สูตรคำนวณความมั่งคั่ง ของดร.นิเวศน์ เพื่อนๆ คิดว่า สูตรนี้ใช้ได้ไหมคะ

กระทู้สนทนา
จาก facebook fanpage ของดร.นิเวศน์ หัวข้อ ความมั่งคั่งของมนุษย์เงินเดือน 7 สิงหา 2013
มีแนะนำสูตรคำนวณความมั่งคั่งไว้ดังนี้

"สูตรของผมก็คือ ความมั่งคั่งของคนมีรายได้ประจำควรมีช่วงระหว่าง 0.1 x รายได้ต่อปี x อายุ ถึง 0.15 x รายได้ต่อปี x อายุ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินมีเงินเดือนเดือนละ 200,000 บาท มีโบนัสปีละสองเดือน และคุณอายุ 50 ปี คุณควรจะมีความมั่งคั่งระหว่าง 0.1 x (200,000 x 14) x 50 หรือ 14 ล้านถึง 21 ล้านบาท

ถ้าข้อเท็จจริงก็คือ คุณมีทรัพย์สมบัติทั้งหมดหลังจากหักหนี้สินที่มีอยู่น้อยกว่า 14 ล้านบาท ผมคิดว่า คุณคงจะเป็นคนที่ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือไม่ก็คงจะมีภาระในการเลี้ยงดูลูกเมีย หรือสนับสนุนคนอื่นมากจนทำให้คุณมีความมั่งคั่งต่ำกว่าเพื่อนๆที่มีสถานะในระดับเดียวกัน ตรงกันข้าม ถ้าคนมีความมั่งคั่งมากกว่า 21 ล้านบาท ผมคิดว่าคุณคงเป็นคนที่มัธยัส หรือมีภาระที่จะต้องใช้จ่ายเงินน้อย หรืออาจจะมีความสามารถในการหารายได้อื่น หรือประสบความสำเร็จจากการลงทุนในเงินที่มีอยู่

แน่นอนว่าคนที่มีภรรยาทำงานประจำด้วย และมีลูกน้อยคน โอกาสที่ความมั่งคั่งจะสูงกว่าครอบครัวที่สามีทำงานเพียงคนเดียว และมีลูกหลายคนก็คงจะมีมาก เพราะรายได้จะเป็นสองคนในขณะที่รายจ่ายกลับน้อยกว่า

สูตรความมั่งคั่งข้างต้นนั้นคงจะใช้ได้ดีสำหรับคนที่มีอายุเกิน 35 -40 ปีขึ้นไปแล้ว สำหรับคนที่อายุน้อยเพิ่งทำงานได้เพียงไม่กี่ปี สูตรนี้คงจะต้องปรับลดลงมา เหตุเพราะว่าคนที่อายุการทำงานน้อยโอกาสที่จะสะสมเงินจะยังมีน้อย และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ เงินสะสมและนำไปลงทุนนั้นยังมีเวลาเติบโตน้อย หรือถ้าเป็นการลงทุนซื้อบ้านราคาก็ยังไม่ปรับตัวขึ้นมามากที่จะทำให้ความมั่งคั่งเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากมีข้อจำกัดเรื่องอายุแล้ว สมการความมั่งคั่งดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่คิดจากอดีตที่ผ่านมา ซึ่งภาวะเศรษฐกิจไทยเติบโตเร็วมาก และที่สำคัญผลตอบแทนจากการฝากเงินธนาคารอยู่ในระดับที่สูงมาก จนมนุษย์เงินเดือนไม่จำเป็นต้องบริหารเงินเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม

ดังนั้น คนที่จะใช้ดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งดังกล่าวในอนาคต เพื่อที่จะวัดผลงานของตนเองจะต้องตระหนักว่า การลงทุนในทรัพย์ที่เก็บออมไว้จะต้องมีการศึกษาและวางแผนเป็นอย่างดี โดยหลักการใหญ่ก็คือจะต้องพยายามให้ได้ผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปีโดยเฉลี่ยทุกปีของความมั่งคั่งทั้งหมด นอกจากนั้น จะต้องกระจายการถือครองทรัพย์สมบัติอย่างเหมาะสมทั้งที่เป็นที่ดิน บ้าน ตราสารการเงิน หุ้น เงินฝากธนาคารและรวมถึงการกู้เงินถ้ามี นับจากนี้ไปมนุษย์เงินเดือนที่หวังจะสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง อนาคต จะต้องศึกษาเรื่องการเงินส่วนบุคคลอย่างจริงจัง ซึ่งรวมไปถึงการคิดคำนวณรายได้ และค่าใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ โดยมีกฎเหล็กก็คือรายได้จะต้องมากกว่ารายจ่าย และเหลือเงินเก็บไม่น้อยกว่า 10% โดยที่วิธีเพิ่มรายได้ถ้าจำเป็นนั้นมีวิธีการมากมาย เช่นเดียวกับการตัดรายจ่ายต่างๆ ซึ่งก็ง่ายไม่แพ้กันถ้ามีความตั้งใจจริง"

เราลองคำนวณของเราดู ปีนี้อายุ 35 ได้ 0.095 ก็ใกล้เคียง 0.1 แต่ส่วนตัว รู้สึกว่า จากตัวอย่าง มันยากมากที่จะเก็บได้ 10% ของ 200,000 ซึ่งคือ 20000 บาท ตลอด 50 ปี เพราะปีแรกๆ เงินเก็บยังน้อยมาก เพื่อนๆ นักลงทุนละคะ คำนวณแล้วได้ตรงกับความเป็นจริงไหมคะ

ลองแชร์กันดูคะ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่