ความเชื่อที่งมงาย

กระทู้สนทนา
ปุถุชนไม่สามารถจะทำลายความยึดมั่นถือมั่น หรือไม่สามารถจะปล่อยวางสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นได้ ก็เพราะมีของน่ารักน่าใคร่เป็นเครื่องล่อ แล้วมีทิฏฐิความเห็นผิดของตนนานาชนิดเป็นเหมือนบ่วงหรือเบ็ด ทีนี้ยังเหลืออยู่แต่ว่า คนทั้งหลายจะโง่งมงายเข้าไปกินเหยื่อติดบ่วงติดเบ็ดนี้หรือไม่เท่านั้น ถ้าหากว่าไม่งมงาย เหยื่อกับบ่วงนั้นก็เป็นหมันไป เหยื่อกับบ่วงกลายเป็นสิ่งอันตรายขึ้นมา ก็เพราะความโง่เขลางมงายของตนเองมากกว่า ถ้าหากว่า คนเราปราศจากความงมงายแล้ว เหยื่อกับบ่วงก็ไม่อาจทำอันตรายแก่เราได้

พุทธทาส อินทปัญโญ

ตีพิมพ์ในวารสารธรรมจักษุ ปีที่ ๗๙ ฉบับที่ ๖ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๓๘


กาลามสูตร
  ๑. มา อนุสฺสเวน
อย่ารับเอามาเชื่อโดยการฟังบอกต่อ ๆ กันมา มันเป็นอาการของคนไร้สมอง หรือสมองขี้เลื่อย

๒. มา ปรมฺปราย
อย่ารับเอามาเชื่อโดยที่มีการทำตาม ๆ สืบ ๆ กันมา เห็นเขาทำอะไร ก็ทำตาม ๆ กันไป
    ดังนิทานเรื่องกระต่ายตื่นตูม ที่สัตว์ทั้งหลายเห็นกระต่ายวิ่งมาอย่างสุดกำลัง ก็ขวนกันวิ่งตาม จนหกล้มคอหักตกเหวตายกันเป็นอันมาก วิปัสสนาที่สักว่าทำตาม ๆ กันมา ก็มีผลอย่างนี้.

   ๓. มา อิติกิราย
อย่ารับเอามาเชื่อตามเสียงที่กำลังเล่าลืออยู่อย่างกระฉ่อนบ้าน หรือกระฉ่อนโลก ซึ่งเรียกว่า "ตื่นข่าว" มันเป็นเรื่องของคนโง่ ไม่ยอมใช้สติปัญญาของตน.

๔. มา ปิฏกสมุปทาเนน
อย่ารับเอามาเชื่อด้วยเหตุเพียงว่ามีที่อ้างในปิฎก.
    คำว่า ปิฎก หมายถึงสิ่งที่ได้เขียนหรือจารึกลงไปแล้วในวัตถุสำหรับการเขียน ที่ยังจำ ๆ กันไว้ด้วยความทรงจำยังไม่เรียกว่า ปิฎก.
    ปิฎก เป็นสังขารชนิดหนึ่งที่อยู่ในกำมือของมนุษย์ ทำขึ้นได้ ปรับปรุงได้ เปลี่ยนแปลงได้ โดยมือของมนุษย์ จึงไม่อาจถือเอาได้ตามตัวอักษรเสมอไป ต้องใช้วิจารณญาณให้เห็นว่า คำที่กล่าวนั้นจะใช้ในการดับทุกข์ได้อย่างไร นิกายพุทธศาสนาแต่ละนิกาย ก็มีปิฎกที่ไม่ตรงกัน.

  ๕. มา ตกฺกเหตุ
    อย่าเชื่อโดยเหตุที่ว่ามันถูกต้องตามเหตุผลทางตักกะ ซึ่งเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่ง ที่ใช้เป็นเครื่องคำนวนหาความจริง
    ตักกะ คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า Logic ซึ่งมันก็ยังผิดได้ถ้าข้อมูลมันผิด หรือวิธีการคำนวนมันพลาด.

   ๖. มา นยเหตุ    
อย่าเชื่อโดยเหตุที่ว่ามันถูกต้องตามเหตุผลทางนยะ ซึ่งเราเรียกกันในเวลานี้ว่า ฟิโลโซฟี่ ซึ่งไดให้คำแปลว่า ปรัชญา.
    ชาวอินเดียไม่ยอมรับ เพราะมันเป็นทรรศนะหนึ่ง ๆ มิใช่ปัญญาอันสูงสุดหรือเด็ดขาด

๗. มา อาการปริวิตกฺเกน
    อย่าเชื่อหรือรับเอามาเชื่อด้วยการตรึกตามอาการ ที่เราเรียกกันสมัยนี้ว่า คอมม่อนเซ้นส์ ซึ่งเป็นเพียงความคิดชั่วแวบตามความเคยชิน แต่เราก็ชอบใช้กันมากจนเป็นนิสัยไปก็มี   นักปราชญ์ผู้อวดดีชอบใช้วิธีนี้กันมาก และถือว่าเก่ง.

๘. มา ทิฏฐนิชฺฌานกฺขนฺติยา    
อย่าเชื่อด้วยเหตุผลเพียงสักว่าข้อความนั้นมันทนได้ หรือเข้ากันได้กับความเห็นของตนซึ่งมีอยู่เดิม ซึ่งมันก็ผิดได้อยู่นั่นเอง หรือวิธีพิสูจน์และทดสอบมันไม่ถูกต้อง มันก็ไม่เข้าถึงความจริงได้
    ข้อนี้มีวิธีการคล้ายกับวิถีทางวิทยาศาสตร์ แต่มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ไปไม่ได้ เพราะไม่มีการพิสูจน์และทดลองที่เพียงพอ.

   ๙. มา ถพพรูปตาย    
อย่าเชื่อด้วยเหตุเพียงสักว่า ผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อ ลักษณะภายนอกกับความรู้จริงในภายในไม่เป็นสิ่งเดียวกันได้ คือผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อ แต่พูดผิด ๆ ก็มีอยู่ถมไป
    แม้สิ่งที่เรียกกันว่าคอมพิวเตอร์สมัยนี้ก็ระวังให้ดี ๆ เพราะคนเป็นผู้ให้ข้อมูลหรือใช้มัน อาจจะให้ผิด ๆ หรือใช้มันผิด ๆ ก็ได้, อย่าบูชาคอมพิวเตอร์กันนัก มันจะผิดหลัก กาลามสูตร ข้อนี้.

  ๑๐. มา สมโณ โน ครู-ติ
    อย่าเชื่อด้วยเหตุเพียงสักว่า สมณะ (ผู้พูด) นี้เป็นครูของเรา, พระพุทธประสงค์อันสำคัญเกี่ยวกับข้อนี้ ก็คือไม่ต้องการให้ใครเป็นทาสทางปัญญาของใคร แม้แก่พระองค์เอง.
    ทรงย้ำบ่อย ๆ ในข้อนี้ และมีสาวกเช่นพระสารีบุตร ก็กล่าวยืนยันในการปฏิบัติเช่นนี้ คือไม่เชื่อทันทีที่ได้ฟังพระพุทธดำรัส แต่เชื่อเมื่อได้ใคร่ครวญด้วยเหตุผลอันเพียงพอและได้ลองปฏิบัติดูแล้ว.
    จงดูเถิด มีศาสดาไหนในโลกที่ให้เสรีภาพแก่สาวกหรือผู้ฟังอย่างสูงสุดเช่นนี้ ดังนั้น พุทธศาสนาจึงไม่มี Dogmatic System คือการบังคับให้เชื่อโดยไม่ให้สิทธิในการใช้เหตุผลของตนเอง, นี่แหละคือความพิเศษสูงสุดของพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้ไม่ต้องตกเป็นทาสทางสติปัญญาของผู้ใด ดังกล่าวแล้ว
    คนไทยเรา อย่าสมัครเป็นทาสทางสติปัญญาของชาวตะวันตกเหมือนที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันให้มากนักเลย หรือจะไม่เป็นเสียเลยก็จะเป็นการดีที่สุด.

https://sites.google.com/site/gotodhama/ka-lam-sutr

ปล ไม่มีความเห็น แต่เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรศึกษา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่