ปัจจุบันทำไมนิยายกำลังภายในรุ่นใหม่ถึงมีแต่จำนวนเล่มเยอะๆไม่มีจำนวนเล่มน้อยๆแบบแต่ก่อน

กระทู้คำถาม
รุ่นใหม่ส่วนมากประมาณ 8-20 เล่มอัฟ

รุ่นเก่าก็มีเยอะๆนะเช่นขลุ่ยครองฟ้า
แค้นมือกระบี่ อ้อเล้งเซ็ง แต่ก็มีแบบสั้นเยอะกว่า 3-4 เล่มจบ

นักเขียนรุ่นใหม่ไม่เขียนกำลังภายในสั้นๆกันแล้วหรือเปล่าครับ

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
เห็นด้วยอย่างยิ่ง เนื้อหาบางทีผมเห็นว่ารวบรัดเสียยังจะดีกว่า บางทีเหมือนร่ายยาวเกินไปเปลืองคารมหลาย

แต่เห็นผลหลักน่าจะคือเงินนั่นแหละ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 9
ตามความเข้าใจของผมนะครับ....

เมื่อก่อนตลาดหลักของนิยายจีนกำลังภายในอยู่ในฮ่องกงและไต้หวัน รูปแบบการนำเสนอคือเขียนลงในนิตยสารรายปักษ์และรายเดือนต่างๆโดยมีนิยายหลายๆเรื่องรวมกัน ตัวอย่างเช่น  "หวู่เสียซื่อเจี้ย-บู๊เฮ้ยบซี่ก่าย" (คล้ายๆกับนิตยสารรวมนิยาย..บางกอก..ของไทยเรา) เมื่อทยอยลงเป็นตอนๆจนจบเรื่องแล้วจึงจะรวมพิมพ์เป็นเล่มในภายหลัง นิตยสารพวกนี้หลายสำนักพิมพ์ออกแข่งขันกัน เป็นสนามให้นักประพันธ์รุ่นใหม่ๆได้เปิดตัว แต่ก็ต้องมีนิยายจากนักเขียนดังๆระดับบิ๊กเป็นแกน แข่งขันกันหนักจนถึงกับใช้วิธีประมูลเรื่องแข่งกันไปเลย

โกวเล้งคือตัวอย่างของคนที่ถูกแย่งตัวมากที่สุด เขาสามารถเบิกเงินจำนวนมหาศาลทั้งๆที่เรื่องยังเขียนไม่จบ เกิดพฤติการณ์ทิ้งเรื่องที่เขียนกลางคันจนสำนักพิมพ์ต้องประกาศหาคนมาเขียนแทนก็หลายครั้ง ที่โด่งดังก็คือเขียนเรื่อง "ยอดทรชน" แล้วทิ้งเอาดื้อๆจนสำนักพิมพ์ต้องประกาศหามือใหม่มาต่อเรื่องจนจบ จึงได้มีนามปากกา "เซียงกัวเตี้ย" ที่เขียนเรื่อง "ศึกสายเลือด" ที่โด่งดังมากในเวลาต่อมา อีกครั้งหนึ่งโกวเล้งได้ดูหนังผีคลาสสิคฮอลลีวู้ดเรื่อง The Exorcist ของวิลเลียม ฟรีดกิ้นที่ทำให้ตื่นเต้นสยองขวัญทั่วโลก แล้วเกิดแรงบันดาลใจเปิดโปรเจ็คจะเขียนนิยายชุด 7 สยองขวัญขึ้นมาบ้าง ปรากฏว่าเขียนได้แค่ 2 เรื่อง (จำได้ว่าเรื่องหนึ่งชื่อ...นกแก้วสยองขวัญ) ก็ทิ้งไปดื้อๆอีก สุดท้ายสำนักพิมพ์นั้นก็ต้องให้นักเขียนหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มมีชื่อคือ "อึ้งเอ็ง" เขียนต่ออีก 5 เรื่องจนจบชุดที่โฆษณาไว้ (จิ้งเหลนมหากาฬ, มฤตยูแก้วผลึก และอื่นๆอีก 3 เรื่อง)

เพราะวิธีการต้องคอยเอาใจนักประพันธ์มือดีแบบยุคเก่าทำให้นักเขียนเล่นตัวกันมาก นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงแล้วจึงมักจะรวบรัดตัดจบเรื่องให้เร็วเพื่อที่จะได้ไปรับเงินจากเรื่องใหม่ได้เร็วๆ ในขณะที่พวกหน้าใหม่แต่มีฝีมืออาจจะถูกขอร้องจากสำนักพิมพ์ที่คอยวัดกระแสตลาดตลอดเวลาขอให้ยืดเรื่องเมื่อแน่ใจว่าเรื่องนั้นๆถูกใจผู้อ่าน ตัวอย่างคือ ฉิ่นอั้ง ที่นิยายยุคแรกๆของเขาจะค่อนข้างยาวมาก เช่น "ชิกแชเกี่ยม", "ผู้ล้างแค้น" เป็นต้น แต่ยุคหลังๆเรื่องกลับลงเช่น "นักสู้สลาตัน", "โคมเก้ามังกร", "วีรบุรุษหุ่น" เป็นต้น

ในช่วงรุ่งเรืองสูงสุดของนักเขียนบางคนเขียนพร้อมๆกัน 4-5 เรื่องให้หลายๆสำนักพิมพ์พร้อมๆกัน จึงได้เกิดสภาพเนื้อเรื่องซ้ำกันบ้าง ต้นเรื่องกับปลายเรื่องไม่สอดคล้องกันบ้าง บางเรื่องถึงกับออกทะเลเสียทิศทางจนบรรณาธิการสำนักพิมพ์ทนไม่ไหวต้องขอร้องให้จบเรื่องก่อนที่จะเละเทะกว่าที่เป็นอยู่ ช่วงนี้ยอดนักเขียนอันดับ 1 ของไต้หวันอย่างอ้อเล้งเซ็งยังเสียคนมาแล้ว นิยายช่วงกลางๆยคของเขาจึงมักมีตอนจบที่สุกเอาเผากินมากในขณะที่การสร้างจุดเริ่มต้นของเรื่องส่วนใหญ่จะดี เรื่องเขียนไม่จบแล้วเบี้ยวเอาดื้อๆก็มีกันเต็มวงการ ดังนั้นนิยายหลายเรื่องในช่วงกลางยุคทองจนถึงยุคเสื่อมของวงการจึงเป็นนิยายสั้นๆด้วยความจำเป็นหลายๆสาเหตุ บางคนอย่างโกวเล้ง, อึ้งเอ็ง ฯลฯ หันเข้าไปลุยวงการสร้างภาพยนต์กำลังภายในก็ยิ่งจำกัดเวลาการเขียนของพวกตนอีกต่างหาก

ปัจจุบันอินเตอร์เน็ทสามารถทำให้นักเขียนหน้าใหม่แจ้งเกิดได้ง่ายกว่าเดิม สำนักพิมพ์ไม่จำเป็นต้องง้อนักเขียนแบบทูนหัวทูนเกล้าเหมือนยุค "10 ยอดฝีมือแห่งไต้หวัน" กับแนวร่วมอื่นๆอีก 300 กว่าคนในวงการเหมือนช่วงปี 2505 -2520 ทำให้ทุกวันนี้ไม่มีอะไรมาบีบคั้นให้ต้องตัดเรื่องให้สั้นนอกจากผู้เขียนจะตั้งใจเอง

ส่วนสาเหตุที่นิยายยุคใหม่มีแต่เรื่องยาวนั้นผมไม่ชัดเจน และไม่แน่ใจด้วยว่าปัจจุบันนิยายกำลังภายในมีแต่เรื่องยาวจริงหรือไม่ เพราะตั้งแต่จีนแผ่นดินใหญ่กลายเป็นตลาดหลักของนิยายประเภทนี้ นักประพันธ์ก็ถือกำเนิดขึ้นมามากมายในขณะที่คนแปลในประเทศไทยมีจำกัด ช่องทางของข่าวสารเกี่ยวกับนิยายประเภทนี้ก็ไม่ค่อยมีเข้ามาหลากหลายมากมายเหมือนวงการภาพยนต์จีน จึงไม่แน่ว่ายุคนี้จะมีแต่เรื่องยาวอย่างที่พวกเราเข้าใจกันจริงหรือไม่ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่