เรื่องของคนเรือผ่านภาพยนตร์เรื่อง Captain Phillips


  เผอิญได้ให้สัญญาไว้ว่าจะเล่ารายละเอียดในมุมมองคนเรือผ่านหนังเรื่อง Captain Phillips นี้ ว่าข้อเท็จจริงแล้วเป็นอย่างไร มีที่ไปที่มาอย่างไร ถ้าไม่ถูกต้องแต่ประการใด ก็ขอให้ชี้แนะมาได้เลยครับ เพราะผมเคยทำงานด้านนี้อยู่บ้าง แต่ไม่นานพอที่จะเรียกตัวเองว่ารู้ทุกอย่างครับ

**************************************************************************
1. บริษัทเรือที่ปรากฎในภาพยนต์

  บริษัทเรือที่กัปตันฟิลิปส์เป็นพนักงานนั้นคือ บริษัท เอพี มอเรอร์ เมิรก กรุ๊ป (A.P. Moller – Maersk Group)บริษัทสัญชาติเดนมาร์ก มีแผนกหลักเมิรกไลน์ (Maersk Line) ที่เป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงเรือส่งสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์อันดับหนึ่งของโลก มีเรือปฎิบัติการในแผนกนี้กว่า 600 ลำที่สามารถขนส่งได้มากถึง 2.6 ล้าน TEU ในหนึ่งปี ถือว่าเป็นบริษัทในฝันของเหล่าคนเรือก็ว่าได้ เนื่องด้วยค่าตอบแทนสูง สวัสดิการต่างๆที่ค่อนข้างดี แต่การแลกมาความยากในการเข้ามาในบริษัท ได้ข่าวมีคนเรือไทยอยู่ในบริษัทนี้ด้วย

  เรือที่เมิรกไลน์ใช้ในการขนส่งนั้น มีการพัฒนาทั้งขนาด ความสามารถ ขึ้นมาเรื่อยๆ เห็นได้จากเมื่อปี 2006 ได้สร้างเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้นอย่าง Emma Maersk (ขนาดบรรทุกสูงสุด 15,550 TEU) หรือล่าสุดอย่าง Mærsk Mc-Kinney Møller (ขนาดบรรทุกสูงสุด 18,270 TEU) ในปี 2013 ที่เพิ่งต่อเสร็จจากอู่ต่อเรือแดวู ประเทศเกาหลีใต้

เส้นทางเดินเรือของบริษัทเมิรกจะครอบคลุมทั้งโลก แต่ที่เน้นๆคงจะเป็นการขนส่งด้านมหาสมุทรแอตแลนติกมากกว่า เนื่องจากเรือของบริษัทนั้นใหญ่กว่าคลองปานามาไม่สามารถใช้งานได้ (คลองปานามากำลังดำเนินการก่อสร้างประตูกั้นน้ำที่ใหญ่ขึ้นมีกำหนดแล้วเสร็จปี 2015) จึงเลี่ยงไปใช้งานด้านคลองสุเอซเสียมากกว่า และอำนาจการสั่งสินค้าจากเหล่าประเทศเศรฐีน้ำมัน รูปด้านบนเป็นตัวอย่างของการเจอเรือของเมิรกหน้าทางเข้าคลองสุเอซ

ในส่วนบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆนอกเหนือจากเมิรกก็มีดังนี้ (นับจากปริมาณขนส่งในปี 2010)
1. Maersk Line – เดนมาร์ก
2. MSC – สวิตเซอร์แลนด์

3. CMA CGM Group – ฝรั่งเศส

4. Evergreen Line – ไต้หวัน

5. APL – สิงคโปร

6. COSCO – จีน

7. Hapag-Lloyd Group – เยอรมัน

8. CSCL – จีน

9. Hanjin - เกาหลีใต้

10. NYK – ญี่ปุ่น


เนื่องด้วยปัญหาด้านพลังงานและการลดต้นทุน จึงมีการร่วมมือกันระหว่างบริษัทเหล่านี้ในการขนส่งมากขึ้นมีการใช้ระบบฮับหรือรวมสินค้าไว้ที่ใดที่หนึ่ง แล้วให้เรือมารับสินค้าต่อไปเป็นทอดๆ  โดยสินค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางไปกับเรือลำเดียวบริษัทเดียวตลอด แล้วมาแบ่งรายได้ตามอัตราส่วนที่ตกลงไว้

****
ก. TEU (Twenty Foot Equivalent Unit) = หน่วยนับจำนวนตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ หรือ ตู้เหล็กขนาดมาตรฐานกว้าง 8 ฟุต สูง 8 ฟุต และยาว 20 ฟุต
ข. ปัจจุบันกิจการต่อเรือของเกาหลีใต้พัฒนาขึ้นมาก ถึงขนาดมีผลกำไรสูงกว่าญี่ปุ่นที่เคยเป็นเต้ยในวงการนี้สักสิบปีก่อน แต่ถึงญี่ปุ่นจะตกลงไปนิดหน่อยในวงการต่อเรือ อู่ต่อเรือ IHI ที่คุเระของญี่ปุ่นสามารถต่อเรือได้พร้อมกันถึง 5 ลำเลยทีเดียว (เฉลี่ยเสร็จปีละ 2 ลำ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่