อลหม่าน “ดิจิตอลทีวีไทย” ของเล่นใหม่ในวังวนเก่า มหกรรมโกงสุดคลาสสิก

อลหม่าน “ดิจิตอลทีวีไทย” ของเล่นใหม่ในวังวนเก่า มหกรรมโกงสุดคลาสสิก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 เมษายน 2557 06:25 น.         
    
รายงานพิเศษ
       
       “ASTV ผู้จัดการรายวัน” เกาะติดความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ “ทีวีดิจิตอล” ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนับถอยหลังร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ประเทศไทย ที่จะเปลี่ยนผ่านจาก “อะนาล็อก” เป็น “ดิจิตอล” มาอย่างต่อเนื่อง
       
       โดยเฉพาะในส่วนของการออกใบอนุญาตต่างๆ จาก กสทช. ทั้งเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก หรือโครงสร้างพื้นฐานเมื่อปี 2555 จนกลางปี 2556 ก็ได้ออกใบอนุญาตโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิตอล (Network Provider) ให้แก่ “ช่อง 5 - ช่อง 11 - อสมท - ไทยพีบีเอส” ทำหน้าที่เป็น “แม่ข่าย” ดูแลเครื่องรับส่งสัญญาณ และสถานีส่งสัญญาณภาคพื้นดิน
       
       ที่เข้มข้นและเป็นที่จับตามองมากที่สุดเห็นจะเป็นในส่วนของการประมูลใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ “ช่องธุรกิจ” 24 ช่อง เมื่อช่วงปลายปี 2556 ซึ่ง “ปิดกล่อง” ได้ผู้ประกอบการกันไปเป็นที่เรียบร้อย
       
       ต่อเนื่องมาถึงการทดลองออกอากาศที่ทำกันมาเรื่อยตั้งเมื่อต้นปี 2557 จนถึงกำหนดการทดลองออกอากาศจริงในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล, เชียงใหม่, สุโขทัย, นครราชสีมา และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา

       
       “ของเล่นใหม่” ข้อดีเพียบ
       
       อย่างที่ทราบกันดีว่า “ดิจิตอลทีวี” ถือเป็นเป็นมาตรฐานใหม่ของระบบการส่งสัญญาณทีวี ที่พัฒนาต่อยอดจาก “อะนาล็อก” ที่ใช้กันมาจนคุ้นชินและประสบปัญหาการรับชมกันมาตามสภาพ จนปัจจุบันนี้ “หนวดกุ้ง - ก้างปลา” ที่เคยใช้ถูกโยนทิ้งขยะกันกลาดเกลื่อน หลายบ้านหันมารับชมทีวีผ่าน “ดาวเทียม” เป็นส่วนใหญ่ ด้วยความที่มีผู้ประกอบการจำนวนมาก อีกทั้งมีแรงจูงใจในเรื่องสาระความบันเทิงที่มากกว่า แต่ก็ยังหลีกหนีข้อจำกัด - ข้อด้อยของระบบอะนาล็อกไม่พ้นอยู่ดี
       
       และก็เป็นไปเทรนด์ของทั่วโลกกับการนำวิวัฒนาการ “ดิจิตอล” เข้ามาประยุกต์ใช้ในทุกวงการ ซึ่งทีวีถือเป็นสื่อสำคัญอันดับต้นๆ ของโลกจึงหนีไม่พ้นวัฏจักรที่ว่า แต่ก็ถือเป็นวัฏจักรที่นำมาซึ่ง “สิ่งที่ดีกว่า” จึงเป็นที่มาของการนำ “ดิจิตอลทีวี” เข้ามาสู่ประเทศไทย พร้อมๆ กับการกำเนิดเกิดขึ้นของ กสทช. ที่จะมาทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการ “ตั้งไข่” ที่ว่านี้
       
       โดยข้อดีหลักๆ ของ “ดิจิตอลทีวี” ที่ล้ำหน้าเบียด “อะนาล็อกทีวี” จนตกขอบมีเทียบนับไม่ถ้วน อาทิ สัญญาณเสถียร มีการรบกวนได้น้อย หมดปัญหาเม็ด (Noise) ขึ้นจอให้เสียอรรถรสการรับชม อีกทั้งส่งสัญญาณได้ไกลกว่าเดิม ในกำลังส่งเท่าเดิม จุดดีมีประโยชน์ในเรื่องความประหยัดพลังงาน ที่โดนใจกันมากคือ ในเรื่องความสามารถในการรองรับภาพในระบบความชัดสูง (High Definition: HD) ทำเอาหลายคนติดอกติดใจไปแล้วกับการรับชม “ละครหลังข่าว” แบบชัดทุกอณูรูขุมขนองนักแสดงในดวงใจ
       
       สาธยายกันไม่หมดไม่สิ้น ทั้งทันสมัยขึ้น ลบข้อจำกัด จุดเด่น - จุดขายอีกเพียบ

  
       “ของเล่นใหม่” มาพร้อมปัญหา
       
       เป็นธรรมดาอะไรที่มาใหม่ๆ ก็ต้องมากับปัญหาความไม่เคยชิน เอาง่ายๆ ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ในพื้นที่นำร่องน่ายังไม่รู้เลยว่า วันนี้มีการยิงสัญญาณทีวีดิจิตอลให้ดักจับกันแล้ว หรือการปรับจูนรับสัญญาณทำกันอย่างไร บางส่วนก็อาจจะรับรู้ว่า การจะสอยสัญญาณ “ดิจิตอล” มาลงทีวีที่บ้าน ต้องอาศัยเจ้ากล่องแปลงสัญญาณ (Set Top Box) ที่มีนำออกมาขายกันเป็นดอกเห็ด หลายยี่ห้อหลายแบรนด์ออกมาประชุนแข่งขันกันในตลาด โดยที่ราคาไม่ทิ้งกันมาก
       
       แต่ที่อาจไม่รู้กันก็เจ้า “เสากางปลา - หนวดกุ้ง” ที่เคยเป็นของไร้ประโยชน์ งานนี้กลับมาเป็น “พระเอก” ในการควานหาสัญญาณ “ดิจิตอล” อย่างไม่น่าเชื่อ ว่ากันว่าเป็นเรื่องปกติของการส่งสัญญาณภาคพื้นดิน
       
       และแน่นอนว่าในระยะนำร่องก็ยังมีปัญหาให้ทั้ง กสทช. บริษัทแม่ข่าย หรือบริษัทเอกชนเจ้าของช่องต่างๆ ตามล้างตามเช็ดกันพอสมควร ทั้งในเรื่องการจัดเรียงช่องที่บ่นกันขรม หรือเรื่องสัญญาณภาพที่มาๆ หายๆ ในบางพื้นที่ บางจังหวะมีภาพแต่ไม่มีเสียง รวมไปถึงการปรับจูนความถี่หาสัญญาณที่เจอบ้างไม่เจอบ้าง
       
       เป็นการบ้านกองโตที่ กสทช. ต้องหาทางแก้ไขร่วมกับผู้ประกอบการโครงข่าย (Multiplex : Mux) ดิจิตอลทีวีที่ได้รับใบอนุญาตทั้ง 4 รายต่อไป
       
       ยังไม่รวมไปถึงปัญหาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือของผู้บริโภคที่ยังไม่ได้ข้อยุติ สำหรับการซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ใหม่ หรือซื้อกล่องแปลงสัญญาณ (Set Top Box) ที่ กสทช. มีนโยบายในการแจกคูปองให้กับประชาชน 22 ล้านครัวเรือน ทั่วประเทศ เพื่อนำไปซื้อกล่องแปลงสัญญาณ หรือเป็นส่วนลดในการซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ ที่คาดว่ากว่าจะเห็นหน้าเห็นหลังก็คงราวเดือน ก.ค. นู้น
       
       แต่อย่างน้อยก็อุ่นใจได้เปลาะหนึ่ง เพราะในส่วนสัญญาณระบบอะนาล็อกก็ยังจะมีให้รับชมกันอีก 5 ปี ถึงจะยกเลิก ทำให้ช่วงนี้คงไม่ต้องกลัวว่าจะ “จอดำ” แบบไมรู้เนื้อรู้ตัว
      

       “ของเล่นใหม่” ใน “วังวนเดิม”
       
       ไม่ว่าของใหม่แค่ไหนก็หนีไม่พ้นวังวนการเมืองไทย ที่ชื่อเสียงขีดความสามารถ “นักโกงเมือง” ติดลำดับโลก
       
       เพราะแม้จะมีการทดลองออกอากาศกันไปแล้ว และมีกำหนดออกอากาศจริงในเดือน มิ.ย. 57 ที่จะถึงนี้ แต่เครื่องไม้เครื่องมือของผู้ประกอบการโครงข่าย (Mux) ยังไม่เรียบร้อยอย่างไม่น่าเชื่อ
       
       ตามที่ไล่เรียงไปแล้วว่า แม่ข่าย 4 ราย “ช่อง 5 - ช่อง 11 - อสมท - ไทยพีบีเอส” ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. มาตั้งแต่เมื่อเดือน มิ.ย. 56 แต่จนถึงวันนี้ขั้นตอนการจัดหาเครื่องรับส่งสัญญาณของ “ช่อง 11 - อสมท” ยังไม่แล้วเสร็จ
       
       ที่ทั้ง 2 เจ้าใช้ส่งสัญญาณอยู่ในตอนนี้ก็เป็นแค่ “เครื่องยืม” ที่นำมาใช้ในการทดลองการส่งสัญญาณ ส่วนของ “ช่อง 5 - ไทยพีบีเอส” นั้นเรียบร้อยไปก่อนหน้านี้แล้ว แถมได้คำชมเป็นกระบุงโกย เพราะผลการประกวดราคาได้อุปกรณ์ในราคาที่ถูกมาก ต่ำกว่าราคากลางถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์
       
       ขณะที่อีก “อสมท - ช่อง 11” เต็มไปด้วยข้อครหาในการตั้ง “ราคากลาง” สูงลิบลิ่ว โดยไม่สนใจที่จะนำผลการดำเนินการหรือราคาสุดท้ายที่ “ไทยพีบีเอส - ททบ.5” ได้จัดการแล้วเสร็จมาประกอบการพิจารณา
       
       อีกทั้งกระบวนการจัดหาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า พยายาม “เตะถ่วง” ประวิงเวลา เพื่อหวังให้เข้าเงื่อนไขการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ มที่ระบบตรวจสอบทำได้ยาก โดยมี “ฝ่ายการเมือง” อยู่เบื้องหลัง
       
       ด้วยงบประมาณที่สูงจนน่าเกลียด บวกกับกระบวนการที่มีความไม่ชอบมาพากล ทำให้ทั้ง “อสมท - ช่อง 11” เป็นที่มาของ “หนังสือด่วนที่สุด” จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ให้ทั้งสองหน่วยงานทบทวนโครงการ
       
       โดย สตง. ชี้ให้เห็นว่า การงบประมาณของสองหน่วยงานสูงเกินจริง อีกทั้งมีความพยายามไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะเสนอราคาได้มีโอกาสทราบถึงข้อมูลและรายละเอียดขอบเขตงาน รวมทั้งการกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติเฉพาะของพัสดุ และไม่เปิดโอกาสให้มีการเข้าแข่งขันราคาอย่างเปิดเผย โปร่งใส และเป็นธรรม
       
       พูดง่ายๆ มีความพยายาม “ล็อกสเปก - ล็อกผู้ประกอบการ” นั่นเอง

       
       มหกรรมโกงสุด “คลาสสิก”
       
       ก่อนหน้านี้ “ASTV ผู้จัดการรายวัน” ได้เคยไล่เรียงความไม่ชอบมาพากลของขั้นตอนการจัดหาเครื่องส่งของ “อสมท - ช่อง 11” เป็นซีรีย์ 3 วันติดต่อกันภายใต้ชื่อเรื่อง “มหกรรมงาบเครื่องส่งทีวีดิจิตอล ตอนที่ 1-3”
       
       โดยได้ระบุถึงข้อสังเกตของ สตง. ไว้ด้วยว่า กระบวนการของ “อสมท - ช่อง 11” เป็นการกระทำที่เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
       
       และในหนังสือที่ว่า สตง. ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “...เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลการจัดหาของ ททบ.5 จำนวน 2 โครงข่าย 38 สถานี 114 เครื่องส่งโทรทัศน์ และ THAI PBS จำนวน 1 โครงข่าย 44 สถานี 88 เครื่องส่งโทรทัศน์ ซึ่งดำเนินการประมูลในวงเงินต่ำกว่าที่กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการ...”
       
       แม้จะมีหนังสือทักท้วงจากทาง สตง. มาถึงขนาดนี้แล้ว แต่ “อสมท” ก็ยังเดินหน้าจัดหาเครื่องส่งสัญญาณต่อไป โดยไม่ได้สนใจข้อท้วงติงของ สตง. แต่อย่างใด
       
       เมื่อช่วงปลายเดือย มี.ค. ที่ผ่านมา “อสมท” ได้เปิดให้บริษัทผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับแบบหรือเอกสารที่กำหนดขอบเขตและราย ละเอียดโครงการ (TOR) โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมทั้งสิ้น 8 ราย ก่อนจะเหลือ 5 รายในขั้นเสนอซองเทคนิคและยื่นซองราคา จนเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมาก็มีการนัดให้ทั้ง 5 ราย มารับฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ
       
       ปรากฏว่า “ตัวเต็ง” ที่มีข่าวลือไปทั่ววงการว่า “ฝ่ายการเมือง” อยู่เบื้องหลังนั้น เข้าวินแบบไร้คู่แข่ง เพราะ 4 รายที่เหลือถูกตีตกรอบแบบกรรมการไม่ออกคะแนนให้ด้วยซ้ำ
       
       ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ว่า มีควมพยายามในการ “ล็อกสเปก - ล็อกผู้ประกอบการ” ไว้ล่วงหน้า
       
       เนื่องจากก่อนหน้านี้ในส่วนของ “อสมท” นั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าพยายามดึงเวลากระบวนการจัดหา ทั้งที่ได้มีการขออนุมัติดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษฯ มาตั้งแต่เดือน พ.ย. 56 แต่มาเริ่มได้หลังจากนั้นถง 4 เดือนเศษ
       
       จนเป็นที่จับตามองว่า เปิดโอกาสให้ “บริษัทตัวเต็ง” ที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนเตรียมอุปกรณ์ไว้ล่วงหน้า เพื่อได้ติดตั้งและออกอากาศทันตามกำหนด แต่กีดกันบริษัทอื่นๆ เพื่อให้ไม่สามารถทำตามกำหนดการส่งของได้ เพราะตามขั้นจริงๆ แล้ว อุปกรณ์ต่างๆ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และใช้ระยะเวลาการผลิตประมาณไม่น้อยกว่า 2 เดือน อีกทั้งยังมีงานก่อสร้างและตกแต่งสถานที่ด้วย
       
       อีกทั้งใน TOR ก็วางยาตั้งสเปกอุปกรณ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยไว้ยุบยับไปหมด หวังใช้ของเล็กล็อกของใหญ่ จนคู่แข่งที่รับ TOR ไปถึงกลับส่ายหน้า ไม่อยากลงแข่งด้วย
       
       แถมยังมีข้อกำหนดสุดประหลาด เมื่อกำหนดว่า จะเปิดซองราคาของผู้เสนอราคาที่ได้รับคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 แต่จะพิจารณาผู้ที่มีคะแนนสูงที่สุดก่อน โดยระบุในขั้นตอนสุดท้ายของการให้คะแนนว่า “สามารถชี้ได้ด้วยกรรมการพิจารณาผล”
       
       รวมถึงปิดกั้นการให้ข้อมูลป้องกันการฟ้องร้องภายหลัง เขียนไว้ใน TOR ว่า “จะพิจารณาเป็นการภายใน จะไม่มีประกาศรายละเอียดอื่นใดให้แก่ผู้เสนอราคาทราบ...” และ ในข้อ 3.4.6 ว่า “การตัดสินของ บมจ.อสมท ให้ถือว่าเป็นเด็ดขาดและถึงที่สุด บมจ.อสมท ไม่ต้องชี้แจงหรือแสดงเหตุผลในการพิจารณาให้ผู้เสนอราคาไม่ว่ารายใดทราบแต่อย่างใด...”
       
       จุดนี้เองที่ทำให้ 4 รายที่เหลือ “ตกรอบ” อย่างง่ายดาย และไม่สามารถโต้แย้งหรือขออุทธรณ์ใดๆ ได้เลย
       
       ขณะที่งบประมาณที่ถูก สตช. ทักท้วงนั้น แม้จะไม่มีการเปิดเผยว่า “บริษัทตัวเต็ง” เสนอราคาไปเท่าใด แต่ก็ว่ากันว่าไม่ตำกว่าราคากลางของโครงการระยะแรกหรือ “เฟสที่ 1” ของ “อสมท” ที่จัดหาเครื่องมือสำหรับติดตั้ง 1 โครงข่าย 14 สถานีหลัก หรือ 14 เครื่องส่ง ตั้งงบประมาณไว้สูงถึง 440 ล้านบาท
       
       จากการเปรียบเทียบข้อมูลการจัดหาของ ช่อง 5 ที่รับผิดชอบ 2 โครงข่าย 38 สถานี 114 เครื่องส่งโทรทัศน์ ตั้งงบประมาณไว้ที่ 840 ล้านบาท ก่อนจะได้ผู้ชนะที่ราคาเพียงไม่ถึงร้อยละ 60 หรือ 500 กว่าล้านบาท หรือทาง TPBS จำนวน 1 โครงข่าย 44 สถานี 88 เครื่องส่ง ที่ตั้งงบประมาณไว้เพียง 550 ล้านบาท และผู้ชนะประมูลได้ต่ำกว่าถึงกว่าร้อยละ 50
       
       เปรียบเทียบเฉพาะงบประมาณของ “ช่อง 5” กับ “อสมท” ในราคาใกล้เคียงกัน แต่ได้สินค้าต่างกันถึง 4 เท่าตัว
       
       ท่ามกลางข่าวเมาท์สนั่นวงการว่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่