ผลสำรวจแพทย์ทั่วประเทศมี 13,230 คน ยังขาดแคลนกว่า 12,000 คน

กระทู้ข่าว
สธ.เผยผลสำรวจแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ล่าสุด ในปี 2554 พบมีทั้งหมด 13,230 คน คิดเป็นร้อยละ 52 ยังขาดอีก 12,290 คน เร่งผลิตเพิ่มในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัยอีก 5,001 คน ใช้งบ 9,501 ล้านบาทเศษ คาดปี 2565 จะมีแพทย์เพิ่มในระบบอีก 13,000 คน...

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวหลังเป็นประธานในพิธีมอบสัมฤทธิบัตรแก่แพทย์ที่สำเร็จการศึกษาในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบท พ.ศ. 2538-2556 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับทบวงมหาวิทยาลัย 14 สถาบัน ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กทม. เมื่อเช้าวันนี้ (31 มี.ค. 57) ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ 855 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลศูนย์ 28 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 68 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 759 แห่ง

ปัจจุบันได้ใช้ยุทธศาสตร์การบริหารในรูปแบบของเขตบริการสุขภาพ 12 เขต ดูแลเขตละ 4-8 จังหวัด ประชากรประมาณ 5 ล้านคน เป็นการจัดบริการรักษาพยาบาล สร้างเสริมสุขภาพของสถานพยาบาลทุกระดับ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งบุคลากร เครื่องมือแพทย์ สถานที่ เช่น ห้องผ่าตัด เตียงนอน และงบประมาณ เสมือนเป็นโรงพยาบาลเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อประชาชนสูงสุด บรรเทาปัญหาขาดแคลนบุคลากร ผลสำรวจล่าสุดพบว่า ทั้ง 12 เขต มีแพทย์ปฏิบัติงานทั้งหมด 13,230 คน ขณะที่กรอบอัตรากำลังที่ควรจะมีตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก สัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,250 คน คือ 25,520 คน กล่าวได้ว่า มีแพทย์ปฏิบัติงานเพียงร้อยละ 52 ยังขาดอีก 12,290 คน คาดภายในปี 2565 จะมีแพทย์เพิ่ม 13,000 กว่าคน    

ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย 14 แห่ง ผลิตเพิ่มเติมจากระบบปกติ หรือระบบเอนทรานซ์ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2538 เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ.2556 รวม 19 ปี ทั้งหมด 13,186 คน ขณะนี้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 13 รุ่น รวม 4,160 คน รุ่นที่สำเร็จการศึกษาและรับสัมฤทธิบัตรครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 14 ทั้งหมด 878 คน โดยจะกลับไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ 4 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 295 คน ภาคใต้  203 คน ภาคกลาง 199 คน และภาคเหนือ 181 คน ในวันที่ 1 เม.ย. 57 นี้  

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ.2556 - 2560 มีเป้าหมายผลิตแพทย์ จำนวน 9,039 คน เพิ่มจากการผลิตแพทย์ตามแผนปกติที่มีอยู่เดิม 4,780 คน ประกอบด้วย โครงการผลิตแพทย์เพิ่ม โดยกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 4,038 คน และโครงการผลิตแพทย์ชนบทเพิ่ม ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 5,001 คน รวมทั้งสิ้น 13,819 คน ซึ่งจะทำให้มีแพทย์ให้บริการประชาชนเพิ่มมากขึ้น เฉพาะในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขใช้งบผลิตแพทย์ในโครงการนี้ จำนวน 9,501 ล้านบาท ในการรับนักเรียนเข้ารับทุนเรียนแพทย์ในโครงการนี้ จะคัดเลือกจากเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่อยู่ในต่างจังหวัด  

ทั้งนี้ การผลิตแพทย์ 1 คน ใช้งบคนละ 3 แสนบาทต่อปี เรียน 6 ปี โดยชั้นปี 1-3 เรียนภาคทฤษฎีที่มหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือจำนวน 14 แห่ง ได้แก่ ม.ขอนแก่น ม.จุฬาลงกรณ์ ม.เชียงใหม่ ม.ธรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ม.มหิดล ม.สงขลานครินทร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.มหาสารคาม ม.วลัยลักษณ์ ม.บูรพา ม.อุบลราชธานี ม.นราธิวาสราชนครินทร์ และ ม.พะเยา ซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำหลักสูตรและประสาทปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต

ส่วนชั้นปีที่ 4-6 ซึ่งเป็นการเรียนภาคคลินิก เรียนที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นสถาบันสมทบ 37 แห่ง ภายหลังจบการศึกษาแล้ว มีสัญญาผูกพันให้กลับไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ที่รับทุน ผลการปฏิบัติงานพบว่า แพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ปฏิบัติงานชดใช้ทุนครบตามเวลากำหนด คือ อย่างน้อย 3 ปีมากกว่าแพทย์ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกในระบบปกติ

อนึ่ง ในวันนี้ นพ.ณรงค์ ได้ให้โอวาทแก่นิสิตแพทย์ก่อนไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนว่า ขอให้ยึดมั่นในจริยธรรมวิชาชีพ ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ เนื่องจากปัจจุบัน แนวโน้มการฟ้องร้องแพทย์มีมากขึ้นเรื่อยๆ และการปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จได้นั้น นอกจากจะมีความรู้ความสามารถในวิชาชีพแล้ว ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทั้งต่อผู้ร่วมงาน ต่อผู้ป่วย ญาติ และประชาชนทั่วไป มีความเห็นอกเห็นใจ มีคุณธรรม รวมทั้งมีความอ่อนน้อมถ่อมตน คิดดี ทำดี ก็จะได้รับความรัก ความไว้วางใจจากคนรอบข้าง.

ไทยรัฐ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่