พระสงฆ์ทะเลาะกันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งแรกในสมัยพุทธกาล
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าทะเลาะวิวาทกัน ก็คงมีบ่อยๆ เพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จนเกิดความแตกแยกเป็นครั้งแรก และเกิดขึ้นในครั้งสมัยพุทธกาลด้วย ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ก็คือ การทะเลาะของภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
ในอรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) ได้นำมาเล่าต่อ พร้อม “ใส่ไข่” (ผมอยากจะเรียกอย่างนั้น) ทำให้เราอ่านไปมีความมันในอารมณ์ไปด้วย ขอนำมาถ่ายทอดในวันเลือกตั้ง ที่อารมณ์ของคนในสังคมไทยแตกต่างกัน เพราะสนับสนุนนักการเมืองต่างพรรค (มันเกี่ยวกันไหมเนี่ย)
เรื่องมีอยู่ว่า ในวัดแห่งหนึ่ง เมืองโกสัมพี มีพระภิกษุอยู่ร่วมกันจำนวนมาก มีพระเถระสองรูปเป็นที่เคารพของพระภิกษุทั้งหลาย รูปหนึ่งเป็นผู้เคร่งครัดในพระวินัย มีความเชี่ยวชาญในการอธิบายพระวินัย เรียกตามศัพท์ของพระอรรถกถาจารย์ว่า “พระวินัยธร” อีกรูปหนึ่งมีความสามารถในการถ่ายทอดพระธรรม เรียกว่า “พระธรรมกถึก”
ทั้งสองรูปมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากทัดเทียมกัน ถึงในเนื้อหาจะไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกชัดเจน แต่โดยพฤตินัยก็พอมองเห็นเป็นรูปธรรม รวมไปถึงญาติโยมด้วย พวกที่ชอบพระนักเทศน์ก็ไปหาพระนักเทศน์ พวกที่ชอบพระผู้เชี่ยวชาญพระวินัยก็ไปหาพระวินัยธรบ่อยๆ สมัยนี้เรียกว่า “ขึ้น” ทั้งสองรูป มีญาติโยมขึ้นพอๆ กัน
ท่านเหล่านี้ก็อยู่ด้วยกันมาด้วยดี ไม่มีอะไร อยู่มาวันหนึ่ง พระวินัยธรเข้าห้องน้ำ (สมัยโน้นวัจกุฎีก็คงเป็นส้วมหลุม มากกว่าห้องน้ำในปัจจุบัน) ออกมาเจอพระธรรมกถึก จึงถามว่า “ท่านใช่ไหมที่เข้าห้องน้ำก่อนผม”
พระธรรมกถึกรับว่า “ใช่ มีอะไรหรือ”
“ท่านเหลือน้ำชำระไว้ครึ่งขัน ท่านทำผิดพระวินัย ต้องอาบัติทุกกฎแล้ว รู้หรือเปล่า” พระวินัยธรกล่าว
“โอ ผมไม่รู้ ถ้าอย่างนั้นผมขอปลงอาบัติ” พระธรรมกถึก ยอมรับและยินดี “ปลงอาบัติ” หรือแสดงอาบัติอันเป็นวิธีออกจากอาบัติตามพระวินัย
พระวินัยธรกล่าวว่า ถ้าท่านไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องอาบัติดอก แล้วก็เดินจากไป เรื่องก็น่าจะแล้วกันไป แต่ไม่แล้วสิครับ พระวินัยธรไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า พระธรรมกถึก ดีแต่เทศน์สอนคนอื่น ตัวเองต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้เลย ลูกศิษย์พระวินัยธรก็ไปบอกลูกศิษย์พระธรรมกถึก ทำนองบลั๊ฟกันกลายๆ ว่า พรรคท่านฟ้องแก้เกี้ยว เอ๊ย อาจารย์ของพวกท่านดีแต่สอนคนอื่น ตัวเองต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้
เรื่องรู้ถึงหูพระธรรมกถึก ก็หูแดงสิครับ ใครมันจะยอมให้กล่าวหาว่าพิมพ์สติ๊กเกอร์ เอ๊ยจงใจละเมิดพระวินัย จึงศอกกลับพระวินัยธรว่า สับปลับ ทีแรกว่าไม่เป็นไร แต่คราวนี้ว่าต้องอาบัติ พระวินัยธร ก็ต้องอาบัติข้อพูดเท็จเหมือนกัน เอาละสิครับ เมื่ออาจารย์ทะเลาะกัน พวกลูกศิษย์ก็ทะเลาะกันด้วย ขยายวงกว้างออกไปจนถึงญาติโยมผู้ถือหางทั้งสองฝ่ายด้วย เรื่องลุกลามไปใหญ่โต ทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์เสด็จมาห้ามปราบ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เลือดเข้าตาแล้ว ไม่ยอมเชื่อฟัง
พระพุทธองค์ทรงระอาพระทัย จึงเสด็จหลีกไปประทับอยู่ ณ ป่าปาลิเลยยกะ (หรือปาลิไลยกะ) ตามลำพัง มีช้างนามเดียวกับป่านี้เฝ้าปรนนิบัติ ทรงจำพรรษาที่นั่น ในคัมภีร์พระไตรปิฎกพูดถึงช้างตัวเดียว ไม่พูดถึงลิง แต่ในอรรถกถาบอกว่ามีลิงด้วยตัวหนึ่ง
หมายเหตุไว้ตรงนี้ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ผู้เป็นนักปราชญ์ท่านบอกว่า ช้างนั้น ถ้าเป็นช้างป่าลักษณนามต้องเรียกว่า “ตัว” แต่ถ้าช้างที่ขึ้นระวางแล้วเรียกว่า “เชือก” ว่าอย่างนั้น ผมเป็นแค่ “นักปาด” ก็ต้องเชื่อท่าน
ว่ากันว่าช้างคอยต้มน้ำให้พระพุทธองค์ทรงสรง ทำอย่างไรหรือครับ แกกลิ้งก้อนหินที่ตากแดดทั้งวันยังอมความร้อนอยู่ ลงในแอ่งน้ำเล็กๆ น้ำนั้นก็อุ่นขึ้นมา แล้วก็ไปหมอบแทบพระบาททำนองอาราธนาให้สรงสนาน พระพุทธองค์เสด็จไปสรงน้ำนั้น อย่างนี้ทุกวัน
เจ้าจ๋อเห็นช้างทำอย่างนั้น ก็อยากทำอะไรแด่พระพุทธองค์บ้าง มองไปมองมาเห็นผึ้งรวงใหญ่ ก็ไปเอามาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับแล้วก็วางไว้ ไม่เสวย เจ้าจ๋อสงสัยว่าทำไมพระองค์ไม่เสวย ก็ไปหยิบรวงผึ้งมาพินิจพิเคราะห์ดู เห็นตัวอ่อนเยอะแยะเลย จึงหยิบออกจนหมดแล้วถวายใหม่ คราวนี้พระองค์เสวย ก็เลยกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ ที่อีกฝ่ายจะถูก กกต. แบนเรื่องปริญญาปลอม เอ๊ยที่พระพุทธองค์เสวยผึ้งที่ตนถวาย ปล่อยกิ่งนี้จับกิ่งนั้นเพลิน บังเอิญไปจับกิ่งไม้แห้งเข้า กิ่งไม้หักร่วงลงมา ถูกตอไม้ทิ่มตูดตาย คัมภีร์เล่าต่อว่า ลิงตัวนั้นตายไปเกิดเป็นเทพบุตรนามว่า มักกฎเทพบุตร (แปลว่าเทพบุตรจ๋อ) ปานนั้นเชียว
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จหลีกไปตามลำพัง พวกอุบาสกอุบาสิกาที่ทรงธรรมไม่เข้าข้างฝ่ายไหนทั้งนั้น ก็พากันแอนตี้พระภิกษุเหล่านั้น ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต กล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์เสด็จหนีไป พวกตนมิได้เฝ้าพระพุทธองค์ พระภิกษุเหล่านั้นรู้สำนึก จึงขอขมา แต่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายบอกให้ไปกราบขอขมาพระพุทธองค์ ครั้นออกพรรษาแล้วพระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อขอขมา โดยมีพระอานนท์เป็นผู้ประสานงาน (แหม ใช้ภาษาทันสมัยจังเนาะ) พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของการทะเลาะวิวาทและอานิสงส์ (ผลดี) ของความสามัคคีแก่พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นก็กลับมาสมัครสมานสามัคคีกันเหมือนเดิม
ชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นปางหนึ่ง เป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ คือ ปางปาลิไลยกะ (ป่าเลไลยก์, ป่าลิไลยก์) พระพุทธองค์ประทับห้อยพระบาท มีลิงถือรวงผึ้ง และช้างหมอบแทนพระยุคลบาท อย่าถามว่าสร้างสมัยไหน ผมไม่ทราบ เพราะเกิดไม่ทัน
นี้เป็นการทะเลาะกันของพระสงฆ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกในประวัติพระพุทธศาสนา แต่การทะเลาะกันเพราะความคิดเห็นต่างกัน ก็ไม่ถึงกับแตกนิกายดังในสมัยหลัง เพราะอย่างไรก็มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นจุดศูนย์กลายคอยชี้แจงไกล่เกลี่ยให้กลับคืนดีกัน สมัครสมานสามัคคีกันเหมือนเดิม
ที่มา : www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=34774
“พระพุทธปาลิไลย” เป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยกะ (ป่าเลไลยก์)
ประดิษฐานในพระวิหารทิศเหนือมุขหน้า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
พระสงฆ์ทะเลาะกันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งแรกในสมัยพุทธกาล
พระสงฆ์ทะเลาะกันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งแรกในสมัยพุทธกาล
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าทะเลาะวิวาทกัน ก็คงมีบ่อยๆ เพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จนเกิดความแตกแยกเป็นครั้งแรก และเกิดขึ้นในครั้งสมัยพุทธกาลด้วย ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ก็คือ การทะเลาะของภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
ในอรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) ได้นำมาเล่าต่อ พร้อม “ใส่ไข่” (ผมอยากจะเรียกอย่างนั้น) ทำให้เราอ่านไปมีความมันในอารมณ์ไปด้วย ขอนำมาถ่ายทอดในวันเลือกตั้ง ที่อารมณ์ของคนในสังคมไทยแตกต่างกัน เพราะสนับสนุนนักการเมืองต่างพรรค (มันเกี่ยวกันไหมเนี่ย)
เรื่องมีอยู่ว่า ในวัดแห่งหนึ่ง เมืองโกสัมพี มีพระภิกษุอยู่ร่วมกันจำนวนมาก มีพระเถระสองรูปเป็นที่เคารพของพระภิกษุทั้งหลาย รูปหนึ่งเป็นผู้เคร่งครัดในพระวินัย มีความเชี่ยวชาญในการอธิบายพระวินัย เรียกตามศัพท์ของพระอรรถกถาจารย์ว่า “พระวินัยธร” อีกรูปหนึ่งมีความสามารถในการถ่ายทอดพระธรรม เรียกว่า “พระธรรมกถึก”
ทั้งสองรูปมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากทัดเทียมกัน ถึงในเนื้อหาจะไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกชัดเจน แต่โดยพฤตินัยก็พอมองเห็นเป็นรูปธรรม รวมไปถึงญาติโยมด้วย พวกที่ชอบพระนักเทศน์ก็ไปหาพระนักเทศน์ พวกที่ชอบพระผู้เชี่ยวชาญพระวินัยก็ไปหาพระวินัยธรบ่อยๆ สมัยนี้เรียกว่า “ขึ้น” ทั้งสองรูป มีญาติโยมขึ้นพอๆ กัน
ท่านเหล่านี้ก็อยู่ด้วยกันมาด้วยดี ไม่มีอะไร อยู่มาวันหนึ่ง พระวินัยธรเข้าห้องน้ำ (สมัยโน้นวัจกุฎีก็คงเป็นส้วมหลุม มากกว่าห้องน้ำในปัจจุบัน) ออกมาเจอพระธรรมกถึก จึงถามว่า “ท่านใช่ไหมที่เข้าห้องน้ำก่อนผม”
พระธรรมกถึกรับว่า “ใช่ มีอะไรหรือ”
“ท่านเหลือน้ำชำระไว้ครึ่งขัน ท่านทำผิดพระวินัย ต้องอาบัติทุกกฎแล้ว รู้หรือเปล่า” พระวินัยธรกล่าว
“โอ ผมไม่รู้ ถ้าอย่างนั้นผมขอปลงอาบัติ” พระธรรมกถึก ยอมรับและยินดี “ปลงอาบัติ” หรือแสดงอาบัติอันเป็นวิธีออกจากอาบัติตามพระวินัย
พระวินัยธรกล่าวว่า ถ้าท่านไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องอาบัติดอก แล้วก็เดินจากไป เรื่องก็น่าจะแล้วกันไป แต่ไม่แล้วสิครับ พระวินัยธรไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า พระธรรมกถึก ดีแต่เทศน์สอนคนอื่น ตัวเองต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้เลย ลูกศิษย์พระวินัยธรก็ไปบอกลูกศิษย์พระธรรมกถึก ทำนองบลั๊ฟกันกลายๆ ว่า พรรคท่านฟ้องแก้เกี้ยว เอ๊ย อาจารย์ของพวกท่านดีแต่สอนคนอื่น ตัวเองต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้
เรื่องรู้ถึงหูพระธรรมกถึก ก็หูแดงสิครับ ใครมันจะยอมให้กล่าวหาว่าพิมพ์สติ๊กเกอร์ เอ๊ยจงใจละเมิดพระวินัย จึงศอกกลับพระวินัยธรว่า สับปลับ ทีแรกว่าไม่เป็นไร แต่คราวนี้ว่าต้องอาบัติ พระวินัยธร ก็ต้องอาบัติข้อพูดเท็จเหมือนกัน เอาละสิครับ เมื่ออาจารย์ทะเลาะกัน พวกลูกศิษย์ก็ทะเลาะกันด้วย ขยายวงกว้างออกไปจนถึงญาติโยมผู้ถือหางทั้งสองฝ่ายด้วย เรื่องลุกลามไปใหญ่โต ทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์เสด็จมาห้ามปราบ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เลือดเข้าตาแล้ว ไม่ยอมเชื่อฟัง
พระพุทธองค์ทรงระอาพระทัย จึงเสด็จหลีกไปประทับอยู่ ณ ป่าปาลิเลยยกะ (หรือปาลิไลยกะ) ตามลำพัง มีช้างนามเดียวกับป่านี้เฝ้าปรนนิบัติ ทรงจำพรรษาที่นั่น ในคัมภีร์พระไตรปิฎกพูดถึงช้างตัวเดียว ไม่พูดถึงลิง แต่ในอรรถกถาบอกว่ามีลิงด้วยตัวหนึ่ง
หมายเหตุไว้ตรงนี้ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ผู้เป็นนักปราชญ์ท่านบอกว่า ช้างนั้น ถ้าเป็นช้างป่าลักษณนามต้องเรียกว่า “ตัว” แต่ถ้าช้างที่ขึ้นระวางแล้วเรียกว่า “เชือก” ว่าอย่างนั้น ผมเป็นแค่ “นักปาด” ก็ต้องเชื่อท่าน
ว่ากันว่าช้างคอยต้มน้ำให้พระพุทธองค์ทรงสรง ทำอย่างไรหรือครับ แกกลิ้งก้อนหินที่ตากแดดทั้งวันยังอมความร้อนอยู่ ลงในแอ่งน้ำเล็กๆ น้ำนั้นก็อุ่นขึ้นมา แล้วก็ไปหมอบแทบพระบาททำนองอาราธนาให้สรงสนาน พระพุทธองค์เสด็จไปสรงน้ำนั้น อย่างนี้ทุกวัน
เจ้าจ๋อเห็นช้างทำอย่างนั้น ก็อยากทำอะไรแด่พระพุทธองค์บ้าง มองไปมองมาเห็นผึ้งรวงใหญ่ ก็ไปเอามาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับแล้วก็วางไว้ ไม่เสวย เจ้าจ๋อสงสัยว่าทำไมพระองค์ไม่เสวย ก็ไปหยิบรวงผึ้งมาพินิจพิเคราะห์ดู เห็นตัวอ่อนเยอะแยะเลย จึงหยิบออกจนหมดแล้วถวายใหม่ คราวนี้พระองค์เสวย ก็เลยกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ ที่อีกฝ่ายจะถูก กกต. แบนเรื่องปริญญาปลอม เอ๊ยที่พระพุทธองค์เสวยผึ้งที่ตนถวาย ปล่อยกิ่งนี้จับกิ่งนั้นเพลิน บังเอิญไปจับกิ่งไม้แห้งเข้า กิ่งไม้หักร่วงลงมา ถูกตอไม้ทิ่มตูดตาย คัมภีร์เล่าต่อว่า ลิงตัวนั้นตายไปเกิดเป็นเทพบุตรนามว่า มักกฎเทพบุตร (แปลว่าเทพบุตรจ๋อ) ปานนั้นเชียว
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จหลีกไปตามลำพัง พวกอุบาสกอุบาสิกาที่ทรงธรรมไม่เข้าข้างฝ่ายไหนทั้งนั้น ก็พากันแอนตี้พระภิกษุเหล่านั้น ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต กล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์เสด็จหนีไป พวกตนมิได้เฝ้าพระพุทธองค์ พระภิกษุเหล่านั้นรู้สำนึก จึงขอขมา แต่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายบอกให้ไปกราบขอขมาพระพุทธองค์ ครั้นออกพรรษาแล้วพระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อขอขมา โดยมีพระอานนท์เป็นผู้ประสานงาน (แหม ใช้ภาษาทันสมัยจังเนาะ) พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของการทะเลาะวิวาทและอานิสงส์ (ผลดี) ของความสามัคคีแก่พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นก็กลับมาสมัครสมานสามัคคีกันเหมือนเดิม
ชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นปางหนึ่ง เป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ คือ ปางปาลิไลยกะ (ป่าเลไลยก์, ป่าลิไลยก์) พระพุทธองค์ประทับห้อยพระบาท มีลิงถือรวงผึ้ง และช้างหมอบแทนพระยุคลบาท อย่าถามว่าสร้างสมัยไหน ผมไม่ทราบ เพราะเกิดไม่ทัน
นี้เป็นการทะเลาะกันของพระสงฆ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกในประวัติพระพุทธศาสนา แต่การทะเลาะกันเพราะความคิดเห็นต่างกัน ก็ไม่ถึงกับแตกนิกายดังในสมัยหลัง เพราะอย่างไรก็มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นจุดศูนย์กลายคอยชี้แจงไกล่เกลี่ยให้กลับคืนดีกัน สมัครสมานสามัคคีกันเหมือนเดิม
ที่มา : www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=34774
“พระพุทธปาลิไลย” เป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยกะ (ป่าเลไลยก์)
ประดิษฐานในพระวิหารทิศเหนือมุขหน้า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม