" ความรัก " และ " มรรคมีองค์ 8 "

Q : อานาปานสติ และ มรรคมีองค์ 8 ปฏิบัติอย่างไร จึงให้เอาตัวรอดจากทุกข์ได้ ?

A : เราพึงเจริญมรรคมีองค์8 ให้บริบูรณ์ แต่จะทำให้บริบูรณ์ได้อย่างไร จะยกตัวอย่างให้เห็น
แล้วลองพิจารณา ตามลำมรรคมีองค์8 ตั้งแต่ต้น จน ทำให้มรรคมีองค์8 บริบูรณ์ได้ ดังนี้


สมมุติว่า
มีเด็กสาวคนหนึ่ง มีวิถีชีวิต ไปตามคนปกติ เป็นคนดีของ พ่อ แม่ และของสังคม เธอนับถือ
ศาสนาพุทธแค่ในบัตรประชาชน คือ นับถือตาม พ่อ แม่ ไม่ทราบเลยว่า แก่นแท้พุทธศาสนา
เป็นอย่างไร ? พระพุทธเจ้าสอนอะไร ?

วันหนึ่ง เกิดความทุกข์ใจ ที่เธอโดน แฟนหนุ่มทิ้ง อย่างไม่ใยดี ทั้งที่คบหากันมาได้ เป็นสิบปี
เกิดความเศร้าใจ เลยมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ด้วยความไม่รู้ ที่คิดว่าการกระทำอย่างนั้นแล้ว
แฟนหนุ่มจะต้องเสียใจ และเสียดาย เมื่อตนเองตายลง... แต่ก่อนที่เธอจะได้ทำตามอย่างที่ตั้งใจ
เธอกับได้คุยและได้ปรึกษากับ ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ที่เธอเคารพนับถือ ผู้ใหญ่ท่านนี้ ชวนเธอไป
ปฏิบัติธรรม แล้วบอกว่า ถ้าลองปฏิบัติตามที่แนะนำอย่างนี้แล้ว จะหายทุกข์...

เด็กสาวคนนั้น ลองเชื่อ และลงมือปฏิบัติตาม ผู้ใหญ่ท่านนั้นแนะนำให้เธอปฎิบัติ ในแนวทาง
อานาปานสติ และเจริญมรรคมีองค์8 เธอลงมือปฏิบัติ ตามลำดับอย่างนี้โดยยึดหลักมรรคมีองค์8
ดังนี้

.....
...
.

มรรคองค์ที่ 1 ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)

เด็กสาวคนนั้นได้รับการปรับความเห็น (ทิฐิ) ในเบื้องต้น ด้วยคำแนะนำจากผู้ใหญ่ท่านนั้นให้เชื่อ
ว่า ตายแล้วไม่สูญ , กรรมทั้งหลายมีผลมาจากการกระทำ ฯลฯ เธอได้รับคำแนะนำถึงเรื่อง อริยสัจ
ว่าที่เธอทุกข์ใจ เป็นอย่างไร และเหตุที่เธอทุกข์ใจเป็นอย่างไร เธอรับฟังไว้แต่ยังไม่ได้รับรู้ด้วย
ปัญญาของตนเอง ความเป็นสัมมาทิฐิ จึงยังไม่บริบูรณ์เต็ม

จะเห็นว่าสัมมาทิฐิเป็นองค์นำ ก็เพราะหากเด็กสาวคนนี้ ไม่ยอมฟัง ไม่รับไปพิจารณาใคร่ครวญดู
ไม่ยอมปรับความเห็น เป็นคนหัวแข็ง มรรคองค์ต่อๆไป จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย แม้สัมมาทิฐิ ในตอนนี้
เป็นเพียงการปรับความเห็นเบื้องต้นเท่านั้น ก็ยังพาเธอ ให้อยากลองพิสูจน์ว่า ที่เธอได้ฟังมา
จริงหรือไม่

_________________________

มรรคองค์ที่ 2 ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ)
เด็กสาวคนนั้นเริ่มอยากลอง พิสูจน์ว่า เธอจะพ้นทุกข์จริงหรือไม่ เลยลองปฏิบัติ อานาปานสติ
ความคิดที่จะตั้งใจจะปฏิบัติ อานาปานสติ นั้นคือ ความตั้งใจ จะละทิ้งความคิดในทางกาม
(รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) มีความตั้งใจจะพรากออกจากสิ่งเหล่านี้

แม้เธอไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติตาม มรรคองค์ที่2 ให้บริบูรณ์ แต่การกระทำอย่างนั้น ก็มีผลให้
มรรคในข้อนี้บริบูรณ์

_________________________

มรรคองค์ที่ 3 วาจาชอบ (สัมมาวาจา) ศีลข้อ 4
มรรคองค์ที่ 4 การงานชอบ (สัมมากัมมันตะ) ศีลข้อ 1 ,2 ,3
เด็กสาวคนนั้นเริ่ม รักษาศีล 5 จนเป็นปกติ.. โดยศีลบางข้อ ที่เมื่อก่อนยังมีการ พูดโกหกอยู่บ้าง
ก็พยายามรักษาในข้อนี้ และด้วยความที่เป็นคนที่ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดให้คนอื่นทะเลาะกัน
แต่การกระทำอย่างนั้น ก็มีผลให้ มรรคในองค์ที่ 3 นี้บริบูรณ์

ด้วยความที่เด็กสาว มีจิตที่ไม่คิดเบียดเบียน ผู้อื่น และสัตว์ทั้งหลาย ให้ต้องเดือดร้อน ทำให้ศีล
ในข้อ 1 ,2 ,3 สมบูรณ์โดยที่เธอไม่ได้ตั้งใจถือ แต่เป็นศีลที่บริสุทธิ์มาจากใจ
แม้เธอไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติตาม มรรคองค์ที่ 4 ให้บริบูรณ์ แต่การมีจิตอย่างนั้น ก็มีผลให้ มรรคในข้อนี้บริบูรณ์
_________________________

มรรคองค์ที่ 5 อาชีวะชอบ (สัมมาอาชีวะ)
เด็กสาวคนนั้น ไม่ได้เลี้ยงชีพ ด้วยมิจฉาอาชีวะ(ดูบทขยายในมรรคมีองค์8)

แม้เธอไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติตาม มรรคองค์ที่5 ให้บริบูรณ์ แต่ก็มีผลให้ มรรคในข้อนี้บริบูรณ์
_________________________

มรรคองค์ที่ 6 ความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ)
เด็กสาวคนนั้นเริ่มตั้งใจปฏิบัติ อานาปานสติ ด้วยความพยายามในการรู้ลมหายใจ เข้า-ออก
อยู่เป็นประจำ สร้างความพอใจในการปฏิบัติ

- พยายามประคองการรู้ลมไว้ให้ได้ตลอดวัน แม้บางช่วงที่ปฏิบัติอาจเผลอสติเป็นเวลานาน
แต่ก็ไม่ละความพยายามที่จะเอาสติมารู้ที่ลม ( ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต
ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่ได้บังเกิด )

-เมื่อเธอปฏิบัติแล้ว เกิด ความหงุดหงิด รำคาญใจขึ้น ก็พยายามดึงกลับมารู้ที่ลม ( ย่อมประคองจิต
ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก ที่ยังไม่ได้บังเกิด )

เมื่อเธอตั้งใจพยายามอยู่อย่างนี้ มรรคองค์ที่6 ก็บริบูรณ์
_________________________

มรรคองค์ที่ 7 ความระลึกชอบ (สัมมาสติ)
มรรคองค์ที่ 8 ความตั้งใจมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) มาถึงมรรคสององค์นี้เป็นมรรคที่เกื้อกูลกัน
เด็กสาวคนนั้น พยายามรู้ลมอยู่ทั้งวัน ทั้งคืน ด้วยความพยายาม ด้วยการสร้างเหตุแห่งสัญญา
จึงทำให้เกิดสติอัตโนมัติ มารู้ที่ลมได้บ่อยขึ้น แล้วเป็นสติที่เป็นกลาง ปราศจากความพยายาม
ที่จะรู้ จากความพยายามรู้ กลายเป็น การระลึกที่เป็นสัมมาสติ

-การระลึกถึงลมอยู่อย่างนี้ ตลอดวัน บางครั้ง เห็นลมเกิดขึ้น -เห็นลมดับลง เป็นผู้มีปกติ
พิจารณา เห็นกายในกายอยู่ )
-การระลึกถึงลมอยู่อย่างนี้ ตลอดวัน บางครั้ง เห็นความคิดแล่นออกไปบ้าน ผุดขึ้นบ้าง ระหว่างที่
ระลึกรู้ลมอยู่ เห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ ( เป็นผู้มีปกติพิจารณา เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ )

เมื่อเธอเกิดสติที่แท้จริงอยู่อย่างนี้ มรรคองค์ที่7 ก็บริบูรณ์


เมื่อสติเห็นธรรมภายในอยู่อย่างนี้ จนเกิดสัมมาสติ จิตก็ตั้งมั่น เป็นสมาธิ ที่เป็น สัมมาสมาธิ
เมื่อมีสัมมาสติระลึกเห็นธรรมอยู่ จดจ่ออยู่ ก็เกิด สัมมาสมาธิ มีผลให้ มรรคองค์ที่8 ก็บริบูรณ์


สติที่ระลึกเห็นความเกิด-ดับ เห็นความเปลี่ยนแปลงในภายในนั้น ก็เข้าใจว่านี้เป็นทุกข์ และสาเหตุ
ให้เกิดทุกข์
ทำให้มรรคองค์ที่1 ที่เป็น สัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบ บริบูรณ์ขึ้นได้ มรรคมีองค์8 ทั้งหมด จึงบริบูรณ์


จิตถึงตรงนี้พร้อมที่จะเกิดปัญญารู้ทั่วถึงธรรมต่างๆ มรรคผลจะหลังจากนี้ เมื่อจิตตั้งมั่น เป็นกลาง
ที่มาจากสัมมาสติและสัมมาสมาธิ การรู้ทั่วถึงธรรม โดยอาศัยปฐมฌานเป็นต้นไป ที่ไม่ต้องนั่งสมาธิ
ให้เกิดฌาน แต่จะเกิดเอง เพราะเหตุปัจจัย ของ สติและสมาธิ ที่ถูกต้องจากมรรคมีองค์8
เมื่อมรรคมีองค์8 บริบูรณ์ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาที่เป็นเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาที่เป็น
ภาวนามยปัญญา แม้เด็กสาวคนนั้น จะตั้งใจหรือไม่ที่จะกระทำมรรคมีองค์8 ให้บริบูรณ์ แต่ไปทำโดนเข้า
ก็เกิดมรรคผล ได้เช่นกัน มรรคมีองค์ จึงเป็นหนทางที่ตีกรอบเราให้อยู่ในทางตรง จนสุดได้ที่วิมุต



เด็กสาวเอาตัวรอดจากทุกข์ได้อย่างไร?
เด็กสาวคนนั้น เห็นธรรมภายใน ถึงความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนจากภายในจิต เกิดปัญญายอมรับ เข้าใจว่า
ทุกสรรพสิ่ง ล้วนเป็นของไม่เที่ยง แม้ความทุกข์ในเรื่องความรัก ที่เกิดขึ้นกับตนเองว่า ธรรมดาของจิต
เป็นของปวนแปร เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุ แม้จิตของตนยังบังคับไม่ได้ บังคับให้รัก ให้เกลียด ให้เลิกรัก
ก็ไม่ได้ ทำได้เพียงการสร้างเหตุเท่านั้น แล้วจะภาษาอะไรกับจิตของผู้อื่น(อดีตแฟนหนุ่ม)
อย่างนี้จะหาแก่นสารอะไรในโลกนี้ได้ จิตของเด็กสาวคนนั้น ก็ไม่มั่นหมายว่าอะไรจะเป็นของเที่ยงแท้ ถาวร
ที่ตนเองจะวางใจได้ ทุกข์ที่เกิดขึ้น จากการสำคัญว่าทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างใจ ก็คลายลง ด้วยการปฏิบัติ
อานาปนสติ โดยทำมรรค์มีองค์8 ให้บริบูรณ์




บางคน ในเส้นทางนิพพานนี้ อาจจะปฏิบัติไปโดนองค์มรรคมีองค์8 ทั้งที่ตั้งใจบ้าง ไม่ได้ตั้งใจบ้าง.. บางคนเหลือแค่
มรรคไม่กี่องค์ ก็จะบริบูรณ์ อาจะเหลือแค่ องค์7-8 คือสัมมาสติและสัมมาสมาธิ ที่ยังไม่บริบูรณ์ ก็พึงสำรวจตนเอง
ว่ามรรคองค์ใดเรายังไม่บริบูรณ์ ก็ทำให้บริบูรณ์ มรรคองค์ใดบริบูรณ์แล้วก็คงไว้ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน


*** เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องที่สมมุติขึ้น เด็กสาวคนนี้ ไม่ได้มีอยู่จริง เพียงยกขึ้นมาให้ทำความเข้าใจ
ในมรรคมีองค์8 ง่ายขึ้น และเป็นลำดับการปฏิบัติ ว่าเจริญมรรคมีองค์8 แล้วจะเอาตัวรอดจากทุกข์ได้อย่างไร
ในธรรมะของพระพุทธเจ้า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่