกจีนเก็บกด เพราะว่าอยากดังเลยได้กลายมาเป็นนักเขียน”
ประโยคข้างต้นนี้เป็นคำพูดวรรคทองบนเวทีเสวนา ซึ่งผู้พูดมีชื่อว่า นางสุภา ศิริสิงห สุภาพสตรีผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ในวัย 70 ปี เธอผู้นี้คือศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2542 ในนามปากกา “โบตั๋น”
อ.โบตั๋น ได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของท่านให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ฟังต่อว่า
“พ่อดิฉันเป็นต่างด้าว เป็นชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทย ดิฉันก็เลยเป็นลูกเจ๊กลูกจีนตามที่เขาเรียกกัน ยิ่งด้วยการที่เป็นลูกสาวของคนจีนด้วย ชีวิตจึงต้องรู้สึกว่าโดนบีบคั้นไปด้วยสภาพแวดล้อมของสังคมในช่วงเวลานั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดิฉันเรียนที่อักษรศาสตร์ เพื่อน ๆ ในคณะต่างก็เอาผลงานนิยายหรือบทกวีของตัวเองมาคุยโอ้อวดกัน ว่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ได้เขียนลงไปลงนิตยสารโน้นบ้างล่ะ นิตยสารนี้บ้างล่ะ ดิฉันก็นึกในใจว่าเรื่องนิยายแค่นี้ดิฉันก็เขียนได้ ว่าแล้วดิฉันก็เขียนเรื่องจดหมายจากเมืองไทยขึ้นมา โดยสาเหตุที่เลือกเขียนก็เพราะว่าเรื่องในลักษณะนี้ยังไม่เคยมีใครเขียนมาก่อน ตอนที่เขียนนั้นดิฉันยังเรียนอยู่ปี 3 อายุน่าสักประมาณ 21 หรือ 22 เอง”
หลังจากนั้น อ.โบตั๋น ก็ได้เล่าให้ฟังต่อว่า นิยายเรื่อง “จดหมายจากเมืองไทย” พอได้ลงเป็นตอน ๆ ในนิตยสารสตรีสารก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเยอะมาก รวมทั้งมีคนอยากจะรู้ว่าคนเขียนคือใคร แต่ในสมัยนั้นตัวนักเขียนเองค่อนข้างที่จะปิดตัวเอง ไม่กล้าเปิดเผยให้สังคมได้รู้จักสักเท่าไหร่ว่านักเขียนคนนี้คือใคร เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง จนกระทั่งอาจารย์บุญเหลือ (มล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ) ได้เสนอเรื่องนี้เข้ารับรางวัล สปอ. ในปีพ.ศ. 2512 หลังจากนั้นผู้อ่านจึงได้รู้จักกับนักเขียนที่นามปากกว่า “โบตั๋น” มากขึ้น
ถามว่าชื่อ “โบตั๋น” นี้มีที่มาอย่างไร?
อ.โบตั๋น ยิ้มพร้อมทั้งเล่าตอบให้ฟังอย่างอารมณ์ดีว่า
“ด้วยความที่อยากดัง ในช่วงนั้นเขามีนิยายเรื่องในฝัน ของโรสลาเรน ที่กำลังดังมาก โรสลาเรนก็คือดอกกุหลาบจักรพรรดิ์ เป็นดอกไม้ที่ยิ่งใหญ่ ดิฉันก็ต้องเอาบ้างสิ ไหน ๆ เราก็เป็นลูกคนจีนเอาดอกไม้จีนก็แล้วกันจะได้สื่อความหมายได้ถูกคน ว่าแล้วก็เลือกเอาดอกโบตั๋น เพราะว่าดอกโบตั๋นก็เป็นดอกไม้ที่ยิ่งใหญ่เหมือนกัน ครั้งหนึ่งดอกโบตั๋นเคยเป็นดอกไม้ประจำชาติจีน และเป็นดอกไม้ประจำพระองค์ของพระนางบูเช็คเทียนด้วย”
พูดถึงผลงงานนิยายของ อ.โบตั๋น แล้วหลาย ๆ ท่านก็คงทราบกันดีว่า เป็นนิยายเชิงสะท้อนสังคมที่เอาภาพความเป็นจริงของสังคมมาตีแผ่ใส่เข้าไปในตัวละคร ซึ่งจะเป็นการช่วยชี้ถึงปัญหาและบอกผู้อ่านให้คิดหาแนวทางแก้ไขตามไปตลอด ซึ่งถือว่าเป็นนิยายที่นอกจากจะได้ความบันเทิงแล้วยังมีสาระและแง่คิดต่าง ๆ แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องด้วย สำหรับแฟนประจำของ อ.โบตั๋น คงทราบกันดีว่า นิยายส่วนใหญ่นั้นเป็นเรื่องชีวิตที่รัดทน ตัวละครต้องฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาในชีวิตมากมาย เป็นนิยายแนวเครียดและกดดันตัวละคร โดยหลาย ๆ เรื่องไม่ได้จบลงแบบสุขนาฏกรรม แต่เป็นเรื่องที่เน้นการเตือนสติและการให้แง่คิดมากกว่า อีกทั้งจะหานิยายที่เป็นเรื่องรักใคร่แนวหวานซึ้งไม่ค่อยจะมีให้ได้อ่านกันเลย
“คนใกล้ตัวดิฉันยังต่อว่าเลยว่า เนี่ยเธอ ... เรื่องของเธอนางเอกตาย 3 เรื่องติดกันแล้วนะ เธอจะใจร้ายไปถึงไหนเนี่ย?”
อ.โบตั๋น ยังคงเล่าให้ผู้เข้าร่วมเสวนาฟังอย่างติดตลกได้เหมือนเดิม แล้วท่านก็เล่าถึงวิธีการคิดสร้างโครงเรื่องให้ได้ทราบว่า ด้วยความช่างสังเกตและเหมือนจะสนใจในปัญหาของสังคม จึงพยายามเอาปมปัญหาเหล่านั้นมาผูกเรื่องให้เห็นถึงตัวละคร ผูกปมปัญหาให้ตัวละครไปเรื่อย ๆ ทีละปม ทีละปม แล้วค่อย ๆ แก้ปมปัญหาให้ตัวละครในตอนท้าย โดยที่ไม่ทิ้งตัวละครให้ความสำคัญกับตัวละครเป็นหลัก ให้ตัวละครเป็นผู้เดินเรื่อง รวมทั้งเอาปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมในช่วงเวลานั้นมาเป็นประเด็นหรือแก่นของเรื่อง (Theme) แล้วสร้างตัวละครขึ้นมาให้เดินตามโครงเรื่อง (plot) อย่างเช่นเรื่อง “ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด” , “บัวแล้งน้ำ” , “ทองเนื้อเก้า” , “กว่าจะรู้เดียงสา” ฯลฯ
“อย่างตอนที่คิดตัวละครชื่อลำยอง ดิฉันก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ในตลาด เธอเป็นคนที่เลี้ยงลูกแบบปล่อยปะละเลย อาจจะดูแล้วสำมะเลเทเมาไปสักหน่อย แต่ไม่ได้ขี้เมาหรือร่านสวาทเหมือนในละครนะ แล้วเธอก็มีลูกชายเล็ก ๆ คนหนึ่ง พอลูกชายเธอไปบวชเณรแล้วก็มีคนพาเณรกลับมาโปรดมารดา พาเณรมาให้แม่กราบ เราเห็นแล้วก็นะ รู้สึกซึ้ง ก็เลยสะท้อนออกมาเป็นเรื่องที่เล่าว่าลูกชายแสนประเสริฐทั้ง ๆ ที่มีแม่ไม่ค่อยจะเอาไหนเลย”
อ.โบตั๋น เล่าให้ฟังถึงที่มาของนิยายเรื่อง “ทองเนื้อเก้า” ซึ่งผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาสามารถนำกลับไประยุกต์ใช้ในงานเขียนของตัวเองได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น อ.โบตั๋น ยังเปิดใจต่ออีกว่า นิยายเรื่องที่รักมากที่สุดในชีวิตคือเรื่อง “ความสมหวังของแก้ว” เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท่านชอบมากเป็นพิเศษ ส่วนรองลงมาก็คือเรื่อง “กว่าจะรู้เดียงสา” เป็นเรื่องที่หยิบเอาปัญหาโสเภณีเด็กที่เป็นปัญหาสังคมในช่วงเวลานั้นนำมาเขียนเป็นโครงเรื่อง
อ.โบตั๋น ย้ำทิ้งท้ายให้ผู้เข้าฟังเสวนาที่อยากจะเป็นนักเขียนได้จำไว้เสมอว่า ...
“ถ้าไม่มีปมก็ไม่มีเรื่อง ถ้ามีปมแล้วจะได้มีคำถามต่อไปว่า ทำไม? หรือเพราะอะไร? ดังนั้นในเรื่องจำเป็นต้องมีปม แล้วผูกปมเป็นชั้น ๆ จึงจะสร้างเป็นพล็อตเรื่องได้”
อ.โบตั๋น ในปัจจุบันนี้ยังคงเขียนนิยายอยู่ตลอด แม้ว่าท่านจะไม่ได้มีผลงานหลั่งไหลออกมาอย่างมากมาย แต่ท่านก็มีผลงานนิยายออกมาให้ได้อ่านกันอย่างต่อเนื่อง ในวัยที่อายุ 70 ปีนี้ท่านยังคงเขียนหนังสืออยู่เสมอ พยายามเขียนให้มีนิยายออกมาได้ปีละ 1 เรื่อง โดยเน้นที่ผลงานต้องออกมาดี พยายามไม่เขียนเยอะเพราะว่าคุณภาพไม่ดีแล้วจะไม่เป็นที่พอใจของตัวเอง อ.โบตั๋น ใช้เวลาในวันจันทร์ถึงวันศุกร์บริหารสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งขึ้นมาร่วมกับสามีคู่ชีวิต ในวันที่สามีไม่อยู่แล้วท่านจึงต้องทุ่มเทเวลาสำหรับดูแลกิจการสำนักพิมพ์ให้ดำเนินก้าวหน้าต่อไปได้ โดยใช้เวลาว่างในวันเสาร์และอาทิตย์สำหรับการเขียนหนังสือ ซึ่ง อ.โบตั๋น ยังฝากทิ้งทายสำหรับแฟนประจำผู้ชื่นชอบผลงานในนามปากกา “โบตั๋น” ว่า เรื่องล่าสุดที่เพิ่งเขียนเสร็จเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (พ.ค. 2557) มีชื่อเรื่องว่า “สุดทางฝันวันฟ้าใส” ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ ผู้ที่สนใจอยากจะอ่านเรื่องล่าสุดนี้ก็สามารถไปตามหาซื้ออ่านกันได้ในงานสัปดาห์หนังสือ ที่บูธของสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2557 นี้
เขาว่ากันว่า ดอกไม้งามนั้นจะงามเมื่อแรกแย้ม กลีบดอกที่มีสีสันสวยงามของดอกที่บานแล้วสามารถดึงดูดหมู่มวลภมรให้บินมาชื่นชมได้ แต่ดอกไม้ใดที่มีคุณค่าเกินเลยความงดงามไปแล้ว ก็อาจจะทรงค่าเกินกว่าเพียงแค่ให้เหล่าแมลงได้บินตอมเท่านั้น ดอกไม้ดอกนั้นจึงควรจะได้รับการยกย่องเพื่อประดับคุณงามไว้ให้เหล่ามนุษย์ได้ชื่นชมอีกด้วย คงไม่ต่างไปจากดอกไม้งามเชื้อสายจีน ดอกไม้หอมดอกใหญ่ผู้มีนามว่า “โบตั๋น” ดอกนี้ จึงทรงค่าสำหรับการยกย่องเชิดชูให้เป็นศิลปินแห่งชาติอย่างแท้จริง
@@@@@@@@@@@
คุยกันท้ายเรื่อง
บทความเรื่องนี้ผมเขียนขึ้นหลังจากที่ผมได้ไปร่วมฟังงานเสวนาของ “โบตั๋น” ที่งาน “อลังการผสานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ” ซึ่งห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค ได้จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม 2557 โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่านคือ คุณสุภา สิริสิงห (โบตั๋น) ศิลปินแห่งชาติ , อาจารย์รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ และอาจารย์ชุติมา เสวิกุล โดยในงานเสวนาได้พูดถึงเรื่องราวชีวิตการเป็นนักเขียนของ อ.โบตั๋น ผมได้ฟังแล้วรู้สึกประทับในผลงานของท่านอาจารย์โบตั๋นเป็นอย่างมาก ผมเลยเก็บรายละเดียดที่ได้ฟังจากในงานมาเรียบเรียงเพื่อเขียนเป็นบทความนี้ขึ้นมา ตัวผมเองก็ไม่แน่ใจนักว่าจะสามารถรายละเอียดได้ถูกต้องและครบถ้วนทั้งหมดหรือไม่? แต่ก็หวังว่าเรื่องราวในบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ที่สนใจได้บ้าง
โบตั๋น ... อักษรศิลป์ที่บานงดงามอย่างทรงคุณค่าเสมอ
ก่อนหน้านี้ผมรู้จักนักเขียนที่มีนามปากกาว่า “โบตั๋น” ผ่านนิยายเรื่องเยี่ยมซึ่งก็คือเรื่อง “จดหมายจากเมืองไทย” ผมได้อ่านนิยายเรื่องนี้จบแล้วผมเกิดความชื่นชอบและประทับเป็นอย่างมาก เรื่องราวนอกจากจะสนุกสนานชวนให้น่าติดตามโดยตลอดแล้ว ผู้เขียนยังสอดแทรกเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมของเมืองไทยในช่วงเวลานั้นแฝงลงไปในเนื้อเรื่องได้อย่างแยบยล ซึ่งแน่นอนว่านิยายเรื่องนี้ได้ถูกคัดเลือกให้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในช่วงเวลานั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลานานมากกว่า 40 ปีแล้วก็ตาม แต่เมื่อผมได้หยิบ “จดหมายจากเมืองไทย” กลับขึ้นมาอ่านอีกครั้ง เนื้อหาในเรื่องถึงแม้ว่าจะเก่าไปบ้างตามกาลเวลา แต่ก็เป็นเรื่องราวที่บันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งตัวละครเอกนามว่า “ตันส่วงอู๋” ที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยนั้น ดูเหมือนว่าตัวละครผู้นี้เพิ่งเดินผ่านตัวผมไปเมื่อผมพลิกหน้าสุดท้ายของหนังสือจบลง
“ดิฉันเป็นลูกจีนเก็บกด เพราะว่าอยากดังเลยได้กลายมาเป็นนักเขียน”
ประโยคข้างต้นนี้เป็นคำพูดวรรคทองบนเวทีเสวนา ซึ่งผู้พูดมีชื่อว่า นางสุภา ศิริสิงห สุภาพสตรีผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ในวัย 70 ปี เธอผู้นี้คือศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2542 ในนามปากกา “โบตั๋น”
อ.โบตั๋น ได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของท่านให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ฟังต่อว่า
“พ่อดิฉันเป็นต่างด้าว เป็นชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทย ดิฉันก็เลยเป็นลูกเจ๊กลูกจีนตามที่เขาเรียกกัน ยิ่งด้วยการที่เป็นลูกสาวของคนจีนด้วย ชีวิตจึงต้องรู้สึกว่าโดนบีบคั้นไปด้วยสภาพแวดล้อมของสังคมในช่วงเวลานั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดิฉันเรียนที่อักษรศาสตร์ เพื่อน ๆ ในคณะต่างก็เอาผลงานนิยายหรือบทกวีของตัวเองมาคุยโอ้อวดกัน ว่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ได้เขียนลงไปลงนิตยสารโน้นบ้างล่ะ นิตยสารนี้บ้างล่ะ ดิฉันก็นึกในใจว่าเรื่องนิยายแค่นี้ดิฉันก็เขียนได้ ว่าแล้วดิฉันก็เขียนเรื่องจดหมายจากเมืองไทยขึ้นมา โดยสาเหตุที่เลือกเขียนก็เพราะว่าเรื่องในลักษณะนี้ยังไม่เคยมีใครเขียนมาก่อน ตอนที่เขียนนั้นดิฉันยังเรียนอยู่ปี 3 อายุน่าสักประมาณ 21 หรือ 22 เอง”
หลังจากนั้น อ.โบตั๋น ก็ได้เล่าให้ฟังต่อว่า นิยายเรื่อง “จดหมายจากเมืองไทย” พอได้ลงเป็นตอน ๆ ในนิตยสารสตรีสารก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเยอะมาก รวมทั้งมีคนอยากจะรู้ว่าคนเขียนคือใคร แต่ในสมัยนั้นตัวนักเขียนเองค่อนข้างที่จะปิดตัวเอง ไม่กล้าเปิดเผยให้สังคมได้รู้จักสักเท่าไหร่ว่านักเขียนคนนี้คือใคร เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง จนกระทั่งอาจารย์บุญเหลือ (มล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ) ได้เสนอเรื่องนี้เข้ารับรางวัล สปอ. ในปีพ.ศ. 2512 หลังจากนั้นผู้อ่านจึงได้รู้จักกับนักเขียนที่นามปากกว่า “โบตั๋น” มากขึ้น
ถามว่าชื่อ “โบตั๋น” นี้มีที่มาอย่างไร?
อ.โบตั๋น ยิ้มพร้อมทั้งเล่าตอบให้ฟังอย่างอารมณ์ดีว่า
“ด้วยความที่อยากดัง ในช่วงนั้นเขามีนิยายเรื่องในฝัน ของโรสลาเรน ที่กำลังดังมาก โรสลาเรนก็คือดอกกุหลาบจักรพรรดิ์ เป็นดอกไม้ที่ยิ่งใหญ่ ดิฉันก็ต้องเอาบ้างสิ ไหน ๆ เราก็เป็นลูกคนจีนเอาดอกไม้จีนก็แล้วกันจะได้สื่อความหมายได้ถูกคน ว่าแล้วก็เลือกเอาดอกโบตั๋น เพราะว่าดอกโบตั๋นก็เป็นดอกไม้ที่ยิ่งใหญ่เหมือนกัน ครั้งหนึ่งดอกโบตั๋นเคยเป็นดอกไม้ประจำชาติจีน และเป็นดอกไม้ประจำพระองค์ของพระนางบูเช็คเทียนด้วย”
พูดถึงผลงงานนิยายของ อ.โบตั๋น แล้วหลาย ๆ ท่านก็คงทราบกันดีว่า เป็นนิยายเชิงสะท้อนสังคมที่เอาภาพความเป็นจริงของสังคมมาตีแผ่ใส่เข้าไปในตัวละคร ซึ่งจะเป็นการช่วยชี้ถึงปัญหาและบอกผู้อ่านให้คิดหาแนวทางแก้ไขตามไปตลอด ซึ่งถือว่าเป็นนิยายที่นอกจากจะได้ความบันเทิงแล้วยังมีสาระและแง่คิดต่าง ๆ แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องด้วย สำหรับแฟนประจำของ อ.โบตั๋น คงทราบกันดีว่า นิยายส่วนใหญ่นั้นเป็นเรื่องชีวิตที่รัดทน ตัวละครต้องฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาในชีวิตมากมาย เป็นนิยายแนวเครียดและกดดันตัวละคร โดยหลาย ๆ เรื่องไม่ได้จบลงแบบสุขนาฏกรรม แต่เป็นเรื่องที่เน้นการเตือนสติและการให้แง่คิดมากกว่า อีกทั้งจะหานิยายที่เป็นเรื่องรักใคร่แนวหวานซึ้งไม่ค่อยจะมีให้ได้อ่านกันเลย
“คนใกล้ตัวดิฉันยังต่อว่าเลยว่า เนี่ยเธอ ... เรื่องของเธอนางเอกตาย 3 เรื่องติดกันแล้วนะ เธอจะใจร้ายไปถึงไหนเนี่ย?”
อ.โบตั๋น ยังคงเล่าให้ผู้เข้าร่วมเสวนาฟังอย่างติดตลกได้เหมือนเดิม แล้วท่านก็เล่าถึงวิธีการคิดสร้างโครงเรื่องให้ได้ทราบว่า ด้วยความช่างสังเกตและเหมือนจะสนใจในปัญหาของสังคม จึงพยายามเอาปมปัญหาเหล่านั้นมาผูกเรื่องให้เห็นถึงตัวละคร ผูกปมปัญหาให้ตัวละครไปเรื่อย ๆ ทีละปม ทีละปม แล้วค่อย ๆ แก้ปมปัญหาให้ตัวละครในตอนท้าย โดยที่ไม่ทิ้งตัวละครให้ความสำคัญกับตัวละครเป็นหลัก ให้ตัวละครเป็นผู้เดินเรื่อง รวมทั้งเอาปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมในช่วงเวลานั้นมาเป็นประเด็นหรือแก่นของเรื่อง (Theme) แล้วสร้างตัวละครขึ้นมาให้เดินตามโครงเรื่อง (plot) อย่างเช่นเรื่อง “ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด” , “บัวแล้งน้ำ” , “ทองเนื้อเก้า” , “กว่าจะรู้เดียงสา” ฯลฯ
“อย่างตอนที่คิดตัวละครชื่อลำยอง ดิฉันก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ในตลาด เธอเป็นคนที่เลี้ยงลูกแบบปล่อยปะละเลย อาจจะดูแล้วสำมะเลเทเมาไปสักหน่อย แต่ไม่ได้ขี้เมาหรือร่านสวาทเหมือนในละครนะ แล้วเธอก็มีลูกชายเล็ก ๆ คนหนึ่ง พอลูกชายเธอไปบวชเณรแล้วก็มีคนพาเณรกลับมาโปรดมารดา พาเณรมาให้แม่กราบ เราเห็นแล้วก็นะ รู้สึกซึ้ง ก็เลยสะท้อนออกมาเป็นเรื่องที่เล่าว่าลูกชายแสนประเสริฐทั้ง ๆ ที่มีแม่ไม่ค่อยจะเอาไหนเลย”
อ.โบตั๋น เล่าให้ฟังถึงที่มาของนิยายเรื่อง “ทองเนื้อเก้า” ซึ่งผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาสามารถนำกลับไประยุกต์ใช้ในงานเขียนของตัวเองได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น อ.โบตั๋น ยังเปิดใจต่ออีกว่า นิยายเรื่องที่รักมากที่สุดในชีวิตคือเรื่อง “ความสมหวังของแก้ว” เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท่านชอบมากเป็นพิเศษ ส่วนรองลงมาก็คือเรื่อง “กว่าจะรู้เดียงสา” เป็นเรื่องที่หยิบเอาปัญหาโสเภณีเด็กที่เป็นปัญหาสังคมในช่วงเวลานั้นนำมาเขียนเป็นโครงเรื่อง
อ.โบตั๋น ย้ำทิ้งท้ายให้ผู้เข้าฟังเสวนาที่อยากจะเป็นนักเขียนได้จำไว้เสมอว่า ...
“ถ้าไม่มีปมก็ไม่มีเรื่อง ถ้ามีปมแล้วจะได้มีคำถามต่อไปว่า ทำไม? หรือเพราะอะไร? ดังนั้นในเรื่องจำเป็นต้องมีปม แล้วผูกปมเป็นชั้น ๆ จึงจะสร้างเป็นพล็อตเรื่องได้”
อ.โบตั๋น ในปัจจุบันนี้ยังคงเขียนนิยายอยู่ตลอด แม้ว่าท่านจะไม่ได้มีผลงานหลั่งไหลออกมาอย่างมากมาย แต่ท่านก็มีผลงานนิยายออกมาให้ได้อ่านกันอย่างต่อเนื่อง ในวัยที่อายุ 70 ปีนี้ท่านยังคงเขียนหนังสืออยู่เสมอ พยายามเขียนให้มีนิยายออกมาได้ปีละ 1 เรื่อง โดยเน้นที่ผลงานต้องออกมาดี พยายามไม่เขียนเยอะเพราะว่าคุณภาพไม่ดีแล้วจะไม่เป็นที่พอใจของตัวเอง อ.โบตั๋น ใช้เวลาในวันจันทร์ถึงวันศุกร์บริหารสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งขึ้นมาร่วมกับสามีคู่ชีวิต ในวันที่สามีไม่อยู่แล้วท่านจึงต้องทุ่มเทเวลาสำหรับดูแลกิจการสำนักพิมพ์ให้ดำเนินก้าวหน้าต่อไปได้ โดยใช้เวลาว่างในวันเสาร์และอาทิตย์สำหรับการเขียนหนังสือ ซึ่ง อ.โบตั๋น ยังฝากทิ้งทายสำหรับแฟนประจำผู้ชื่นชอบผลงานในนามปากกา “โบตั๋น” ว่า เรื่องล่าสุดที่เพิ่งเขียนเสร็จเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (พ.ค. 2557) มีชื่อเรื่องว่า “สุดทางฝันวันฟ้าใส” ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ ผู้ที่สนใจอยากจะอ่านเรื่องล่าสุดนี้ก็สามารถไปตามหาซื้ออ่านกันได้ในงานสัปดาห์หนังสือ ที่บูธของสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2557 นี้
เขาว่ากันว่า ดอกไม้งามนั้นจะงามเมื่อแรกแย้ม กลีบดอกที่มีสีสันสวยงามของดอกที่บานแล้วสามารถดึงดูดหมู่มวลภมรให้บินมาชื่นชมได้ แต่ดอกไม้ใดที่มีคุณค่าเกินเลยความงดงามไปแล้ว ก็อาจจะทรงค่าเกินกว่าเพียงแค่ให้เหล่าแมลงได้บินตอมเท่านั้น ดอกไม้ดอกนั้นจึงควรจะได้รับการยกย่องเพื่อประดับคุณงามไว้ให้เหล่ามนุษย์ได้ชื่นชมอีกด้วย คงไม่ต่างไปจากดอกไม้งามเชื้อสายจีน ดอกไม้หอมดอกใหญ่ผู้มีนามว่า “โบตั๋น” ดอกนี้ จึงทรงค่าสำหรับการยกย่องเชิดชูให้เป็นศิลปินแห่งชาติอย่างแท้จริง
@@@@@@@@@@@
คุยกันท้ายเรื่อง
บทความเรื่องนี้ผมเขียนขึ้นหลังจากที่ผมได้ไปร่วมฟังงานเสวนาของ “โบตั๋น” ที่งาน “อลังการผสานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ” ซึ่งห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค ได้จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม 2557 โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่านคือ คุณสุภา สิริสิงห (โบตั๋น) ศิลปินแห่งชาติ , อาจารย์รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ และอาจารย์ชุติมา เสวิกุล โดยในงานเสวนาได้พูดถึงเรื่องราวชีวิตการเป็นนักเขียนของ อ.โบตั๋น ผมได้ฟังแล้วรู้สึกประทับในผลงานของท่านอาจารย์โบตั๋นเป็นอย่างมาก ผมเลยเก็บรายละเดียดที่ได้ฟังจากในงานมาเรียบเรียงเพื่อเขียนเป็นบทความนี้ขึ้นมา ตัวผมเองก็ไม่แน่ใจนักว่าจะสามารถรายละเอียดได้ถูกต้องและครบถ้วนทั้งหมดหรือไม่? แต่ก็หวังว่าเรื่องราวในบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ที่สนใจได้บ้าง