เตือนภัย เปคู ปลากัดไข่

ปลาจะละเม็ดน้ำจืด (เปคู)




      ปลาเปคู หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า "ปลาคู้" มีชื่อภาษาไทยว่า "ปลาจะละเม็ดน้ำจืด" มีสองสายพันธุ์ คือ ปลาคู้ดำ กับ ปลาคู้แดง มีถิ่นกำเนิดมาจากแถบอเมริกาใต้ ลุ่มน้ำอะเมซอน เป็นปลาในวงศ์เดียวกันกับปลาปิรันย่า และรูปร่างคล้ายกับปลาปิรันย่ากับปลาจะละเม็ด แต่ปลาคู้มีขนาดใหญ่กว่ามาก กรามล่างไม่ยาว และฟันไม่แหลมคมเท่าปลาปิรันย่า มีฟันเหมือนฟันมนุษย์ คล้ายฟันน้ำนมเด็ก บางครั้งจึงถูกเรียกว่า "ปลาฟันคน" ขนาดโตเต็มที่ยาวได้ประมาณ 1 เมตร น้ำหนักหนัก 40 กิโลกรัม
ปลาคู้เป็นที่รู้จักกันดีในวงการกีฬาตกปลา บางคนเข้าใจว่าปลาคู้กำเนิดมาจากปลาปิรันย่าผสมพันธุ์กับปลาจะละเม็ด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปลาปิรันย่าเป็นปลาน้ำจืด ในขณะที่ปลาจะละเม็ดเป็นปลาน้ำเค็ม
ปลาคู้เป็นปลากินจุ กินไม่เลือก และมีนิสัยดุร้ายพอๆกับปลาปิรันย่า แต่ต่างกันตรงที่ปลาปิรันย่าเป็นปลากินเนื้อ แต่ปลาคู้กินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์
       ปลาคู้มีพฤติกรรมประหลาด คือ ชอบกัดลูกอัณฑะของมนุษย์ที่ลงไปในน้ำ ที่ประเทศปาปัวนิวกินีเคยมีคนถูกกัดลูกอัณฑะขาดเลือดไหลจนเสียชีวิตมาแล้วสองราย ที่ประเทศอเมริกา ออสเตรเลีย และสวีเดนเคยประกาศเตือนภัยถึงอันตรายของปลาชนิดนี้ สำหรับประเทศไทย บางครั้งชาวบ้านก็เรียกว่า "ปลากัดไข่"
       ในประเทศไทยปลาคู้ถูกนำเข้ามาในฐานะปลาเศรษฐกิจที่ทางกรมประมงส่งเสริมให้เกษตรเลี้ยง เมื่อราวๆปี 2539 โดยมีชื่อเรียกว่า "ปลาจะละเม็ดน้ำจืด" เพราะมีรูปร่างคล้ายปลาจะละเม็ดในทะเล ซึ่งปลาคู้เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตวัย ผสมพันธุ์ง่าย เนื้อมีรสชาติอร่อย เมนูนิยม เช่น ปลาจาระเม็ดน้ำจืดนึ่งซีอิ๊ว ปลาจาระเม็ดน้ำจืดราดพริก ปลาจาระเม็ดน้ำจืดทอดกระเทียม เป็นต้น
อีกทั้ง ยังนิยมเลี้ยงในบ่อตกปลาเพื่อเกมกีฬา ซึ่งหากบ่อตกปลาบ่อไหนปล่อยปลาคู้ลงเลี้ยง จะเป็นที่ชื่นชอบกันมากของบรรดานักตกปลา ซึ่งปลาคู้กินเหยื่อไม่เลือก ไม่ว่าจะเป็น ไส้เดือน ลูกปลา ตับไก่ เนื้อ ขนมปัง เหยื่อปลอม ฯลฯ และมักจะแย่งกันกินเหยื่อ แม้แต่ปลาที่กินตะกละอย่างปลาสวายกับปลาบึกก็แย่งไม่ทัน แต่มีข้อเสีย คือ บ่อไหนมีปลาคู้ จะทำให้ปลาชนิดอื่นๆ ในบ่อนั้นถูกปลาคู้กินจนหมด
       เนื่องจากมีคนเลี้ยงในตู้ปลาเพื่อความสวยงาม เมื่อปลาโตขึ้น เลี้ยงในตู้ไม่ไหว จึงนำไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จึงกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มาทำลายพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทย ดังนั้น จึงต้องรณรงค์ให้ผู้ที่เลี้ยงปลาว่าไม่ควรนำปลาชนิดนี้ไปปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลอง

อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

www.facebook.com/EPV.or.th
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่