"สมชัย"ตั้งโจทย์ 13 ข้อแก้สารพัดปัญหาทำเลือกตั้งส.ส.ล่ม ชงเข้ากกต. 29 เม.ย. ก่อนถกรัฐบาล 30 เมษาฯ

"สมชัย"ตั้งโจทย์ 13 ข้อแก้สารพัดปัญหาทำเลือกตั้งส.ส.ล่ม ชงเข้ากกต. 29 เม.ย. ก่อนถกรัฐบาล 30 เมษาฯ
“สมชัย”ตั้งโจทย์ 13 ข้อแก้สารพัดปัญหาทำเลือกตั้งส.ส.ล่ม รับมือจัดหย่อนบัตรรอบใหม่ แต่กั๊กคำตอบเป็นความลับ อ้างกลัวพวกขวางรู้ไต๋ เตรียมชงข้อสรุปเข้ากกต.รับทราบ ก่อนถกรัฐบาล 30 เม.ย.

เมื่อวันที่ 27 เมษายน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26-27 เมษายน ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารงานเลือกตั้ง ของสำนักงานกกต. ได้ประชุมเพื่อหาแนวทางในการจัดเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปครั้งใหม่ ที่โรงแรมกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา  โดยตนได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตั้งเป็นโจทย์ จำนวน  13 ข้อ เพื่อให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กกต.ร่วมกันเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไข โดยโจทย์  13 ข้อ ประกอบด้วย

1.จะมีวิธีการอย่างไร เพื่อให้การรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อและจับสลากเลขหมายพรรคการเมืองประสบความสำเร็จ เพราะปัญหาจากการรับสมัครในครั้งที่ผ่านมาที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น ดินแดง แม้จะสำเร็จแต่ก็จบลงด้วยเหตุจลาจลวุ่นวาย กลายเป็นความสูญเสียทั้งต่อชีวิต และทรัพย์สิน ที่เป็นที่เสียใจของคนทั้งประเทศ

2.จะมีวิธีการอย่างไร เพื่อให้การรับสมัคร ส.ส.จำนวน  375 เขตเลือกตั้งประสบความสำเร็จ เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามี 28 เขตเลือกตั้ง ที่มีผู้ประสงค์จะสมัครแต่ไม่สามารถเข้าไปสมัครได้ ทำให้เป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นการเลือกตั้งที่มิชอบโดยไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันเดียวกันทั้งประเทศ

3.การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ที่ต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการอื่นๆจำนวน 13 หน่วยงานจะมีวิธีการประสานงานให้เกิดความถูกต้องและได้รับคำตอบตามกำหนดการได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาระยะเวลา 7 วันที่กำหนด หน่วยงานบางหน่วยงานไม่สามารถตรวจสอบและส่งข้อมูลกลับคืนมาในเวลาที่กำหนด   ทำให้ผลการประกาศในรอบแรกมีความผิดพลาดอยู่จำนวนหนึ่ง

4.จะมีวิธีการอย่างไร หากกระบวนการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งถูกขัดขวาง  เพราะที่ผ่านมา  โรงพิมพ์ที่จัดพิมพ์ถูกปิดล้อมไม่ให้พนักงานเข้าไปปฏิบัติงาน  แท่นพิมพ์ถูกทำลาย ทำให้กระบวนการจัดพิมพ์มีความล่าช้ากว่ากำหนด

5.การขนส่งบัตรจากส่วนกลางไปยังแต่ละจังหวัด จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกสกัดกั้น  โดยในสถานการณ์ที่ผ่านมา การขนส่งบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของภาคใต้ทั้งหมด ถูกสกัดไว้ที่ศูนย์จ่ายไปรษณีย์ 3 แห่ง คือ ไปรษณีย์ชุมพร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  ทำให้ภาคใต้ทั้งภาคไม่สามารถจัดการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้แม้แต่จังหวัดเดียว  

6.การกระจายบัตรและอุปกรณ์เลือกตั้งต่างๆ ให้กับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จะมีวิธีการอย่างไร ที่จะทำได้โดยไม่ถูกขัดขวาง ซึ่งกรณีดังกล่าว เป็นปัญหาอย่างยิ่ง  เนื่องจากต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากนับล้านคน  และต้องกระทำโดยเปิดเผยโปร่งใส จึงมีจุดอ่อนที่อาจถูกขัดขวางไม่ให้กระทำได้สำเร็จได้โดยง่าย ซึ่งหากการกระจายบัตรและอุปกรณ์ไม่สามารถกระจายถึงหน่วยเลือกตั้งใด หน่วยเลือกตั้งนั้นไม่สามารถเปิดให้มีการเลือกตั้งได้

7.วันเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งมีหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งแบบในเขตและนอกเขต ประมาณ 1,100 หน่วย จะมีวิธีการอย่างไรไม่ให้หน่วยเลือกตั้งดังกล่าว ถูกขัดขวางจนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เกิดความสำเร็จได้และหากไปจัดการภายหลังวันเลือกตั้งก็เป็นกรณีที่ผิดกฎหมายอีก

8.การจัดหากปน. จะมีวิธีการอย่างไรในกรณีที่มีการถอนตัวอย่างกะทันหัน  ทั้งนี้ รวมถึง กกต.จังหวัดและผอ.กต.จังหวัด ที่อาจถูกข่มขู่คุกคามให้ถอนตัว จนเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเลือกตั้ง  โดยต้องมองถึงสถานการณ์ที่ฉุกเฉินที่สุด คือ การถอนตัวอย่างกะทันหันในวันเลือกตั้งด้วย
            
9.การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จะมีวิธีการอย่างไร เพื่อให้มีประชาชนผู้มาใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาคนไทยในต่างประเทศมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เสียไป

10.การจัดส่งบัตรเลือกตั้งจากประเทศต่างๆ จะมีวิธีการควบคุมอย่างไร ให้บัตรกลับมาประเทศไทยครบและตรงตามกำหนด เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาในกรอบเวลาที่จำกัด ทำให้การจัดส่งถุงเมล์กลับมามีการสูญหาย

11.ในวันเลือกตั้งจริงหากมีการขัดขวางการเลือกตั้ง  ทำให้กรรมการไม่สามารถไปปฏิบัติหน้าที่ได้ ขัดขวางไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์และการขัดขวางในระหว่างการนับคะแนน จะมีแนวทางการจัดการที่เหมาะสมอย่างไร ซึ่งไม่พัฒนาไปสู่เหตุการณ์รุนแรงจนเกิดการปะทะ สูญเสียหรือนำไปสู่เหตุการณ์จลาจลในวงกว้างได้

12.การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการหรือศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้  ให้เป็นศูนย์ที่สามารถติดตามสถานการณ์และรายงานสถานการณ์ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแบบทันเวลา  เพื่อการตัดสินใจแก้ไขปัญหาแบบมีประสิทธิภาพ และ

13.ปัญหาการใช้สื่อวิทยุท้องถิ่น และสื่ออีเล็กทรอนิกส์ ที่มีผลต่อบรรยากาศของการเลือกตั้งจะมีช่องทางทางกฎหมาย อย่างไรเพื่อจัดการในประเด็นดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่า  การให้ข่าวสารแก่ประชาชนผ่านสื่อทั้งสองประเภท ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชน หรือ สื่อออนไลน์ต่างๆ เช่นเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ เป็นมูลเหตุสำคัญของการสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรง การให้ข้อมูลที่ผิด การใส่ร้ายป้ายสี ไปจนถึงการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งต่างๆและนำไปสู่ความไม่สงบในการเลือกตั้งได้
นายสมชัย กล่าวว่า จากการประชุมที่ผ่านมา ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง สามารถหาคำตอบกับโจทย์ทั้ง 13 ข้อ ที่อาจเป็นปัญหาต่อการจัดเลือกตั้ง ซึ่งคำตอบที่ได้มานั้นพบว่าเป็นที่น่าพอใจ และเชื่อว่าน่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้การเลือกตั้งประสบความสำเร็จได้ โดยตนจะนำผลคำตอบนี้เข้าที่ประชุมกกต.ได้ในวันที่ 29 เมษายน เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการหารือกับรัฐบาลในวันที่ 30 เมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม คำตอบดังกล่าวนี้กกต.จะไม่เปิดเผยให้สาธารณะได้ทราบ เนื่องจากจะนำไปใช้ปฏิบัติจริงเพื่อเป็นแนวทางและมาตรการป้องกันหากการเลือกตั้งเกิดปัญหาหรือถูกขัดขวาง ซึ่งกกต.เกรงว่าหากเปิดเผยออกไปแล้วจะทำให้เกิดอุปสรรคได้
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1398588843&grpid=03&catid=&subcatid=
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่