ความสำคัญของหัวใจพระพุทธศาสนา



ในวาระดิถีวันมาฆบูชาเวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง เราชาวพุทธพึงมาปฏิบัติบูชา เพื่อให้เกิดประโยชน์ตนประโยชน์ท่านอย่างสูงสุดเป็นพุทธบูชา น้อมนำผลการปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในตน

เมื่อกล่าวถึงการปฏิบัติบูชาแล้ว มักมีความเข้าใจไปในหลายทิศทาง โดยขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน นำมาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว

ด้วยพระพุทธพจน์ได้มีการถ่ายทอดสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน การที่ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานนั้น ย่อมต้องมีส่วนผสมปนเปเกิดขึ้นจนยากแก่การแยกแยะระหว่างสาระดั้งเดิม กับส่วนที่เพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นเข้ามาใหม่ในภายหลังตามมติของตน

ตำรา(ปิฎก)ที่มีอยู่ ย่อมมิใช่สาระหลัก แต่ก็มีความสำคัญยิ่งเช่นกัน มีไว้เพื่อตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง เอาไว้เรียนกันเท่านั้น

ส่วนที่จะนำมาเป็นผลปฏิบัติบูชาให้เกิดประโยชน์ในตนได้อย่างแท้จริงนั้น ย่อมต้องพิจารณาจาก โอวาทปาฏิโมกข์ ที่ทรงแสดงใน วันมาฆบูชา หรือที่เรียกว่า หัวใจพระพุทธศาสนา มีดังนี้คือ
๑.ละชั่ว
๒.ทำดี
๓.ชำระจิตใจของตน(ไม่ใช่ของผู้อื่น)ให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย


เมื่อเห็นข้อธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วในโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ย่อมต้องนำมาพิจารณาเพื่อน้อมนำไปสู่การปฏิบัติธรรมให้เกิดขึ้น มีขึ้นในตนให้ได้ ต้องพิจารณาให้เข้าถึงเหตุแห่งการกระทำทั้งหลายที่จะทำให้เกิดการละชั่ว ทำดีให้ปรากฏขึ้นแก่ตน เมื่อพิจารณามองหาเหตุแห่งธรรม ย่อมเห็นเหตุแห่งธรรมนั้น เนื่องเพราะความคิดที่เรียกว่าสังขารปรุงแต่งให้เป็นไปในทางที่ดี หรือทางที่ชั่ว นั่นเอง

พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักการละเหตุแห่งธรรมนั้นไว้ ในอริยมรรคมีองค์ ๘ (ทางอันเอก) ในข้อที่ ๖ คือ สัมมาวายามะ ซึ่งอยู่ในองค์แห่งสมาธิ มีองค์ประกอบดังนี้คือ

ละอกุศลกรรมที่เกิดขึ้น(ที่จิต)ให้หมดไป
ละอกุศลกรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น(ที่จิต)
สร้างกุศลกรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น(ที่จิต)
กุศลกรรมที่เกิดขึ้น(ที่จิต)แล้ว ให้เจริญยิ่งขึ้นไป

(ตรงกับหัวใจพระพุทธศาสนา ข้อ ๑ และข้อ ๒)

แต่ก็ยังมีความเข้าใจไปในหลายทิศทาง สำหรับพวกที่ติดสบายๆ ง่ายๆ และลัดสั้นอยู่มากมายว่า เพียงแค่รู้จักคิดหรือคิดให้เป็นก็เห็นได้ หรือที่นิยมเรียกว่า พิจารณาวิปัสสนา(นึก)ปัญญา คือคิดจนรู้เห็นตามความเป็นจริงได้เช่นกัน (เป็นความเชื่อ) ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว การคิดได้ ไม่ใช่ว่าจะละได้ มีอยู่ว่าที่คิดได้ แต่ก็ยังตกเป็นทาสแห่งความคิดนั้นมากมายนับไม่ถ้วน

เมื่อกล่าวถึงเรื่องความคิดหรือรู้จักคิดแล้ว มักมองไปว่าคนที่มีการศึกษาสูงๆ มีชาติตระกูล มีปริญญาหลายใบ มีฐานะดี ย่อมต้องรู้จักคิดหรือคิดเป็น "ใช่" ต้องบอกว่าเค้ารู้จักคิดหรือคิดเป็นจริงๆ ในสิ่งที่เค้าได้เรียนรู้ หรือได้ทำการงานมาจนมีฐานะ ไม่ใช่รู้จักคิดในการเลิกละกิเลส ตัณหาความทะยานอยากที่มีในตน

ในทางพระพุทธศาสนานั้น การมีปัญญาเลิกละกิเลส หรือคิดเป็นนั้น คือ ต้องรู้จักวิธีปล่อยวางกิเลส ตัณหาความทะยานอยากในตนออกไปให้ได้ จึงจักได้ชื่อว่ารู้จักคิด หรือที่เรียกว่า คิดเป็น จึงเห็นแจ้งตามความเป็นจริงได้

การที่จะรู้เห็นแจ้งตามความเป็นจริงได้นั้น ต้องทำความรู้จักหัวใจพระพุทธศ่าสนาในข้อ ๓ ที่ว่าด้วยเรื่อง การชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย

เป็นธรรมดามาก การที่จะชำระสิ่งสกปรกโสมมให้หมดไปได้นั้น ต้องลงมือทำชำระชะล้างอย่างจริงจังเท่านั้น จึงจะเป็นไปได้ และสิ่งที่จะชำระจนสะอาดบริสุทธิ์ได้นั้น สภาพเดิมของสิ่งนั้น ต้องมีความสะอาดเป็นทุนเดิมอยู่ก่อน แต่ได้มาถูกสิ่งสปรกโสมม มาทับถมให้เกิดขึ้นในภายหลัง เราจึงจะสามารถชำระชะล้างสิ่งนั้นให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ ถ้าสิ่งนั้นมีสกปรกโสมมเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนหน้าแล้ว เราไม่อาจสามารถทำ(ชำระ)ให้บริสุทธิ์หมดจดได้เลย

เมื่อพูดถึงหัวใจพระพุทธศาสนาข้อที่ ๓ ต้องมาพิจารณาถึงทางอันเอกเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ในข้อ ๗ และข้อ ๘ ที่ว่าด้วย สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ทำให้จิตรวมลงเป็นสมาธิ) ซึ่งก็เทียบเคียงลงกันได้กับ สติปัฏฐาน ๔ ที่ว่าด้วย กาย เวทนา จิต ธรรม ในบรรพะแรกที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึง อานาปานสติ ที่ทำให้เกิดสัมมาสมาธินั่นเอง คือ ต้องภาวนาให้เป็น จึงจะรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ และสามารถนำมาใช้ได้จริง


(หลวงปู่สิม พุทธจาโร แสดงพระธรรมเทศนาไว้เนืองๆในหลายที่หลายแห่งว่า "การภาวนาเป็นอุบายในการแก้กิเลส ตัณหา ทำให้เกิดปัญญา เมื่อภาวนาให้จิตผู้รู้รวมลงเป็นหนึ่ง ณ.ภายใน ภาวนาคือยาหม้อใหญ่ในการแก้กิเลส ตัณหาที่มีในตน")


ส่วนการพิจารณาวิปัสสนา(นึก)ปัญญา ที่ชอบอ้างถึงกันนั้น ที่เรียกว่ารู้จักคิด จนความคิดนั้นตกผลึก นำมาใช้ประโยชน์ตามความเป็นจริงไม่ได้ เพราะสติปัฏฐาน ๔ นั้น ไม่อาจจะบริบูรณ์ขึ้นมาได้เลยจากการรู้จักคิด หรือความรู้สึกนึกคิดนั้นเลย

การที่จะทำให้เกิดวิปัสสนาปัญญาที่แท้จริงได้นั้น ต้องหยุดคิดให้เป็น(ภาวนา)เท่านั้น เมื่อภาวนาเป็น ระลึกรู้จนชำนาญ สติปัฏฐานบริบูรณ์ ย่อมนำผลปฏิบัติมาใช้ได้จริง มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย(ไม่มียกเว้น) อานาปานสติ เมื่อพวกเธอ(ทุกคน)กระทำให้มาก เจริญให้มาก ย่อมยังให้สติปัฏฐาน ๔ นั้น บริบูรณ์"



สุดท้ายนี้ ขอฝากข้อคิดเห็นว่า อย่าปล่อยให้ความมักง่าย สบายๆ และลัดสั้น มาทำให้การปฏิบัติบูชาที่ควรมีควรเป็นนั้น ต้องเนิ่นช้าออกไป เพียงเพราะมีความเชื่อแบบตามๆกันมาเท่านั้น โดยขาดพิจารณาโดยรอบคอบ

ในเมื่อมีพระพุทธพจน์ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว ในหลายที่หลายแห่งได้ทรงตรัสรับรองไว้ว่า "วิปัสสนาปัญญา การรู้เห็นตามความเป็นจริงได้นั้น ต้องเกิดจากการภาวนามยปัญญาเท่านั้น"

น้อมถวายเป็นพุทธบูชา ในวันมาฆบูชา ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่