วิธีการตั้งราคาสินค้า เพื่อเพิ่มยอดขาย

ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาสินค้าแพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ  ดังนั้นราคาสินค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกค้าใช้พิจารณาในการตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งการตั้งราคาไม่ใช่ว่าจะเน้นตั้งราคาถูกไว้ก่อน แล้วจึงจะขายดี    แต่การตั้งราคาควรดูถึงภาพลักษณ์ของสินค้า  และกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าเราด้วย
เช่น ถ้าคุณไปขายรองเท้าในห้างหรู  แต่คุณตั้งราคาแค่ 59 บาท   คุณอาจจะขายรองเท้าได้น้อย ก็ได้   เพราะลูกค้าที่เดินในห้างหรู อาจจะไม่กล้าซื้อรองเท้าราคาถูกมาใช้ เพราะไม่มั่นใจในคุณภาพ

ผมขอยกตัวอย่างวิธีการตั้งราคาเพื่อกระตุ้นยอดขายสำหรับธุรกิจส่วนตัว , ค้าขาย ดังนี้ครับ

1.วิธีการตั้งราคาตามฤดูกาล   คือ ในแต่ละช่วงเวลาราคาสินค้าจะไม่เท่ากัน   เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้า/บริการ ในช่วงนอกเวลาขายดีของเรา  เช่น ปกติวันพุธ จะเป็นวันที่โรงหนังมีคนดูน้อยเพราะอยู่กลางสัปดาห์  โรงหนังจึงตั้งราคาค่าตั๋ววันพุธ ต่ำกว่าวันอื่นๆ เพื่อกระตุ้นการดูหนังในวันพุธ
ซึ่งก็ใช้ได้ผล เพราะวันพุธ ลูกค้าก็เพิ่มมากขึ้นจริงๆ    และในทางกลับกันในช่วงเวลาขายดี ลูกค้าต้องการสินค้ามาก ก็อาจจะกำหนดให้ราคาสูงขึ้นก็ได้   แต่การเพิ่มราคาให้สูงขึ้น อาจจะทำให้ลูกค้าคิดว่าเจ้าของธุรกิจเอาเปรียบ

2. วิธีการตั้งราคาตามแนวระดับราคา  วิธีการนี้ผู้ผลิตจะมีสินค้าประเภทเดียวกัน แต่มีหลายรุ่น หลายคุณสมบัติ และแต่ละรุ่นมีราคาที่ชัดเจน  เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสเลือกสินค้าในราคาที่พอใจ
โดยวิธีการตั้งราคาตามนี้ เชื่อว่าลูกค้าแต่ละรายมีความต้องการไม่เท่ากัน บางคนชอบใช้ของแพงเพื่อความมีระดับ ดูไฮโซ ใช้ของมีคุณภาพ  แต่บางคนอาจจะเน้นราคาถูกเป็นหลัก แค่พอใช้งานได้เป็นพอ    ดังนั้นถ้าเรามีสินค้าหลายรุ่นให้ลูกค้าเลือก จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขาย     ดีกว่ามีสินค้าขายอย่างเดียว ราคาเดียว
ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ก็คือ โทรศัพท์มือถือ ที่แต่ละยี่ห้อ เวลาออกมือถือรุ่นใหม่ๆ มักจะออกทีละหลายรุ่น  แต่ละรุ่นก็จะมีราคาต่างกัน เช่น  รุ่นราคา 2000-5000 บาท สำหรับคนใช้งานมือถือทั่วไป  , 5000-10000  บาท ,10000-15000 บาท  สำหรับคนต้องการใช้งานมือถือมากกว่าการโทรศัพท์

3. วิธีการตั้งราคาเลขคี่ วิธีนี้จะใช้วิธีการลงท้ายราคาด้วยเลข  9  เช่น  ตั้งราคาเสื้อผ้าที่ 99 บาท    129 บาท การตั้งราคาแบบนี้ให้ผลทางจิตวิทยาทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าราคาไม่แพง   เช่น ซื้อเสื้อผ้าตัวละแค่ 99 บาท  ลูกค้าอาจจะรู้สึกว่าราคาเสื้อถูกมากตัวละไม่ถึง 100 ทั้งที่จริงๆ ราคาต่างกันแค่ 1 บาท  ทำให้กระตุ้นยอดขายได้

4. วิธีการตั้งราคาขายเป็นชุด เป็นวิธีการตั้งราคาที่เอาสินค้าประเภทเดียวกันหรือต่างชนิดกันมาขายเป็นชุด   มักจะพบมากในร้านอาหาร เช่น ร้านอาหารขายอาหารราคา 80 บาท  ขนมราคา 40 บาท น้ำผลไม้ราคา 30 บาท  แต่ถ้าซื้อเป็น set อาจจะขายทั้งอาหาร ขนม และน้ำ ในราคา 120 บาท  เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าทานอาหารในร้านมากขึ้น  (ทั้งที่จริงลูกค้าอาจจะไม่อยากทานมากขนาดนั้นแต่ซื้อเป็น set เพราะอยากได้ความคุ้มค่า)
หรืออีกกรณีคือ ผู้ขายอาจจะขายสินค้าชนิดเดียวกัน แต่หลายชิ้นก็ได้ เช่น ขายเสื้อผ้าชุดละ 200 บาท  แต่ถ้าซื้อเสือ้ผ้า 3 ชุด (คละแบบได้) คุณอาจจะขายในราคา 500 บาท  ซึ่งนอกจากคุณจะขายสินค้าได้ง่ายขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นการสกัดไม่ให้ลูกค้าของคุณไปซื้อกับคู่แข่งอีกด้วย

5.วิธีการตั้งราคาและนำเงินไปช่วยการกุศล   เดี๋ยวนี้มีหลายบริษัทใช้วิธีเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัท เช่น ซื้อสินค้า 100 บาท จะนำเงิน 2 บาท ไปร่วมบริจาคกับมูลนิธิ เป็นต้น
จะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจครับ  

       ตัวอย่างเหล่านี้ผู้ประกอบการธุรกิจส่วนตัวหรือค้าขาย อาจจะเลือกปรับวิธีให้เหมาะสมกับสินค้าและกลุ่มลูกค้าของคุณ ถึงแม้ว่าการลดราคาสินค้าจะดึงดูดลูกค้าได้ดี   แต่ก็อย่าลืมว่าเราลดราคาได้ คู่แข่งก็ลดราคาได้เช่นกัน   ซึ่งถ้าธุรกิจต้องแข่งกันด้วยราคาถูก  ในระยะยาวคงไม่เป็นผลดีแน่ๆ  ดังนั้นเราควรที่จะพัฒนาสินค้า และบริการของธุรกิจส่วนตัวของเราให้โดดเด่นกว่าคู่แข่ง ดีกว่าที่จะแข่งขันด้านราคาถูกอย่างเดียวครับ


ที่มา  
http://www.thaismefriend.com/tag/%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7/


ยิ้ม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่