[CR] Unseen Japan - พาเที่ยวจังหวัด Fukui : หลวงพ่อโตแห่ง Echizen

ที่จริงว่าจะตั้งกระทู้ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้ว แต่ช่วงนั้นไม่ทราบว่า Pantip มีปัญหาอะไร แค่จะดูกระทู้ยังช้ามากหรือบางทีก็ไม่ขึ้นมาเลย ถ้าจะอัพโหลดรูปหรือตั้งกระทู้คงมีปัญหายิ่งกว่านั้นอีก กว่าจะได้ฤกษ์ก็เป็นช่วงนี้ที่ดูเหมือนจะดีขึ้นหน่อยนี่แหละครับ

ต้องบอกว่าผมไปเจอสถานที่แห่งนี้เข้าด้วยความบังเอิญ คือผมได้ดูหนังสือนำเที่ยวจังหวัด Fukui แล้วไปเจอชื่อ Echizen Daibutsu (越前大仏・えちぜんだいぶつ) หรือหลวงพ่อโตแห่ง Echizen อยู่ในแผนที่เส้นทางของสถานที่แนะนำบางแห่ง แต่กลับไม่มีการแนะนำสถานที่แห่งนี้ในหนังสือเลย และเมื่อมาหาข้อมูลเพิ่มในอินเทอร์เน็ตก็พบว่าที่นี่มีอะไรที่น่าสนใจอยู่แต่กลับแทบไม่มีใครรู้จักแม้แต่คนญี่ปุ่น (ขนาดเพื่อนคนญี่ปุ่นที่พาผมเที่ยวซึ่งเป็นคนจังหวัด Fukui เองยังไม่เคยไปเลยครับ) ก็เลยหมายมั่นว่าจะต้องไปให้ได้ครับ

เมื่อลงจากรถบัสแล้วเดินมาตามทาง ก็จะได้เห็นทัศนียภาพประมาณนี้


ข้อความบนป้ายบอกว่า Echizen Daibutsu หรือหลวงพ่อโตแห่ง Echizen


แว้บไปเก็บภาพบริเวณลานจอดรถมานิดหน่อย



กลับสู่ทางเดินเข้าวัด



ที่จริงมีแผนผังบริเวณวัดด้วย แต่ผมลืมถ่ายรูปมาครับ

ตรงนี้เป็นจุดขายตั๋วครับ ค่าเข้าชม 500 เยน สามารถขอแผ่นพับเป็นภาษาอังกฤษจากคุณป้าที่ขายตั๋วได้ด้วย


ถึงตอนนี้ไม่ทราบว่ามีใครสังเกตเห็นอะไรบางอย่างหรือยังครับ ถ้ายัง ไว้จะเฉลยทีหลังครับ

ชื่อวัดอย่างเป็นทางการคือ Daishizan Seidaiji (大師山清大寺・だいしざんせいだいじ)


ประตูใหญ่ (大門・だいもん) ถ้ามาตอนบ่ายจะเป็นทิศตามแสงซึ่งน่าจะถ่ายรูปได้สวยกว่านี้ พอดีผมไปช่วงเช้าซึ่งเป็นช่วงที่สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ทอดเงามาด้านหน้า ภาพเลยออกมาค่อนข้างมืดเป็นส่วนใหญ่


ยักษ์ทวารบาลประจำประตูใหญ่


วงล้อเชือกกลางประตูใหญ่ (น่าจะ) เดินผ่านได้ครับ


ต่อไปเป็นประตูกลาง (中門・ちゅうもん)


ยักษ์ทวารบาลประจำประตูกลาง


และด้านในคือวิหารหลวงพ่อโต (大仏殿・だいぶつでん) ครับ

เนื่องจากที่นี่เพิ่งสร้างขึ้นไม่นาน สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่จึงเป็นคอนกรีตครับ

บริเวณวัดจะพบพระพุทธรูปขนาดกลางและเล็กอยู่ทั่วไป



ส่วนหนึ่งของอ่างล้างมือก่อนเข้าวิหาร ในรูปนี้น่าจะเป็นพระเถระในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น?


และนี่คือความอลังการที่ซ่อนอยู่ภายในวิหารครับ

ถ้าไม่ใช้เลนส์ Wide อาจเก็บภาพไม่ได้ทั่วถึงแบบนี้นะครับ

พระประธานในวิหารสูง 17 เมตร ใหญ่กว่าหลวงพ่อโตที่ Nara และ Kamakura ที่สูง 14.98 และ 13.35 เมตร ตามลำดับ

เทียบกับตัวผมที่สูง 1.75 เมตรครับ

ด้านข้างพระประธานเป็นพระโพธิสัตว์และพระเถระของญี่ปุ่น (หรือเป็นพระอัครสาวก? ไม่แน่ใจเหมือนกัน)


นอกจากนี้ในวิหารยังมีช่องประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดกลางและเล็กอีกรวม 1,281 องค์ครับ

แต่ที่ทำให้เจ็บใจนิดหน่อยคือในวิหารมีแผ่นป้ายขอพรที่เขียนเป็นภาษาไทยด้วย (ไม่ได้ถ่ายรูปมา) แถมไม่ได้มีแค่แผ่นเดียวอีกต่างหาก น่าจะเป็นกลุ่มคนไทยที่มีคนรู้จักเป็นคนจังหวัดนี้แล้วเขาพามาเที่ยวที่นี่ครับ ไม่ใช่คณะทัวร์แน่นอนเพราะขนาดคนญี่ปุ่นเองยังไม่ค่อยรู้จักจังหวัดนี้เลย

หอระฆังด้านหลังวิหารหลวงพ่อโต


ไปส่วนอื่นกันต่อผ่านทางระเบียงวัด


หอเก้ามังกร (九龍殿・きゅうりゅうでん) มีฉากเก้ามังกรแบบเดียวกับประเทศจีน เนื่องจากแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านจังหวัด Fukui ออกสู่ทะเลมีชื่อว่าแม่น้ำ Kuzuryū (九頭龍・くずりゅう) หรือแม่น้ำมังกรเก้าหัวครับ

ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าตรงนี้มีให้เสี่ยงเซียมซีด้วย

ต่อไปคือเจดีย์หลังคาห้าชั้นซึ่งถือเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในญี่ปุ่นด้วยความสูง 75 เมตร ซึ่งสูงกว่าเจดีย์ที่วัด Tōji (東寺・とうじ) ใน Kyōto ที่สูง 70 เมตร แต่เจดีย์ที่นี่เป็นโครงสร้างคอนกรีตครับ และด้านในมีลิฟต์ด้วย


ทิวทัศน์จากชั้นบนสุดของเจดีย์


ที่เห็นไกล ๆ คือพิพิธภัณฑ์ปราสาท Katsuyama ซึ่งจะพูดถึงด้านล่างครับ

พระพุทธรูปด้านในเจดีย์ มีอยู่ทุกชั้นครับ แต่ด้านในค่อนข้างมืด ถ้ากล้องไม่เทพอาจถ่ายรูปลำบากหน่อย



ส่วนสุดท้ายที่ขอแนะนำคือสวนญี่ปุ่นครับ แต่ตอนที่ไปอากาศหนาวมากขนาดหายใจเป็นไอและใบไม้ก็ร่วงหมดแล้ว ถ้าเป็นช่วงใบไม้เปลี่ยนสีเต็มที่น่าจะสวยกว่านี้


ปิดท้ายด้วยภาพเจดีย์แบบซูมใกล้ ๆ ครับ


และสำหรับ "อะไรบางอย่าง" ที่พูดถึงข้างต้น คือสิ่งนี้ครับ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ยังไงก็ตาม ที่นี่เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ขอแนะนำโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่กำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักครับ

เว็บไซต์ของวัด (ภาษาญี่ปุ่น)
http://www.geocities.jp/etizen_daibutu/index.htm
ชื่อสินค้า:   ประเทศญี่ปุ่น
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่