ม็อคค่าปาท่องโก๋ : คุยกับคนอวดผี {สัมภาษณ์ผกก. กอล์ฟ&โอ๋ GTH}

สวัสดีครับ

      ขออนุญาต นำคอลัมน์ "ม็อกค่าปาท่องโก๋" ที่ผมเขียนประจำในเนชั่นสุดสัปดาห์นั้น มาเผยแพร่ให้ได้อ่านกัน เพื่อขอคำแนะนำ คำติชม เพื่อปรับปรุงงานเขียนต่อไปในอนาคตเรื่อยๆครับ ขอบคุณครับ

เนชั่นสุดสัปดาห์ เล่มที่ 1122

      เมื่อตอน-สองตอนที่แล้ว “ม็อคค่า ปาท่องโก๋” พาท่านผู้อ่าน “เนชั่นสุดสัปดาห์” ไปมุดรั้วงาน Event ยักษ์ประจำเทศกาล Halloween ของสิงคโปร์ โดยมีตัวชูโรงคือ “บ้านผีสิง” ฝีมือการสร้างสรรค์โดยค่ายหนังไทยชั้นนำอย่าง GTH

      ได้รับเกียรติจากผู้สร้าง “บ้านผีสิง” สองท่าน คือ “กอล์ฟ” ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้กำกับบอดี้ศพ #19  / 4 แพร่ง (ยันต์สั่งตาย) / 5 แพร่ง (หลาวชะโอน) และ รัก 7 ปี ดี 7 หน (14) ควงแขน “โอ๋” ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ผู้กำกับชัตเตอร์กดติดวิญญาณ / แฝด / 4 แพร่ง (เที่ยวบิน 224) และ 5 แพร่ง  (รถมือสอง) มาเปิดใจถึงโครงการดังกล่าวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

      เรายังเหลือประเด็นตกค้างจาก “บ้านผีสิง” พระเอกประจำ Halloween ของสิงคโปร์ประจำปีนี้ อีกหลากหลายเรื่องราว จึงขออนุญาตนำท่านผู้อ่าน “เนชั่นสุดสัปดาห์” ไปฟังทัศนะของสองผู้กำกับหนังแนวสยองขวัญ เรียกได้ว่าทั้งสองคนเป็นมือวางอันดับต้นๆ ถ้าพูดถึงวงการหนังผีของไทยในชั่วโมงนี้

Mr. Coffee : ปัจจุบัน CG ในประเทศไทยเป็นอย่างไร

กอล์ฟ : ผมว่าเทียบไม่ได้ครับ เมื่อก่อนมี ณ จุดหนึ่งที่ เรารู้สึกว่า พอจะไหว แต่อยู่ดีๆ ฮอลลีวูดก็ก้าวกระโดดไปครับ เรายังไม่มีทางเทียบได้ในที่นี้ด้วย อย่างเรื่อง Manpower หรือกำลังคน สู้ไม่ได้ด้วย ว่าเราไม่ใช่คนเขียนโปรแกรม มันไม่ใช่ภาษาของเรา มันไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นเคย เราต้องมาศึกษาทำความเข้าใจ ในขณะที่ต่างประเทศมีมหาวิทยาลัย มีบริษัท มีอุตสาหกรรมที่รองรับ อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่เก่งนะครับ คนไทยเก่งๆ ทำงานในบริษัท CG ของ ฮอลลีวูดเยอะมาก แต่ด้วยในบ้านเรา CG ส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพจะถูกใช้งานด้านโฆษณาเท่านั้น พอเป็นหนัง ด้วยเงื่อนไขของเงินทุน เงื่อนไขของเวลา ไม่มีทางที่จะทำให้หนังออกมาเทียบเท่าได้เลย คือผมมีบทเรียนด้วยตัวเองกับการทำ “สี่แพร่ง” ตอน “ยันต์สั่งตาย” และ “บอดี้ศพ#19” อย่างใน “บอดี้ศพ#19” มีซีนที่ทำด้วย CG ได้สวยมากๆ กับซีนที่ดูแย่มากๆ ในหนังเรื่องเดียวกัน ทั้งๆ ที่เป็นทีมเดียวกัน มันมีเงื่อนไขเยอะมากครับ พอมาถึง “สี่แพร่ง” ตอน “ยันต์สั่งตาย” ไม่มีเวลาทำ CG เลยออกมาเละ เละมากครับ

Mr. Coffee : การเปลี่ยนระบบการถ่ายทำจากฟิล์มเป็นดิจิตอล ช่วยให้การทำ CG ง่ายขึ้นหรือไม่

กอล์ฟ : ไม่ช่วยเลยครับ ตราบใดที่เรายังไม่ได้วางแผนทำหนังเหมือนฮอลลีวูด ตัวอย่างเช่น “เจมส์ คาเมรอน” วางแผนการทำ Avater เป็น 10 ปีครับ หนังบ้านเราไม่ได้วางแผน 10 ปีครับ คือเขารู้เงื่อนไขของ CG ว่าจะต้องวางแผนอย่างไร “ไมเคิล เบย์” เริ่มช็อตแรก ส่งเข้าทำ CG แล้ว ส่วนของบ้านเรา กว่าจะถ่ายทำ ตัดต่อ ส่งให้ Post Production ปัญหามันอีนุงตุงนัง เอาง่ายๆ อย่าง “รัก 7 ปี ดี 7 หน” ตอน “14” ของผมเนี่ย CG ไม่ได้มีให้เห็นเต็มไปหมด แต่ในหนังก็ประกอบด้วย CG เยอะแยะ นั่นยังทำกันจนถึงวินาทีสุดท้าย

Mr. Coffee : หนังผีไทยยังมีโอกาสจะพัฒนาไปในทิศทางไหนได้อีก

โอ๋ : คิดว่า ถ้าไม่สามารถคิดอะไรกระโดดไปจากสิ่งที่เราเคยทำได้ ควรหยุดก่อน กลับมาเขียนบทแล้วก็มาตั้งตัวก่อน แล้วค่อยทำอะไรออกมาใหม่ ถ้าเรายังฝืนทำอะไรซ้ำๆ เดิมออกไป มันไม่มีประโยชน์ และน่าจะเสียเวลามากกว่า

โอ๋ : ไม่ได้แปลว่าต้องคิดอะไรใหม่สุดยอดล้ำนะครับ คือแค่คลิกนิดเดียว เหมือนอย่าง Conjuring เป็นเหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ก็จริง แต่แค่ขยับนิดเดียวอะไรเปลี่ยนอะไรบางอย่าง แค่นี้มันก็พอแล้ว

กอล์ฟ : แต่ก็มีหนังผีออกมาตลอดนะครับไม่ใช่ว่าหนังผีจะล้มหายตายจากไปถึงแม้จะไม่ได้เงิน อย่างล่าสุด หนังของพี่ “พจน์ อานนท์” เรื่อง “ม.6/5 ปากกล้าท้าผี” ถือว่าได้เงินเยอะนะครับ

โอ๋ : ผมว่าคนดูรอหนังผีอยู่นะ ไม่ใช่ว่าไม่อยากดูแล้ว แต่เขาคอย เขาเลือกเป็น ว่าหนังผีแบบไหนที่อยากดู ถ้าสุ่มสี่สุ่มห้า แล้วฉายออกไป ผมว่าเรียบร้อย

Mr. Coffee : แล้วอย่าง “ฮาชิมะ โปรเจคต์” ล่ะครับ

กอล์ฟ : ผมว่ามันน่าสนใจตั้งแต่ตัว “เกาะฮาชิมะ” แล้วนะ คือมันดูแล้วโอ้โห เวลาเราอ่านใน Pantip ที่เอาเรื่องราวแบบนี้มาโพสต์ เราก็จะส่งต่อกัน และบอกว่า มัน work มากเลย พอเห็นว่า “เจมส์ บอนด์” ไปถ่ายทำ แล้วได้ยินว่าคนไทยจะไปถ่ายหนังที่เกาะนี้ ครั้งแรกที่ได้ยิน อิจฉาครับ ได้ Location ขนาดนี้

Mr. Coffee : พวก Pantip บ่นกันว่าเรื่องจริงของ “เกาะฮาชิมะ” นั้น ไม่มีผี
กอล์ฟ : ผมว่ามันไม่เป็นไรนะ

โอ๋ : จริงๆ คิดแบบนี้มันก็ Fact เกินไปนะครับ

กอล์ฟ : อย่าไปคิดเลยครับ ผมว่าเราไปสร้าง Story ที่สนุกๆ ดีกว่า เพราะทุกครั้ง เอาจริงๆ ว่า ทุกๆ เรื่อง จริงๆ ก็เริ่มจากเรื่องเล็กๆ แล้วเราก็เอาไปต่อเป็นเรื่องราวขึ้นมามากว่า

Mr. Coffee : ใช่หรือไม่ว่า หนังผีที่อ้างอิงจากเรื่องจริง จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

โอ๋ : มีใครหาลัดดาแลนด์เจอบ้าง ว่ามันมีจริงหรือเปล่า คือมันไม่มีอยู่จริงครับ เพราะเราสร้างลัดดาแลนด์ขึ้นมา

กอล์ฟ : คือลัดดาแลนด์ มันเป็นแบบ สวนนงนุชครับ ไม่ใช่หมู่บ้านลัดดาแลนด์ คนละเรื่องเลย

โอ๋ : มันสร้างขึ้นมาได้อยู่แล้วครับ

กอล์ฟ : แค่ทำให้คนดูสนุกครับ

Mr. Coffee : ผลที่เกิดขึ้นจากความสำเร็จของ “พี่มาก...พระโขนง” ทำให้ GTH ทำหนังเรื่องถัดไปยากขึ้นหรือไม่

กอล์ฟ : โอ้โห ผมว่ามันอาจจะยากขึ้นหรือเปล่าไม่รู้ แต่ว่า คือคุณโต้ง (บรรจง) ได้สร้างมาตรฐานใหม่ครับ ไม่ได้พูดถึงรายได้นะครับ พูดถึงแค่ความเป็นหนัง หลังจาก “พี่มาก” ฉายไป คุณโอ๋โทรหาทุกคนเลยว่า เป็นไงละ โต้งฉีดยาพวกเราคนละเข็มแล้ว เหมือนโดนฉีดสารกระตุ้นครับ พวกนั่งสบายๆ ไม่ได้ ต้องเร่งสร้างผลงาน อยู่เฉยไม่ได้แล้ว

โอ๋ : เหมือนยานอวกาศได้สำรวจจักรวาลเพิ่มเติมเพื่อหาพื้นที่ใหม่ๆ ให้เจอครับ คือเมื่อก่อนเคยเห็นจักรวาลเล็กแค่นี้ ตอนนี้เห็นแล้วว่า ในความเป็นจริงจักรวาลมันกว้างใหญ่แค่ไหน เหมือนคุณโต้งโชว์ให้พวกเราทุกคนได้เห็น

Mr. Coffee : ที่ผมได้สัมภาษณ์ผุ้กำกับมาหลายคนก็เห็นว่า “พี่มาก...พระโขนง” ได้เปิดตลาดหนังของไทยไปสู่มิติใหม่ จริงๆ แล้ว ทางทีม GTH รู้สึกยังไง

โอ๋ : รู้สึกเหมือนกันครับ

กอล์ฟ : ไม่ได้รู้สึกในทางอิจฉานะครับ แต่เป็นเหมือนแรงผลักดันและกระตุ้นให้เราอยากสร้างงานใหม่ๆ อยากทำผลงานออกมา

Mr. Coffee : ผลจาก “พี่มาก...พระโขนง” ทำให้ GTH ยังไม่มีหนังไทยใหม่ในปีนี้เลยด้วยหรือเปล่าครับ

กอล์ฟ : มันเป็นจังหวะหลายอย่างครับ เอาจริงๆ พูดตรงๆ คือว่า มีคนถามพวกเราถึงโปรเจคต์แบบ “3 แพร่ง”, “6 แพร่ง”, “ 8 แพร่ง” อยู่ตลอดเวลา ทำไม่เราถึงไม่ทำ มีแฟนๆ รออยู่แล้ว แต่เนื่องจากเรายังไม่เจอเรื่องที่รู้สึกว่า โอ้โห To die for ประมาณนี้ ก็เลยยังไม่ต้องรีบทำ

Mr. Coffee :  ความยากง่ายและต้นทุนในการสร้างหนังเรื่องเดียว กับหนังสั้นหลายๆ เรื่องเอามารวมกัน แตกต่างกันอย่างไร

โอ๋ : จริงๆ ไม่ต่างครับ แต่พวก “แพร่ง” จะแพงกว่าปกติด้วยครับ เพราะใช้กันเต็มที่เหมือนหนังยาว ยิ่งเอา 3-4 เรื่องมารวมกัน ต้นทุนรวมมันจะสูงมากกว่าปกติ ซึ่งทางค่ายจะเครียดมากกว่าด้วยซ้ำ

กอล์ฟ : ใช่ครับ เอาจริงๆ 5 แพร่ง Setup กันคนละที่เลย ผมอยู่ในป่า ของโอ๋อยู่ที่เต๊นท์รถมือสอง ซึ่งค่าเช่าของเต๊นท์รถมือสอง 1 วันแพงมากครับ

โอ๋ : และวีธีคิดของแต่คนก็ไม่ใช่ว่า เรามาทำหนังสั้นกัน ก็คิดกันแบบว่า เนื้อหาทำเป็นหนังใหญ่หนึ่งเรื่อง แต่รูปแบบเป็นหนังสั้นเท่านั้นเอง

Mr. Coffee :  งั้นโอกาสที่จะได้ดูหนังตระกูล “แพร่ง” อีก ก็คงยาก

โอ๋ : ใช่ครับ มันยาก ยากที่จะให้จังหวะของทุกคนมาตรงกัน

Mr. Coffee :  รายได้หนังไทยในปีนี้ ที่นอกจาก “พี่มาก...พระโขนง” แล้ว รายรับเฉลี่ยของหนังโดยรวมค่อนข้างต่ำ

โอ๋ : ผมว่าช่วงนี้เหมือนเป็นช่วงที่มีการปรับฐานอะไรบางอย่าง คนเริ่มที่จะเลือกตัดสินใจดูหนังยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะด้วยค่าตั๋วหนังที่แพงมาก

กอล์ฟ : และก็ Internet ด้วยครับ Feedback ของหนัง หรือ Facebook คือทุกๆ อย่างเลย

โอ๋ : ระบบในการสื่อสาร สิ่งบันเทิงหลายๆ อย่าง มันก็เปลี่ยนระบบอะไรไปเยอะ คนก็เลยดูจังหวะ ผมว่าดูเหมือนอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอะไรบางอย่าง เมื่อก่อนเราก็ไม่เคยเห็นหนังไทยทำรายได้แค่หลักหมื่น แต่เดี๋ยวนี้มันต่ำเตี้ยลงไปถึงหลักหมื่นแล้ว

กอล์ฟ : ความนิยมในหนังแต่ละเรื่องสามารถเช็คจากตัวอย่างที่ลงใน Youtube เลยนะครับ จำนวน View หนังที่มีคนสนใจเยอะ เปิดมาจะได้เงิน หนังที่ไม่มีคนสนใจก็จะเงียบ หนังแนวนี้จะดังอยู่แค่เฉพาะกลุ่ม อย่าง “ตั้งวง” ดังในหมู่คนดูหนัง แต่รายได้ในตลาด Mass ต่ำมากครับ คนไม่สนใจ ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีหนังอะไรแบบนี้อยู่ในโลก

โอ๋ : เกมมันยากขึ้นทุกทีครับ การที่จะให้คนดูหนังในวงกว้าง

กอล์ฟ : แต่คนทำหนังก็ยังลงทุนเท่าเดิม ไม่ใช่ลงทุนน้อยลง

โอ๋ : เหมือนกับปัญหาต้นทุนหนังที่การรับรู้รายได้ยังจำกัดอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ครับ เราไม่สามารถรวมศูนย์กลางจากรายได้หนังทั้งประเทศได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่รวมรายได้หนังได้ทั้งประเทศจริง ต้นทุนของหนังไทยจะเปลี่ยน การพัฒนาก็จะก้าวกระโดด ถ้ามีโรงหนังอย่าง Major หรือ SF ทั่วประเทศ รายได้ก็จะเปลี่ยน อุตสาหกรรมหนังไทยของเราก็จะเปลี่ยนอย่างแน่นอน

กอล์ฟ : ใช่ครับ พวกเรารู้แต่รายได้หนังในกรุงเทพฯ ไม่เคยรู้เลยว่า คนที่เหลือทั้งประเทศได้เงินเท่าไหร่

โอ๋ : พวกหนังอินดี้ก็จะไม่เจ๊งครับ ถ้ารวมรายได้ทั้งประเทศ เพราะต้นทุนเขาต่ำ ก็จะมีโอกาสมากขึ้น ก็จะเกิดหนังหลากหลายขึ้น ถ้าเราได้เปลี่ยนระบบ Box Office ใหม่เป็นการนับรายได้รวมทั้งประเทศ และยกเลิกระบบสายหนังไป.

ฝากบทความก่อนๆด้วยนะครับ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่