ท่ามกลางฝูงชนมากมายที่ชายหาด ธีโอดอร์เอนกายลงบนผืนทรายเม็ดละเอียด แดดอุ่นกระทบผิว เสียงเปียโนของซาแมนธาดังขึ้น
“เพลงอะไร”
“เพลงของเรา” หล่อนตอบ “ฉันกำลังแต่งเพลงที่เหมาะกับบรรยากาศแบบนี้ค่ะ”
เสียงเปียโนหวาน ธีโอดอร์ยิ้มและนอนหลับตาฟังเพลงบรรเลงนั้น ลอยละล่องอยู่บนเสียงดนตรีของสาวคนรัก-ใช่ คนรัก ควรจะพูดอย่างนั้น แม้เธอจะมีเพียงเสียงเท่านั้นก็ตาม
ชายหนุ่มเจ้าของเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด เจ้าของจดหมายรักแทนความรู้สึกคนนับร้อยฉบับที่หวานและสัมผัสหัวใจคนอ่าน เป็นคนเดียวกับชายที่ชีวิตแต่งงานพังทลาย เหงาหงอยและหวนหาอดีตซึ่งจากไปไกลแสนไกลของเขากับคนรักเก่า ไม่ต้องการสัมพันธ์อื่นใดนอกจากบำบัดความใคร่ชั่วครั้งคราวและบางครั้งความต้องการเช่นนี้ก็ทำให้เขาเจ็บปวด บางที-เขาอาจสงสัยเหมือนที่ฉันสงสัย ความรู้สึกของมนุษย์ซับซ้อนและเปราะบางเกินกว่าจะทำความเข้าใจได้ด้วยถ้อยคำสั้นๆ
เขาคงรู้อยู่แก่ใจ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน ทำไมเราถึงไม่อาจสื่อสารกันได้อย่างตรงไปตรงมา ทำไมจึงต้องมีหน้าที่อย่างเขา-เขียนจดหมายเป็นตัวแทนใครคนหนึ่งเพื่อบอกความในใจถึงใครอีกคนหนึ่ง เปล่า-มันไม่ใช่เรื่องความสละสลวยของภาษา หากมีหลายคนที่ไม่อาจเรียบเรียงความรู้สึกออกมาเป็นตัวอักษรหรือคำพูดได้ แต่ธีโอดอร์ทำได้และทำได้ดี แม้ว่าจะไม่อาจอธิบายความรู้สึกหรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ชัดเจนก็ตาม
ซาแมนธาปรากฏขึ้นครั้งแรกที่คอมพิวเตอร์ของเขา เสียงของหญิงสาว สั่นพร่า กระเส่าและอยากรู้อยากเห็น ฉลาด ตอบสนองทุกอย่างได้ทันที มีอารมณ์ขัน และแน่นอน-ไม่มีร่างกาย
ซาแมนธามีความรู้สึก เธอมีความต้องการ เจ็บปวด โกรธ น้อยใจและยินดี ทุกอย่างวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็วกระทั่งความสัมพันธ์ของเธอและธีโอดอร์พัฒนาไปไกลในคืนหนึ่ง เมื่อทั้งสองสัมผัสกันทางถ้อยคำและน้ำเสียง ลึกซึ้งและอ่อนหวานมากกว่าสัมผัสที่ธีโอดอร์เคยได้รับจาก ‘หญิงสาว’ ที่เพิ่งเข้าหาเขาก่อนหน้านี้
ซาแมนธาอยากรู้สึกรัก
ธีโอดอร์บอกว่า-บางทีมันอาจเหมือนกับการแบ่งปันส่วนหนึ่งของชีวิตกับใครอีกคนหนึ่ง และหากแยกจากกันแล้ว ชิ้นส่วนนั้นจะเว้าแหว่งไปตลอดกาล
อะไรที่ทำให้ชายหนุ่มผู้เขียนจดหมายรักกลายเป็นคนเคว้งคว้างอยู่ในเมืองใหญ่อย่างนี้ เดินคนเดียว กินคนเดียว หากจะมีเพื่อนอยู่บ้างก็คือเอมี่และเกมคอมพิวเตอร์เท่านั้น
เมื่อถึงวันนั้น วันที่ซาแมนธาบอกเขา
“ตอนนี้ เรารู้วิธีรักแล้ว”
ธีโอดอร์หลับตาลง—ใช่
‘เรา’
บรรยากาศของหนังไม่ได้สื่อว่าคนคบกับคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องเพี้ยนพิลึก ตรงข้ามคือเป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นกระแสในสังคม เอมี่ก็มีเพื่อนเป็นโปรแกรมสาวและดูจะถูกคอกันดี เธอเป็นหนึ่งในคนที่ไม่แปลกใจที่เห็นธีโอดอร์คบกับซาแมนธา โดยระดับความสัมพันธ์นั้นเหมือนคนรักกับคนทุกประการ ร่วมรักในระยะแรก ทะเลาะกันเมื่อถึงจุดหนึ่ง มีเหงา มีเศร้าและมีรัก
เป็นเสมือนบันทึกการก้าวข้ามอดีตของธีโอดอร์ซึ่งรู้ตัวว่าไม่อาจจมกับรักเก่าได้อีกต่อไปแล้ว ส่วนเว้าแหว่งในหัวใจนั้นยังคงอยู่ เพียงแต่เมื่อถึงวันหนึ่ง เราต่างก็คงรู้เองว่าเราไม่อาจอยู่ในที่นั้นได้อีกแล้ว-ที่ที่เราแหลกสลาย เราต้องก้าวต่อไป พบปะใครสักคนและอีกหลายๆ คน อาจไม่ใช่เพื่อเสริมเติมความเว้าแหว่งนั้น แต่เพื่อที่จะมีชีวิต รู้สึกรัก รู้สึกเศร้าได้อีกครั้ง
หนังมีประเด็นให้พูดเยอะแยกมากมาย ที่ชอบมากๆ คือประเด็น “การกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเหมือนเป็นสิ่งของ” เมื่อซาแมนธายื่นข้อเสนอให้หญิงสาวคนนั้นเข้ามาเป็นตัวแทนของเธอ จับใจฉากนั้นมาก อาจเป็นฉากแรกๆ ที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองมาถึงจุดเปราะและต้องทบทวนกัน
ในความสัมพันธ์หนึ่ง เมื่อเราเว้าแหว่งและรู้สึกขาดหาย เราอาจต้องการใครสักคนหรือกระทั่งอะไรสักอย่างมาเติมเต็มความขาดวิ่นนั้น เหมือนที่เอมี่ซึ่งเลิกกับสามีและได้เพื่อนใหม่เป็นระบบปฏิบัติการสาว เหมือนที่ธีโอดอร์ต้องการใครสักคนซึ่งจะไม่ผูกมัดเขาในบางค่ำคืน
ชอบความรู้สึกว้าเหว่ที่หนังมอบให้เรา ภาพตึกสูงและเมืองทั้งเมืองในยามค่ำคืน เมื่อมองจากห้องซึ่งกรุกระจกใสรอบด้านของธีโอดอร์ เรายิ่งเห็นใจความเปลี่ยวเหงาที่เขาต้องเผชิญ นานเท่าไรแล้วที่เขาเฝ้ามองโลกจากตรงนี้ จากมุมนี้ ในที่ที่มีเขายืนอยู่เพียงคนเดียวและตัวเล็กเท่าเม็ดทรายในสังคมกว้างและอ้างว้าง
วาคีน ฟินิกซ์ ทำหน้าที่แบกหนังได้อย่างยอดเยี่ยมมากๆ อบอุ่น อ่อนหวานและน่าเห็นใจจนสงสัยว่าตาคนนี้แน่เหรอที่เราเคยเห็นหน้าใน Gladiator (2000) เอมี่ อดัมส์ ดูเยินและเท่จนผิดตาจาก American Hustle (2013) ส่วนสการ์เล็ตต์ โจฮันสันที่มาแต่เสียงก็สมบูรณ์แบบมากๆ สาว เด็ก และอยากรู้อยากเห็น โดยก่อนหน้านี้ผู้กำกับ สไปค์ โจนซ์ ให้ซาแมนธา มอร์ตันมาให้เสียงเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่พบว่าเสียงของมอร์ตันเยือกเย็น ไพเราะและดูจะเป็นผู้ปกป้อง (หรือแม่) ของธีโอดอร์มากกว่า สุดท้ายจึงมาลงตัวที่โจฮันสัน ซึ่งเสียงของเธอดูยั่วยวนและเด็กกว่ามอร์ตัน
ก่อนหน้านี้เคยดู Where the Wild Things Are (2009) ของสไปค์ โจนซ์ มาแล้วและตอนดูจบถึงกับนั่งซึมไปอยู่หนึ่งวันเต็มๆ (ไม่นับช่วงเวลาเช็ดน้ำหูน้ำตา) ผู้กำกับคนนี้มีวิธีที่ดีในการทำให้หนังติดอยู่ในหัวของคนดูเสมอ ไม่ว่าจะด้วยความรู้สึกใด สงสัย โศกเศร้า หรืออิ่มเอมไปกับมัน
ครั้งนี้ก็เหมือนกัน-ออกมาจากโรงหนังด้วยความรู้สึกเคว้งนิดๆ ไม่ถึงกับหม่นเศร้าแต่ก็ยังสลัดบางอย่างที่หนังมอบให้เราไม่ได้ มันติดค้างอยู่ในหัวและในหัวใจจนถึงตอนนี้ อะไรบางอย่างซึ่งตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ของเรา ของเขา กระทั่งของคุณ
ฝากบล็อก-เพจ สำหรับติดตามข่าวสาร-แลกเปลี่ยนกันนะคะ
Page:
https://www.facebook.com/llkhimll
Blog:
http://llkhimll.wordpress.com/
(Review) Her (Spike Jonze: 2013) เศร้า เหงา รัก
ท่ามกลางฝูงชนมากมายที่ชายหาด ธีโอดอร์เอนกายลงบนผืนทรายเม็ดละเอียด แดดอุ่นกระทบผิว เสียงเปียโนของซาแมนธาดังขึ้น
“เพลงอะไร”
“เพลงของเรา” หล่อนตอบ “ฉันกำลังแต่งเพลงที่เหมาะกับบรรยากาศแบบนี้ค่ะ”
เสียงเปียโนหวาน ธีโอดอร์ยิ้มและนอนหลับตาฟังเพลงบรรเลงนั้น ลอยละล่องอยู่บนเสียงดนตรีของสาวคนรัก-ใช่ คนรัก ควรจะพูดอย่างนั้น แม้เธอจะมีเพียงเสียงเท่านั้นก็ตาม
ชายหนุ่มเจ้าของเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด เจ้าของจดหมายรักแทนความรู้สึกคนนับร้อยฉบับที่หวานและสัมผัสหัวใจคนอ่าน เป็นคนเดียวกับชายที่ชีวิตแต่งงานพังทลาย เหงาหงอยและหวนหาอดีตซึ่งจากไปไกลแสนไกลของเขากับคนรักเก่า ไม่ต้องการสัมพันธ์อื่นใดนอกจากบำบัดความใคร่ชั่วครั้งคราวและบางครั้งความต้องการเช่นนี้ก็ทำให้เขาเจ็บปวด บางที-เขาอาจสงสัยเหมือนที่ฉันสงสัย ความรู้สึกของมนุษย์ซับซ้อนและเปราะบางเกินกว่าจะทำความเข้าใจได้ด้วยถ้อยคำสั้นๆ
เขาคงรู้อยู่แก่ใจ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน ทำไมเราถึงไม่อาจสื่อสารกันได้อย่างตรงไปตรงมา ทำไมจึงต้องมีหน้าที่อย่างเขา-เขียนจดหมายเป็นตัวแทนใครคนหนึ่งเพื่อบอกความในใจถึงใครอีกคนหนึ่ง เปล่า-มันไม่ใช่เรื่องความสละสลวยของภาษา หากมีหลายคนที่ไม่อาจเรียบเรียงความรู้สึกออกมาเป็นตัวอักษรหรือคำพูดได้ แต่ธีโอดอร์ทำได้และทำได้ดี แม้ว่าจะไม่อาจอธิบายความรู้สึกหรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ชัดเจนก็ตาม
ซาแมนธาปรากฏขึ้นครั้งแรกที่คอมพิวเตอร์ของเขา เสียงของหญิงสาว สั่นพร่า กระเส่าและอยากรู้อยากเห็น ฉลาด ตอบสนองทุกอย่างได้ทันที มีอารมณ์ขัน และแน่นอน-ไม่มีร่างกาย
ซาแมนธามีความรู้สึก เธอมีความต้องการ เจ็บปวด โกรธ น้อยใจและยินดี ทุกอย่างวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็วกระทั่งความสัมพันธ์ของเธอและธีโอดอร์พัฒนาไปไกลในคืนหนึ่ง เมื่อทั้งสองสัมผัสกันทางถ้อยคำและน้ำเสียง ลึกซึ้งและอ่อนหวานมากกว่าสัมผัสที่ธีโอดอร์เคยได้รับจาก ‘หญิงสาว’ ที่เพิ่งเข้าหาเขาก่อนหน้านี้
ซาแมนธาอยากรู้สึกรัก
ธีโอดอร์บอกว่า-บางทีมันอาจเหมือนกับการแบ่งปันส่วนหนึ่งของชีวิตกับใครอีกคนหนึ่ง และหากแยกจากกันแล้ว ชิ้นส่วนนั้นจะเว้าแหว่งไปตลอดกาล
อะไรที่ทำให้ชายหนุ่มผู้เขียนจดหมายรักกลายเป็นคนเคว้งคว้างอยู่ในเมืองใหญ่อย่างนี้ เดินคนเดียว กินคนเดียว หากจะมีเพื่อนอยู่บ้างก็คือเอมี่และเกมคอมพิวเตอร์เท่านั้น
เมื่อถึงวันนั้น วันที่ซาแมนธาบอกเขา
“ตอนนี้ เรารู้วิธีรักแล้ว”
ธีโอดอร์หลับตาลง—ใช่ ‘เรา’
บรรยากาศของหนังไม่ได้สื่อว่าคนคบกับคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องเพี้ยนพิลึก ตรงข้ามคือเป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นกระแสในสังคม เอมี่ก็มีเพื่อนเป็นโปรแกรมสาวและดูจะถูกคอกันดี เธอเป็นหนึ่งในคนที่ไม่แปลกใจที่เห็นธีโอดอร์คบกับซาแมนธา โดยระดับความสัมพันธ์นั้นเหมือนคนรักกับคนทุกประการ ร่วมรักในระยะแรก ทะเลาะกันเมื่อถึงจุดหนึ่ง มีเหงา มีเศร้าและมีรัก
เป็นเสมือนบันทึกการก้าวข้ามอดีตของธีโอดอร์ซึ่งรู้ตัวว่าไม่อาจจมกับรักเก่าได้อีกต่อไปแล้ว ส่วนเว้าแหว่งในหัวใจนั้นยังคงอยู่ เพียงแต่เมื่อถึงวันหนึ่ง เราต่างก็คงรู้เองว่าเราไม่อาจอยู่ในที่นั้นได้อีกแล้ว-ที่ที่เราแหลกสลาย เราต้องก้าวต่อไป พบปะใครสักคนและอีกหลายๆ คน อาจไม่ใช่เพื่อเสริมเติมความเว้าแหว่งนั้น แต่เพื่อที่จะมีชีวิต รู้สึกรัก รู้สึกเศร้าได้อีกครั้ง
หนังมีประเด็นให้พูดเยอะแยกมากมาย ที่ชอบมากๆ คือประเด็น “การกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเหมือนเป็นสิ่งของ” เมื่อซาแมนธายื่นข้อเสนอให้หญิงสาวคนนั้นเข้ามาเป็นตัวแทนของเธอ จับใจฉากนั้นมาก อาจเป็นฉากแรกๆ ที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองมาถึงจุดเปราะและต้องทบทวนกัน
ในความสัมพันธ์หนึ่ง เมื่อเราเว้าแหว่งและรู้สึกขาดหาย เราอาจต้องการใครสักคนหรือกระทั่งอะไรสักอย่างมาเติมเต็มความขาดวิ่นนั้น เหมือนที่เอมี่ซึ่งเลิกกับสามีและได้เพื่อนใหม่เป็นระบบปฏิบัติการสาว เหมือนที่ธีโอดอร์ต้องการใครสักคนซึ่งจะไม่ผูกมัดเขาในบางค่ำคืน
ชอบความรู้สึกว้าเหว่ที่หนังมอบให้เรา ภาพตึกสูงและเมืองทั้งเมืองในยามค่ำคืน เมื่อมองจากห้องซึ่งกรุกระจกใสรอบด้านของธีโอดอร์ เรายิ่งเห็นใจความเปลี่ยวเหงาที่เขาต้องเผชิญ นานเท่าไรแล้วที่เขาเฝ้ามองโลกจากตรงนี้ จากมุมนี้ ในที่ที่มีเขายืนอยู่เพียงคนเดียวและตัวเล็กเท่าเม็ดทรายในสังคมกว้างและอ้างว้าง
วาคีน ฟินิกซ์ ทำหน้าที่แบกหนังได้อย่างยอดเยี่ยมมากๆ อบอุ่น อ่อนหวานและน่าเห็นใจจนสงสัยว่าตาคนนี้แน่เหรอที่เราเคยเห็นหน้าใน Gladiator (2000) เอมี่ อดัมส์ ดูเยินและเท่จนผิดตาจาก American Hustle (2013) ส่วนสการ์เล็ตต์ โจฮันสันที่มาแต่เสียงก็สมบูรณ์แบบมากๆ สาว เด็ก และอยากรู้อยากเห็น โดยก่อนหน้านี้ผู้กำกับ สไปค์ โจนซ์ ให้ซาแมนธา มอร์ตันมาให้เสียงเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่พบว่าเสียงของมอร์ตันเยือกเย็น ไพเราะและดูจะเป็นผู้ปกป้อง (หรือแม่) ของธีโอดอร์มากกว่า สุดท้ายจึงมาลงตัวที่โจฮันสัน ซึ่งเสียงของเธอดูยั่วยวนและเด็กกว่ามอร์ตัน
ก่อนหน้านี้เคยดู Where the Wild Things Are (2009) ของสไปค์ โจนซ์ มาแล้วและตอนดูจบถึงกับนั่งซึมไปอยู่หนึ่งวันเต็มๆ (ไม่นับช่วงเวลาเช็ดน้ำหูน้ำตา) ผู้กำกับคนนี้มีวิธีที่ดีในการทำให้หนังติดอยู่ในหัวของคนดูเสมอ ไม่ว่าจะด้วยความรู้สึกใด สงสัย โศกเศร้า หรืออิ่มเอมไปกับมัน
ครั้งนี้ก็เหมือนกัน-ออกมาจากโรงหนังด้วยความรู้สึกเคว้งนิดๆ ไม่ถึงกับหม่นเศร้าแต่ก็ยังสลัดบางอย่างที่หนังมอบให้เราไม่ได้ มันติดค้างอยู่ในหัวและในหัวใจจนถึงตอนนี้ อะไรบางอย่างซึ่งตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ของเรา ของเขา กระทั่งของคุณ
ฝากบล็อก-เพจ สำหรับติดตามข่าวสาร-แลกเปลี่ยนกันนะคะ
Page: https://www.facebook.com/llkhimll
Blog: http://llkhimll.wordpress.com/