การเขียน "Mind Map" ใน "มุมมองของคุณ" ช่วยให้ "เด็ก" สามารถ "พัฒนาสมอง" ได้จริงหรือไม่

อ.ธัญญาแนะวิธีพัฒนาสมองลูกผ่าน "Mind Map"

ปฎิเสธไม่ได้ว่า คนในยุคข้อมูลข่าวสารล้วนต้องวนเวียนอยู่กับเหตุการณ์ และเรื่องราวที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางช่วงบางเวลาอาจเกิดความสับสนทางความคิด หรือเกิดอาการหลงลืมขึ้นได้ว่า วันนี้ หรือพรุ่งนี้ฉันจะทำอะไรก่อนหลังดี
       
       ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น เด็ก ๆ ที่อยู่ในวังวนการศึกษาในระบบของการแข่งขัน หากรับข้อมูลโดยไม่มีการจัดระบบความคิดที่ดี ย่อมส่งผลต่อการเรียนรู้ และความจำได้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กควรจะมีเครื่องมือจัดการความคิด และข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และหนึ่งในเครื่องมือที่ว่านี้ก็คือ Mind Map ซึ่งเป็นผลงานการค้นพบของ "โทนี บูซาน" นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ
       
       กับเครื่องมือชนิดนี้ อ.ธัญญา ผลอนันต์ ผู้ก่อตั้งบูซานเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) และผู้บุกเบิกการใช้เครื่องมือดังกล่าว อธิบายให้ทีมงาน Life & Family ฟังว่า เป็นเครื่องมือจัดการความคิดที่นำเอาทักษะของสมองทั้งสองซีกโดยใช้การเชื่อมโยงกันของข้อมูล และจินตนาการในการปรับเปลี่ยนการจดบันทึกใหม่ โดยเน้นให้มีสีสัน และนำสัญลักษณ์ภาพวาดมาเกี่ยวข้อง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า ช่วยให้สมองมีความจำ แถมยังช่วยจัดระบบความคิดได้ดีอีกด้วย
       
       นับเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่ผู้บุกเบิกท่านนี้บอกว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถนำเครื่องมือชนิดนี้มาใช้สอนลูกได้ง่าย ๆ ในการวางแผนในชีวิตประจำวัน การเรียน รวมไปถึงการฝึกแก้ปัญหาที่ช่วยให้มองเห็นทางออกในภาพรวม นอกจากนั้นแล้วยังต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้อีกด้วยเพราะเป็นการใช้ความจริงกับจินตนาการเชื่อมโยงเข้าหากัน
       
       "การฝึกเขียน Mind Map สอนกันได้ตั้งแต่เล็ก ๆ ช่วยให้เด็กคิดเป็นระบบ และพัฒนาสมองให้เด็กจำได้ดีขึ้น หากลูกยังเขียนหนังสือไม่ได้ สามารถสร้าง Mind Map ได้ด้วยการหาภาพสิ่งของจากแคตตาล็อกมาตัดปะ เช่น อยากให้ลูกเรียนรู้คำศัพท์เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว อาทิ ในห้องน้ำมีสิ่งของจำเป็นอะไรบ้าง ก็หารูปมาตัดแปะลงบนกระดาษ A4 ในแนวนอนโดยใช้ภาพห้องน้ำเป็นหัวเรื่อง จากนั้นค่อย ๆ แตกกิ่งก้านออกไปเพื่อให้ลูกเห็นภาพรวมทั้งหมด
       
       หรือถ้าลูกเริ่มเขียนหนังสือได้บ้างแล้ว พ่อแม่ควรเป็นตัวนำชวนลูกทำมายด์แมปในหัวข้อต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ สมมติไปเที่ยวทะเลกลับมา ลองชวนกันย่อโลกใต้ทะเลให้อยู่ในกระดาษแผ่นเดียว และช่วยกันระดมความคิดว่า ในทะเลมีอะไรกันบ้าง จากนั้นนำมาแตกกิ่งเติมก้านในกระดาษโดยให้เด็กวาดภาพท้องทะเลเป็นหัวเรื่องไว้กลางแผ่นกระดาษก่อน ถัดจากนั้นค่อย ๆ แตกกิ่งแก้วออกมาเป็นปู เป็นปลา และหรือแตกกิ่งก้อยออกไปได้อีกว่า ปูมีปูพันธุ์อะไรบ้าง ซึ่งการเขียนแบบนี้จะช่วยให้เด็กคิดเป็น พร้อมทั้งจัดการ หรือสรุปความคิดในเรื่องต่าง ๆ ได้ดี"
       
       นอกจากนี้แล้ว อ.ธัญญาบอกต่อไปว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ Mind Map ฝึกให้เด็กรู้จักการวางแผนได้ดีอีกด้วย เช่น วางแผนการจับจ่ายซื้อของ หรือวางแผนการใช้เงิน ตลอดจนกิจวัตรของลูกในแต่ละวันเพื่อให้เห็นภาพรวมของหน้าที่ และความรับผิดชอบ เป็นต้น

สำหรับวิธีการเขียน Mind Map นั้น อ.ธัญญาได้แนะบันได 6 ขั้นไว้เป็นแนวทางให้กับพ่อแม่ดังต่อไปนี้
       
       1. เตรียมกระดาษ A4 สีขาวไม่มีเส้น วางตามแนวนอน โดยใช้ปากกาสีสันอย่างน้อย 6 เฉดสี โดยผลวิจัยพบว่า การจดอย่างมีสีสัน ช่วยเพิ่มความจำได้ถึง 78 เปอร์เซ็นต์
       
       2. แก่นกลางหน้ากระดาษ ให้ลูก ๆ จินตนาการหัวเรื่อง หรือหัวข้อที่ต้องการบันทึกเป็นภาพ จากนั้นวาดภาพสัญลักษณ์ไว้กลางหน้า อย่างน้อย 3 สี ขนาดประมาณเหรียญ 10 บาท เช่น Mind Map เรื่องโลกใต้ทะเลก็ให้ลูกวาดรูปทะเลไว้ตรงกลาง
       
       3. จากนั้นแตกกิ่งแก้ว หรือประเด็นสำคัญเป็นเส้นโค้งเรียวออกมารอบ ๆ และเชื่อมกับแก่นกลาง โดยให้คำอยู่บนเส้น ไม่ล้อมกรอบ และกิ่งแก้วควรเป็นกิ่งละสี
       
       4. นอกจากกิ่งแก้วแล้ว ยังสามารถช่วยลูกแตกกิ่งก้อยออกไปได้อีกด้วย ซึ่งเป็นการต่อเติม หรือแตกประเด็นรองในแต่ละกิ่งแก้ว ใช้สีเดียวกับกิ่งแก้ว และเส้นต้องเชื่อมต่อกันเสมอ
       
       5. ต่อมาเป็นการแตกกิ่ง สำรวจปลายกิ่งก้อย และกิ่งแก้วทุกกิ่งว่าสามารถต่อเติมอะไรได้อีกบ้าง
       
       6. เข้าสู่การแต่งสีเติมภาพ ซึ่งนอกจากสีแล้ว ภาพก็ช่วยในการจำด้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ช่วยฝึกให้ลูกเติมแต่งภาพให้กับคำตามกิ่งต่าง ๆ ตัดสีแต่งเส้นให้เด่นขึ้น โดยใช้ปากกาเน้นสีทำให้กิ่งสำคัญเด่นขึ้น เป็นอันเสร็จสิ้นการทำ Mind Map ร่วมกับลูก
       
       อย่างไรก็ดี เครื่องมือจัดการความคิดในชื่อ Mind Map อาจไม่ใช่เครื่องมือที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อย ๆ จะช่วยให้คุณ และลูก ๆ คิดเป็นระบบ และคิดอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น ส่งผลต่อการจำ และการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในโลกอนาคตต่อไป

ขอบคุณที่มาจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000045720

1. การเขียน "Mind Map" ใน "มุมมองของคุณ" ช่วยให้ "เด็ก" สามารถ "พัฒนาสมอง" ได้จริงหรือไม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่