~o~o~O.. กระทู้ห้องไร้สังกัด ..O~o~o~ _ - _ " ที่แห่งนี้มี ความรัก ณ ริมฝั่งเจ้าพระยา " _ - _~o~o~O O~o~o~

กระทู้สนทนา




เมื่อนั่งเรือด่วนเจ้าพระยา สมัยนั้นยังไม่มี สะพานพระรามแปด เลยท่าน้ำเทเวศร์ ผ่านวังบางขุนพรหม ล่องเลยมา
ถึงบางลำภู ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสวนสันติชัยปราการ หันมองฝั่งตรงข้ามบางลำภู จะเห็นบ้านโบราณ เก่าทรุดโทรม
จนบางครั้งเคยสะท้อนใจ บ้านคฤหบดีที่เคยรุ่งเรีองโอ่อ่าสง่างาม กลับทรุดโทรม ไร้ผู้คนแลเหลียว ช่างเศร้าใจนัก

ไม่ได้ใช้เส้นทางเรือ นานวันหลายปี  ได้มีโอกาสลงเรือผ่านไปอีกครั้ง  มองหาบ้านเก่าทรุดโทรมที่เคยเห็น  " ไม่พบ "
หรือเขารื้อถอนไป เช่นบ้านเก่าย่านนี้หลายหลัง กลายไปเป็นตึกหลายชั้น ผงาดพุ่งทะยานสูงลิบลิ่ว ทั้งความสูงของตึก
และราคา หลายสิบล้านบาทต่อยูนิด แลกกับพื้นที่ใช้สอยเพียงเล็กน้อย  

บ้านหลังเก่า พลิกโฉมใหม่  เรโทร บ้านริมน้ำ   (Retro River House)




บ้านบางยี่ขัน  เป็นสถาปัตยกรรมพาเลเดียน (Palladianism)  สถาปัตยกรรมลักษณะนี้วิวัฒนาการมาจากปรัชญาการออกแบบ
ของพาลเลดิโอ งานของพาลเลดิโอมีพื้นฐานมาจากความสมมาตร, ความมีทัศนมิติ และคุณค่าของสถาปัตยกรรมการก่อสร้างวัด
ของกรีกและโรมันโบราณ

รูปทรงอาคารเป็นแบบสถาปัตยกรรมแบบยุโรปนี้ นิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕  เป็นแบบที่เรียกว่า The Chino Italian Architecture
เพราะช่วงนี้คือยุคทองของศิลปะยุโรปหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย (ต่างจากสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่เป็นยุคทองของสถาปัตยกรรมแบบจีน)

ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน (คอนกรีต) สองชั้น   เกาะกลุ่มเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า  หันหน้าให้แม่น้ำ ดูงามสง่าและน่าอภิรมย์ยิ่งนัก





การออกแบบสามารถออกแบบได้ลงตัว ไม่มีกันสาด  เชิงชายลายขนมปังขิง โค้งมนเหนือประตูหน้าต่างประดับกระจกสี
เป็นแฉกรัศมีพระอาทิตย์ครึ่งดวง ชั้นล่างทำเป็นช่องซุ้มโค้งแบบตะวันตกหลายช่อง










ใครจะเคยคิดว่า บ้านในตำนานหลังนี้ ผ่านความผลิกผันแห่งกาลเวลา จากอดีตที่เคยเป็นบ้านของขุนนางไทยเชื้อสายจีน  คือ
อำมาตย์เอก พระยาชลภูมิพานิช (ไคตั๊ค) กับคุณหญิงส่วน ภรรยา (สกุลเดิมอุทกภาชน์) ซึ่งเป็นอดีตข้าหลวงของสมเด็จพระศรี
พัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ในรัชกาลที่ ๕  มาก่อน

    คุณหญิงส่วน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอุปการะเลี้ยงดูตั้งแต่ ปฐมวัย  เมื่ออายุ ๒๑ ปี ได้กราบถวายบังคมลาออกมาแต่งงานกับ
อำมาตย์ตรีพระยาชลภูมิพานิช (ยศในขณะนั้น) บุตรของท่านล้วนได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ  
พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทั้งสิ้น






บ้านบางยี่ขัน สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2466 ในรัชกาลที่ 6 เป็นสมัยที่พระยาชลภูมิพานิชกำลังเจริญก้าวหน้าในอาชีพ และสยามประเทศก็กำลังเจริญ
รุ่งเรืองด้านศิลปวัฒนธรรม สถาปนิกนั้นคาดว่าจะเป็นสถาปนิกพระราชทาน และเป็นสถาปนิกทางยุโรป ได้ทำการสร้างบ้านหลังนี้เพื่อเป็นเรือนหอ
ของ อำมาตย์เอก พระยาชลภูมิพานิช (ไคตั๊ค) กับคุณหญิงส่วน ภรรยา  เป็นบ้านแห่งความรักและความอบอุ่น ที่เรียกขานว่า มีลูกเต็มบ้าน มีหลาน
เต็มเมือง เพราะคุณหญิงส่วนให้กำเนิดบุตร- ธิดา ถึง 10 คน กล่าวกันว่า เป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด  

เป็นบ้านอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตามวิถีคนไทยในอดีตที่นิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ มีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ ทั้งการอุปโภค บริโภค
และการสัญจรเดินทางทางเรือ ทำให้ทั้งสองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาในอดีตจึงเต็มไปด้วยชุมชน บ้านเรือน วัดวาอาราม และสถานที่สำคัญต่างๆ
มากมาย

         พระยาชลภูมิพานิชถึงแก่อนิจกรรมในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒  ราวปี  พ.ศ. ๒๔๘๑

ความผันแปรของกาลเวลา ทำให้บ้านหลังนี้ เป็นไปตามยุคสมัย



บ้านบางยี่ขันได้ถูกขายให้แก่ผู้ดูแลมัสยิดปากคลองบางกอกน้อย (ต่อมาคือ มูลนิธิมุสลิมกรุงเทพวิทยาทาน) เพื่อใช้เป็นอาคาร
โรงเรียนราชการุญมูลนิธิ  เนื่องจากอาคารเรียนเดิมในบริเวณมัสยิด ได้รับภัยทางอากาศในระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
ถูกระเบิดทำลายและไฟไหม้
        
         โรงเรียนราชการุญดำเนินกิจการเรื่อยมาจนปิดตัวลงในปี  ๒๕๒๑

จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ มูลนิธิมุสลิมกรุงเทพวิทยาทานได้ให้เอกชนเช่าอาคารเรียนดำเนินกิจการต่อ โดยเปิดเป็นโรงเรียนอินทรอาชีวศึกษา  
เป็นระยะเวลาประมาณ ๑๘ ปี ภายหลังโรงเรียนอินทรอาชีวศึกษาถูกสั่งปิดเหตุเนื่องมาจากนักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับสถาบันอื่นอย่างรุนแรง
ทำให้อาคารดังกล่าวว่างลง ถูกทิ้งร้าง  และไม่ได้ใช้งานตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๙  เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๕๒



นับตั้งแต่วันนั้น 'บ้านบางยี่ขัน' ก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ที่เดิม ณ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่สงสัยของผู้รักสถาปัตยกรรมเก่า รวมทั้ง 'ผศ.วิชัย'
ที่มองบ้านหลังนี้จากสวนสันติชัยไชยปราการฝั่งบางลำพูด้านตรงข้าม แล้วเกิดความเสียดายความงดงามอันเก่าแก่ของอาคารแห่งนี้

คุณ ปรียาธร พิทักษ์วรรัตน์ เจ้าของ หุ้นส่วนหลัก และหัวหน้าคณะผู้บริหาร โรงแรมพระยา พาลาซโซ่ กับสามี อาจารย์วิชัย พิทักษ์วรรัตน์ ผู้เป็น
สถาปนิกหลัก ที่ริเริ่มบูรณะบ้านบางยี่ขัน ด้วยความรักในสถาปัตยกรรมโบราณของไทย และด้วยเงินทุนส่วนตัวแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

“บ้านหลังนี้ถูกปล่อยร้างไว้นานมาก สภาพที่เห็นตอนแรกคือหลังคายุบลงมาบางส่วน พื้นพัง มีน้ำท่วมขัง และปัญหาความชื้น เพราะอาคารแห่งนี้
อยู่ติดแม่น้ำ เชื้อราที่เกิดจากความชื้นจึงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ปัจจุบันก็ยังแก้ไม่ตก” คุณปรียาธรกล่าว




“แต่เนื่องจากจุดประสงค์ของการบูรณะครั้งนี้ คือการรักษาของเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด สิ่งที่เราทำอย่างแรก คือค่อยๆ รื้อของเก่าออก แล้ว
ขัดเกลาเพื่อเก็บไว้ใช้ที่เดิม โดยเฉพาะของเก่าที่ทำโดยฝีมือช่างโบราณ เราคิดว่าแม้สถาปัตยกรรมนี้จะเป็นของฝรั่ง แต่น่าจะเป็นฝีมือช่างจีน
โดยเฉพาะบรรดาช่องลมฉลุลายโปร่งของประตูและหน้าต่าง กระจกสี บานเฟี้ยมไม้สักฉลุโบราณขนาด 8 เมตร ประตูและหน้าต่างไม้ กรอบไม้ต่างๆ
ที่เป็นของเก่า เราเลาะออกมาซ่อมใช้ใหม่หมด และหากส่วนใดสูญสภาพไปจนไม่ครบ เราให้ช่างทำเลียนแบบของเก่าให้ได้มากที่สุด”






ความเหนื่อยยากของการบูรณะ ไม่ได้มีเพียงแต่การซ่อมของที่เราเห็นได้กับตาเท่านั้น บ้านหลังนี้ทำด้วย โครงสร้างโบราณ
กำแพงไม่สามารถรับน้ำหนักได้มากนัก จึงต้องมีการเสริมโครงใหม่ไปพยุงผนังเดิม เพื่อให้สามารถตกแต่งภายในได้






          นอกจากนั้น ยังมีการเสริมความแข็งแรงของ แพซุงโบราณใต้ดิน ด้วยระบบคอนกรีตและระบบกันน้ำ เพื่อให้ตึกแข็งแรง และมีการป้องกัน
ความชื้นโดยระบบระบายน้ำใต้ดิน




          บ้านหลังนี้ถูกออกแบบมาให้สมกับการอยู่ริมน้ำ น้ำสามารถซึมเข้ามาใต้รากฐานของบ้านได้ เพราะน้ำมีขึ้นมีลง แต่น้ำก็เป็นสาเหตุของความชื้น
จึงมีการติด 'ปั๊มน้ำ' เพื่อระบายน้ำออกเมื่อน้ำเข้ามาในพื้นที่ใต้อาคารมากเกินไป







          ด้วยความที่บ้านบางยี่ขันหลังนี้ ไม่มีถนนตัดถึงเลย การบูรณะทั้งหมด รวมทั้งการขนส่งอุปกรณ์และเครื่องมือทุกชิ้น
จึงต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะขนส่งหลัก ทำให้งานทั้งหลายทั้งปวงที่แม้อยู่ติดถนนก็ยังยาก ยิ่งเมื่อมาอยู่พื้นที่ริมน้ำแห่งนี้
ก็ยิ่งยากลำบากขึ้นหลายเท่า  สวนสวยๆ พร้อมร่มไม้ใหญ่อันร่มรื่นเย็นตาที่เห็นทุกวันนี้ล้วนนำมาทางเรือทั้งสิ้น



คุณปรียาธร พิทักษ์วรรัตน์ และทีมงานทุกคนที่ร่วมมือกันนำคฤหาสน์หลังงามที่อวลไปด้วยความรักหลังนี้ กลับมา
ให้ทุกคนสามารถเข้าไปชื่นชมได้อีกครั้ง ภายใต้ชื่อที่เรียกขานใหม่ว่า โรงแรมพระยาพาลาซโซ่ โดยเฉพาะเรื่องราวทั้งหมด
ที่อบอวลไปด้วยความรัก มาแล้วทำให้หัวใจอิ่มเอิบ ความรักคือการทุ่มเท คือครอบครัว คือการเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราภาคภูมิใจ...
          




ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลจาก

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=592846
ตำนานรัก บ้านบางยี่ขัน  http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/living
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่