อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีสหรัฐวอนโลก สนับสนุนประชาธิปไตยในไทย



อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เคิร์ต แคมพ์เบล เชิญชวนโลกหนุนประชาธิปไตยในไทย ชี้พรรคประชาธิปัตย์ออกหน้าแทนชนชั้นนำ สร้างวิกฤตการเมือง หวังให้กลุ่มปฏิกิริยาครองอำนาจใน 'สภาประชาชน'

เคิร์ต แคมพ์เบล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เขียนบทความ เรื่อง "Respect for democracy in Thailand needs support" เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ระบุว่า การเมืองไทยซึ่งคาดเดาสถานการณ์ได้ยาก กำลังเข้าสู่ห้วงเวลาอันตรายอีกครั้ง



แคมพ์เบล ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวในรัฐบาลบารัก โอบามา ระหว่างเดือนมิถุนายน 2552 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 บอกว่า บรรดานักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำพันธมิตรกับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยอ้างว่าตนได้รับ "การสนับสนุนจากมวลมหาประชาชน" ทั้งๆที่พรรคเพื่อไทยของยิ่งลักษณ์ขึ้นครองอำนาจด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ซึ่งนักสังเกตการณ์เห็นพ้องกันว่า เป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

"ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ชนชั้นนำกรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วยมหาเศรษฐีนักธุรกิจ, พวกรอยัลลิสต์ และนายทหารระดับสูงบางส่วน ไม่ยอมรับว่า กงล้อประวัติศาสตร์ได้หมุนเคลื่อนไปข้างหน้าแล้ว" แคมพ์เบล ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการของศูนย์ความมั่นคงใหม่อเมริกัน หน่วยงานคลังสมองในสหรัฐ กล่าว

เขาบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแพ้เลือกตั้งทุกครั้งนับแต่ปี 2535 เป็นต้นมา กำลังใช้กลยุทธ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กลุ่มพลังที่ต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในศาล, ในกองทัพ และบรรดาผู้เพ็ดทูล ได้ขับรัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยไปแล้ว 3 ชุดนับแต่ปี 2549 แม้มีการเปลี่ยนนามเรียกขานมาหลายชื่อ แต่โดยเนื้อแท้ก็คือ "พลพรรคเสื้อเหลือง"



แคมพ์เบลเขียนว่า ยิ่งลักษณ์ปฏิบัติตนอย่างน่าชื่นชมทั้งภายในประเทศและนอกประเทศนับแต่เธอได้รับเลือกตั้ง เธอได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเดินงานการทูตด้วยท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตนตามแบบฉบับคนไทย ภายในประเทศนั้น เธอพยายามทอดไมตรีกับฝ่ายต่อต้าน

"จริงอยู่ รัฐบาลได้จุดชนวนวิกฤตด้วยการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งจะยกเลิกข้อกล่าวหาทางอาญาต่อพ.ต.ท.ทักษิณ และเปิดทางให้เขากลับบ้าน แต่เมื่อถูกคัดค้านอย่างหนักในสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ถอนร่างดังกล่าว แต่ต่อมาได้รับคะแนนไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร นี่คือ การทำงานตามระบอบรัฐสภา" เขากล่าว



อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านฉวยประเด็นนี้เป็นข้อโจมตี และก่อวิกฤตด้วยการนำผู้สนับสนุนพรรคของตนลงสู่ท้องถนน

"การเมืองไทยได้เปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับแล้ว กลุ่มทักษิณได้ทำให้เกิดขบวนการทางการเมือง ประกอบด้วยชนชั้นจากชนบท ซึ่งปรารถนาให้ประเทศไทยมีความเท่าเทียมในอนาคต กลุ่มอำนาจเก่า ทั้งพวกสวมเครื่องแบบ, พวกนั่งในห้องประชุมอันโอ่โถง, เหล่าองคมนตรี และศาล ต้องยอมรับความเป็นจริงทางการเมืองนี้ และพรรคฝ่ายค้านซึ่งออกหน้าแทนคนพวกนี้ ต้องลงมาแข่งขันทางการเมือง ไม่ใช่วางแผนทำรัฐประหาร" แคมพ์เบล กล่าว

เขาเรียกร้องให้สหรัฐและประเทศอื่นๆสนับสนุนประชาธิปไตยในไทย "ประชาคมระหว่างประเทศควรเน้นว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องยึดมั่นในวิถีทางการเลือกตั้ง และขื่อแปกฎหมาย เพื่อแก้ไขข้อพิพาท และไม่หันไปใช้ 'สภาประชาชน' ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อันเป็นสิ่งที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้มีอำนาจปกครองประเทศ".

ที่มา : Financial Times  และ http://news.voicetv.co.th/democracycrisis/91833.html

ภาพ : Reuters  

22 ธันวาคม 2556 เวลา 09:51 น.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่