การปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวก

กระทู้สนทนา
จะต้องถึงพร้อมด้วยธรรมใด ?

ผู้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า,   พระปัจเจกพุทธเจ้า,   หรือพระสาวก   ต้องถึงพร้อมด้วยธรรม  ดังต่อไปนี้

หากปรารถนาให้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า    ต้องถึงพร้อมด้วย    ธรรมสโมธาน  ๘
หากปรารถนาให้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า    ต้องถึงพร้อมด้วย    ธรรม  ๕  
และหากปรารถนาให้สำเร็จเป็นพระสาวก    ต้องถึงพร้อมด้วย    ธรรม  ๒  


๑. การปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า

ธรรมสโมธาน  ๘    ให้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ  

        สำหรับผู้ตั้งปณิธานเพื่อจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น  ขณะนั้นจะต้องพรั่งพร้อมด้วยธรรม  ๘  ประการ  (เรียกว่าธรรมสโมธาน -  
การประชุมพร้อมของธรรม)  ความปรารถนาของผู้นั้นจึงจักสำเร็จได้  คือ

        ๑.  มนุสฺสตฺตํ -  ความเป็นมนุษย์   อธิบายว่า   ท่านผู้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า  ในชาตินั้นจะต้องมีอัตภาพเป็นมนุษย์  เป็นผู้ไม่
พิการ  และมีสติปัญญาติดตัวมาแต่ปฏิสนธิ  หากไม่ใช่มนุษย์ที่มีคุณสมบัติอย่างนี้  ความปรารถนาก็จักไม่สำเร็จ

       ๒.  ลิงฺคสมฺปตฺติ - ความถึงพร้อมด้วยเพศ  อธิบายว่า  ท่านผู้ปรารถนาพุทธภูมิ  ในชาตินั้น  นอกจากต้องมีอัตภาพเป็นมนุษย์แล้ว
ยังจะต้องเป็นบุรุษเพศเท่านั้น  ความปรารถนาพุทธภูมิจักไม่สำเร็จแก่สตรี  กระเทย  คนไม่มีเพศและคนสองเพศ

        ๓.  เหตุ - ความบริบูรณ์ด้วยเหตุ   อธิบายว่า   ท่านผู้ปรารถนาพุทธภูมิ  นอกจากจะต้องเป็นเพศชายแล้ว   ยังต้องมีคุณสมบัติคือ
บารมีสมบูรณ์พร้อมบรรลุพระอรหัตเป็นพระอรหันต์ได้ในชาตินั้น  แต่ไม่พอใจปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์   เพราะเกิดความพอใจ
ในพระสัมมาสัมโพธิญาณมากกว่าความเป็นพระอรหันตสาวก

        ๔.  สตฺถารทสฺสนํ - การพบพระศาสดา  อธิบายว่า  ท่านผู้ปรารถนาพุทธภูมินั้นจะต้องปรารถนาพุทธภูมิในขณะพบเห็นหรือเข้า
เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า    หากปรารถนาในเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วย่อมไม่สำเร็จ     แม้จะตั้งความปรารถนา
ในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระสาวกของพระพุทธเจ้าก็ไม่สำเร็จ

        ๕.  ปพฺพชฺชา - การถือบรรพชา  อธิบายว่า ในชาตินั้นท่านผู้ปรารถนาพุทธภูมิ  นอกจากจะได้พบพระพุทธเจ้าแล้ว  ขณะปรารถนา
พุทธภูมินั้นจะต้องอยู่ในเพศของนักบวช     หรือบรรพชิต    โดยอาจบวชเป็นบรรพชิตในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าก็ได้     หรือบวช
เป็นดาบสหรือปริพาชกอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีความเห็นชอบเรื่องกรรม   และผลของกรรม   (กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ)    ความปรารถนา
พุทธภูมิเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์   ย่อมไม่สำเร็จ

        ๖.  คุณสมุปตุติ -  ความถึงพร้อมด้วยคุณ     อธิบายว่า     ในชาตินั้นท่านผู้ปรารถนาพุทธภูมิซึ่งอยู่ในเพศนักบวชนั้น    ยังต้องมี
คุณสมบัติพิเศษกว่านักบวชทั่วไป   คือ  ต้องได้สมาบัติ  ๘  และอภิญญา  ๕  ด้วย   จึงจักสำเร็จ   (ได้คุณระดับโลกียธรรมสูงสุด   แต่
ไม่บรรลุโลกุตตรธรรมใดๆ   แม้แต่อย่างเดียวเลย)

        ๗.  อธิกาโร - การกระทำอันยิ่งใหญ่   อธิบายว่า   ท่านผู้ปรารถนาพุทธภูมินั้น    แม้จะถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติตามที่กล่าวมาแล้ว
ในชาตินั้นก็ยังทำการอันยิ่งใหญ่เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตนได้พบนั้น        เช่นที่สุเมธดาบสบริจาคชีวิตของตนด้วยการนอน
บนร่องน้ำอันชุ่มด้วยน้ำและโคลน      ให้พระพุทธเจ้าทีปังกรและหมู่สงฆ์เหยียบเสด็จดำเนินข้าม       หากไม่กระทำการยิ่งใหญ่เช่นนี้     
ความปรารถนาก็สำเร็จไม่ได้

        ๘.  ฉนฺทตา - ความเป็นผู้มีฉันทะ   อธิบายว่า  ท่านผู้ปรารถนาพุทธภูมินั้น   แม้จะมีคุณสมบัติถึงพร้อมทั้ง  ๗  ข้อแล้วก็ยังไม่พอ
จะต้องเป็นผู้มีใจประกอบด้วยฉันทะ    คือ    ความรักความพอใจอย่างแรงกล้า   มีความอุตสาหะ   ความพยายามในการแสวงหาพระ
โพธิญาณอย่างยิ่ง     ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเล็กใหญ่      แม้จักรวาลทั้งหมดจะเต็มไปด้วยน้ำ     ก็ไม่หวาดหวั่นที่จะว่ายน้ำจากฝั่งหนึ่ง
ไปยังอีกฝั่งหนึ่ง   หรือให้อยู่ในนรกนาน   ๔   อสงไขยแสนกัป   เพื่อแลกกับการได้เป็นพระพุทธเจ้าก็พร้อมจะกระทำ

        ครั้นผู้ปรารถนาพุทธภูมิใคร่ครวญแล้ว    พบว่าตนเองมีคุณสมบัติตามธรรมสโมธาน  ๘   ประการนี้แล้ว    ก็มั่นใจได้ว่าตนเองจัก
ได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคต

        และธรรมสโมธาน   ๘   ประการนี้แล    อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะนั้นทรงใช้พิจารณาว่าผู้ปรารถนาพุทธภูมิจะสำเร็จสมความ
ปรารถนาหรือไม่ ?  หากทรงเห็นว่าธรรมสโมธานของผู้นั้นเข้มข้นแน่นอน  ก็จะทรงพยากรณ์ว่าผู้นั้นจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ในระยะเวลา
นานเท่าใดในอนาคต ?   เมืองใด ?   ประทับต้นไม้ใดตรัสรู้ ?   ดังนี้เป็นต้น    หากพบว่าผู้นั้นมีคุณสมบัติไม่พอ   ก็จักไม่ทรงพยากรณ์

        

        ธรรมสโมธาน  ๘  นี้     เรียบเรียงจากที่มาเหล่านี้   คือ   ขุ.พุทฺธ.๓๓/๕๙/๔๕๓  (ฉ.มจร.)  อปทาน.อ.๘/๑/๓๗-๔๐,๒๖๗-๒๖๙,  
จริยา.อ.๙/๓/๓๑,   พุทฺธ.อ.๙/๒/๒๐๘-๒๑๒,  ชาดก.อ.๓/๑/๒๔-๒๖,  องฺ.อ.๑/๒/๑๖๖,  อุทาน.อ.๑/๓/๒๒๔,   สุตฺต.อ.๑/๕/๑๐๖-๑๐๙  
(ฉ.มมร.)  เป็นต้น  




๒.  การปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

ธรรม  ๕     ให้สำเร็จพระปัจเจกโพธิญาณ  

        ส่วนท่านผู้ปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า  ในชาตินั้นจะต้องพรั่งพร้อมด้วยธรรม  ๕  ประการ  คือ  มนุสฺสตฺตํ ๑   สิงคสมฺปตฺติ  ๑
วิคตาสวทสฺสนํ   (การได้เห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ  คือเห็นพระพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า  หรือพระอรหันตสาวก) ๑      อธิกาโร  ๑
ฉนฺทตา  ๑   (คือยกเว้น  ๓  ข้อใน  ๘  ข้อ)




๓.  การปรารถนาเป็นพระสาวก

ธรรม  ๒    ให้สำเร็จสาวกโพธิญาณ  

        สำหรับท่านที่ตั้งความปรารถนาเป็นพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   ในชาตินั้นจะต้องพรั่งพร้อมด้วยธรรม  ๒  ประการ  
คือ    อธิกาโร  ๑      ฉนฺทตา  ๑    (ยกเว้น  ๖  ข้อใน  ๘  ข้อ,   ดู  สุตฺต.อ.๑/๕/๑๑๑)

        เมื่อศึกษาประวัติของพระมหาสาวก   ๔๑   รูปแล้ว   จะพบว่า  องค์  ๒  หรือธรรม  ๒  ประการนี้เป็นแกนสำคัญในความสำเร็จเป็น
พระมหาสาวก     คือ     ในชาติที่ท่านตั้งความปรารถนาเป็นเอตทัคคะนั้น     บางท่านเป็นมนุษย์     บางท่านก็ไม่ได้เป็นมนุษย์     เช่น  
อดีตชาติของพระราหุลเป็นนาคราช             จึงไม่มีกฏตายตัวว่าจะต้องเป็นมนุษย์เหมือนท่านผู้ปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณหรือ
พระปัจเจกโพธิญาณ
   
        แต่ว่าผู้ปรารถนาเป็นเอตทัคคะนั้น  ในชาตินั้นจะต้องพบเห็นภิกษุแบบอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจ  และได้เปล่งวาจาปรารถนาความ
เป็นอย่างนั้นต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้า   ดังนี้เป็นต้น
  
        พระมหาสาวกที่ไม่ได้ปรารถนาเป็นเอตทัคคะ  นับแต่ชาติที่เริ่มบ่มโพธิญาณนั้น  ไม่มีการระบุว่าจะต้องพบพระพุทธเจ้า  บางรูปพบ
และทำกุศลกับพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือภิกษุสาวกในสมัยนั้นๆ  และชาติต่อๆมาก็อาจจะได้พบพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อๆมาบ้าง  จนครบ
เวลาบำเพ็ญบารมี

        เมื่อท่านเหล่านั้นพอใจในการที่จะเป็นพระมหาสาวกในอนาคตแล้ว   ท่านจะบำเพ็ญบารมี  ๑๐  คือ  ทานบารมี ๑    ศีลบารมี ๑
เนกขัมมบารมี ๑     ปัญญาบารมี ๑     วิริยบารมี ๑     ขันติบารมี ๑     สัจบารมี ๑     อธิษฐานบารมี ๑     เมตตาบารมี ๑      และ
อุเบกขาบารมี ๑     โดยมีปัญญานำหน้า     ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ...


        "ปัญญาบารมีของพระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลาย      (หมายถึงผู้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า)     อันบารมีทั้งหลายมีทานบารมีเป็นต้น  
บำรุงเลี้ยงแล้ว    ย่อมก่อตัวแล้วให้เจริญแก่กล้า    ยังพระพุทธญาณให้บริบูรณ์โดยลำดับ   ฉันใด
        ปัญญาบารมี  (ของพระปัจเจกโพธิสัตว์และพระสาวกโพธิสัตว์)    อันบารมีทั้งหลายมีทานบารมีเป็นต้น   บำรุงเลี้ยงแล้วย่อมก่อตัว
ให้เจริญแก่กล้า   ยังพระปัจเจกโพธิญาณและพระสาวกโพธิญาณให้บริบูรณ์ตามสมควรโดยลำดับ"


                                                                                                                                                                        (ดู  เถร.อ.๑/๑๙-๒๑)




ธรรมพิเศษที่ช่วยหล่อหลอมให้สำเร็จตามแรงปรารถนา

        ท่านชี้แจงในเรื่องนี้ไว้ว่า ...

        "แท้จริงด้วยการสั่งสมทานไว้    ท่านเหล่านี้จึงเป็นผู้มีใจไม่ข้องอยู่ในกิเลสทั้งปวง    เป็นผู้มีจิตไม่เพ่งเล็งเพราะมีอัธยาศัย
ไม่ละโมบในภพนั้นๆ  ด้วยการสั่งสมศีลไว้  จึงเป็นผู้มีกาย  วาจา  และการงานบริสุทธิ์ด้วยดี

        เพราะมีกาย  วาจา   สำรวมดีแล้ว  มีอาชีพบริสุทธิ์  มีอินทรีย์สังวร  โภชเนมัตตัญญุตาแล้ว    ตั้งจิตมั่นด้วยชาคริยานุโยค

        การประกอบความเพียรของท่านเหล่านั้น  พึงทราบด้วยการบำเพ็ญปัจจาคติกวัตรที่ทำไว้แล้ว

        ก็สมาบัติ  ๘  อภิญญา  ๕  หรืออภิญญา  ๖   และบุพภาควิปัสสนาอันเป็นอธิษฐานธรรม   (ความตั้งใจมั่นในธรรมพิเศษ
และบารมีทั้งหลายจะทำให้เข้าสู่เบื้องต้นของวิปัสสนาง่าย)   ย่อมอยู่ในเงื้อมมือของท่านผู้ปฏิบัติอยู่เช่นนี้ได้โดยไม่ยากทีเดียว
ส่วนคุณธรรมมีวิริยะเป็นต้น  ก็หยั่งลงสู่ภายในแห่งบุพภาควิปัสสนานั้นทีเดียว... "

        นอกจากนี้แล้ว  ท่านยังว่าสมถะและวิปัสสนาก็ล้วนเป็นธรรมอุดหนุนการบำเพ็ญเช่นเดียวกันกับบารมี ๑๐  (ดู  เถร.อ.๑/๒๑-๒๒)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่