สอบถาม HR หรือคนที่ทำงานในห้างหน่อยค่ะ

ขอปรึกษา HR บริษัทหลายๆบริษัทหน่อยค่ะ ถ้าเป็นบริษัทที่มีสาขาอยู่ในห้างจะดีมากเลยค่ะ

ดิฉันทำงานในห้างค่ะ เป็นบริษัทเครือใหญ่เครือหนึ่ง ตอนนี้มีปัญหาเรื่องวันหยุดและโอทีค่ะ
ขอเกริ่นก่อนนะคะว่าปกติวันหยุดประจำเดือนต่อเดือนคือจะนับวันเสาร์-อาทิตย์ บวกกับวันหยุดนักขัตฤกษ์
สมมุติว่าเดือนเมษายน 2557 มีวันเสาร์ อาทิตย์ 8 วัน กับวันหยุดนักขัตฤกษ์ 3 วัน รวมวันหยุดทั้งหมดที่จะได้คือ 11 วัน
ซึ่งพนักงานทุกคนจะได้หยุด 11 วันในเดือนนั้น โดยที่อาจจะได้หยุดสลับกันไป บางคนอาจจะได้ตรงเสาร์อาทิตย์หรือนักขัตก็แล้วแต่ดวงกันไปค่ะ

โดยก่อนหน้านี้หากวันไหนที่คนทำงานไม่พอ อาจจะต้องมีบางคนที่ต้องมาทำโอที โดยทำงานในวันหยุดแต่ได้ค่าแรงแค่ 1 เท่า เท่ากับวันทำงานปกติ
ซึ่งตรงจุดนี้เคยถามกับหัวหน้างานแล้วเค้าแจ้งว่าเนื่องจากเป็นเงินเดือนแบบเหมาจ่าย <พนักงานสัญญาจ้างรายเดือน>
โดยหากคนทำงานขาด บริษัทสามารถเรียกให้มาทำงานในวันหยุดโดยจะจ่ายค่าจ้างเท่าวันทำงานปกติที่ 1 เท่าค่ะ
ตรงนี้ก็งงกันอยู่ว่าทำไมทำงานวันหยุดแต่ได้เงินเท่าวันทำงานปกติ แต่ก็ไม่ได้แย้งอะไรเพราะเค้าบอกว่ามีระบุในสัญญาจ้างงานค่ะ

และล่าสุดหัวหน้างานแจ้งว่าตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป จะไม่มีการหยุดวันนักขัตฤกต์ คือจะนับแค่วันหยุดเสาร์อาทิตย์ ส่วนวันหยุดที่ทางราชการกำหนด
จะให้เป็นโอทีค่ะ เช่น เมษายน 57 มีเสาร์-อาทิตย์ 8 วัน คือจะได้หยุด 8 วัน ส่วน วันหยุดนักขัตฤกษ์ 3 วันต้องมาทำโอที
หัวหน้าแจ้งว่าเป็นกฎหมายแรงงานตัวใหม่ (แต่หัวหน้างานลงวันหยุดตัวเอง 11 วัน) ก็เลยอยากจะสอบถามพี่ๆ HR ในที่นี้ว่า

- กฎหมายที่ว่านี่มีไหมคะ ที่เปลี่ยนจากวันหยุดนักขัตฤกษ์ให้เป็นวันทำงาน (สำหรับคนทำงานในห้าง)
- การบังคับทำงานในวันหยุด โดยที่ไม่ได้สอบถามพนักงานก่อน แต่ลงในตารางงานให้เลย อันนี้ผิดกฎหมายไหมคะ
- การที่ต้องมาทำงานในวันหยุด แต่ได้ค่าแรงเท่าวันทำงานปกติ ไม่ว่าจะวันหยุดปกติหรือนักขัตฤกษ์ อันนี้ปกติหรือไม่คะ
- การที่ทำงานล่วงเวลา โดยในสัญญางานระบุเวลาทำงานคือ 11.00 - 20.00 โดยหลัง 20.00 อยู่เคลียร์งานพวกเงินหรือเอกสารต่างๆ จนถึง 3 - 4 ทุ่ม
  แต่ไม่ได้โอที ตรงนี้บริษัททำถูกมั้ยค่ะ (เคยถามหัวหน้างานเค้าบอกว่ามันเป็นการบรีหารเวลาของพนักงานค่ะที่จะทำทุกอย่างให้เสร็จในเวลาค่ะ
  แต่หน้างานเป็นงานบริการลูกค้า บางที 2 ทุ่ม 5 นาที ยังมีคิวลูกค้ารออยู่เลยค่ะ)
- พนักงานจะสามารถเรียกร้องสิทธิในวันหยุดและโอทีได้อย่างไรบ้างคะ รู้สึกเหมือนโดนเอาเปรียบอยู่ค่ะ ปกติแค่เนื้องานก็เครียดและกดดันอยู่แล้ว
  แต่พนักงานในสาขาทุกคนก็ตั้งใจและช่วยเหลือกันให้งานลุล่วงค่ะ แต่โดนขโมยวันหยุดแบบนี้ เลยอยากทราบข้อเท็จจริงค่ะ ซึ่งถ้ากฎหมายนี้มีจริงก็ยินดี
  ยอมรับและปฏิบัติตามค่ะ

ขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับทุกคำตอบค่ะ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
เห็นใจสาวห้างเป็นอย่างมาก เนื่องจาก คนทั่วไปอาจจะคิดว่าบรรดาสาวๆตามห้างนั้น แต่งตัวสวยๆ ทำงานในห้องแอร์ บรรยากาศดีๆ แต่แท้จริงแล้ว ผมพบเจอและให้คำปรึกษากรณีแรงงานของบรรดาสาวๆในห้างบ่อยครั้งมาก ซึ่งจริงๆแล้ว งานในห้างสรรพสินค้านี้ เป็นงานหนักเอาการ แถมเป็นงานที่นายจ้างไม่ค่อยง้อลูกน้อง เพราะหาคนมาทำงานเปลี่ยนทดแทนกันได้ง่าย บรรดาสาวห้าง ถึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำงานเสียที

ก่อนเข้าสู่การตอบคำถาม ผมแนะนำสิทธิของบรรดาสาวห้าง หรือแม้แต่ลูกจ้างทั่วไปให้ทราบก่อนดังนี้ว่า สิทธิที่ท่านพึงมีพึงได้ตามกฎหมายนั้น มีอะไรบ้าง
1) ชั่วโมงการทำงาน แต่เดิมนั้น งานพาณิชยกรรมหรืองานในห้างสรรพสินค้านั้น แต่เดิมกฎหมายให้ทำงาน 9 ชั่วโมง พัก 1 ชั่วโมงได้ แต่ทั้งนี้ในกฎหมายแรงงานฉบับที่ 2 ซึ่งออกประกาศใช้ในปี 2551 ได้ยกเลิกแก้ไขให้เป็นไม่เกิน 8 ชั่วโมงการทำงาน ตามมาตรา 23 ดังนั้น ส่วนเกินจาก 8 ชั่วโมงนี้ ต้องเป็นค่าล่วงเวลา
2) ค่าล่วงเวลา กฎหมายคุ้มครองในมาตรา 61 ได้กำหนดให้ลูกจ้างได้รับค่าล่วงเวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1.5 เท่า ของค่าจ้างปรกติเป็นรายชั่วโมง ดังนั้น ทำงานล่วงเวลากี่ชั่วโมงในวันทำงานปรกติ ก็จ่ายค่าจ้างไป
3) ลูกจ้างต้องได้รับวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 วัน เป็นอย่างน้อย
4) ค่าทำงานในวันหยุด มาตรา 62 กำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานในวันหยุด ได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 1 เท่าสำหรับพนักงานรายเดือน และไม่น้อยกว่า 2 เท่า สำหรับพนักงานรายวัน
5) วันหยุดตามประเพณี (วันหยุดนักขัตฤกษ์) อย่างน้อย 13 วันต่อปี


ดังนั้น ต่อข้อคำถาม ผมสรุปให้เป็นข้อๆดังนี้
- กฎหมายที่ว่านี่มีไหมคะ ที่เปลี่ยนจากวันหยุดนักขัตฤกษ์ให้เป็นวันทำงาน (สำหรับคนทำงานในห้าง)
ตอบ ไม่มีกฎหมายข้อนี้ครับ แต่หากจะให้ลูกจ้างมาทำงาน ต้องได้รับค่าจ้างเท่ากับการมาทำงานในวันหยุด
- การบังคับทำงานในวันหยุด โดยที่ไม่ได้สอบถามพนักงานก่อน แต่ลงในตารางงานให้เลย อันนี้ผิดกฎหมายไหมคะ
ตอบ สำหรับงานในห้างสรรพสินค้านั้น สามารถทำได้ครับ แต่แนวทางในการบริหารแรงงานที่ดี ควรได้รับความยินยอมกันทั้งสองฝ่าย
- การที่ต้องมาทำงานในวันหยุด แต่ได้ค่าแรงเท่าวันทำงานปกติ ไม่ว่าจะวันหยุดปกติหรือนักขัตฤกษ์ อันนี้ปกติหรือไม่คะ
ตอบ หากเป็นพนักงานรายวัน ต้องได้รับไม่น้อยกว่า 2 เท่า หากเป็นพนักงานรายเดือน ได้รับเพิ่มไม่น้อยกว่า 1 เท่าสำหรับการทำงานในวันหยุด ตามมาตรา  62
- การที่ทำงานล่วงเวลา โดยในสัญญางานระบุเวลาทำงานคือ 11.00 - 20.00 โดยหลัง 20.00 อยู่เคลียร์งานพวกเงินหรือเอกสารต่างๆ จนถึง 3 - 4 ทุ่ม แต่ไม่ได้โอที ตรงนี้บริษัททำถูกมั้ยค่ะ (เคยถามหัวหน้างานเค้าบอกว่ามันเป็นการบริหารเวลาของพนักงานค่ะที่จะทำทุกอย่างให้เสร็จในเวลาค่ะ แต่หน้างานเป็นงานบริการลูกค้า บางที 2 ทุ่ม 5 นาที ยังมีคิวลูกค้ารออยู่เลยค่ะ)
ตอบ การทำงานล่วงเวลา ก็ต้องได้รับค่าล่วงเวลาครับ
- พนักงานจะสามารถเรียกร้องสิทธิในวันหยุดและโอทีได้อย่างไรบ้างคะ รู้สึกเหมือนโดนเอาเปรียบอยู่ค่ะ ปกติแค่เนื้องานก็เครียดและกดดันอยู่แล้ว
ตอบ ข้อสุดท้ายนี้ตอบยากที่สุด เพราะหากผมตอบไปแล้วว่าให้ท่านเจ้าของกระทู้เรียกร้องไปยังนายจ้าง วันรุ่งขึ้น ท่านเจ้าของกระทู้อาจกลายเป็นอดีตลูกจ้างของห้างแห่งนี้ก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องความเป็นธรรม สามารถทำได้หลายทาง เช่น แจ้งทางโทรศัพท์ไปยังสำนักงานแรงงานเขตพื้นที่ แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบและเข้ามาตรวจสอบ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อ หรือหากห้างของท่านมีสหภาพแรงงาน ก็ใช้การเจรจาผ่านทางสหภาพแรงงานครับ

ส่วนเงินค่าจ้างทั้งหลายแหล่ และเงินค่าทำงานล่วงเวลที่ไมได้รับมาก่อนหน้า ก็สามารถใช้สิทธิเรียกร้องเป็นค่าจ้างค้างจ่าย พร้อมดอกเบี้ย15% ต่อปี ได้ภายในอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 9 ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่