รางวัล “ผู้นำพุทธโลก” กับข้อสังเกต 3 ประเด็น

อ้างอิงข้อมูลข่าวจากสำนักข่าว thaipublica  " กล้าพูดความจริง "  (ภาพและตำแหน่ง อ่านได้ในลิงค์ครับ)

http://thaipublica.org/2014/02/world-buddhist-outstanding-leader-award/


รางวัล “ผู้นำพุทธโลก” กับข้อสังเกต 3 ประเด็น   “เครือข่ายธรรมกายเยอะสุด-ผลประโยชน์ทับซ้อนจัดเองรับเอง-คุณสมบัติบิดเบี้ยว”

เผยมีชื่อ”ศุภชัย ศรีศุภอักษร”อดีตประธานสหกรณ์ฯคลองจั่นด้วย

10 กุมภาพันธ์ 2014

ในวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ร่วมกับ องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ยพสล.) จะมีการจัดงานมอบรางวัล “ผู้นำพุทธโลก” ครั้งที่ 1 ขึ้น ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ทางพุทธศาสนา พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในการมอบรางวัล

นายอำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถลงเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมาว่า การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ให้กำลังใจกับผู้นำชาวพุทธทั้งในและต่างประเทศ ที่เสียสละอุทิศตนปกป้อง สนับสนุน เผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องและโดดเด่น นอกจากนี้ยังร่วมฉลองเทศกาลมาฆบูชาแห่งชาติที่ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ด้วย

ขณะที่ นพ.พรชัย พิญญพงษ์ ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก กล่าวว่า ผู้ที่รับรางวัล “ผู้นำพุทธโลก” ในครั้งนี้ มีทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งพระภิกษุ บุคคล และองค์กร โดยมีผู้เข้ารับรางวัลทั้งหมด 27 ประเทศ รวม 178 ราย แยกเป็นประเทศไทย 104 ราย โดยแบ่งเป็นพระภิกษุ 38 รูป บุคคลธรรมดา 61 คน และองค์กรอีก 5 องค์กร ในขณะที่ผู้รับรางวัลจากต่างประเทศมีจำนวน 74 ราย โดยแบ่งเป็นพระภิกษุ 40 รูป บุคคลธรรมดา 29 คน และองค์กรอีก 5 องค์กร

ทั้งนี้ คณะกรรมการในการจัดงานดังกล่าวมีตัวแทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้แทนองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้ประชุมไปตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา และมีการประกาศรายชื่อไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2557 (ดูรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัล)

ทั้งนี้รายชื่อผู้ได้รับรางวัลที่มาจากทุกวงการ ทั้งพระภิกษุ ผู้นำองค์กรพุทธ นักวิชาการทางพระพุทธศาสนา ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ สื่อมวลชน ศิลปิน นักร้องนักแสดง ประชาชนผู้ปฏิบัติธรรม และองค์กรต่างๆ

อย่างไรก็ตามสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า พบข้อสังเกตบางอย่างจากรายชื่อผู้ได้รับรางวัล ซึ่งขอสรุปออกมาเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

นายศุภชัย ศรีศุภอักษร(ซ้าย)หลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดธรรมกายและนพ.พรชัย พิญญพงษ์ (ขวา) ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก รับรางวัลผู้นำพุทธโลก
นายศุภชัย ศรีศุภอักษร(ซ้าย)หลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดธรรมกายและนพ.พรชัย พิญญพงษ์ (ขวา) ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก รับรางวัลผู้นำพุทธโลก
ผู้ที่ได้รับรางวัลหลายรายมาจากเครือข่ายวัดพระธรรมกาย

จากรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัล “ผู้นำพุทธโลก” ในประเภทพระภิกษุ 38 รูปจากประเทศไทย พบว่ามีพระภิกษุจากวัดทั่วทุกภาคของประเทศ โดยวัดพระธรรมกายมีจำนวนพระภิกษุที่ได้รับรางวัลมากที่สุดคือ 3 รูป ประกอบไปด้วย พระเทพญาณมหามุนีหรือหลวงพ่อธัมมชโย(ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)เจ้าอาวาสวัดธรรมกาย, พระราชภาวนาจารย์ (เผด็จ ทตฺตชีโว) และพระครูปลัดภูเบศ ฌานาภิญโญ ส่วนพระครูปลัดทวี พฺรหฺมเทโว จากศูนย์อบรมเยาวชนผาสุกวนิช จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของวัดพระธรรมกาย ก็ได้รับรางวัลนี้เช่นกัน

ในขณะที่มีพระภิกษุจากวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร ได้รับรางวัล “ผู้นำพุทธโลก” รองลงมามี 2 รูป คือ พระธรรมวราจารย์ (แบน กิตฺติสาโร) และพระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) และจากวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร 2 รูป คือ พระพรหมเวที (สนิท ชวนปญฺโญ) และพระราชเมธี (วิชา อภิปญฺโญ) ส่วนพระภิกษุที่เหลือมาจากวัดต่างๆ ทั่วประเทศกระจายกันไป

ด้านพระภิกษุจากต่างประเทศที่ได้รับรางวัลนี้พบว่ามี 4 ท่านที่มาจากสาขาของวัดพระธรรมกายในต่างประเทศ (Dhammakaya International Meditation Center หรือ DIMC) คือ Phramaha Somchai Thanavuddho (M.D, Ph.D.) จาก DIMC ประเทศญี่ปุ่น, Phrakrubhavanathiradham (Phajon Theradammo) จาก DIMC ประเทศเยอรมัน, Phrakruvitetpanyaborn(Somboon Sammapunyo) จาก DIMC แคลิฟอร์เนีย ประเทศอเมริกา และ Phrakru Vinaithorn Bundit Varapunyo จาก DIMC แอฟริกาใต้

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานโครงการบูรณะสถานที่ประสูติ ลุมพินี ประเทศเนปาล มาร่วมถวายสังฆทานพระธุดงค์ ที่สนามธูปเตมีย์ และนพ.พรชัย พิญญพงษ์(ซ้ายสุด) เมื่อปลายเดือนมกราคม 2557 ที่มาภาพ : เฟชบุ๊กพรชัย พิญญพงษ์
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานโครงการบูรณะสถานที่ประสูติ ลุมพินี ประเทศเนปาล มาร่วมถวายสังฆทานพระธุดงค์ ที่สนามธูปเตมีย์ และ นพ.พรชัย พิญญพงษ์ (ซ้ายสุด) เมื่อปลายเดือนมกราคม 2557
ที่มาภาพ: เฟชบุ๊กพรชัย พิญญพงษ์
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลประเภทนักการเมืองมี ดร.ประกอบ จิรกิติ, ดร.ลีลาวดี วัชโรบล ซึ่งทั้งสองท่านล้วนเป็นศิษย์ของวัดพระธรรมกาย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ส่วน ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา เป็นอดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิธรรมกาย

ด้านนักธุรกิจทั้ง นายอนันต์ อัศวโภคิน, นายบุญชัย เบญจรงคกุล และนายสุวิทย์ วิมุตตานนท์ ต่างก็เป็นศิษย์ผู้มีชื่อเสียงวัดพระธรรมกายทั้งสิ้น ส่วนนางนวรัตน์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ ก็เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย

ด้านสื่อมวลชนและศิลปินเองก็เช่นกัน ที่ผู้ได้รับรางวัลหลายท่านเป็นศิษย์ของวัดพระธรรมกาย เช่น นางวิรงรอง รัตนฉายา, นางศศินา วิมุตตานนท์, นายองอาจ ธรรมนิทา, นางสาววรรณนรี ไตรเนตร และนายลือพงษ์ ลีลพนัง ซึ่งเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย ก็รวมอยู่ในนั้น

ส่วนองค์กรที่ได้รางวัล “ผู้นำพุทธโลก” มีสถานีวิทยุโทรทัศน์ดาวเทียมเพื่อพระพุทธศาสนา (Dhamma Media Channel) หรือ DMC ที่เป็นสถานีดาวเทียมของวัดพระธรรมกายรวมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ ตัวอย่างรายชื่อข้างต้นเป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้น เนื่องจากบุคคลในวงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมาก ทั้งที่เป็นพระภิกษุและบุคคลธรรมดา ในขณะที่ผู้ได้รับรางวัล “ผู้นำพุทธโลก” หลายท่านกลับมาจากเครือข่ายของวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการให้รางวัลในครั้งนี้มีการกระจายรางวัลไปสู่บุคคลในวงการพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางพอหรือไม่ และคณะกรรมการผู้ให้รางวัลมีเกณฑ์การตัดสินอย่างไรบ้าง

คณะกรรมการพิจารณาตัดสินให้รางวัลตัวเอง

การตัดสินให้รางวัล “ผู้นำพุทธโลก” ในครั้งนี้ นพ.พรชัย พิญญพงษ์ ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดงานให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการที่ตัดสินให้รางวัลนี้ประกอบไปด้วย หนึ่ง ตัวแทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สอง ตัวแทนจากองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก และ สาม คณะผู้ทรงคุณวุฒิ

โครงสร้างผู้บริหารสำนักพุทธ
เมื่อพิจารณาดูจากรายชื่อจะพบข้อสังเกตที่อาจเข้าข่าย Conflict of Interest คือ ผู้ที่ได้รับรางวัล “ผู้นำพุทธโลก” จากกลุ่มข้าราชการ 8 คน มีอยู่ 4 คนที่มาจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คือ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอีก 3 ท่าน คือ ดร.อำนาจ บัวศิริ, ดร.กนก แสนประเสริฐ และนายพนม ศรศิลป์

คณะกรรมการ 11 คน องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
คณะกรรมการ 11 คน องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
ขณะที่คณะกรรมการจากองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกหรือ WFBY ทั้ง 11 คน ซึ่งรวม นพ.พรชัย พิญญพงษ์ ต่างก็ได้รับรางวัล “ผู้นำพุทธโลก” ด้วยเช่นกัน แต่อยู่ในหมวดหมู่ของผู้ที่ได้รับรางวัลจากต่างประเทศ

“ศุภชัย ศรีศุภอักษร” สหกรณ์เครดิตฯ คลองจั่น ผู้ถูกข้อกล่าวยักยอกทรัพย์รับรางวัลนี้ด้วย

อีกหนึ่งข้อสังเกตคือ หนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัล “ผู้นำพุทธโลก” ครั้งนี้มีชื่อของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานคณะกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และเป็นหนึ่งในศิษย์ของวัดพระธรรมกายรวมอยู่ด้วย และก่อนหน้านี้สำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้นำเสนอข่าวกรณีที่นายศุภชัย ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอตั้ง ข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์ และถูกกรมส่งเสริมสหกรณ์สั่งปลดออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และในปี 2556 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นยังไม่สามารถถอนเงินจากสหกรณ์ได้ สร้างความเดือดร้อนให้สมาชิกเป็นอย่างมาก เนื่องจากสหกรณ์ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง(อ่านรายละเอียดข่าวซีรีส์เกาะติดความเคลื่อนไหวสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่น)

เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า แม้นายศุภชัยจะถูกข้อกล่าวหาและถูกปลดออกจากตำแหน่ง แต่คณะกรรมการตัดสินมอบรางวัล “ผู้นำพุทธโลก” ให้บุคคลดังกล่าว โดยคุณสมบัติของผู้รับรางวัลนี้จะมอบให้กับผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ทั้งภายในและต่างประเทศ ด้วยความตั้งใจ ทุ่มเท เสียสละ อุทิศชีวิต เพื่อปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุน และเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างโดดเด่น

นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
นอกจากนี้ยังมีชาวพุทธที่ได้รับรางวัล “ผู้นำพุทธโลก” อีกมากมายจากทั่วโลก ที่ยังคงรักษาคุณงามความดีของศาสนาพุทธเอาไว้ได้แม้จะอยู่ในสถานที่ที่ไม่เอื้ออำนวย ยกตัวอย่างเช่น พระภิกษุจากประเทศบังกลาเทศและอินเดียที่ประชาชนส่วนมากนับถือศาสนาอื่น จนศาสนาพุทธแทบจะหายไปแล้วในประเทศนั้นๆ และพระภิกษุที่มาจากพื้นที่ความไม่สงบในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ตาม การตั้งข้อสังเกตทั้ง 3 ประเด็น เป็นเพียงการตั้งสมมติฐานบนข้อเท็จจริงเท่านั้น เพื่อตรวจสอบการให้รางวัลกับชาวพุทธที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศและมนุษยชาติ ว่ามีความเป็นธรรมโปร่งใสและควรค่าแก่การยกย่องบูชาถูกต้องแล้วหรือไม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่