คืนที่ตื่นมาพบพระอภัยมณี

เมื่อคืนก่อนอากาศเย็นเหมือนเคย ผมเผลอนอนเล่นบนโซฟายาวหลับไปแต่หัวค่ำ มาตื่นตาสว่างแป๊วเอาตอนสี่ทุ่มกว่า ช่องหนังไทย ของ TRUE VISION ทำเอาผมล่องลอยตามการแสดงของนักแสดงรุ่นเก่าคู่พระนาง อย่าง มิตร-เพชรา ในภาพยนตร์เรื่อง พระอภัยมณี ซึ่งอำนวยการสร้างโดยยอดศิลปินตลก ล้อต๊อก กำกับการแสดงโดย ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ที่คนในวงการบันเทิงไทยในสมัยนั้น เรียกว่าครู พระอภัยมณี ฉบับภาพยนตร์นี้ออกฉายในปี 2509 ก่อนผมลืมตาขึ้นมามองโลกใบนี้ด้วยซ้ำไป


ขอบคุณภาพจาก www.youtube.com  

จินตนาการของผู้ประพันธ์เรื่องพระอภัยมณี อย่างสุนทรภู่และคุณสวง ทรัพย์สำรวย (ล้อต๊อก) ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจไม่ได้คาดหมายว่าจะสร้างแรงบันดาลใจ อย่างอื่นใดนอกจากความบันเทิงเริงรมย์เป็นที่ตั้ง แต่เมื่อมาเป็นนิทานคำกลอนเป็นละครร้อง รำ ยี่เก จนมาเป็นภาพยนตร์ที่ไม่เพียงช่วยสร้างภาพที่เป็นแต่เพียงจินตนาการ ให้ปรากฏเป็นรูปร่างชัดเจน ในทุกองค์ประกอบของแต่ละฉากเท่านั้น ยังมีอีกสองสามมิติที่ต้องการสื่อสารถึงผู้ชมและล้อเล่นกับอารมณ์ของผู้ชมที่มีต่อคุณเพชรา เชาวราษฎร์ นางเอกของเรื่องนี้ ที่รับบทเป็นผีเสื้อสมุทร ภาคกลายร่างเป็นสาวงามที่ผมรู้สึกได้

ผมเดาว่าผู้ชมในมัยนั้นคงคาดหวังจะเห็นบทรักหวาน ๆ ของดาราคู่ขวัญคู่นี้ และก็ไม่พลาด แม้จะชินตาขนาดไหนก็ตามทีแต่ก็ดูกันได้ไม่เคยเบื่อหน่าย ฉากรักหวานของยักษ์ในคราบสาวสวยกับเจ้าชายรูปงามดำเนินไป จนกระทั่งผีเสื้อสมุทรให้กำเนิดลูกชาย ชื่อสินสมุทร ที่วันหนึ่งเก่งกล้าวิชาก็ร่วมมือกับพ่อหาช่องทางหลบหนีแม่ซึ่งมาแอบรู้ตอนหลังว่าเป็นยักษ์ออกจากบ้านกันทั้งพ่อลูก

ผมดูถึงตรงนี้ก็รู้สึกเศร้าใจพิกล แต่เรื่องนี้จบแบบรัดทดหมองไหม้ตามท้องเรื่องเข้าไปอย่างที่เราทราบ ๆ กัน  เพราะรักของคนกับยักษ์ในสุดท้ายก็ไม่อาจครองคู่กันไปตลอดได้ พระอภัยมณีเป่าปี่มนตราฆ่าเมียอย่างผีเสื้อสมุทรลงแทบเท้า ท่ามกลางความเศร้าเสียใจของสินสมุทร ดาราคิวทอง อย่าคุณเพชรายอมรับเล่นหนังที่สะท้อนอีกด้านของตัวละคร ที่ดู อัปลักษณ์ โหดร้าย น่ากลัว และไม่สมหวังในท้ายที่สุด ได้อย่างไรในตอนนั้น  

ยามที่พระอภัยมณีเป่าปี่มนต์ แม้จะดูขัดเขินกับท่วงท่าที่ไม่สัมพันธ์กับเสียงประกอบ ผมก็มองข้ามไปได้ เสียกพากย์ซ่อมของนักแสดงทุกคนในเรื่องก็เหมือนช้ากว่าริมฝีปากไป 1 จังหวะ ผมก็ดูได้ไม่ขัดเขิน ผมคิดอะไรของผมไปเรื่อย แต่ไม่ใช่ในด้านจินตนาการเหนือจริง ล้ำความทันสมัยทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ท้าทายคนอ่านเอาไว้ในทุกยุคทุกสมัยของท่านสุนทรภู่

แต่ผมกลับมองเห็นการเอารัดเอาเปรียบของเพศชายที่มีต่อเพศหญิง ผ่านฉากจบของผีเสื้อสมุทรในเรื่องนี้ แต่หากในฐานะนักอ่านแล้ว นี่เป็นการเริ่มในอีกหลายๆ ครั้งการเอาเปรียบเพศแม่ของหนุ่มรูปงามผู้มีปัญญาอย่างพระอภัยมณี ที่ตลอดเวลา ใช้คารมหวาน ๆ ใช้รูปงามๆ ของตน ใช้ฝีมือทางดนตรี เกิดมากรัก มากเมีย สร้างปัญหาในทุกเหตุต้นของการผูกเรื่อง ไม่ว่าจะสงครามชิงเมือง กองเรือโจรสลัด ผ่านสถานการณ์แวดล้อม ทั้งการผจญภัย การค้า การรบ กับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์และศาสนา ทั้งมวลล้วนเกิดจากแรงขับภายในของผู้ชายอย่างพระอภัยมณี ด้วยการหาวิธีการเข้าครอบครองหญิงเพื่อให้สมใจตนเองแต่ฝ่ายเดียว การใช้ปัญญาเช่นนี้ทำให้สตรีเพศอย่างนางผีเสื้อสมุทร, นางเงือก,นางสุวรรณมาลีและนางละเวงวัณฬา ที่ทุกคนได้ชื่อว่าเมียกลายเป็นผู้รับกรรมนั้นไปอย่างน่าสงสารที่สุด

ผมไม่รู้ว่าคุณเพชรา คิดอะไรในตอนนั้นที่รับเล่นบทนี้ แต่ถ้าเธอคิดตรงกันกับผม นี่เป็นการตบหน้ามนุษย์เพศชายที่กดขี่ ข่มเหงสตรีเพศในยุคนั้นได้สมบทบาทที่สุดในชีวิตของเธอเลยเชียว

............................
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่