แบตเตอรีอิสราเอลชาร์จเสร็จภายใน 30 วินาที

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

Innovation Update ประจำวันที่ 28 เม.ษ. 57


เวลาที่แบตเตอรีโทรศัพท์มือถือหมด เราต้องเสียเวลาหลายชั่วโมงกว่าจะสามารถชาร์จจนเต็ม แต่ล่าสุด บริษัทจากอิสราเอลแบตเตอรีคิดค้นแบตเตอรีที่สามารถชาร์จเสร็จภายในเวลา 30 วินาทีเท่านั้น


แบตเตอรีโทรศัพท์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ต้องใช้เวลาชาร์จประมาณ 2 ชั่วโมงจึงจะชาร์จเต็ม แม้หลายคนจะรู้สึกว่า 2 ชั่วโมงเป็นเวลาที่น้อยมากแล้ว แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหลายครั้ง การรอชาร์จแบตเตอรีจนเต็มเป็นเรื่องที่ยาวนานมาก แต่ล่าสุด บริษัท สตอร์ดอท บริษัทสัญชาติอิสราเอลเปิดตัวแบตเตอรีที่สามารถชาร์จให้เต็มได้ภายในเวลา 30 วินาทีเท่านั้น โดยทีมพัฒนาหวังว่า แบตเตอรีนี้จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอนาคต เนื่องจากคนสมัยนี้ชอบความสะดวกรวดเร็ว และแบตเตอรีนี้ก็ตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี


ด็อกเตอร์โดรอน ไมเยอรส์ดอร์ฟ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทสตอร์ดอท อธิบายว่า แบตเตอรีนี้บรรจุ "นาโนดอทส์" ที่สร้างจากวัตถุอินทรีย์ชีวภาพ นั่นก็คือ กรดอะมิโน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโปรตีนในร่างกายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด แต่โมเลกุลจากกรดอะมิโนเหล่านี้ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ในห้องทดลอง ที่มีคุณสมบัติเรืองแสง สีฉูดฉาดที่อยู่ในหลอดทดลองเป็นการเรืองแสงโดยธรรมชาติ ไม่ต้องใช้ไฟแบลคไลท์แต่อย่างใด


การเรืองแสงนี้เป็นผลมาจากปฏิกิริยาทางเคมีของชีวโมเลกุลที่ผลิตขึ้นมากับอิเล็กโทรไลท์ สารประกอบที่แตกตัวเป็นอะตอมในสารละลายที่เป็นตัวนำไฟฟ้า ที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ประจุไฟฟ้าเคลื่อนที่ไวขึ้น จากนั้นประจุเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ใน "นาโนดอทส์" มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 2.1 นาโนเมตรเท่านั้น ที่สำคัญ เทคโนโลยีนี้ราคาไม่แพง และเก็บพลังงานได้รวดเร็วมาก


อย่างไรก็ตาม แบตเตอรีนี้ยังมีข้อเสียใหญ่ๆ ก็คือ ขนาดใหญ่และน้ำหนักที่มากเกินไปสำหรับการใช้งานจริง แต่บริษัทสตอร์ดอทได้อธิบายว่า แบตเตอรีนี้ยังเป็นเพียงต้นแบบที่ใช้ในการทดลอง เพื่อพิสูจน์ว่า เราสามารถชาร์จแบตเตอรีภายในเวลา 30 วินาทีจริงเท่านั้น ขณะที่ อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ก็คือ การที่แบตเตอรีสามารถกักเก็บพลังงานได้ไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง


เป้าหมายของบริษัทหลังจากนี้จึงมุ่งไปที่การย่อขนาดแบตเตอรีนี้ลงให้เท่ากับแบตเตอรีโทรศัพท์ทั่วไป และการคิดค้นสัดส่วนชีวโมเลกุลและอิเล็กโทรไลท์ที่จะทำให้ปฏิกิริยาเคมีที่อยู่ในแบตเตอรีมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ชาร์จพลังงานเข้าไปได้อย่างรวดเร็ว และปล่อยพลังงานออกมาในปริมาณที่พอเหมาะกับโทรศัพท์มือถือได้


นายไมเยอรส์ดอร์ฟกล่าวว่า กระบวนการคิดค้นสัดส่วนระหว่างชีวโมเลกุลกับอิเล็กโทรไลท์ สำหรับแบตเตอรีที่จะใช้กับโทรศัพท์มือถืออาจต้องใช้เวลานานสักนิด โดยเขาหวังว่า แบตเตอรีชนิดนี้จะสามารถวางขายได้ในอีกประมาณ 2 ปี แต่บริษัทสตอร์ดอทยอมรับว่า เมื่อถึงเวลานั้น แบตเตอรีตัวนี้อาจมีราคาสูงกว่าแบตเตอรีทั่วไปถึง 2 เท่า ซึ่งล่าสุดเพิ่งบริษัทผลิตสมาร์ทโฟนจากเอเชียแห่งหนึ่งสนใจแบตเตอรีตัวนี้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อบริษัทได้


หลายฝ่ายจับตามองว่า หากบริษัทสามารถแก้ไขให้มีขนาดเล็ก และสามารถกักเก็บพลังงานนานขึ้นได้ แบตเตอรีชนิดนี้น่าจะได้รับความนิยมมากทีเดียว และจะกลายเป็นต้นแบบที่จะปฏิวัติเทคโนโลยีแบตเตอรีในอนาคตที่ไม่ได้จำกัดแค่โทรศัพท์มือถือ แต่รวมไปถึงแบตเตอรีสำหรับรถยนต์และอุปกรณ์อื่นๆด้วย




http://shows.voicetv.co.th/voice-world-wide/104070.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่