ข่าวเจาะ // บทเรียนวิกฤตธนาคารออมสิน การเมืองของแสลงแบงก์รัฐ

http://www.peopleunitynews.com/web02/2014/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%B0-%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%98/
สำนักข่าวออนไลน์ พีเพิล ยูนิตี้ – แม้สถานการณ์วิกฤตของธนาคารออมสินอันเกิดจากการแห่ถอนเงินฝากของลูกค้าประชาชนจะยุติลงไปแล้ว และสถานการณ์ของธนาคารได้คืนสู่ภาวะปกติมาระยะหนึ่งแล้ว ทว่า ภายในองค์กรของธนาคารออมสินเองกลับยังไม่คืนสู่ความสงบตามไปด้วย โดยยังมีความคุกรุ่นภายในองค์กรปะทุอยู่ไม่น้อย ทั้งการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและความแตกแยกระหว่างพนักงานด้วยกันเอง และระหว่างพนักงานกับฝ่ายบริหารรวมถึงบอร์ด ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของฝ่ายบริหารและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ซึ่งปัญหาดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นที่สำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียว แต่ลุกลามไปยังสาขาของธนาคารทั้งในกรุงเทพมหานครและในภาคต่างๆด้วย

วิกฤตที่เกิดขึ้นกับธนาคารออมสินในช่วงที่ผ่านมาและสถานการณ์ความคุกรุ่นภายในองค์กรที่ยังคงดำรงอยู่ เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าธนาคารออมสินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากจากปัจจัยการเมืองภายนอก ซึ่งปัจจัยการเมืองภายนอกได้ถาโถมเข้าสู่ธนาคารออมสิน 2 ทาง คือ

หนึ่ง การเมืองภายนอกเข้าไปยึดกุมธนาคารของเด็กและประชาชนแห่งนี้ผ่านการแต่งตั้งผู้บริหารและบอร์ดที่เป็นคนของฝ่ายการเมือง เพื่อใช้ประโยชน์จากความมั่งคงและความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารออมสินตอบสนองนโยบายและเป็นเครื่องมือในการทำงานของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ตอบสนองผลประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ส่วนตัวของฝ่ายการเมืองด้วย ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล และเป็นเช่นนี้มาตลอดไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน

บทบาทและภารกิจของธนาคารออมสินจึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากที่แต่เดิมเป็นสถาบันการเงินของรัฐเพื่อสนับสนุนการออมและเป็นแหล่งเงินออมที่มั่นคงและมั่นใจของประชาชน

อย่างไรก็ดี บทบาทในการตอบสนองนโยบายและเป็นเครื่องมือในการทำงานของรัฐบาลก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายแต่อย่างใด เพราะเป็นการนำธนาคารออมสินออกมารับใช้ชาติบ้านเมืองและสังคมในวงกว้าง

แต่สิ่งที่เลวร้ายและเป็นปัญหาต่อธนาคารออมสินอย่างมากตลอดมาคือ การที่ฝ่ายการเมืองใช้ธนาคารออมสินเป็นแหล่งเงินของรัฐบาลเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลและสนองผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างไม่บันยะบันยัง

รัฐบาลหาแหล่งเงินที่ไหนไม่ได้ก็มาล้วงกระเป๋าเอากับธนาคารออมสิน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องอะไร เกี่ยวข้องกับบทบาทและภารกิจของธนาคารออมสินหรือไม่ และที่สำคัญคือไม่ตระหนักว่ามีความเสี่ยงต่อธนาคารออมสินหรือไม่

ฝ่ายการเมืองคิดเพียงแต่ว่าธนาคารออมสินมีฐานะทางการเงินมั่นคง (และหาเงินฝากเก่ง) ยังไงก็ไม่กระทบกระเทือน

ภาระหนักในเรื่องความเสี่ยงและความรับผิดชอบต่อธนาคารจึงตกเป็นของฝ่ายบริหารและพนักงานธนาคารออมสินอยู่ฝ่ายเดียวตลอดมา เพื่อหาเงินฝากให้ฝ่ายการเมืองนำไปใช้ และเพื่อรักษาฐานะธนาคาร

ตลอดเวลาที่ผ่านมา สถานะของธนาคารออมสินจึงแขวนอยู่บนเส้นด้ายระหว่างการใช้ประโยชน์จากธนาคารอย่างไม่บันยะบันยังโดยฝ่ายการเมือง กับการดำรงการบริหารธนาคารให้เป็นธนาคารอาชีพ ซึ่งทั้งสองสิ่งขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง

ในช่วงที่ผ่านมา การที่ตัวผู้บริหารสูงสุดของธนาคารคือผู้อำนวยการธนาคารออมสิน รวมถึงบอร์ดของธนาคาร มักเป็นคนที่ฝ่ายการเมืองส่งตรงมาดำรงตำแหน่งหรือเป็นคนของฝ่ายการเมืองทำให้โมเมนตั้มการบริหารงานธนาคารอาชีพเสียสมดุลมาตลอด บางช่วงที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจมาก ผู้บริหารและบอร์ดธนาคารก็ต้องสนองฝ่ายการเมืองอย่างเต็มที่ แต่บางช่วงที่ฝ่ายการเมืองอ่อนแอหรือวุ่นวายกับปัญหาการเมือง ผู้บริหารและบอร์ดธนาคารก็เบาตัวไปเยอะแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารธนาคารและบอร์ดธนาคารมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อธนาคารมากน้อยแค่ไหนด้วย

ต่อสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นกับธนาคารออมสิน อันสืบเนื่องมาจากรัฐบาลต้องหาแหล่งเงินไปจ่ายชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวซึ่งเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของรัฐบาลให้ได้ ธนาคารออมสินจึงเป็นแหล่งเงินสำคัญที่รัฐบาลหมายตาต้องการนำเงินไปให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพื่อจ่ายชาวนา

แรงบีบอย่างหนักของรัฐบาลทำให้ นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และบอร์ดของธนาคาร ไม่อาจแข็งขืนได้ จึงอนุมัติเงินกู้ในลักษณะอินเตอร์แบงก์จำนวน 20,000 ล้านบาทไปให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ส่งผลทำให้กลุ่ม กปปส. ซึ่งกำลังชุมนุมขับไล่รัฐบาลและกำลังใช้ประเด็นโครงการรับจำนำข้าวเล่นงานรัฐบาล หันมาเคลื่อนไหวเล่นงานธนาคารออมสิน โดยชักชวนประชาชนให้แห่ไปถอนเงินฝากจากธนาคารออมสิน ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เคลื่อนไหวกดดันผู้บริหารธนาคารออมสินผ่านพนักงานของธนาคารและคนในสหภาพแรงงานธนาคารออมสินที่เป็น กปปส. จนนายวรวิทย์ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบและเพื่อลดผลกระทบต่อธนาคาร

แม้การลาออกของนายวรวิทย์จะช่วยลดสถานการณ์วิกฤตภายในธนาคารออมสินลงไปได้มาก แต่ความคุกรุ่นภายในธนาคารออมสินก็ยังไม่ยุติทั้งหมด เพราะยังมีความเคลื่อนไหวของพนักงานอย่างต่อเนื่องโดยเรียกร้องและกดดันให้บอร์ดของธนาคารลาออกยกชุด

สอง อีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้การเมืองภายนอกเข้าสู่ธนาคารออมสินอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าทุกครั้งในอดีต จนเกิดเป็นวิกฤตธนาคารในครั้งนี้คือ การที่กระแสความขัดแย้งและความแตกแยกทางการเมืองของคนในชาติมีความรุนแรงถึงขีดสุดจากการชุมนุมขับไล่รัฐบาลของ กปปส. และกลายเป็นประเด็นหลักของความขัดแย้งของคนในสังคมตั้งแต่ในครอบครัวจนถึงภายในองค์กรต่างๆ ซึ่งธนาคารออมสินก็หนีไม่พ้นที่ความแตกแยกทางการเมืองภายนอกจะลุกลามเข้าไปเป็นความขัดแย้งแตกแยกของพนักงานด้วย

สิ่งนี้เห็นได้ชัดจากการที่มีพนักงานธนาคารออมสินจำนวนไม่น้อยทั้งที่สำนักงานใหญ่และสาขาต่างๆออกมาชุมนุมต้อนรับการเคลื่อนขบวนของกลุ่ม กปปส. หรือเข้าไปชุมนุมร่วมกับกลุ่ม กปปส.พนักงานส่วนหนึ่งของธนาคารออมสินจึงเป็น กปปส. และเป็นผู้ที่คอยรายงานข้อมูลลึกๆของธนาคารไปยังแกนนำ กปปส.

จะว่าไปแล้ว การที่พนักงานของธนาคารออมสินเป็น กปปส. ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการปกป้องธนาคารให้พ้นจากความเสียหายอันเกิดจากนโยบายหรือการกระทำของฝ่ายการเมือง และคอยถ่วงดุลการใช้อำนาจสนองการเมืองของผู้บริหารและบอร์ดของธนาคารซึ่งเป็นคนของฝ่ายการเมือง ซึ่งตามปกติพนักงานจะไม่มีอำนาจถ่วงดุลฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารธนาคารได้เลย แม้แต่สหภาพแรงงานพนักงานธนาคารออมสินเองก็ยังทำอะไรไม่ได้มาก แต่เหตุการณ์ครั้งนี้พนักงานสามารถลุกขึ้นมาคัดง้างได้โดยอาศัยการเป็น กปปส.

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือ พนักงานธนาคารออมสินสาย กปปส. จะต้องเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง ไม่เรียกร้องหรือเคลื่อนไหวกดดันในสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อธนาคารอีก เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อธนาคารมาแล้วอย่างหนัก และประการสำคัญจะต้องไม่เป็นผู้ชักนำการเมืองภายนอกหรือความขัดแย้งทางการเมืองภายนอกเข้ามาเพิ่มเติมจนกลายเป็นความขัดแย้งภายในธนาคารออมสินที่มากกว่าเดิม

ล่าสุด กับความเคลื่อนไหวในขณะนี้ที่เรียกร้องให้บอร์ดลาออกยกชุด กปปส.สายออมสินจะต้องพิจารณาประเด็นนี้ให้รอบคอบ ไม่ใช่ทำตามกระแสการเมืองอย่างเดียวหรือทำด้วยความฮึกเหิมในชัยชนะ เพราะหากบอร์ดลาออกไปยกชุด การบริหารงานของธนาคารออมสินจะมีปัญหาการชะงักงันเกิดขึ้นทันที อันเท่ากับเป็นการซ้ำเติมวิกฤตของธนาคารเอง เพราะหากบอร์ดลาออกไปในช่วงนี้ จะไม่สามารถแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนได้เนื่องจากรัฐบาลอยู่ในสภาพรักษาการ

จากสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ตัดสินใจส่งอดีตผู้บริหารระดับสูงของธนาคารออมสิน คือ นายยงยุทธ ตะริโย อดีตรองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส เป็นผู้แทนของ สคร. ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของธนาคารออมสิน เพราะนายยงยุทธถือเป็นลูกหม้อของธนาคารออมสิน เป็นบุคคลที่มีบารมีเพราะได้รับความรักเคารพจากพนักงานธนาคารออมสินทุกระดับ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รู้ตื้นลึกหนาบางในธนาคารออมสินเป็นอย่างดี รู้จักพนักงานและผู้บริหารทุกระดับ สามารถประสานทำความเข้าใจและลดความขัดแย้งภายในองค์กรได้

โดยนายยงยุทธ ได้เปิดใจกับสำนักข่าวออนไลน์ พีเพิล ยูนิตี้ ว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขปัญหาคือ หนึ่ง ทำให้เหตุการณ์ทุกด้านของธนาคารกลับคืนสู่ภาวะปกติ เรียกคืนความเชื่อมั่นศรัทธาจากลูกค้าประชาชนกลับคืนมา สอง สร้างความเข้าใจภายในองค์กร ให้เกิดความสามัคคีภายในธนาคาร และให้ทุกคนรับผิดชอบทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด สาม สร้างช่องทางการสื่อสารภายในองค์กรระหว่างพนักงาน ผู้บริหาร ให้เป็นช่องทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ไม่เกิดความเข้าใจผิด เพราะต่างฝ่ายต่างใช้ช่องทางสื่อสารของตนเอง

“สิ่งสำคัญในภาพรวมที่ต้องดำเนินการคือการทำให้ธนาคารมีภาพว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นกลาง ไม่เอนเอียงข้างฝ่ายใด และทำให้สังคมภายนอกไม่ลืมว่า ธนาคารออมสินไม่เคยทิ้งชาติบ้านเมืองและประชาชน เพราะในช่วงที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้เข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือบ้านเมืองและประชาชนมาตลอด เช่น วิกฤตเศรษฐกิจปี 40 หากไม่มีธนาคารออมสินประเทศไทยก็จะแย่ ต่อมาเกิดวิกฤตซับไพร์ม ธนาคารออมสินก็เข้าไปช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่แบงก์อื่นไม่ปล่อยกู้ น้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 53 ธนาคารออมสินก็ปล่อยเงินช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม 4 ล้านครัวเรือน นี่คือสิ่งที่อยากให้สังคมมองว่าออมสินไม่มีการเมือง มีแต่บ้านเมืองและประชาชน”นายยงยุทธกล่าว

อย่างไรก็ดี นายยงยุทธ ยอมรับว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นกับธนาคารออมสินในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อธนาคารออมสินไม่น้อย ดังนั้นจึงเตรียมเสนอ สคร. ปรับเป้าหมายตัวเลขต่างๆของธนาคารลง เพื่อให้สอดรับกับปัญหาภายในที่เกิดขึ้น

การเข้ามาของนายยงยุทธนับว่าสร้างความหวังให้กับชาวออมสินว่าจะทำให้ความขัดแย้งและความแตกแยกภายในธนาคารหมดไปได้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมานายยงยุทธเคยเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในธนาคารออมสินมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงที่เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายเลอศักดิ์ จุลเทศ อดีตผู้อำนวยการ กับบอร์ดของธนาคาร และเป็นผู้ที่เดินนำนายวรวิทย์เข้ามาเป็นผู้อำนวยการในช่วงที่มีความขัดแย้ง

อีกด้านหนึ่ง ขณะนี้การที่ ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส ทำหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการธนาคารออมสินภายหลังจากที่นายวรวิทย์ยื่นใบลาออก ก็ทำให้สถานการณ์ภายในของธนาคารนิ่งขึ้นอย่างมาก และสามารถคืนภาวะปกติให้แก่การไหลเข้าออกของเงินฝากได้ในเวลารวดเร็ว เพราะ ดร.ธัชพล เป็นผู้มีประสบการณ์และความสามารถในการบริหารงานธนาคารอย่างสูง อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการมาแล้วในอดีต โดยเฉพาะในช่วงที่ธนาคารมีวิกฤต นอกจากนี้ ดร.ธัชพล ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานส่วนใหญ่และกับคณะกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารออมสิน ทำให้การคลี่คลายความขัดแย้งภายในองค์กรทำได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างพนักงานกับบอร์ด ซึ่งขณะนี้ ดร.ธัชพล กำลังทำงานแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดกับนายยงยุทธ

เป็นที่คาดว่า ภายหลังจากที่ใบลาออกของนายวรวิทย์มีผล ดร.ธัชพล คงได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เพื่อกอบกู้ธนาคารออมสินอย่างเต็มตัวอีกครั้ง

และแน่นอนว่า ภารกิจครั้งนี้ของ ดร.ธัชพล จะเป็นบันไดก้าวสำคัญที่ทำให้เขาก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่อย่างที่ทุกฝ่ายไม่อาจปฏิเสธได้

โดย – พูลเดช กรรณิการ์

7 มีนาคม 2557
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่