พลิกข้อกฎหมายมรดกเลือด!! คดีลูกชายจ้างฆ่า 3 ศพ "ตระกูลหอมชง” มรดกตกที่ใคร?

กระทู้ข่าว
จากมติชนออนไลน์

เมื่อวันที่ 8 เมษายน  นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ ให้ความเห็นในเชิงข้อกฎหมาย ถึงกรณีเหตุฆ่ายกครัว 3 ศพ พ่อแม่ลูก ตระกูล "หอมชง"  คือ พ.อ.วิชัย หอมชง บิดา นางวนิดา หรือครูต๋อย หอมชง มารดา และ ร.ต.ท.ธนัตถ์พง หรือธรรมนัฐ หอมชง พี่ชาย ถูกฆ่าเสียชีวิต  เนื่องจาก นายกิตตินันท์ หรือเต้ย หอมชง น้องชาย  ร่วมกับพวกจ้างวานใช้มือปืนมาฆ่าคนในครอบครัวตัวเอง สาเหตุเพราะคาดหวังเรื่องมรดกจำนวนมาก ว่า  ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 1599 , 1600 ระบุว่า  เมื่อบิดามารดาซึ่งเป็นเจ้ามรดกตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท  ก็คือร.ต.ท.ธนัตถ์พง พี่ชาย กับ นายกิตตินันท์  น้องชาย  แต่คดีนี้พี่ชายเสียชีวิตแล้ว จึงเหลือน้องชายที่เป็นบุตรคือผู้รับมรดกอันดับแรก แต่คดีนี้ปัญหาคือบุตรชายคนเล็กเป็นคนจ้างวานฆ่าบิดามารดาและพี่ชายเสียเอง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 1606 (1) ระบุว่าบุคคลที่ถูกกำจัดสิทธิมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรคือ ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำหรือพยายามกระทำให้เจ้าของมรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมายจึงให้บุตรชายคนเล็กถูกกำจัดสิทธิมิให้รับมรดกซึ่งทางญาติสามารถยื่นเรื่องคัดค้านต่อศาลแพ่งได้

เมื่อถามว่าแล้วมรดกทั้งหมดจะตกทอดแก่ใคร  นายนิวัติ กล่าวว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา1629 ได้จัดลำดับทายาทกองมรดกไว้ 6 ลำดับ ประกอบด้วย 1.ผู้สืบสันดาน 2.บิดามารดา 3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  4.พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน(คนละพ่อคนละแม่) 5.ปู่ยาตายาย และ 6.ลุงป้าน้าอา  ซึ่งใครก็ตามที่ยังมีชีวิตอยู่หรือมีสิทธิ์รับมรดกแทนทายาทสืบสกุลได้ตามลำดับ และคนที่อยู่ในลำดับที่ใกล้ที่สุดกับเจ้าของมรดกเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับ ส่วนคนที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิรับมรดกเลย  ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 1603 ระบุว่า  กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม  ซึ่งหมายความว่านอกจากมรดกจะตกแก่ทายาทแล้ว หากเจ้าของมรดกทำพินัยกรรมเอาไว้และยกมดรกให้บุคคลใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทายาทตามลำดับหรือไม่ก็ตาม บุคคลนั้นก็ย่อมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมไป

"จากประสบการณ์ถ้าคนตายที่มีเงินมาก มักมีปัญหาเรื่องแบ่งทรัพย์มรดก หรือบางคดีพอเจ้าของมรดกตายญาติก็โผล่มาเพื่อหวังเอามรดก  จึงต้องพิสูจน์ความเป็นทายาทตามลำดับว่าจริงหรือไม่  แต่บางคดีทายาทก็ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับมรดกเนื่องจากไม่อยากขึ้นศาลก็สามารถทำได้  แต่หากเป็นกรณีที่ไม่มีทายาทเลยจริงๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 1753 ระบุว่า เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทหรือผู้รับพินัยกรรม มรดกของบุคคลนั้นตกทอดให้เป็นของแผ่นดิน" เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของทางฝ่ายญาติที่จะต้องพิสูจน์ว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเอาไว้หรือไม่ และทายาทลำดับใดที่จะได้รับมรดกดังกล่าว โดยจะต้องยื่นเรื่องต่อศาลแพ่งเพื่อให้ศาลมีคำสั่งต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่