เช็คเด้งทำสถิติ 1.2หมื่นล. พุ่งขึ้น 37 % SMEs เดี้ยง-กู้นอกระบบบาน

เช็คเด้งทำสถิติ 1.2หมื่นล. SMEs เดี้ยง-กู้นอกระบบบาน

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1392966809#



ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ธุรกิจเต็มกลืนปัญหาเศรษฐกิจ สายป่านสั้นใกล้ขาดเต็มที ธปท.แจงเดือน ม.ค. "เช็คเด้ง"ทำสถิติสูงสุดรอบ 20 เดือน มีมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้าน ชี้อาการ "เอสเอ็มอี" น่าเป็นห่วงแห่ใช้โอ/ดีหมุนเงิน เผย มี.ค.เห็นธุรกิจเล็ก-จิ๋วม้วนเสื่อด้านหนี้เสียเช่าซื้อรถพุ่งต่อเนื่อง ธุรกิจ ตจว.ปาดเหงื่อกำลังซื้อหาย เงินกู้นอกระบบเบ่งบาน

สถานการณ์ ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อกว่า 4 เดือน ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงภาคเศรษฐกิจ นอกจากจะกดดันต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนที่กระทบต่อตลาดการเงินและการลงทุน แล้ว ล่าสุดผู้ประกอบการธุรกิจก็เริ่มเกิดปัญหาหนักขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งปัญหากำลังซื้อและสภาพคล่องที่หดหาย

ม.ค.เช็คเด้งสูงสุดรอบ 20 เดือน

รายงาน จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับสถานการณ์การเรียกเก็บเงินตามเช็คทั่วประเทศพบว่า กรณีเช็คคืนไม่มีเงิน (เช็คเด้ง) ในเดือน ม.ค. 57 มีปริมาณทั้งสิ้น 76,583 ฉบับ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.22 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3.3 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นถึง 37%

สถานการณ์เช็ค เด้งที่พุ่งสูงของเดือน ม.ค. 57 ยังนับเป็นยอดที่สูงสุดในรอบ 20 เดือนที่ผ่านมา และนับเป็นทิศทางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือน พ.ย.-ธ.ค. 56 ซึ่งปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองเริ่มปะทุขึ้นและมีแนวโน้มยืดเยื้อ

นอกจากนี้ ปัญหาเช็คเด้งที่พุ่งขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่แล้ว ยังส่งผลให้ภาพรวมของปริมาณเช็คเด้งของปี 2556 พุ่งขึ้นไปถึง 771,322 ฉบับ มูลค่า 1.08 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปีย้อนหลัง

เงินชอร์ต-เบิกโอ/ดีพรึ่บ

นาย จิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นลูกค้าเบิกใช้วงเงินกู้เกินบัญชี หรือโอ/ดีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเอสเอ็มอีเริ่มประสบภาวะสภาพคล่องตึงตัวมาก เช่น บางรายเคยเบิกโอ/ดีอยู่ 4-5 ล้านบาท ก็เพิ่มเป็น 6-7 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่ากระแสเงินสดที่ไม่ได้เข้ามาตามปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการจ่ายเงินช้าลงของคู่ค้า หรือขายของได้น้อยลง จึงเกิดปัญหาสภาพคล่องเริ่มตึงตัว

"สัญญาณนี้แบงก์ก็ต้องติดตามมาก ขึ้น รวมถึงการอนุมัติวงเงินโอ/ดีของลูกค้าด้วย โดยต้องดูจากแผนสำรองของลูกค้าว่ามีอะไรบ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่อง เช่น ลดสต๊อก ลดกะทำงาน เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าธุรกิจก็ต้องคิดหาทางปรับตัวอยู่แล้ว เขาย่อมกลัวธุรกิจตัวเองเจ๊งอยู่แล้ว ก็ต้องดิ้นทุกวิถีทางที่จะลดต้นทุน หรือหาเงินสดเข้ามาเลี้ยงธุรกิจ ช่วงแรก ๆ อาจจะไม่ทันเพราะปัญหาเพิ่งเกิด ก็ต้องดึงเงินจากแบงก์มาหมุนก่อน" นายจิรัชยุติ์กล่าวและว่า

กลุ่ม ที่ธนาคารยังต้องจับตาดูใกล้ชิดเพิ่มคือ เอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เพราะปัญหาการเมืองอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติ แม้ช่วงนี้ค่าเงินบาทจะเป็นใจสำหรับผู้ส่งออก แต่อาจไม่มั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ การสั่งสินค้าหรือการผลิต รวมถึงระยะเวลาการจัดส่งสินค้าให้ทันกำหนด คู่ค้าในต่างประเทศอาจกังวลมากขึ้น ธนาคารก็ต้องติดตามใกล้ชิดเช่นกัน

เอสเอ็มอีรายจิ๋วเตรียมม้วนเสื่อ

ด้าน นายเวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ลูกค้าเอสเอ็มอีแย่ลงมาก เห็นได้จากตัวเลขการผิดนัดชำระค่าสินค้าและบริการที่เร่งตัวขึ้น ขณะที่การ ขยายตัวสินเชื่อในเดือน ม.ค.ก็อยู่ในระดับติดลบ โดยในส่วนของธนาคารกรุงไทยติดลบมากถึง 10,000 ล้านบาท เพราะลูกค้าไม่เบิกวงเงินใหม่ ขณะที่อีกด้านก็ชะลอการชำระเงินคืน หากสถานการณ์ลากยาวไปอีกแค่ 1 เดือน เชื่อว่าอาจจะเริ่มเห็นผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ที่มีวงเงินสินเชื่อ 10-20 ล้านบาท ต้องปิดกิจการลง

"ตอนนี้ถึงช่วงครบเครดิตเทอม 90 วันของลูกค้าพอดี จึงเห็นตัวเลขการผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นมาก และเห็นการเร่งตัวขึ้นของเช็คเด้งเช่นกัน เพราะลูกค้าเอสเอ็มอีอาการเริ่มแย่อย่างเห็นได้ชัด เจอพิษ 2 เด้ง หนี้เก่าเก็บไม่ได้ สินค้าใหม่ก็ขายไม่ออกไม่เคยเห็นปรากฏการณ์แบบนี้มาก่อน ทำให้ลูกค้าต้องตุนสภาพคล่องเท่าที่มีอยู่ไว้เพื่อสำรองจ่ายค่าน้ำ-ไฟ ค่าจ้างพนักงาน ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ในเดือน มี.ค.นี้อาจเห็นลูกค้าเริ่มปิดกิจการลงได้"

อย่างไรก็ตามขณะนี้ผล กระทบเริ่มขยายวงกว้างออกไปยังปริมณฑลและต่างจังหวัดมากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องส่งสินค้ามาที่กรุงเทพฯ

ที่ผ่าน มาเริ่มเห็นเอสเอ็มอีเข้ามาขอความช่วยเหลือมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะยังเป็นการขอเพิ่มสภาพคล่อง ขณะที่ลูกค้ารายกลางและรายใหญ่สถานการณ์การชำระหนี้และเครดิตระหว่างกันของ ลูกค้าโดยรวมยังอยู่ในระดับปกติ แต่หากปัญหาการเมืองลากยาวก็ไม่สามารถวางใจได้เช่นกัน

เช่าซื้อรถหนี้เสียพุ่ง

นอก จากนี้ ธปท.ยังได้รายงานสถานการณ์สินเชื่อที่เริ่มเห็นว่ามีปัญหาเพิ่มขึ้น โดยพบว่าอัตราหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเป็น 2.2% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 1.9% และอัตราผิดนัดชำระเกิน 1-3 เดือนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ถือว่ามีสถานการณ์น่ากังวล เพราะอัตราหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 2.0% จากเดิม 1.4% เท่านั้น

นาย อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ในปี 2556 อัตราหนี้เสียของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคารเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.7% สูงกว่าเป้าหมายที่ประเมินไว้ 3.5% และต้นปีนี้ก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกราว 0.5% เพราะสินเชื่อแทบจะไม่ได้เติบโตหลังหมดโครงการรถคันแรก รวมถึงธนาคารคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อด้วย

"ปีนี้เราคงต้องติดตาม ปัญหานี้ใกล้ชิดมาก เพราะตอนนี้ปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อกระทบให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เริ่มลามไปยังต่างจังหวัดแล้ว" นายอภินันท์กล่าว

ด้านนายอัครนันท์ ฐิตสิริวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปัญหากำลังซื้อและความสามารถชำระหนี้ที่ลดลง เริ่มเห็นผลกระทบมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะปัญหารถยึดที่เพิ่มสูงตั้งแต่ไตรมาส 4/56 ซึ่งข้อมูลจากการสอบถามผู้จัดการประมูลขายรถพบว่า มีรถยึดเข้ามาประมูลเพิ่มขึ้นมากพอสมควร ขณะเดียวกันยังพบปัญหาว่าผู้เข้าประมูลซื้อรถยึดก็น้อยลง และราคาประมูลรถยนต์ก็ตกต่ำลงพอสมควรราว 25-30% ทำให้สถานการณ์ค่อนข้างแย่ และประมูลขายรถออกไปได้ค่อนข้างน้อย

ตจว.เงินกู้นอกระบบเบ่งบาน

นาย นคร ศรีวิพัฒน์ รองประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรชาวนาในภาคอีสานหลายรายประสบปัญหาด้านการเงิน จากที่ไม่ได้รับเงินโครงการรับจำนำข้าว ต้องกู้หนี้ยืมสินจากเงินกู้ทั้งในระบบและนอกระบบมาใช้จ่าย บางรายต้องยอมกู้ดอกเบี้ยร้อยละ20 ต่อวัน เพราะไม่มีหลักทรัพย์ไปค้ำประกันแล้ว ซึ่งในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้เกษตรกรจะไปชุมนุมปิดถนนบริเวณถนนมิตรภาพช่วงลำตะคอง เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาจำนำข้าว และปัญหาราคาผลผลิตเกษตรตกต่ำ

"ขณะ นี้ชาวนาไม่มีกิน ต้องไปกู้เงินจากแหล่งกู้ดอกโหดแทบทุกราย ซึ่งไม่ใช่แค่ต้องกินอยู่ แต่ต้องหาเงินเพื่อมาลงทุนปลูกพืชสำรองใหม่เพิ่ม เพื่อหาเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายลูกในช่วงใกล้เปิดเทอม ส่งผลให้เกษตรกรเจอปัญหาหลายด้าน ทำให้ต้องกู้เงินอย่างเดียวเพราะไม่มีรายได้อื่นมาทดแทน"

แหล่งข่าว จากผู้ประกอบการธุรกิจลีสซิ่งในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามเปิดผยว่า นับแต่ช่วงปลายปี 2556 จนมาถึงปัจจุบันมีเกษตรกรนำสมุดทะเบียนรถจักรยานยนต์มาจำนำเป็นหลักทรัพย์ เพื่อต้องการเงินสดไปใช้จ่ายในครัวเรือนเพราะยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับ จำนำข้าวกว่า 30% ส่วนการกู้เงินนอกระบบเน้นปล่อยให้เฉพาะกลุ่มแม่ค้าพ่อค้าเท่านั้น ส่วนชาวไร่ชาวนาหากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันรับรองจะไม่ค่อยมีนายทุนกล้า ปล่อย

นายบุญชู ภุชงค์ประเวศ ประธานหอการค้าจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า การที่รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนาส่งผลให้กำลังซื้อช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ชะลอตัวลง 30-40% หากรัฐยังไม่เร่งจ่ายเงินคาดว่าจะทำให้ธุรกิจในนครปฐมชะลอตัวไปจนถึงสิ้นปี โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งธุรกิจปุ๋ย ยาฆ่าแมลง รถไถนา รถเกี่ยวข้าว และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำนา

นายคมกฤชช์ ธรรมรัตนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า เศรษฐกิจในพื้นที่มีสัญญาณการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวนามากกว่า 60% ที่ได้รับผลกระทบจาก โครงการรับจำนำข้าว และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคธุรกิจดีลเลอร์รถมอเตอร์ไซค์ ร้านทอง รวมทั้งธุรกิจร้านอาหารและสถานบันเทิง นอกจากนี้ร้านยี่ปั๊วซาปั๊วขนาดใหญ่ที่ส่งสินค้าไปให้ร้านค้าขนาดเล็กในต่าง อำเภอได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยลูกค้าขอเลื่อนการจ่ายเงินออกไป ทำให้เริ่มขาดสภาพคล่อง และหากรัฐบาลเร่งจ่ายเงินจำนำข้าวช้าเท่าไหร่ จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่