จงเรียนรู้ที่จะให้อภัยตัวเอง

.




                    ประภาเป็นหลานรักของยาย ตั้งแต่เล็กก็มีคุณยายนี่แหละ ที่คอยเลี้ยงดูเอาใจใส่ คุณยายไปไหนก็พาหลานรักไปด้วย วันที่ประภาได้รับปริญญาพยาบาล ยายมีความสุขมากเพราะความฝันของยายได้เป็นจริงแล้ว วันหนึ่งยายก็ป่วยหนัก แต่ประภาแทบไม่มีเวลาไปเยี่ยมยายเลย วันที่ยายสิ้นลม ประภายังง่วนอยู่กับงาน เธอเสียใจมาก แม้ผ่านไปสิบปีแล้วแต่นึกถึงเหตุการณ์วันนั้นเมื่อใด ก็ยังรู้สึกเจ็บปวดที่ไม่ได้ดูแลยายแม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต




                    วณีตั้งครรภ์มาได้ ๕ เดือนแล้ว หมอจึงแนะให้เธอเพลางาน วันหนึ่งเธอพบว่ามีเลือดไหลซึมมาทางช่องคลอด หมอขอให้เธอมานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่เธอเป็นห่วงงานมาก ตอนค่ำจึงหนีไปทำงาน เช้ามืดก็กลับเข้าโรงพยาบาลก่อนหมอจะมาถึง เธอทำเช่นนี้อยู่ ๒ วัน วันถัดมาเธอรู้สึกปวดท้องอย่างแรง ขณะที่กำลังนั่งถ่ายก้อนเนื้อชุ่มเลือดตกลงไปในส้วม นั่นคือครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นลูกน้อยของเธอ ผ่านมากว่า ๓๐ ปีแล้ว เธอยังจดจำภาพนั้นได้และให้อภัยตัวเองไม่ได้ที่ทำให้ลูกต้องตาย




                    วิทย์กับแก้วเป็นเพื่อนสนิทตั้งแต่ปี ๒ เมื่อจบการศึกษาต่างก็แยกย้ายกันไปทำงาน แต่ก็ติดต่อถึงกันสม่ำเสมอ ปีใหม่และวันเกิดก็จะส่งของขวัญให้กันทุกปี มีช่วงหนึ่งที่วิทย์งานยุ่งมาก เป็นช่วงเดียวกับที่แก้วโทรศัพท์มาคุยถี่มากเพราะมีปัญหาครอบครัว คุยแต่ละครั้งนาน ๒-๓ ชั่วโมง วิทย์พยายามให้คำแนะนำแต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล จนกระทั่งคืนวันหนึ่งเขาทนรำคาญไม่ไหว จึงพูดตัดบทไปด้วยน้ำเสียงที่ห้วนมาก วันต่อมาแก้วก็ไม่โทรมาอีกเลย ๒ วันถัดมา เขาก็ได้ข่าวร้าย แก้วประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ตายคาที่ เหตุการณ์ผ่านไปสิบกว่าปีแล้ว ความเศร้าเสียใจได้จางคลายไป แต่ความรู้สึกผิดที่ได้ทำร้ายจิตใจเพื่อนก่อนตายยังกัดกินใจเขาอยู่




                    แม้กาลเวลาจะช่วยเยียวยาจิตใจ แต่สำหรับผู้คนเป็นอันมากบาดแผลในใจยังมีอยู่ ทุกครั้งที่นึกถึงบางเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับคนรักหรือคนใกล้ชิดก็อดเจ็บปวดไม่ได้ เพราะความรู้สึกผิดคอยทิ่มแทงจิตใจอยู่เสมอจึงไม่อยากจะนึกถึง หาไม่ก็พยายามกดข่มให้มันจมหายไป แต่มันก็คอยผุดโผล่มาเป็นระยะๆ ทั้งเจ็บปวด หม่นหมองและหนักอึ้งราวกับจะตามติดตัวไปจนตาย




                    ในส่วนลึกของจิตใจ เราทุกคนอยากขอโทษผู้จากไป ที่ครั้งหนึ่งเราเคยกระทำสิ่งที่ไม่สมควร จะวิเศษเพียงใดหากเราย้อนเวลากลับไปได้เพื่อขอโทษเขาขณะที่เขายังมีลมหายใจอยู่ แต่เราก็รู้ดีว่านั้นเป็นแค่ความฝัน กระนั้นก็ตามมีสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ นั่นคือ “เชิญเขามารับฟังความในใจของเรา”




                    ลองน้อมใจให้สงบและจินตนาการว่าเขาได้มานั่งอยู่ข้างหน้าเรา นึกถึงวันที่เรามีประสบการณ์ดีๆ ร่วมกันกับเขา ความซาบซึ้งประทับใจที่มีต่อเขา จากนั้นให้นึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เราเจ็บปวดเพราะทำสิ่งที่ไม่สมควรต่อเขา ยอมรับความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ โดยไม่พยายามกดข่มหรือผลักไส แล้วถามตัวเองว่าอยากบอกอะไรแก่เขา ขณะที่เขามานั่งอยู่ต่อหน้า ขอให้พูดความในใจแก่เขาทุกอย่างเท่าที่เราอยากพูด บอกรักเขา ขอโทษเขา หรือสารภาพผิดกับเขา อย่าได้รั้งรออีกต่อไป




                    เมื่อพูดจนแล้วใจแล้ว ก็ให้จินตนาการต่อไปว่าได้โอบกอดเขา เห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของเขา ให้ภาพสุดท้ายที่ปรากฏแก่ใจของเราเป็นภาพที่เราอยากจะเห็น ก่อนที่เขาจะค่อยๆ จากไป




                    วันนี้ ประภา วณี และวิทย์ รู้สึกโปร่งโล่งกว่าแต่ก่อน ทั้งสามสามารถเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ในอดีตด้วยความรู้สึกสบายใจมากขึ้น ไม่เจ็บปวดหรือรู้สึกผิดเหมือนเก่า เพราะเธอและเขาได้พูดทุกอย่างที่เก็บไว้ในใจนับสิบปี ให้ย่า ลูกน้อง และเพื่อนรัก ได้รับทราบจนไม่มีอะไรติดค้างอีกแล้ว สิ่งที่ทั้งสามทำควบคู่ไปด้วยก็คือ เขียนความในใจนั้นเป็นจดหมายถึงผู้จากไป แล้วบอกเล่าเรื่องราวและความในใจดังกล่าวให้เพื่อนๆ รับรู้ด้วยบรรยากาศแห่งความเป็นมิตรและไว้วางใจ ทำให้ทั้งสามกล้าพูดถึงเรื่องที่ฝังลึกในใจอย่างไม่ปิดบังขณะร่ำไห้ สิ่งที่ได้รับกลับมาคือกำลังใจและการโอบกอดด้วยความเข้าใจจากเพื่อนๆ




                    การให้อภัยเป็นสิ่งสำคัญ และคนหนึ่งที่ควรได้รับการให้อภัยก็คือตัวเอง แต่จะทำเช่นนั้นได้เราต้องกล้าที่จะขอโทษในสิ่งที่ทำผิดพลาดไป บางทีเราอาจพบว่าผู้ที่จากไปนั้นรักเราเกินกว่าที่จะถือสากับเรื่องเหล่านั้นได้




เขาอาจให้อภัยเราไปนานแล้วก็ได้ เราเองต่างหากที่ยังลงโทษตัวเองอยู่












ภาพจากหนังสือ ธรรมะสำหรับผู้ป่วย, เรื่องพระไพศาล วิสาโล
ดาวโหลดหนังสืออ่านได้ที่นี่ค่ะ
http://dhammaway.files.wordpress.com/2014/03/dhamma-for-healthy.pdf








.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่