อะไรหนอเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย


ปัญจราชสูตรที่ ๒
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค




    [๓๕๙] พระผู้มีพระภาคประทับ ... เขตพระนครสาวัตถี ฯ
ก็สมัยนั้น พระราชา ๕ พระองค์ มีพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นประมุขผู้เอิบอิ่มเพรียบพร้อมได้รับบำเรออยู่ด้วยเบญจพิธกามคุณ
เกิดถ้อยคำโต้เถียงกันขึ้นว่า อะไรหนอเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ


             ในพระราชาเหล่านั้น
             บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ
             บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า เสียงทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ
             บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า กลิ่นทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ
             บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า รสทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ
             บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ


เพราะเหตุที่พระราชาเหล่านั้น ไม่อาจทรงยังกันและกันให้เข้าพระทัยได้จึงพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ตรัสกะพระราชาเหล่านั้นว่า
มาเถิดท่านสหายทั้งหลายเราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจักทูลถามความข้อนี้กะพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่เราทั้งหลายอย่างใด เราทั้งหลายพึงจำคำพยากรณ์นั้นไว้อย่างนั้นเถิด ฯ
             พระราชาเหล่านั้น ทรงรับพระดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้ว ฯ


             [๓๖๐] ครั้งนั้น พระราชา ๕ พระองค์เหล่านั้น มีพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นประมุข เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ


             พระเจ้าปเสนทิโกศล ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ทั้งหลายในที่นี้ เป็นราชาทั้ง ๕ คน เอิบอิ่มเพรียบพร้อมได้รับบำเรออยู่ด้วยเบญจกามคุณ
เกิดมีถ้อยคำโต้เถียงกันขึ้นว่า อะไรหนอเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย
บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย
บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า เสียงทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย
บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า กลิ่นทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย
บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รสทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย
บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ

             [๓๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรมหาบพิตร ยอดสุดแห่งความพอใจนั่นแหละ อาตมภาพกล่าวว่าเป็นยอดในเบญจกามคุณ
ดูกรมหาบพิตร รูปเหล่าใดเป็นที่พอใจของคนบางคน รูปเหล่านั้นไม่เป็นที่พอใจของคนบางคน
เขาดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยรูปเหล่าใด รูปอื่นจากรูปเหล่านั้น จะยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า เขาก็ไม่ปรารถนา
รูปเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่งสำหรับเขา รูปเหล่านั้นเป็นยอดเยี่ยมสำหรับเขา


ดูกรมหาบพิตร เสียงเหล่าใด ... ดูกรมหาบพิตร  กลิ่นเหล่าใด ... ดูกรมหาบพิตร รสเหล่าใด ...
ดูกรมหาบพิตร โผฏฐัพพะเหล่าใด เป็นที่พอใจของคนบางคน โผฏฐัพพะเหล่านั้น ไม่เป็นที่พอใจของคนบางคน
เขาดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยโผฏฐัพพะเหล่าใด โผฏฐัพพะอื่นจากโผฏฐัพพะเหล่านั้น จะยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า
เขาก็ไม่ปรารถนา โผฏฐัพพะเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่งสำหรับเขา โผฏฐัพพะเหล่านั้นเป็นยอดเยี่ยมสำหรับเขา ฯ


             [๓๖๒] ก็สมัยนั้น จันทนังคลิกอุบาสกนั่งอยู่ในบริษัทนั้น ฯ
             ลำดับนั้น จันทนังคลิกอุบาสกลุกจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค
แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เหตุอย่างหนึ่ง ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์
ข้าแต่พระสุคตเหตุอย่างหนึ่งย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ฯ


             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจันทนังคลิกะ ขอเหตุนั้นจงแจ่มแจ้งเถิด ฯ
             ลำดับนั้น จันทนังคลิกอุบาสก ได้สรรเสริญพระผู้มีพระภาคเฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาที่สมควรแก่เหตุนั้นว่า

                          ดอกปทุมชื่อโกกนุท บานในเวลาเช้า ยังไม่สิ้นกลิ่น
                          ยังมีกลิ่นหอมอยู่ ฉันใด ท่านจงดูพระอังคีรส ผู้ไพโรจน์อยู่
                          ดุจดวงอาทิตย์ รุ่งโรจน์อยู่ในอากาศ ฉะนั้น ฯ

             [๓๖๓] ลำดับนั้น พระราชา ๕ พระองค์เหล่านั้น ทรงให้จันทนังคลิกอุบาสกห่มด้วยผ้า ๕ ผืน (คือพระราชทานผ้าห่ม ๕ ผืน) ฯ
             ทันใดนั้น จันทนังคลิกอุบาสก ก็ถวายให้พระผู้มีพระภาคทรงห่มด้วยผ้า ๕ ผืนเหล่านั้น ฯ



   เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕  บรรทัดที่ ๒๕๗๕ - ๒๖๓๐.  หน้าที่  ๑๑๔ - ๑๑๖.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=2575&Z=2630&pagebreak=0

    ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=359
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่