วิเคราะห์ // บทบาททหาร เพื่อประเทศ?



ท่าทีและจุดยืนของกองทัพต่อการเผชิญหน้าระหว่างมวลมหาประชาชนกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากประชาชนทั้งประเทศทุกสีเสื้อและทุกกลุ่ม

เพราะกองทัพคือองค์กรที่มีกำลังพลและอาวุธพร้อมสรรพในการที่จะเข้ามาใช้กำลังอำนาจทางทหารคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองที่ตีบตันหรือไร้ทางออก หรือกำลังดำเนินไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน ไม่ว่าจะในกรณีของรัฐบาลกับผู้ชุมนุม  หรือในกรณีของระหว่างประชาชนสองฝ่าย

ซึ่งนั่นเป็นบทบาทของกองทัพในระยะหลังมานี้นับตั้งแต่การทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปที่มีพลังของประชาชนสองฝ่ายเข้ามาเป็น “ทัพหลวง” ของการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ

ขณะที่ก่อนหน้านั้น บทบาทของกองทัพต่อการเมืองจะปรากฏออกมาในลักษณะผู้เข้ามารัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่ฉ้อฉลหรือบริหารราชการผิดพลาดจนเกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง ซึ่งเป็นบทบาทของ “อัศวินขี่ม้าขาว” ที่คุ้นเคยสำหรับคนไทยเป็นอย่างดี จนบทบาทตรงนี้กลายเป็น “ภารกิจพิเศษ” ของกองทัพไทยไปโดยปริยาย และถูกประชาชนจำนวนไม่น้อยของประเทศเรียกหาทหารทุกครั้งที่เห็นว่ารัฐบาลใดๆจะต้องถูกกำจัดออกไป

แต่อย่างไรก็ดี บทบาทของทหารต่อการเมืองก็สามารถกลายเป็นศัตรูของประชาชนได้ในบัดดล หากทหารเข้ามาผูกขาดอำนาจทางการเมือง และออกปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องให้ทหารคืนอำนาจให้ประชาชน

ในบริบทนี้ บทบาทของทหารจึงคาบเกี่ยวระหว่างการเป็น “วีรบุรุษ” กับ “เผด็จการทหาร” หรือ “ทรราช” อย่างน่ากลัว

แต่ดูเหมือนประชาชนจะต้องการกำจัดรัฐบาลฉ้อฉลมากกว่า จึงยังไม่อยากนึกถึงว่าทหารจะกลายเป็นทรราชเสียเอง

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทหารไม่เข้าไปใช้อำนาจทางการเมืองเองโดยตรง และต้องรีบถ่ายอำนาจให้กับรัฐบาลชั่วคราวโดยเร็วหลังการรัฐประหาร 19 กันยา จนทำให้การรัฐประหารครั้งนั้นถูกมองว่า “เสียของ”

เพราะมิเช่นนั้น ทหารก็จะกลายเป็น “เผด็จการทหาร” เข้าไปทุกที

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทหารต้องรีบคายอำนาจหลังการรัฐประหาร 19 กันยา ก็คือ ความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนั้นมี “ประชาชน” เข้ามาเป็น “ผู้เล่น” สำคัญของความขัดแย้ง หรือกลายเป็นคู่ขัดแย้ง

ทหารจึงไม่อาจที่จะเผชิญหน้ากับประชาชนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ เหมือนกับที่เคยเผชิญหน้าและจัดการกับรัฐบาลฉ้อฉลได้อย่างเต็มที่

“ประชาชนสองฝ่าย” คือสิ่งที่ทำให้ทหารไม่สามารถจะทำตัวเป็นวีรบุรุษต่อการแก้ไขสถานการณ์ทางการเมืองได้เหมือนในอดีต และรวมทั้งไม่สามารถที่จะเข้ามายึดกุมอำนาจทางการเมืองได้อีกต่อไป

ทหารจึงต้องล่าถอยออกไป

ทว่า บทบาทของทหารต่อการเมืองและต่อการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองก็ยังมีอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนไปทำ “หลังฉาก”

การจัดตั้งรัฐบาลใน “ค่ายทหาร” ที่เกิดจากการพลิกขั้วการเมืองจนทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็คือบทบาท “หลังฉาก” ของทหารนั่นเอง

การนัดให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำมวลมหาประชาชน แอบไปพบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยขุนทหาร โดยการประสานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็คือบทบาท “หลังฉาก” อีกครั้งของทหารนั่นเอง

รวมทั้งการจัดเวทีพูดคุยหาทางออกให้กับประเทศที่เชิญนายสุเทพและฝ่ายต่างๆไปพูดคุยกันที่กองบัญชาการทหารสูงสุด โดยมี ผบ.สส. เป็นโปรโมเตอร์ แท้ที่จริงก็คือบทบาททางการเมือง “หลังฉาก” ของทหารนั่นเอง เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองของประเทศ เพียงแต่จัดแสดงต่อสาธารณะแทนการจัดแบบลับๆเหมือนเก่า

แต่ไม่ว่าบทบาทของทหารจะอยู่หลังฉากลับๆล่อๆหรือออกมาจัดแสดงให้ประชาชนชมต่อหน้าต่อตา นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือบทบาทของทหารดังกล่าวนั้นแท้จริงแล้วทำเพื่อใคร

ระหว่างการทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อรัฐบาล หรือทำเพื่อนายสุเทพ

และโดยเฉพาะแน่ใจใช่ไหมว่าทั้งหมดรวมเป็นการทำเพื่อประเทศจริงๆอย่างที่กล่าวอ้าง หรือทำไปท่ามกลางความไม่แน่ใจของตนเองว่านี่เป็นการทำเพื่อประเทศ?

โดย – พูลเดช กรรณิการ์

16 ธันวาคม 2556

http://peopleunitynews.com/web02/2013/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B9%8C-%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่