-การเยี่ยมป่าช้าแบบพระ-

"การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ในร่างกาย"

ร่างกายของมนุษย์ก็มีดินน้ำลมไฟ น้ำเราดื่มตลอดเวลา ลมเราก็หายใจอยู่ตลอดเวลา ดินเราก็รับประทานกันอยู่ทั้งวัน วันละสามสี่มื้อ เช้ากลางวันเย็น ก่อนนอน เราก็รับประทานอาหารรับประทานขนมนมเนยของพวกนี้ก็ทำมาจากดินเป็นส่วนใหญ่ ข้าวก็มาจากดิน ขนมที่ทำจากข้าวก็มาจากดินเหมือนกัน เราเติมดิน เติมน้ำ เติมลม เติมไฟให้กับร่างกายที่เป็นเหมือนตัวที่รวมของดินน้ำลมไฟ การรวมตัวของดินน้ำลมไฟนี้ก็จะอ่อนกำลังไปเรื่อยๆ ระยะใหม่ๆจะมีกำลังดึงดูดเข้าหากันทำให้ร่างกายนี้เจริญเติบโต แต่พอถึงขีดสูงสุดแล้วกำลังของการดึงดูดการรวมตัวกันของธาตุสี่ก็จะอ่อนกำลังลง กำลังที่จะแยกธาตุสี่ก็จะมีมากขึ้น ร่างกายก็แทนที่จะเจริญเติบโตให้ใหญ่ขึ้นให้แข็งแรงขึ้นก็เริ่มชราภาพลงเริ่มมีการอ่อนกำลังลงไปตามลำดับ จนในที่สุดก็ไม่สามารถรวมตัวอยู่ด้วยกันได้ ธาตุทั้งสี่ก็ต้องแยกทางกันไป

เวลาคนตายใหม่ๆนี้ ธาตุที่ไปก่อนก็คือธาตุไฟ ถ้าไปจับตัวของคนตายนี้ร่างจะเย็นเฉียบ แล้วลมก็จะออกไปเรื่อยๆ ลมก็คือกลิ่นที่ระเหยออกมาจากร่างกาย ต่อมาก็น้ำก็จะไหลออกมา ถ้าทิ้งไปนานๆเข้า ร่างกายก็จะแห้งกรอบ แล้วก็กลายเป็นดินไปกลายเป็นฝุ่นไป

นี่คือการไปเยี่ยมป่าช้าของพระ ซึ่งต่างกับการไปเยี่ยมป่าช้าของญาติโยม ของญาติโยมไปจะไม่เห็นร่างกายที่ตายไปแล้ว แต่พระนี้จะไปดูร่างกายของคนที่ตายไปแล้ว ซึ่งในสมัยพระพุทธกาลนี้เขาไม่ฝังศพกัน เขาเอาศพไปไว้ในป่าช้าปล่อยให้เสื่อมไป ให้ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ถูกสุนัข ถูกสัตว์ต่างๆ มากัดมากินไป

การไปดูป่าช้าแบบนี้นั้น เรียกว่าเป็นการเสริมสร้างปัญญา ปัญญาทางพระพุทธศาสนานี้มีไว้เพื่อตัดกิเลส ตัดความหลง ตัดอุปทานความยึดมั่นถือมั่น ตัดความอยาก

ความหลงก็คือ หลงคิดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเรา จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่น ยึดติดกับร่างกาย ทำให้เกิดความอยากให้ร่างกายนี้อยู่ไปนานๆ แต่พอเราไปดูไปเยี่ยมป่าช้า ไปเห็นศพเราก็จะเห็นว่าร่างกายนี้ ในที่สุดก็จะต้องตายไป จะต้องเปื่อยต้องแยกออกจากกันไป ธาตุสี่จะต้องแยกจากกันไป เหลือแต่ธาตุดิน ธาตุน้ำก็ซึมเข้าไปในดิน ไหลออกมา ซึมเข้าไปในดิน ธาตุลมก็ระเหยเข้าไปในอากาศ ธาตุไฟก็หายไปเหลือแต่ดินให้เราเห็น ก็คือซาก เช่นโครงกระดูก

ถ้าดูอย่างนี้บ่อยๆ มันก็จะทำให้เราติดตาติดใจ ทำให้เราเห็นความจริง ทำให้เราปล่อยวางอุปทานได้ เพราะเห็นว่ามันเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ถ้าเราปล่อยวางได้แล้ว เราก็จะไม่มีความอยากในร่างกาย เช่นไม่มีความอยากไม่ให้เเก่อยากไม่ให้เจ็บอยากไม่ให้ตาย เพราะว่ามันไม่สามารถที่จะเป็นไปตามความอยากได้ อยากไปก็จะทุกข์ไปเปล่าๆ เพราะความอยากนี้เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ.

ธรรมะบนเขา กัณฑ์ที่ ๒ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๖
Cr. [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่