บทสวด VI โดย ดร.นิเวศน์

กระทู้สนทนา

การลงทุนระยะยาวแบบ Value Investment นั้น   ต้องการศรัทธาและความเชื่อมั่นในหลักการและกลยุทธ์บางอย่างที่แรงกล้าที่จะช่วยให้เราถือหุ้นระยะยาวได้อย่างถูกต้อง  เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักลงทุนจะสามารถทนถือหุ้นต่อเนื่องยาวนานเป็นปี ๆ  หรือหลาย ๆ  ปี ผ่านช่วงเวลาที่หุ้นขึ้นไปเร็วและสูงหรือสูงมาก  และผ่านช่วงเวลาที่หุ้นตกลงมาเร็วและมากหรือตกลงมามากโดยไม่ได้ทำอะไร  เหตุเพราะคนเรานั้นต่างก็มีอารมณ์ที่จะสั่งให้ร่างกายและความคิดตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น  ในช่วงเวลาที่ยาวนานของการลงทุนก็คงจะมีโอกาสบางครั้งที่เราจะตัดสินใจขายหุ้นที่เราถืออยู่ออกไปโดยใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกิดขึ้น   เช่นเดียวกัน  ในบางช่วงเวลา  เราก็จะใช้เหตุผลวิเคราะห์หุ้นแล้วก็พบว่าหุ้นตัวที่เราถืออยู่นั้นมีราคา  “แพง” เกินไปแล้ว  ถึงเวลาที่จะต้องขายและเปลี่ยนตัวเล่นใหม่  ดังนั้นเราก็จะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้ง ๆ  ที่เพิ่งจะลงทุนมาได้ไม่นานแต่ราคาหุ้นขึ้นไป “เกินคาด” และเกินกว่า “พื้นฐาน”  ของกิจการ

            ในบางครั้งอีกเช่นกัน  หลังจากที่เราเข้าถือหุ้นบางตัว   เราก็อาจจะได้รับข่าวสารข้อมูลที่ดูเหมือนว่าจะเป็น  “ข้อมูลภายใน”  เช่น  บริษัทอาจจะมีกำไรถดถอยลงในไตรมาศที่จะถึงนี้  หรือบริษัทอาจจะประสบปัญหาบางอย่างที่จะทำให้ผลประกอบการลดลงแต่ไม่กระทบกับผลการดำเนินงานระยะยาว  นี่ก็อาจจะทำให้เราตัดสินใจขายหุ้นทิ้งเพราะเราคิดว่าเมื่อข้อมูลนั้นถูกเปิดเผยออกมา  ราคาหุ้นก็จะลดลง  ดังนั้น  เราจึงตัดสินใจขายหุ้นตัวนั้นเสียก่อน   ทั้งหมดนั้น  เป็นเหตุผลบางส่วนที่ทำให้การลงทุนระยะยาวเป็นเรื่องที่ยากสำหรับนักลงทุนจำนวนมาก

            เพื่อที่จะลดความลำเอียงที่จะทำให้เราขายหุ้นเร็วเกินไปเนื่องจากเหตุผลของอารมณ์หรือเหตุผลที่อิงกับการวิเคราะห์หุ้นแบบระยะสั้น  ผมเสนอว่าเราควรจะต้องมี  “บทสวด”  เหมือนกับการสวดมนต์ที่เราท่องเอาไว้จนขึ้นใจเพื่อที่จะเตือนเราตลอดเวลาไม่ให้เราไขว้เขวออกนอกแนวทางที่ถูกต้อง   บทสวดเหล่านั้นมีมากมายและขึ้นอยู่กับนักลงทุนแต่ละคนที่จะกำหนดขึ้น  สำหรับผมเองนั้น  บทสวดต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมรู้สึกว่าสนองต่อแนวทางการลงทุนระยะยาวได้ค่อนข้างดี

            บทแรกก็คือ  “ความมั่งคั่งของเราขึ้นอยู่กับผลประกอบการในระยะยาวของบริษัท”  นี่คือสิ่งที่เป็นหัวใจของการลงทุนแบบ VI อย่างแท้จริง  ความหมายก็คือ  ถ้าบริษัท  “รวย”  เราก็  “รวย”  ดังนั้น  หน้าที่ของเราก็คือ  ถือหุ้นของบริษัทที่จะรวยหรือมั่งคั่งในระยะยาวโดยอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดเรื่องอื่น  เช่น  ซื้อหุ้นที่จะมีคนเข้ามาซื้อต่อมากมายด้วยเหตุผลต่าง ๆ  ซึ่งรวมถึงผลประกอบการที่จะเพิ่มขึ้นมากในระยะสั้นแต่ไม่แน่นอนในระยะยาว  เป็นต้น    ดังนั้น  ถ้าเราท่องบทสวดข้อนี้  เราก็จะถือหุ้นได้ยาวขึ้นตราบเท่าที่ผลประกอบการระยะยาวของบริษัทนั้นยังดีอยู่เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขายหุ้น

            บทสวดที่สองก็คือ  “อย่าตัดสินใจจากสิ่งที่เราไม่รู้” ความหมายข้อนี้จะต้องอธิบายเพิ่มเติมเนื่องจากความเป็นจริงที่ว่าในตลาดหุ้นนั้น  แทบจะไม่มีอะไรที่เราจะรู้ว่าต้องเกิดขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์  ไม่มีอะไรที่เราสามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์  คนที่คิดว่าตนเอง  “รู้”  นั้น  จำนวนมากเขา  “ไม่รู้”  คำว่ารู้ในความหมายของผมก็คือ  เป็นการรู้ถึง  “ความน่าจะเป็น”  ของสิ่งที่จะเกิดขึ้น   เช่น  ผมคิดว่าอีก 3 ปีข้างหน้า  จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะมากกว่าปีนี้ไม่ต่ำกว่า 10%  หรือ  ยอดขายของกิจการค้าปลีกสมัยใหม่ที่เราถืออยู่นี้  ในอีก 3 ปีข้างหน้าน่าจะโตขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 20%  โอกาสที่ผมจะคาดการณ์ถูกต้องน่าจะไม่น้อยกว่า 80%-90%  ในกรณีแบบนี้  ผมคิดว่าผม  “รู้”  และถ้าผมจะตัดสินใจอะไรเกี่ยวกับหุ้น  ผมก็สามารถอิงกับข้อมูลนี้   ตรงกันข้าม  ผมคิดว่าผมไม่รู้ว่าราคาน้ำมันดิบหรือถ่านหินในอีก 3 ปีข้างหน้าจะขึ้นหรือลง  ผมคิดว่าโอกาสที่มันจะขึ้นนั้นมีเพียง 50%  เท่า ๆ  กับโอกาสที่จะลง  ในลักษณะแบบนี้  ผมจะบอกตัวเองว่า  “ผมไม่รู้”  ดังนั้น  ผมจะไม่ตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นโดยอิงกับราคาน้ำมันหรือถ่านหิน  ถ้าผมจะซื้อหุ้นเหล่านี้  ผมก็จะต้องตัดสินใจจากเหตุผลอื่นที่เรา “รู้” ด้วยความเป็นไปได้อย่างน้อยอาจจะ 70%-80% ขึ้นไป

            บทสวดที่สาม  หุ้นที่ดีเยี่ยมนั้นควรจะต้องมี  “ยอดขายเพิ่มขึ้น  กำไรเพิ่มขึ้น  และ ปันผลเพิ่มขึ้น”  งวดแล้ว  งวดเล่า  ต่อเนื่องยาวนาน  และถ้าบริษัทยังรักษาสถิติแบบนั้นได้  เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขายหุ้น  ยอดขายที่เพิ่มขึ้นนั้น  ควรเป็นยอดขายสินค้าตามปกติของบริษัทและการเพิ่มนั้น  ควรจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยประมาณ 2 เท่าของอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจหรือประมาณ 10% ต่อปีขึ้นไป   กำไรที่เพิ่มขึ้นนั้น  ควรจะดูทั้งกำไรรวมของบริษัทที่ควรโตอย่างน้อยปีละ 10%  และกำไรต่อหุ้นที่ควรจะเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกัน  และสุดท้ายก็คือ  ปันผลของบริษัทควรจะมีการปรับขึ้นตามสัดส่วนกับกำไรของบริษัท  ถ้าเราพบว่าหุ้นที่เราถืออยู่มีผลประกอบการแบบนี้  เราก็ไม่ต้องสนใจว่าจะขายหุ้นไม่ว่าราคาจะผันผวนอย่างไรอย่าลืมว่าเราต้องการรวยไปกับบริษัท  เราไม่ได้ต้องการรวยจากการขายหุ้น

            อย่างไรก็ตาม  ยอดขายเพิ่ม  กำไรเพิ่ม  ปันผลเพิ่ม ในอัตราเท่านั้นเท่านี้  อาจจะไม่ต้องถึงกับเป็นกฎตายตัวร้อยเปอร์เซ็นต์   ในบางงวด  ยอดขายอาจจะพลาดเป้าบ้าง  ยอดขายได้แต่กำไรอาจจะพลาด  หรือแม้ว่ายอดขายและกำไรอาจจะเป็นไปตามที่กำหนด  แต่ปันผลอาจจะไม่ได้ตามที่คิด  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นได้  แต่โดยรวมแล้ว  ทิศทางควรจะเป็นอย่างนั้นนั่นคือ  ในภาวะปกติ  เราพอจะคาดการณ์ได้ด้วยความถูกต้องอาจจะกว่า 70%-80% ว่า  ยอดขายจะต้องเพิ่มอย่างน้อย 7%-8%  กำไรต่อหุ้นเพิ่มอย่างน้อย 10%  และปันผลต่อหุ้นก็เพิ่มอย่างน้อย 10%  เช่นเดียวกัน  และถ้าเราพบว่าหุ้นตัวที่เราถืออยู่ยังมีผลประกอบการแบบนี้   เราก็ถือหุ้นต่อไป   ถ้าหุ้นที่เราถืออยู่มีผลประกอบการหย่อนไปจากนี้หรือกลายเป็นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ   เราก็ต้องตรวจสอบและพิจารณาดูว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะหรือไม่  ถ้าใช่  เราก็ถือหุ้นต่อไป  ถ้าไม่ใช่  และเราคิดว่าต่อไปบริษัทอาจจะไม่สามารถดำรงสถานะที่  “รายได้เพิ่ม  กำไรเพิ่ม ปันผลเพิ่ม”  ต่อเนื่องยาวนานแล้ว  เราก็อาจพิจารณาขายหุ้นทิ้ง

            สุดท้ายในกรณีที่เราอาจจะอยากขายหุ้นด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม  บางทีเราอาจจะต้องกลับไปสวดมนต์บทที่ว่า  มันเป็นกิจการที่เป็น  “Monopoly” หรือมันมี  “อำนาจผูกขาด”   สูง  นั่นหมายความว่าลูกค้าของบริษัทไม่มีทางเลือกอื่นมากนักหรือไม่มีทางเลือกเลย  อย่างไรเสียก็ต้องใช้บริการหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัท   คำว่าอำนาจผูกขาดนี้  อาจจะมาจากหลาย ๆ  ทางรวมถึงการที่บริษัทมีความสามารถหรือมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันสูงกว่าคู่แข่งมาก ๆ  จนเสมือนหนึ่ง  “ผูกขาด”  ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถทำกำไรที่ค่อนข้างมั่นคงแน่นอนและคู่แข่งเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งธุรกิจและกำไรได้ยากมากด้วย   เหตุผลที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นบทสวดด้วยนั้น   เนื่องจากว่าในบางครั้งธุรกิจหรือบริษัทที่เราซื้อหุ้นลงทุนนั้น  เราอาจจะพบปัญหา

หรือข้อเสียหรือบริษัทอาจจะประสบปัญหาบางอย่างจนทำให้เราท้อใจอยากขายหุ้นทิ้ง  แต่ก่อนที่เราจะทำอย่างนั้น  เราก็ควรจะคำนึงถึงประเด็นที่ว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทที่มีจุดเด่นที่สำคัญมากอย่างหนึ่งนั่นก็คือ  มันมีอำนาจผูกขาดที่สูงทีเดียวหรือสูงลิ่ว  และเราต้องคิดต่อไปว่าอำนาจนั้นมีประโยชน์มากแค่ไหนและจะสามารถทำเงินในภายหลังหรือไม่  ถ้าใช่  เราก็อาจจะพิจารณาถือหุ้นต่อไป


            และทั้งหมดนั้นก็คือส่วนหนึ่งของ “บทสวด VI”  ที่ผมใช้ในการลงทุนถือหุ้นระยะยาว  ซึ่งมันทำให้ผมถือหุ้นได้ยาวขึ้นและได้ผลดีในการสร้างผลตอบแทนระยะยาว  ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันดีกว่าการ  “ซื้อและขายหุ้น” ไปเรื่อย ๆ  ตามสถานการณ์ไหม   อย่างไรก็ตาม  การลงทุนระยะยาวแบบ VI เป็นสิ่งที่ผมเลือกและเป็นสิ่งที่ผมชำนาญ  ดังนั้น  ผมต้องมีกลยุทธ์และหลักการที่สอดคล้องและเหมาะสมที่สุดที่ผมต้องยึดถือจนกลายเป็นบทสวดดังกล่าว   

.................................................................................................................................................................................................
ปล. ในข้อความที่ขีดเส้นใต้นั้น ผมคิดว่าหุ้นลักษณะนี้มีหลายตัวทีเดียว ที่เราจะได้ถือแบบวีไอเช่น ดร.นิเวศน์  แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถมีเหมือนวีไอได้ก็คือ ต้นทุนของหุ้นในราคาต่ำครับ ส่วนหนึ่งเพราะ เราไม่มีเงินซื้อในช่วงวิกฤต หรือ เราถือไม่นานพอ หรือ เราไม่มีจินตนาการพอที่จะเห็นเพชรแท้ บางบทความมีเขียนไว้ว่า พอร์ทจะโต ต้องลงทุนในหุ้นที่เติบโต ส่วนปันผลนั้นแค่น้ำจิ้ม ซึ่งผมคิดว่ามันมีส่วนจริงเลยทีเดียว การที่จะทำให้เราถือหุ้นได้นานๆสำหรับผม แค่ปันผลไม่พอครับ มันต้องมากกว่านั้นถึงจะมีแรงดึงดูด

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่