ตัวอย่างผลบุญจากการอนุโมทนาบุญของผู้อื่น ทำให้เราได้รับบุญนั้นด้วยเช่นกัน

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘
ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๖. วิหารวิมาน
ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในวิหารวิมาน


             ท่านพระอนุรุทธเถระได้ถามนางเทพธิดาตนหนึ่งว่า

             [๔๔]     ดูกรนางเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก มีรัศมีส่องสว่างไสวไปทั่วทุก
                          ทิศ สถิตอยู่เหมือนดาวประกายพฤกษ์ เมื่อท่านฟ้อนอยู่ เสียงอันเป็น
                          ทิพย์น่าฟัง รื่นรมย์ใจ ย่อมเปล่งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วน ทั้ง
                          กลิ่นทิพย์อันหอมหวนยวนใจ ก็ฟุ้งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วน
                          เมื่อท่านไหวกายกลับไปมา เสียงของเครื่องประดับช้องผมก็ดังเสียง
                          ไพเราะ ดุจเสียงดนตรีเครื่อง ๕

                          อนึ่ง เสียงมงกุฎที่ถูกลมรำเพยพัดให้
                          หวั่นไหว ก็กังวานไพเราะดุจเสียงดนตรีเครื่อง ๕ แม้พวงมาลัยบน
                          เศียรเกล้าของท่าน มีกลิ่นหอมชวนให้เบิกบานใจ หอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ
                          ดุจต้นอุโลก ฉะนั้น ดูกรนางเทพธิดา อาตมาถามท่านแล้ว ขอท่าน
                          จงบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร?


             นางเทพธิดาตอบว่า

                          ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นสหายของดิฉัน
                          อยู่ในเมืองสาวัตถี ได้สร้างมหาวิหารถวายสงฆ์ ดิฉันเห็นมหาวิหารนั้น
                          แล้ว มีจิตเลื่อมใสอนุโมทนา

                          ก็วิมานอันเป็นที่รักนี้อันดิฉันได้แล้ว
                          เพราะการอนุโมทนาด้วยจิตบริสุทธิ์แต่อย่างเดียวเท่านั้น วิมานนี้เป็น
                          วิมานอัศจรรย์น่าดูน่าชม โดยรอบสูง ๑๖ โยชน์ เลื่อนลอยไปในอากาศ
                          ได้ตามความปรารถนาของดิฉัน

                          ดิฉันมีปราสาทเป็นที่อยู่อาศัย อันบุญ
                          กรรมจัดแจงเนรมิตให้เป็นส่วนๆ งามรุ่งโรจน์ตลอดร้อยโยชน์โดยรอบ
                          ทิศ อนึ่ง ที่วิมานของดิฉัน มีสระโบกขรณีเป็นที่อาศัยของหมู่มัจฉาชาติ
                          มีน้ำใสสะอาด มีท่าอันลาดด้วยทรายทอง ดารดาษไปด้วยปทุมชาตินานา
                          ชนิดพร้อมทั้งบัวขาว เกษรแห่งบัวทั้งหลายอันลมรำเพยพัด ย่อมหอม
                          ฟุ้งเจริญใจ มีรุกขชาติต่างๆ อันบุญกรรมปลูกไว้ใกล้วิมาน คือ ไม้หว้า
                          ขนุน ตาล มะพร้าว

                          วิมานนี้กึกก้องไปด้วยเสียงดนตรีต่างๆ และ
                          กึกก้องไปด้วยหมู่นางอัปสร แม้นรชนใดได้เห็นวิมานนี้ด้วยความฝัน
                          นรชนนั้นก็พึงปลื้มใจ วิมานอันมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ น่าอัศจรรย์
                          น่าดูน่าชมเช่นนี้ เกิดแต่ดิฉันเพราะกุศลกรรมทั้งหลาย ควรทำบุญโดยแท้.


             พระอนุรุทธเถระ เมื่อจะให้นางเทพธิดาบอกที่เกิดของนางวิสาขามหาอุบาสิกา จึงกล่าว
             ถามด้วยคาถาความว่า

                          วิมานอันอัศจรรย์น่าดูน่าชมนี้ ท่านได้แล้ว เพราะการอนุโมทนาด้วย
                          จิตอันบริสุทธิ์อย่างเดียวเท่านั้น นางนารีอันมีนามว่าวิสาขา ได้ถวาย
                          ทานและได้สร้างมหาวิหาร ไปเกิดที่ไหน ขอท่านจงบอกคติของนาง
                          วิสาขานั้น แก่อาตมาด้วยเถิด?

             นางเทพธิดานั้นตอบว่า

                          ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นสหายของดิฉัน ได้สร้าง
                          มหาวิหารถวายแด่สงฆ์และได้ถวายทานแด่สงฆ์ เป็นผู้รู้ธรรมแจ่มแจ้ง
                          เธอได้บังเกิดในหมู่ทวยเทพชั้นนิมมานรดี เป็นประชาบดีของท้าวสุนิม-
                          มิตวดี ผู้เป็นใหญ่ในชั้นนิมมานรดีนั้น

                          วิบากแห่งกรรมของนางวิสาขามหาอุบาสิกานั้น อันใครไม่อาจคิด

                          ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันได้พยากรณ์
                          ที่เกิดของนางวิสาขาที่พระคุณเจ้าถามว่า นางวิสาขานั้นบังเกิด ณ ที่ไหน
                          โดยถูกต้องแล้ว ถ้าอย่างนั้น ขอพระคุณเจ้าได้ชักชวนแม้ชนเหล่าอื่นว่า
                          
                          "ท่านทั้งหลายจงปลื้มใจถวายทานแด่สงฆ์เถิด และจงมีใจเลื่อมใสฟัง
                          ธรรม การได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นการได้ด้วยแสนยาก อันพวกท่าน
                          ได้แล้ว พระพุทธเจ้ามีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม มีพระฉวีวรรณดุจทองคำ เป็นอธิบดีแห่งมรรคา
                          ได้ทรงแสดงธรรมใดไว้ว่า เป็นทางสวรรค์ ทางนั้นเป็นทางอันประเสริฐ
                          ท่านทั้งหลายจงปลื้มใจถวายทานแด่สงฆ์ ที่บุคคลถวายทักษิณาแล้วมีผลมาก

                          บุคคลเหล่าใดอันพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้วว่า คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ เหล่านี้
                          บุคคลเหล่านั้นเป็นพระทักขิไณยบุคคล สาวกแห่งพระสุคต
                          ทานอันบุคคลถวายแล้วในพระทักขิไณยบุคคลเหล่านั้น มีผลมาก
                          ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออริยมรรค ๔ จำพวก และท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยผล ๔ จำพวก พระ-
                          อริยบุคคล ๘ จำพวกนี้ ชื่อว่าสงฆ์ เป็นผู้ปฏิบัติซื่อตรง ดำรงมั่นอยู่
                          ในปัญญาและศีล

                          เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญ ถวายทานในท่านเหล่านี้
                          หรือทำบุญปรารภการเวียนเกิดเวียนตาย ทานที่ถวายในสงฆ์ย่อมมีผลมาก
                          พระสงฆ์นี้ เป็นผู้มีคุณความดีอันยิ่งใหญ่ ยังผลให้เกิดแก่ผู้ถวายทาน
                          ในท่านอย่างไพบูลย์ ยากที่จะปริมาณได้ว่าเท่านี้ๆ เหมือนทะเลยาก
                          ที่จะคาดคะเนได้ว่ามีน้ำเท่านี้ๆ ฉะนั้น

                           พระสงฆ์เหล่านี้แล เป็นผู้
                          ประเสริฐ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียร เป็นเยี่ยมในหมู่
                          นรชน เป็นแหล่งสร้างแสงสว่าง คือ ญาณของชาวโลก ได้แก่ นำ
                          เอาแสงสว่าง คือ พระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แล้วมา
                          ชี้แจง

                          ปวงชนผู้ใคร่ต่อบุญเหล่าใด ถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์ ทักษิณา
                          ของเขาเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นทักษิณาที่ถวายดีแล้ว เป็นยัญวิธีที่เซ่นสรวง
                          ถูกต้อง จัดเป็นบูชากรรมที่บูชาแล้วชอบ เพราะทักษิณานั้นจัดเป็น
                          สังฆทาน มีผลมาก อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลก ทรง
                          สรรเสริญ ชนเหล่าใดยังท่องเที่ยวอยู่ในโลก มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้
                          ได้ เกิดปีติโสมนัส ก็จะกำจัดมลทิน คือ ความตระหนี่ พร้อมทั้ง
                          ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความลังเลใจ และการตีตนเสมอท่าน อันเป็น
                          มูลฐานเสียได้ ทั้งจะไม่เป็นผู้อันผู้รู้ติเตียน แต่นั้นก็จะเข้าถึงสถานที่
                          อันเป็นแดนสวรรค์.

จบ วิหารวิมานที่ ๖
จบ ภาณวารที่ ๒.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖  บรรทัดที่ ๑๕๐๗ - ๑๕๗๙.  หน้าที่  ๖๑ - ๖๔.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=1507&Z=1579&pagebreak=0
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=44
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่